ฟิล์ม 16 มม. / สี / เสียง / 20 นาที
ผู้สร้าง สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ, เทพพนมภาพยนตร์
ในยุคสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ต่างแข่งขันกันแผ่อำนาจและอิทธิพลทุกด้าน ด้านหนึ่งที่แข่งกันอย่างแข็งขัน คือ การพิชิตอวกาศ แม้สหภาพโซเวียตจะสามารถส่งมนุษย์ไปท่องอวกาศได้เป็นรายแรก แต่ สหรัฐอเมริกาก็ชนะด้วยการส่งมนุษย์ไปเหยียบพื้นดวงจันทร์สำเร็จ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 หลังจากนั้นคณะนักบินอวกาศทั้งสามนาย นำโดย นีล อาร์มสตรอง มนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตพิเศษของสหรัฐฯ เดินทางไปเยี่ยมมิตรประเทศทั่วโลก เพื่อย้ำชัยชนะของโลกเสรีที่เหนือกว่าโลกคอมมิวนิสต์ และประเทศไทยซึ่งเป็นมหามิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ ก็ได้ต้อนรับการมาเยือนของคณะนักบินอวกาศนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2512
ภาพยนตร์เรื่อง การเดินทางอันแสนไกล ซึ่งสร้างโดยสำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ เล่าเรื่องผ่านเด็กนักเรียนหญิง อรนุช ภาชื่น โรงเรียนสิรินธร จังหวัดสุรินทร์ ที่ได้เขียนจดหมายเชิญชวนนักบินอวกาศให้ไปเยี่ยมโรงเรียนของเธอ แม้จะได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถทำตามคำร้องขอได้ แต่อรนุชและเพื่อน ๆ ก็ได้เดินทางมาร่วมกิจกรรมต้อนรับและพบปะกับคณะนักบินอวกาศที่กรุงเทพฯ โดยอรนุช ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สื่อข่าวและช่างภาพของสำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ เพื่อรายงานข่าวให้แก่ทางโรงเรียนด้วย
อรนุชเล่าเรื่องราวตั้งแต่พิธีการต้อนรับของเทศบาลนครกรุงเทพ ในวันที่ 28 ตุลาคม 2512 ที่ศาลารับรอง บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดย พลเรือตรี ชลิต กุลกำม์ธร นายกเทศมนตรีนครกรุงเทพ ได้กล่าวต้อนรับและแสดงความยินดี พร้อมทั้งมอบกุญแจเมืองให้แก่คณะนักบินอวกาศ และของที่ระลึกแก่ภรรยา ในขณะที่นักบินอวกาศทั้งสามได้กล่าวแสดงความดีใจที่ได้มาเยือนกรุงเทพฯ และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น โดยเสียใจที่ไม่สามารถเดินทางไปชมการแสดงช้างที่จังหวัดสุรินทร์ได้ และกล่าวว่าภารกิจในการเยือนดวงจันทร์เป็นการเดินทางในการสร้างสันติภาพอันถาวรแด่มวลมนุษย์ นอกจากนี้ จะเห็น เพทาย อมาตยกุล นายกสโมสรลูกเสือแห่งประเทศไทย มอบพระเครื่องสมเด็จให้เป็นที่ระลึกแก่คณะนักบินอวกาศด้วย
ถัดมาจึงเป็นขบวนพาเหรดต้อนรับ โดยนักบินอวกาศได้เดินทางในรถยนต์เปิดประทุนผ่านสะพานผ่านฟ้า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พระบรมมหาราชวัง และไปเข้าพักยังโรงแรมเอราวัณ ซึ่งมีประชาชนมาต้อนรับอย่างเนืองแน่น มีการฉายภาพยนตร์การเดินทางไปสู่ดวงจันทร์ให้นักวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชนชม และมีการสัมภาษณ์โดย พิชัย วาศนาส่ง และ สุพินดา กฤษนันท์
อรนุช ได้เล่าถึงการรับรู้ข้อมูลว่า ต่อไปจะมีการจัดตั้งสถานีอวกาศบนดวงจันทร์ และคนทั่วไปสามารถเดินทางไปดวงจันทร์ได้ แต่ยังเสาะหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ และตนอาจจะอาสาสมัครไปในวันหนึ่ง
จากนั้น เอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้นำนักบินอวกาศเข้าพบนายกรัฐมนตรี จอมพล ถนอม และท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร ซึ่งได้รับมอบภาพถ่ายการลงบนดวงจันทร์ นายกรัฐมนตรีได้กระทำพิธีในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตริตาภรณ์ช้างเผือกให้แก่นักบินอวกาศทั้งสาม หลังจากนั้นทูตานุทูตจากประเทศต่าง ๆ ก็มาร่วมแสดงความยินดีในห้องรับรอง ทำเนียบรัฐบาล
วันต่อมา เอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกา ได้นำนักบินอวกาศและภรรยา เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรม-ราชินีนาถ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นักบินอวกาศได้ถวายแผ่นจารึกสารจากประเทศไทยแบบที่นำไปทิ้งไว้บนดวงจันทร์รวมกับแผ่นจารึกของประเทศอื่น ๆ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อจากนั้นได้ไปเยี่ยมโรงเรียนจิตรลดา ท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุณยคุปต์ อาจารย์ใหญ่ กล่าวคำต้อนรับ โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ทรงสนใจการมาเยือนของนักบินอวกาศครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง คณะผู้แทนโรงเรียนต่าง ๆ ได้มีโอกาสถามคำถาม สำหรับ อรนุช ถามถึงการควบคุมอวกาศโดยสถานีภาคพื้นดินและการควบคุมด้วยมือ ซึ่งไมเคิล คอลลินส์ ผู้ควบคุมยานโคลัมเบียเป็นผู้ตอบ และนักเรียนจากสุรินทร์ได้มอบช่อดอกไม้ซึ่งทำด้วยรังไหมให้แก่นักบินอวกาศทั้งสามคน
กระนั้น อีกประมาณหนึ่งเดือนต่อมา นีล อาร์มสตรอง ได้เดินทางกลับมาไทยอีกครั้ง และคราวนี้ได้เดินทางไกลไปยังจังหวัดสุรินทร์ ในนามที่ปรึกษาหน่วยสันติภาพอเมริกัน โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากนักเรียนโรงเรียนสิรินธร และประชาชนในจังหวัด ซึ่งแน่นอนรวมทั้ง อรนุช ภาชื่น
ภาพยนตร์นี้จึงมีคุณค่าเป็นบทบันทึกเหตุการณ์อันเป็นความทรงจำร่วมของคนทั้งโลกในปี พ.ศ. 2512 และแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกของชาวไทยในสมัยนั้น ทุกวัยและทุกชนชั้นที่ต่างตื่นเต้นกับข่าวการเดินทางอันแสนไกลไปพิชิตดวงจันทร์ และดีใจกับการได้เดินทางมารอต้อนรับมนุษย์จากดวงจันทร์ ขณะเดียวกัน ยังสัมผัสได้ถึงอารมณ์ของการโฆษณาชวนเชื่อที่แผ่ปกคลุมบรรยากาศทั่วไปอยู่ในยุคสงครามเย็น โดยภาพยนตร์ได้ตระเวนออกฉายให้เด็กไทยทั่วประเทศได้ดูในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2513 – 2515