เพลงสุดท้าย

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 100 นาที 

วันออกฉาย    8 พฤศจิกายน 2528

บริษัทสร้าง    อัครเศรณีโปรดักชั่น

ผู้อำนวยการสร้าง    กิตติ อัครเศรณี, วิชัย เลิศฤทธิ์เรืองสิน

ผู้กำกับ    พิศาล อัครเศรณี

ผู้เขียนบทประพันธ์-บทภาพยนตร์    วรรณิศา

ผู้ลำดับภาพ    อ๊อด

ผู้แสดง บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์, วรรณิศา ศรีวิเชียร, สมหญิง ดาวราย, ชลิต เฟื่องอารมย์, จิระวดี อิศรางกูร ณ อยุธยา, เหี่ยวฟ้า, พงษ์ลดา พิมลพรรณ, สมชาติ การะการ, สินาภรณ์ พิไลลักษณ์, จันทนา ศิริผล, เชวง รัตนดิลก ณ ภูเก็ต, คลัง เศรษฐภากรณ์, อภิชาติ อรรถจินดา, ด.ช. อัครพล อัครเศรณี, คณะทิฟฟานี่โชว์


ปลายปี พ.ศ. 2528 พิศาล อัครเศรณี นักแสดงและผู้กำกับที่กำลังมีบทบาทสำคัญ ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่วงการหนังไทยและแฟนภาพยนตร์ ด้วยการนำเสนอผลงานเรื่อง เพลงสุดท้าย ที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งผิดแปลกไปจากภาพยนตร์แนวความรักเชือดเฉือนอารมณ์ระหว่างชายหญิงที่เปรียบเสมือนจุดขายของเขาในขณะนั้น รวมทั้งแตกต่างจากเนื้อหาทั่วไปของตลาดหนังไทยในช่วงเวลานั้น

เมื่อครั้งที่มาประทับรอยมือรอยเท้าที่ลานดาราของหอภาพยนตร์ ในปี 2556 พิศาลเคยให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ว่า เริ่มต้นจากการที่เขามีโอกาสได้ไปดูทิฟฟานี่โชว์ที่พัทยา และกลับมาเกิดความสงสัยใคร่รู้ถึงชีวิตเบื้องหลังของนักแสดงที่เขาได้เห็นตรงหน้า เขาจึงขออนุญาต วิชัย เลิศฤทธิ์เรืองสิน เจ้าของทิฟฟานี่โชว์ เพื่อเข้าไปนั่งสังเกตบรรดาทีมงานและนักแสดงหลังเวทีอยู่นานนับสัปดาห์ และพบว่ามีพฤติกรรมและประเด็นด้านความรักมากมายที่เห็นว่าน่าสนใจ และนำไปประกอบกับเรื่องราวเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เขาไปศึกษาเพิ่มเติม จนเกิดแรงบันดาลใจว่า ทำอย่างไรจึงจะตีแผ่ปมปัญหาบุคคลกลุ่มนี้ที่เขาคิดว่าไม่มีทางพบรักแท้ออกมาให้สังคมได้รับรู้ ก่อนจะลงมือเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง เพลงสุดท้าย โดยไม่หวั่นเกรงว่าจะขาดทุนหรือไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ชม 

เพลงสุดท้าย เล่าเรื่องราวโศกนาฏกรรมความรักของนักแสดงทิฟฟานี่โชว์ ซึ่งพิศาลได้นำ สมหญิง ดาวราย ดาวเด่นของทิฟฟานี่โชว์ในขณะนั้นมาแสดงนำจริง ๆ ภาพยนตร์เริ่มต้นเมื่อ สมหญิง ได้เจอกับ บุญเติม กระบอกยาว (บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์) ช่างซ่อมรถหนุ่ม ผู้มีความฝันอยากเป็นนักร้อง เธอได้ช่วยเหลือให้เขาได้ร้องเพลงที่ทิฟฟานี่โชว์สมใจ และสนิทสนมจนเกิดเป็นความรัก แต่วันหนึ่ง บุญเติมได้พบกับ อร (วรรณิศา ศรีวิเชียร) สาวคนรักของเพื่อนทอมของสมหญิงที่พ่อแม่ของเธอไม่ยอมรับความรักของคนเพศเดียวกัน เมื่อมีโอกาสอยู่ด้วยกันบุญเติมกับอรต่างแอบมีใจให้กัน ก่อนจะพัฒนาความสัมพันธ์และสารภาพกับสมหญิงในเวลาต่อมา ว่าทั้งคู่กำลังจะแต่งงานกัน ความเสียใจที่ถาโถมเข้าใส่สมหญิง ทำให้คืนหนึ่ง ขณะขึ้นโชว์ร้องเพลง “เพลงสุดท้าย” ซึ่งสะกดสายตาของผู้ชมทั้งโรงละคร เธอได้ตัดสินใจปิดการแสดงด้วยการลั่นไกจบชีวิตตนเองลงกลางเวที ท่ามกลางความตื่นตะลึงของทุกคน รวมถึงบุญเติมและอร

