สาย สีมา นักสู้สามัญชน

ฟิล์ม 35 มม. / สี / พากย์ / 100 นาที

บริษัทสร้าง พิฆเณศภาพยนตร์

ผู้อำนวยการสร้าง เจน จำรัสศิลป์

ผู้กำกับ หนุ่ม ’22

ผู้ประพันธ์ เสนีย์ เสาวพงศ์ 

ผู้เขียนบท สมาน คำพิมาน, เวทย์ บูรณะ

ผู้แสดง โปรยชัย ชโลมเวียง, ศรอนงค์ นวศิลป์, บัญญัติ สุรการวิทย์, เซอิจิ อุโดะ, ทาดาชิ โอโนซากิ



ภาพยนตร์ที่สร้างจากนวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ นามปากกาของ ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2533  ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของวงการวรรณกรรมไทย 


“ปีศาจ” เล่าเรื่องของ สาย สีมา ทนายความหนุ่มผู้ตัดสินใจหันหลังให้ความร่ำรวยและอาชีพการงานที่ก้าวหน้า เพื่อมาช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกโกงจากความไม่รู้กฎหมาย ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเผชิญกับคำดูถูกเหยียดหยามจากตระกูลผู้ดีสูงศักดิ์ของ รัชนี หญิงสาวที่เขารัก เพียงเพราะเขามีพื้นเพมาจากครอบครัวชาวนา  


เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียนนวนิยายเรื่องนี้ในช่วงทศวรรษ 2490 และจัดพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก ใน พ.ศ. 2500 แต่ระบอบเผด็จการทำให้ “ปีศาจ” ต้องเงียบหายไปนานนับสิบปี ก่อนจะกลับมาตีพิมพ์ใหม่ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งทำให้การต่อสู้ของ สาย สีมา และวาทะอมตะที่เขากล่าวแทงใจดำบรรดาศักดินาเก่าบนโต๊ะอาหารอันหรูหรา ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่หนุ่มสาวจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม ในขณะที่ตัวนวนิยายก็ได้รับความนิยมขึ้นมาอย่างกว้างขวางหลังเหตุการณ์นั้น จากการที่มีผู้นำมาจัดพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง เช่นเดียวกับวรรณกรรมก้าวหน้ายุคก่อน 2500 อีกหลายเล่ม


เมื่อเข้าสู่ช่วงต้นทศวรรษ 2520 ซึ่งเป็นช่วงที่ตัวแทนจำหน่ายหนังฮอลลีวูดงดส่งหนังเข้ามาฉายในเมืองไทย เพื่อประท้วงรัฐบาลไทยที่ขึ้นอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าหนังต่างประเทศสูงมากจากเมตรละ 2.20 บาทเป็น 30 บาท จนทำให้การสร้างหนังไทยเฟื่องฟู  และเกิดผู้สร้าง “เฉพาะกิจ” จำนวนมาก นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์กลุ่มหนึ่งนำโดย เจญ เจตนธรรม หรือ เจน จำรัสศิลป์ และ ขรรค์ชัย บุนปาน  เจ้าของโรงพิมพ์พิฆเณศ ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชน ได้คิดจะนำนวนิยายเรื่องนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากปรากฏการณ์ความสำเร็จของเรื่อง ครูบ้านนอก (2521) ซึ่งส่งผลให้ภาพยนตร์แนวสะท้อนสังคมเบ่งบานในวงการภาพยนตร์ ไม่เพียงแต่จะเป็นผู้สร้างภาพยนตร์หน้าใหม่ พวกเขายังตัดสินใจใช้นักแสดงนำหน้าใหม่ทั้งหมด บท สาย สีมา นำแสดงโดย ประจวบ มงคลศิริ นักศึกษาแพทย์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในนามแฝงว่า “โปรยชัย ชโลมเวียง” ส่วนบท รัชนี ซึ่งใช้นามแฝงว่า “ศรอนงค์ นวศิลป์” รับบทโดย สมรศรี มานิกพันธุ์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่นเดียวกับนักแสดงคู่รองอีกสองคน ภาพยนตร์เขียนบทโดย สมาน คำพิมาน และ เวทย์ บูรณะ นายกสมาคมนักข่าวในตอนนั้น และมี ทศพร นาคธน ผู้เคยเป็นหนึ่งในทีมงานของ ครูบ้านนอก เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ในขณะที่ผู้กำกับที่ใช้นามแฝงว่า “หนุ่ม’22”  แม้ข้อมูลหลายแหล่งจะระบุว่าเป็น สุพรรณ บูรณะพิมพ์ นักแสดงหญิงคนสำคัญของวงการภาพยนตร์ไทย แต่เสนีย์ เสาวพงศ์ ได้เขียนไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพของสุพรรณว่า สุพรรณถอนตัวจากการเป็นผู้กำกับก่อนที่ภาพยนตร์จะสร้างเสร็จ 


ภาพยนตร์ถ่ายทำราวปี 2522 และออกฉายใน ปี 2524 แต่ไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีนัก จนทำให้ขรรค์ชัยหยุดสร้างภาพยนตร์ในนาม “พิฆเณศภาพยนตร์” ไว้เพียงแค่เรื่องนี้เรื่องเดียว โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ นักวิชาการวรรณกรรมได้เคยเขียนถึงเรื่องนี้ว่า “เมื่อครั้งที่การนำนวนิยายเล่มนี้มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ มีเรื่องเล่าขานกันว่า ในการจัดฉายหนังเรื่องนี้ให้ตัวแทนสายหนังต่างจังหวัดดูก่อนตัดสินใจสั่งซื้อ เถ้าแก่สายหนังท่านหนึ่งได้เปรยขึ้นหลังจากดูจบว่า “เป็นหนังผีที่ไม่สนุกเอาเสียเลย”” ซึ่งสิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์เดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับตัวนิยาย ที่ชื่อเรื่องทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องผี อย่างไรก็ตาม ชื่อของภาพยนตร์ก็ยังเป็นที่สับสน เมื่อโปสเตอร์และโชว์การ์ด รวมทั้งความทรงจำของผู้สร้างและผู้ชมบางรายยืนยันว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายในชื่อ ปีศาจ  แต่ในฟิล์มภาพยนตร์ที่หอภาพยนตร์ได้รับมอบมาจาก บุญยงค์ สุขทวี เจ้าของหน่วยบริการหนังพยงค์พรภาพยนตร์ เมื่อปี 2541 นั้น ระบุชื่อในไตเติลว่า สาย สีมา นักสู้สามัญชน ซึ่งตรงกันกับข้อมูลบางแห่งที่ค้นพบ 


แม้จะไม่ประสบความสำเร็จเมื่อตอนออกฉาย ทั้งยังสร้างความบอบช้ำให้แก่ผู้สร้าง แต่ผลงานเรื่องนี้ก็ถือเป็นมรดกจากความกล้าหาญของนักหนังสือพิมพ์ไทยกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมาสร้างภาพยนตร์อันเต็มไปด้วยอุดมคติอันแรงกล้า ในขณะเดียวกันยังเป็นตัวแทนในโลกภาพยนตร์เพียงหนึ่งเดียวของวรรณกรรมอมตะที่ทรงอิทธิพลต่อบรรดานักคิดนักเขียนไทย และสิงสถิตอยู่ในความคิดอ่านของหนุ่มสาวผู้รักความเป็นธรรมมาทุกยุค รวมทั้งแฝงไปด้วยบรรยากาศและจิตวิญญาณแห่งการเป็น “ปีศาจของกาลเวลา” ไม่ต่างไปจากบทประพันธ์