Goal Club เกมล้มโต๊ะ

ฟิล์ม 35 มม. / สี /เสียง / 98 นาที

บริษัทสร้าง ฟิล์มบางกอก

ผู้อำนวยการสร้าง อดิเรก วัฏลีลา

ผู้กำกับ กิตติกร เลียวศิริกุล

ผู้เขียนบท กิตติกร เลียวศิริกุล, ธนกร พงษ์สุวรรณ, ดุลยสิทธิ์ นิยมกุล

ผู้กำกับภาพ ณัฐวุฒิ กิตติคุณ

ผู้ลำดับภาพ กิตติกร เลียวศิริกุล, สุทธิพร ทับทิม

ผู้กำกับศิลป์ พูนทรัพย์ บัวเลียง

ผู้ทำดนตรีประกอบ ออเร้นจ์ มิวสิค

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย วรธน กฤษณะกลิน

ผู้แสดง ธีรดนัย สุวรรณหอม, บริวัตร อยู่โต, สุรัตนาวี สุวิพร, วงศ์วรุตม์ ตันตระกูล, เคนทร์สมุทร ฮัมเมอร์ลิงค์, ปริญญา งามวงศ์วาน, กติกา ธีรกิจ, โกวิท วัฒนกุล, จีระศักดิ์ ปิ่นสุวรรณ

รางวัล รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 25 ประจำปี พ.ศ. 2544 ตัดต่อและลำดับภาพยอดเยี่ยม - กิตติกร เลียวศิริกุล และ สุทธิพร ทับทิม / รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 11 ประจำปี พ.ศ. 2544 ผู้กำกับยอดเยี่ยม - กิตติกร เลียวศิริกุล ลำดับภาพยอดเยี่ยม - กิตติกร เลียวศิริกุล และ สุทธิพร ทับทิม / รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 10 ประจำปี พ.ศ. 2544 ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม - โกวิท วัฒนกุล


ผลงานกำกับภาพยนตร์ลำดับที่สามของ กิตติกร เลียวศิริกุล ที่แม้จะเป็นภาพยนตร์แนววัยรุ่นเช่นเดียวกับ 18-80 เพื่อนซี้ไม่มีซั้ว (2540) และ ปาฏิหาริย์โอม+สมหวัง (2541) ผลงานสองเรื่องก่อนหน้า แต่ใน Goal Club เกมล้มโต๊ะ กิตติกรได้ฉีกแนวทางต่างออกไปจากเดิมอย่างสุดขั้ว จนส่งผลให้กลายเป็นงานแจ้งเกิดและเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้รับการจดจำมากที่สุดเรื่องหนึ่งของตัวเขาเอง 


Goal Club เกมล้มโต๊ะ สร้างในปี พ.ศ. 2543 หรือ ค.ศ. 2000  และออกฉายในปีถัดมา ภาพยนตร์จึงได้จับภาพช่วงเวลายุค "มิลเลนเนียม" ของวัยรุ่นชนชั้นกลางระดับล่างในกรุงเทพฯ ซึ่งกำลังคึกคะนองต่อชีวิตที่เพิ่งพ้นออกมาจากระบบโรงเรียน ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยสิ่งล่อตาล่อใจทั้งวัตถุนิยม การพนัน รวมไปเรื่องทางเพศ การเล่าเรื่องอย่างฉับไว คึกคัก เต็มไปด้วยความกระปรี้กระเปร่า และไม่ประนีประนอมกับคนดูจนเกินไป ส่งผลให้ภาพยนตร์วางตัวอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มตัวละครที่เห็นชีวิตเป็นทั้งความท้าทายและการผจญภัย และทำให้ Goal Club เกมล้มโต๊ะ เป็นหนังวัยรุ่นไทยที่มีทั้งความสด ดิบ และห่าม และมีพลังงานแตกต่างจากผลงานในตระกูลเดียวกันเรื่องอื่น ๆ ที่เคยได้รับความนิยมมาก่อนหน้านี้ 


