[สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่กลับออกจากป่า]

วิดีโอเทป / สี / เสียง / ความยาว 705 นาที

ปีสร้าง [2528]

ผู้สร้าง ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ


ปี 2523 เมื่อรัฐบาลออกนโยบาย 66/23 เชิญชวนให้ผู้เข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ในฐานที่มั่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ กลับออกมามอบตัวกับทางการ จะไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ ซึ่งประจวบกับสถานการณ์ภายในพรรคคอมมิวนิสต์ไทย มีปัญหาความขัดแย้งทางความคิดและแนวทางปฏิบัติระหว่างนักศึกษา ปัญญาชน นักกิจกรรมการเมืองจากในเมืองที่เข้าป่าจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กับความคิดและแนวปฏิบัติของพรรคและชนชั้นนำของพรรค ตลอดจนประจวบกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและสากลที่เปลี่ยนแปลง โดยรัฐบาลไทยเปิดสัมพันธ์กับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ซึ่งมีผลให้จีนค่อย ๆ ถอนการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ในขณะเดียวกันจีนก็เกิดปัญหาขัดแย้งถึงขั้นสู้รบกับประเทศเวียดนามซึ่งอยู่ข้างสหภาพโซเวียตรัสเซีย นโยบาย 66/23 จึงมีส่วนทำให้นักศึกษา ปัญญาชน พากันกลับออกมาจากป่า ซึ่งที่สุดมีผลให้สงครามการต่อสู้ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ไทยกับรัฐบาลไทยสิ้นสุดลง

ปี 2528 ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เกิดความคิดว่าจะทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับคนที่ออกจากป่ากลับเมือง เริ่มต้นด้วยการติดต่อนัดหมายสัมภาษณ์คนที่ออกจากป่าจำนวนหนึ่ง ได้แก่ จิระนันท์ พิตรปรีชา, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, จรัล ดิษฐาอภิชัย, เหวง โตจิราการ, เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ, เกรียงกมล เลาหไพโรจน์, คณะวงดนตรีคาราวาน และผู้ออกจากป่าที่เป็นชาวบ้านทางภาคใต้ที่พัทลุงอีก 3 ราย ทีมงานของไกรศักดิ์ มี ไพจง ไหลสกุล และช่างภาพชื่อ แจ๋

ทีมงานได้ถ่ายสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ไว้จนเสร็จสิ้น แต่โครงการนี้หยุดชะงักไป ไม่ได้ดำเนินการใดต่อ แต่ต่อมา ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา และ คำรณ คุณะดิลก ซึ่งเป็นผู้จัดทำรายการทางโทรทัศน์ ชื่อ “พฤหัสสัญจร” โดย ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เป็นผู้อำนวยการผลิต ได้นำเทปสัมภาษณ์เหล่านี้ไปตัดต่อออกอากาศในรายการนี้ 2 ตอน ใช้ชื่อตอนว่า “คนป่าคืนเมือง”

เทปสัมภาษณ์ชุดนี้ นับว่ามีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมไทยในยุคสงครามเย็นและหลังสงครามเย็นอย่างยิ่ง เป็นการบันทึกคำสัมภาษณ์ของบุคคลที่เป็นเยาวชนนักศึกษา ปัญญาชน และชาวบ้านในชนบท ในช่วงสำคัญของการเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไปจนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การเข้าป่าร่วมการต่อสู้ปฏิวัติประเทศไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย จนสิ้นสุดการต่อสู้ 

การสัมภาษณ์เหล่านี้สามารถให้ทั้งข้อมูลเท็จจริง เป็นประวัติศาสตร์จากปากหรือคำบอกเล่าแท้ ๆ ซึ่งนอกจากให้ข้อมูลแล้วยังสามารถให้ความคิด อารมณ์ความรู้สึก โดยเฉพาะเป็นอารมณ์ความรู้สึกจากน้ำเสียงและสีหน้าอากัปกริยาของผู้ให้ปากคำ ที่ประจักษ์ได้ต่อหน้าต่อตา และที่ยังเป็นปัจจุบันของเวลานั้นเสมอและตลอดไป แม้ว่าวันเวลาผ่านไปนานกี่ปี ซึ่งอารมณ์เหล่านั้นไม่อาจบันทึกไว้ได้อีกแล้วถ้ามิได้ทำไว้ในเวลานั้น ในขณะเดียวกัน เทปบันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียงที่ตรงไปตรงมาเพราะยังไม่ได้ถูกปรุงแต่งด้วยการตัดต่อและนำเสนอโดยผู้เล่าอื่น ก็ยังปรากฏความงดงามอย่างนาฏกรรมและกวีนิพนธ์