ทอง

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 113 นาที

บริษัทสร้าง บางกอกการภาพยนตร์

ผู้อำนวยการสร้าง สุมน ภักดีวิจิตร

ผู้กำกับ ฉลอง ภักดีวิจิตร

ผู้ประพันธ์ พ.ต.ต. ประชา พูนวิวัฒน์

ผู้เขียนบท ส. อาสนจินดา

ผู้ถ่ายภาพ วิสิทธิ์ แสนทวี

ผู้ลำดับภาพ ดรรชนี

ผู้กำกับศิลป์ สักรินทร์ ปุญญฤทธิ์

ผู้ทำดนตรีประกอบ ประเสริฐ จุลเกตุ

ผู้บันทึกเสียง สนั่น อรุณรัตน์

ผู้แสดง สมบัติ เมทะนี, กรุง ศรีวิไล, อโนมา ผลารักษ์, เกร็ก มอร์ริส (Greg Morris), ถ่ำ ถุย หั่ง, กฤษณะ อำนวยพร, ดามพ์ ดัสกร, ดลนภา โสภี, สมชาย สามิภักดิ์, พิภพ ภู่ภิญโญ

รางวัล รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 1 ประจำปี 2517 รางวัลการลำดับภาพยอดเยี่ยม ดรรชนี รางวัลการถ่ายภาพยอดเยี่ยม วิสิทธิ์ แสนทวี รางวัลการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม สนั่น อรุณรัตน์ 


ฉลอง ภักดีวิจิตร เป็นผู้สร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ที่อยู่ในวงการมายาวนานจนถึงปัจจุบัน เขาเริ่มต้นจากการเป็นช่างถ่ายภาพยนตร์ในบริษัท ศรีบูรพาภาพยนตร์ ของครอบครัว ตั้งแต่วัย 19 ปี ในช่วงทศวรรษ 2490 ก่อนจะผันตัวมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ และพัฒนาขึ้นมาสร้างภาพยนตร์ด้วยตนเองในช่วงกลางทศวรรษ 2510 ซึ่งเป็นช่วงที่วงการภาพยนตร์ไทยเริ่มเปลี่ยนผ่านจากการสร้างภาพยนตร์ 16 มม. พากย์สด มาเป็น 35 มม. เสียงในฟิล์ม แบบมาตรฐานสากล โดยผลงานในระยะแรกที่ฉลองสร้างเองในนาม บางกอกการภาพยนตร์ นั้น ยังมีลักษณะเป็นหนังเพลงตามกระแสนิยม ไม่ว่าจะเป็น ฝนใต้ (2513) ฝนเหนือ (2513) และ ระเริงชล (2515) แต่ถัดมา เมื่อประสบความสำเร็จจากการร่วมงานกับบริษัทฮ่องกงในการสร้างภาพยนตร์แอ็คชั่นเรื่อง 2 สิงห์ 2 แผ่นดิน (2515) ซึ่งได้ออกฉายทั่วเอเชียและอเมริกา ฉลองได้ทุ่มทุนสร้างภาพยนตร์แนวนี้เป็นเรื่องต่อไปคือ ทอง ด้วยความตั้งใจที่จะนำภาพยนตร์ไทยออกไปบุกเบิกในตลาดต่างประเทศอย่างเต็มตัว


ทอง สร้างจากบทประพันธ์ของ พ.ต.ต.ประชา พูนวิวัฒน์ ซึ่งระบุว่าดัดแปลงมาจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง  ในระหว่างสงครามเวียดนาม เมื่อรัฐบาลอเมริกากับรัฐบาลไทยจับมือกันส่งทองคำมูลค่ามหาศาลไปช่วยเวียดนามใต้ แต่ระหว่างขนส่งทองคำทางอากาศ เครื่องบินกลับถูกจี้เพื่อนำทองนั้นส่งให้เกาหลีเหนือ อเมริกาจึงตัดสินใจว่าจ้างนายทหารรับจ้างตามทองกลับมา โดยรวบรวมทีมงานทั้งไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเวียดนาม เพื่อร่วมปฏิบัติภารกิจ