เมื่อออกฉาย เพลงสุดท้าย ได้สร้างกระแสให้แก่สังคมไทย ด้วยเนื้อหาที่นำเสนอตัวละคร “กะเทย” หรือ หญิงข้ามเพศในปัจจุบันที่ประกอบอาชีพนางโชว์คาบาเรต์เป็นตัวเอก และการนำเสนอประเด็นความรักความสัมพันธ์ของคนหลากหลายทางเพศเป็นหลัก ความแปลกใหม่ดังกล่าว ทำให้ เพลงสุดท้าย โดดเด่นมากกว่าในหนังไทยเรื่องอื่น ๆ ในยุคสมัยเดียวกัน และทำให้ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนมีการสร้างภาคต่อมาคือ รักทรมาน (2530) ไม่เพียงแต่ในเมืองไทย พิศาลยังเล่าว่าเมื่อภาพยนตร์ได้ไปฉายที่นครนิวยอร์ก ก็ยังได้รับการต้อนรับอย่างดีจากผู้ชมที่มาต่อแถวรอชมกันยาวเหยียด

แม้ว่าก่อนหน้าและหลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย จะมีภาพยนตร์ไทยที่นำเสนอเรื่องความรักของคนหลากหลายทางเพศที่ต้องประสบความผิดหวังหรือโศกนาฏกรรมถึงชีวิต แต่ปรากฏการณ์ความนิยมที่เกิดขึ้นต่อเรื่องราวของ สมหญิง ดาวราย ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ทำให้ เพลงสุดท้าย กลายเป็นความทรงจำร่วมของสังคมในฐานะหนังไทยที่นำเสนอเรื่องราวความรักที่ผิดหวังของคนหลากหลายทางเพศ และส่งอิทธิพลต่อเนื่องอย่างกว้างขวางยาวนาน จนกระทั่ง พิศาลเองยังนำกลับมาสร้างใหม่ในปี 2549 ในขณะเดียวกัน เพลงนำของภาพยนตร์ ที่ชื่อ “เพลงสุดท้าย” ขับร้องโดย สุดา ชื่นบาน ก็เป็นที่จดจำและได้รับความนิยมบทเวทีร้องเพลงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังส่งผลอย่างมากต่อผู้คนในชุมชนเพศหลากหลายในยุคหลัง เช่น ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ คนทำหนังไทยร่วมสมัย เคยกล่าวว่าเธอสร้างภาพยนตร์เรื่อง It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก (2555) เพื่อลบภาพจำของ​ เพลงสุดท้าย​ ที่ตัวเอกต้องผิดหวังในความรักจนต้องจบชีวิต​ลงด้วยความเศร้า​ และอยากจะลบภาพความเจ็บปวดในเพลง​ “เพลงสุดท้าย” ​ด้วยเพลงประกอบภาพยนตร์ที่แต่งใหม่ ที่แต่งขึ้นมาเพื่อให้กำลังใจ​กะเทยทุกคน นอกจากนี้ คำว่า “สู้สิวะอีหญิง” จาก เพลงสุดท้าย ก็ยังพัฒนากลายมาเป็น “มีม” (ภาพ ภาพเคลื่อนไหว ข้อความ เสียงบันทึก ที่สะท้อนความคิดของคนในสื่อสังคมออนไลน์) จนมีการส่งต่อกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

แม้ปัจจุบัน จะยังไม่พบฟิล์มภาพยนตร์ 35 มม. ของ เพลงสุดท้าย ที่หลงเหลือ โดยในคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์มีเพียงเทปยูเมติกที่เป็นต้นฉบับก่อนนำไปทำสื่อวีดิทัศน์ แต่ภาพและเสียงที่เหลืออยู่ยังสามารถเป็นตัวแทนอันโดดเด่นในการศึกษาถึงสุนทรียศาสตร์ด้านภาพยนตร์ของหนังไทยยุคปลายทศวรรษ 2520 รวมทั้งเป็นบทบันทึกทัศนคติและสภาพสังคมไทยในยุคหนึ่งให้ได้ใคร่ครวญ นอกเหนือไปจากคุณค่าหลักในฐานะหมุดหมายสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ความหลากหลายทางเพศในภาพยนตร์ไทย