นิสิตพัฒนา (ไม่สมบูรณ์)

ฟิล์ม 16 มม. / ขาวดำ / เสียง / 17 นาที

ผู้สร้าง สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ

ความคิดในการอาสาช่วยสังคมชนบท โดยนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีจุดเริ่มต้นมามากกว่า 60 ปี เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีบันทึกว่า นิสิตของมหาวิทยาลัยเคยทำกิจกรรมที่เรียกว่า “เกษตรชมรม” หรือ “เกษตรฟอรั่ม” ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของค่ายอาสาพัฒนาของชาวนิสิต มาตั้งแต่ปี 2498 ในขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าจุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยแรกที่บุกเบิกงานค่ายอาสา โดยในปี 2500 วิจิตร ศรีสอ้าน นิสิตจุฬาฯ ได้สมัครเข้าร่วมโครงการฝึกผู้นำค่ายอาสาสมัครนานาชาติขององค์การยูเนสโก ที่ประเทศอินเดีย จนเขาได้แรงบันดาลใจกลับมาจัดตั้งค่ายอาสาของจุฬาฯ ขึ้นครั้งแรกในเดือนตุลาคม ปี 2502 นอกจากนี้ ในช่วงต้นทศวรรษ 2500 ยังมีข้อมูลระบุว่า ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับกลุ่มนิสิตนักศึกษาจัดตั้งค่ายอาสาสมัครขึ้นมาในหลายจังหวัด 


ภาพยนตร์นี้ สร้างโดยสำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ บรรยายโดย พูนลาภ อนะมาน ผู้ประกาศข่าวที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เล่าถึงเหตุการณ์ออกค่ายอาสาสมัคร จุฬาลงกรณ์ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 14 เมษายน 2505  ที่หมู่บ้านแกใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ แม้ภาพช่วงต้นจะขาดหายไปบางส่วน แต่ภาพยนตร์ยังได้แสดงให้เห็นทั้งวิถีความเป็นอยู่และกิจกรรมต่าง ๆ ของนิสิต เช่น การหุงหาอาหาร การประชุมหลังทำงานแต่ละวัน การขุดบ่อน้ำซึ่งเป็นงานใหญ่ร่วมมือกับชาวบ้าน การทำป้ายชื่อหมู่บ้าน รวมทั้งป้ายชื่อและเลขที่บ้านของลูกบ้านทุกหลัง การจัดทีมรักษาพยาบาลเบื้องต้นให้ชาวบ้าน การช่วยชาวบ้านเก็บพืชผล การสนทนากับพระสงฆ์ที่วัดของหมู่บ้าน การละเล่นสันทนาการกับชาวบ้าน เช่น เล่นสะบ้า รำวง


นอกจากภาพการช่วยเหลือผู้คนในชนบท ภาพยนตร์ยังแสดงฉากชีวิตนิสิต เมื่อได้รับจดหมายแจ้งผลการสอบจากมหาวิทยาลัย คนที่สอบผ่านก็ดีใจ คนที่สอบตกก็เศร้า ดูหนังสือเตรียมสอบซ่อม และสุดท้ายเมื่อครบสองสัปดาห์ จบค่าย ทุกคนต่างจับมือล้อมวงร้องเพลงอำลาว่าจะพบกันอีก วันเดินทางกลับ ชาวบ้านเกือบทั้งหมู่บ้านแห่ไปส่งนิสิตถึงสถานีรถไฟ


บรรยากาศในภาพยนตร์แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมการออกค่ายอาสาของนักศึกษาคงเกิดขึ้นมาพอสมควรแล้ว และสำนักข่าวสารอเมริกัน ต้องการเผยแพร่กิจกรรมนี้ไปยังประชาชนและชาวบ้านในชนบท ภาพยนตร์มีลักษณะเป็นโฆษณาชวนเชื่อ แต่น่าสังเกตว่ายังมิได้มีการกล่าวพาดพิงถึงภัยของลัทธิคอมมิวนิสต์ ดังเช่นผลงานส่วนมากของสำนักข่าวสารฯ อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ได้แสดงภาพนิสิตนำพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ไปแจกจ่ายแก่ผู้คนในหมู่บ้าน ซึ่งน่าสนใจว่ากิจกรรมนี้เป็นนโยบายมาจากองค์กรใด หรือมาจากความคิดของนักศึกษากันเอง เพราะสถาบันกษัตริย์เป็นส่วนสำคัญที่สหรัฐอเมริกาใช้ในการเข้าถึงประชาชนไทยเพื่อสร้างกระแสการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวลานั้น


กิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชนบทของนิสิตนักศึกษานี้ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ได้เห็นสภาพปัญหาแท้จริงของสังคมไทย ก่อนที่จะเกิดขบวนการนิสิตนักศึกษาไทย ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนกระทั่งหลังกรณีนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 กิจกรรมค่ายอาสาจึงได้หยุดชะงักลงจากคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ 42/2519 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ซึ่งได้ระงับกิจกรรมนิสิตนักศึกษาและนักเรียนในรูปแบบต่าง ๆ ที่จัดทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา ต่อมา มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2521 ได้อนุมัติให้นักศึกษากลับมาดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ทำให้ค่ายอาสาพัฒนาชนบทของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศไทย ค่อย ๆ กลับมาจัดอย่างคึกคักเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน


ภาพยนตร์นี้จึงมีค่าเป็นเอกสารบันทึกการออกค่ายอาสาพัฒนาในยุคแรกของนิสิตนักศึกษา ก่อนที่รุ่นน้องของพวกเขาจะมีบทบาทสำคัญทางการเมืองจนเกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดความขัดแย้งขึ้นกับรัฐในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และแม้จะมีจุดประสงค์เพื่อโฆษณาชวนเชื่อ แต่ภาพยนตร์ก็ได้ถ่ายทอดให้เห็นถึงการร่วมแรงร่วมใจ ความมีชีวิตชีวา และอุดมคติของหนุ่มสาวที่ต้องการมีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคม ในกิจกรรมที่ต่อมาถือเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมและขึ้นหน้าขึ้นตาที่สุดอย่างหนึ่งของนิสิตนักศึกษาไทย