สื่อดิจิทัล / สี / เสียง / 105 นาที
วันออกฉาย 11 กรกฎาคม 2562
บริษัทสร้าง Diversion, Les Films de L’Etranger, Youku Pictures, Purin Pictures, Mit Out Sound Films
ผู้อำนวยการสร้าง วิทวัส เมฆสวรรค์, จักรวาล นิลธำรงค์, ชาติชาย ไชยยนต์, Philippe Avril
ผู้กำกับ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง
ผู้เขียนบท พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง
ผู้กำกับภาพ นวโรภาส รุ่งพิบูลโสภิษฐ์
ผู้ลำดับภาพ ลี ชาตะเมธีกุล, หรินทร์ แพทรงไทย
ผู้กำกับศิลป์ กฤษดา นาเมือง
ผู้ทำดนตรีประกอบ Christine Ott, Mathieu Gabry
ผู้แสดง รัสมี เวระนะ, วัลลภ รุ่งกำจัด, อภิสิทธิ์ หะมะ, กำจร สันกว้าน, สนิท ปะสิ่งชอบ, ตะวัน หิรัณยพงศ์
ณ หมู่บ้านริมทะเล ชายชาวประมงท้องถิ่นช่วยชีวิตชายลึกลับที่บาดเจ็บในป่า ชายแปลกหน้าพูดจาสื่อสารไม่ได้ ไม่มีข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับที่มาและตัวตนของเขา ชาวประมงตั้งชื่อให้ชายแปลกหน้าผู้นี้ว่า ธงไชย ทั้งคู่เริ่มใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันและค่อย ๆ สนิทสนมกัน กระทั่งวันหนึ่ง ชาวประมงหายตัวไปอย่างลึกลับ และธงไชยก็ค่อย ๆ คืบคลานเข้าครอบครองชีวิต บ้าน งาน และอดีตคนรักของเพื่อนของเขา
กระเบนราหู เป็นผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของผู้กำกับ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ถึงแม้หนังจะไม่ได้ให้เบื้องหลังของตัวละครสำคัญว่าเป็นใครมาจากไหน พุทธิพงษ์อุทิศภาพยนตร์เรื่องนี้แด่ผู้อพยพชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่กำลังมีปัญหาการพลัดถิ่นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่หนังสร้างเสร็จ งานก่อนหน้าของเขาคือภาพยนตร์สั้นที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากเรื่อง ชิงช้าสวรรค์ (2558) สะท้อนเรื่องแรงงานพม่าที่อพยพข้ามพรมแดนเข้ามาในไทย ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องมีความเชื่อมโยงกัน และเป็นผลพวงมาจากความสนใจในเรื่อง อัตลักษณ์ พรมแดน ชาติพันธุ์ และความเป็นชาติ ที่พุทธิพงษ์ให้ความสนใจมานานหลายปี
กระเบนราหู เป็นหนังเล่าเรื่องที่มีลักษณะคาบเกี่ยวกับความเป็นหนังทดลอง โดยการใช้เทคนิคภาพ เสียง สี และการสร้างมิติของตัวละครผ่านวิธีการอื่น ๆ นอกเหนือไปจากที่ผู้ชมคุ้นเคย ถึงแม้เนื้อเรื่องของหนังจะดูและเข้าใจได้ไม่ยาก แต่หนังกลับอบอวลด้วยความคลุมเครือ พฤติกรรมของตัวละครบางครั้งไม่มีความหมายในทันที แต่ประกอบสร้างเป็นมวลอารมณ์และเหตุผลแห่งการกระทำในที่สุด หนังจึงมีความร่วมสมัย และสามารถสื่อสารกับผู้ชมได้ในหลายระดับ เช่น การที่ตัวละครชายลึกลับในภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีบทพูดเลย เป็นความตั้งใจของผู้กำกับที่ต้องการสร้างความเป็นนามธรรม เพื่อลบตัวตน และไม่จำเพาะเจาะจงให้ตัวละครนี้เป็นตัวแทนของชาวโรฮิงญาเพียงอย่างเดียว
ในด้านการสร้างและหาทุน กระเบนราหู เป็นหนังไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทในฝรั่งเศสแสดงให้เห็นว่าหนังมีศักยภาพในระดับนานาชาติมากพอจนทำให้บริษัทสร้างหนังต่างชาติเชื่อใจและให้ทุน (โดยเป็นทุนที่รับจากรัฐบาลฝรั่งเศสอีกต่อ) และยังแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างการระดมทุนในหนังอิสระสมัยใหม่ ที่ไม่ได้พึ่งพาแหล่งเงินจากในประเทศตนเองเท่านั้น หรือไม่ได้พึ่งเลย แต่ขยับขยายลู่ทางและมองไกลเกินขอบเขตแห่งสัญชาติและประเทศ ทั้งในเชิงธุรกิจและในประเด็นการเล่าเรื่อง
ภาพยนตร์เรื่อง กระเบนราหู ออกฉายในช่วงเวลาที่ประเด็นเรื่องผู้อพยพโรฮิงญากำลังถูกพูดถึงไปทั่วโลก ทำให้ผลงานเรื่องนี้ส่งผลสะท้อนไกลอย่างกว้างขวาง ที่สำคัญ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังสามารถคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เวนิส ครั้งที่ 75 ในสาย Orizzonti (หรือ Horizons) ซึ่งเป็นการพิจารณาให้รางวัลสำหรับภาพยนตร์ที่เป็นตัวแทนสุนทรียภาพและการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ที่กล้าหาญ โดยนับเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์แห่งนี้ ซึ่งนับว่าเทศกาลที่ทรงอิทธิพลที่สุด 1 ใน 3 ของโลก ร่วมกับ คานส์ และเบอร์ลิน