จุดเด่นสำคัญที่ทำให้ ทอง มีความเป็นสากลแตกต่างจากหนังไทยในเวลานั้น คือการที่ฉลองได้ทาบทามนักแสดงอเมริกัน เกร็ก มอริส ซึ่งโด่งดังจากทีวีซีรีส์ “ขบวนการพยัคฆ์ร้าย” (Mission Impossible) ที่กำลังเป็นที่นิยมของผู้ชม รวมถึง ถ่ำ ถุย หั่ง นางเอกจากเวียดนาม มาประกบกับดาราดังของไทยทั้ง สมบัติ เมทะนี และ กรุง ศรีวิไล นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังเต็มไปด้วยฉากบู๊แอ็คชั่นที่ทั้งลุ้นระทึกและน่าหวาดเสียว จากความคิดสร้างสรรค์ของฉลอง ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ล้วนกลายเป็นลายเซ็นของเขาในเวลาต่อมา เมื่อออกฉายในปี พ.ศ. 2516 ทอง ประสบความสำเร็จในไทยทั้งด้านรายได้มหาศาล รวมถึงได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม ถ่ายภาพยอดเยี่ยม และบันทึกเสียงยอดเยี่ยม ที่สำคัญคือสามารถสร้างปรากฏการณ์ในตลาดต่างประเทศได้สมความตั้งใจ โดยได้ไปประกวดที่ไต้หวัน ในปี 2517 และได้รับรางวัลภาพยนตร์ที่ให้ความบันเทิงสูงสุด (Best Entertaining Film) ในขณะที่ กรุง ศรีวิไล ได้รับรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยม จนทำให้บริษัทชื่อดังของไต้หวัน Golden Harvest ขอซื้อไปจัดจำหน่ายทั่วโลก  และต่อมา ฉลองยังได้สร้าง ทอง ออกตามมาอีกหลายภาคไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จนกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำตัวของเขาเอง


ทอง จึงมีบทบาททั้งในฐานะจุดเปลี่ยนแห่งอาชีพของผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง เป็นภาพยนตร์ไทยแอ็คชั่นที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่ง และเป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นความทะเยอทะยานของคนทำหนังไทยซึ่งต้องการก้าวออกไปสู่ตลาดสากล ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ยังเป็นผลงานร่วมสมัยในยุคสงครามเวียดนาม ซึ่งได้ฉายภาพปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นในเวลานั้นได้อย่างมีสีสันมากและเป็นที่จดจำ


ก่อนหน้านี้  หอภาพยนตร์ได้อนุรักษ์ภาพยนตร์เรื่อง ทอง ในรูปแบบวีดิทัศน์ที่มีการทำออกจัดจำหน่าย แต่ผู้ผลิตได้ตัดขอบด้านข้างซ้ายขวาของภาพออกไป ทำให้ภาพไม่ได้เป็นจอกว้างแบบซีเนมาสโคปตรงตามต้นฉบับ จนกระทั่งเมื่อ ปี 2560  จึงได้รับมอบฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้ จากกลุ่มผู้ชมในนาม “วัยหวานวันวาน” โดยเป็นฟิล์มที่พิมพ์ขึ้นมาจัดฉายในปี พ.ศ. 2525 ของอดีตเจ้าอาวาส ที่วัดใหญ่สูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมรณภาพแล้วและเคยทำธุรกิจหนังกลางแปลง  ทำให้หอภาพยนตร์มีภาพยนตร์เรื่องนี้ฉบับที่ภาพถูกสัดส่วนอนุรักษ์ไว้ด้วย แต่ฟิล์มภาพยนตร์ชุดนี้ไม่ได้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์นัก และถูกตัดทอนออกไปหลายฉาก สันนิษฐานว่าเกิดจากการฉายแบบต่อฟิล์มในการฉายกลางแปลง ทำให้ผู้ฉายตัดฉากที่อยู่หัวและท้ายม้วนออกไปเรื่อย ๆ