ภาพยนตร์เล่าเรื่องผ่านวัยรุ่นชายที่เพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมกลุ่มหนึ่ง ซึ่งหลงใหลในกีฬาฟุตบอล จนทำให้เข้าไปพัวพันกับกระแสการพนันฟุตบอลผิดกฎหมาย ด้วยการเป็น “เด็กเดินโพย” หรือคนรับพนันจากลูกค้ารายย่อย เพื่อส่งต่อให้โต๊ะพนันรายใหญ่ และรับรายได้เป็นการหักส่วนแบ่ง นานวันเข้า พวกเขาจึงตัดสินใจโกงเงินโต๊ะพนัน เพื่อนำเงินไปใช้ตามรอยความฝันของแต่ละคน นอกจากโลกแห่งการ “แทงบอล” ที่กำลังแพร่หลาย กิตติกรยังได้เพิ่มอารมณ์ร่วมให้แก่ผู้ชมที่เป็นแฟนบอล ด้วยการสอดแทรกภาพการแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญในความทรงจำหลายนัด ไว้ในเส้นเรื่องที่เล่าอยู่ระหว่างฟุตบอลโลก ค.ศ. 1998 และฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ปี ค.ศ. 2000 รวมทั้งนำบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการฟุตบอลไทยมาร่วมเป็นนักแสดงรับเชิญ 


Goal Club เกมล้มโต๊ะ ออกฉายในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมหนังไทยเพิ่งประสบปัญหาความซบเซาในด้านจำนวนการผลิต แต่กลับมีความคึกคักในแง่ของเนื้อหาและแนวทางการเล่าเรื่อง ที่ทำให้เกิดผู้กำกับ “คลื่นลูกใหม่” ขึ้นมามากมาย รวมทั้งบริษัทผู้สร้างมีความใจกว้างและเชื่อมั่นในคนดูมากพอที่จะลงทุนให้เกิดหนังที่มีความหลากหลาย แม้ดารานำของภาพยนตร์จะเต็มไปด้วยนักแสดงหน้าใหม่ แต่ภาพยนตร์ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชม ทั้งยังคว้ารางวัลมากมายภายในประเทศ รวมถึงได้ออกฉายในเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศ เช่น เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หรือ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ 


แม้เวลาจะผ่านไปยี่สิบปี และรูปแบบการพนันฟุตบอลได้เปลี่ยนไปอยู่ในโลกออนไลน์ จนแทบไม่มีอาชีพเด็กเดินโพยให้เห็นอีกแล้ว แต่ Goal Club เกมล้มโต๊ะ ยังคงมีน้ำหนักและเชื่อมต่อได้กับผู้ชมในปัจจุบัน ทั้งในแง่การเป็นเอกสารบันทึกทั้งด้านมืดและด้านสว่างของกระแสความคลั่งไคล้กีฬาฟุตบอลในเมืองไทย ที่นับวันยิ่งเพิ่มระดับสูงขึ้นไปทุกที  และเป็นคำพยากรณ์ของสหัสวรรษใหม่ต่อชีวิตวัยรุ่นที่ต้องเผชิญหน้ากับสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ยังถือเป็นหลักหมายสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของคนทำหนัง ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สุดช่วงหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย


หมายเหตุ


ชื่อเรื่องที่อยู่ใน [...] หมายถึง ภาพยนตร์เรื่องนั้นไม่มีไตเติ้ลชื่อเรื่องปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เป็นชื่อที่หอภาพยนตร์ตั้งขึ้นเอง

ข้อมูลภาพยนตร์ที่อยู่ใน  [...] หมายถึง ข้อมูลที่หอภาพยนตร์สันนิษฐานขึ้นเนื่องจากยังไม่มีหลักฐานชัดเจน

ข้อมูลปี พ.ศ. ของภาพยนตร์ที่ออกฉายก่อนการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่เมื่อ 1 มกราคม 2484 จะนับตามปีปฏิทินแบบเก่า (1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่) 

การสะกดชื่อเรื่อง อ้างอิงตามที่ปรากฏในภาพยนตร์หรือแหล่งข้อมูลอื่นที่พบ

ชื่อเรื่องที่ต่อท้ายว่า  (ไม่สมบูรณ์)  หมายถึง ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมีส่วนที่ขาดหายไปบางส่วน โดยหอภาพยนตร์ยังไม่พบฉบับที่สมบูรณ์

ชื่อเรื่องที่ต่อท้ายว่า (เศษที่เหลืออยู่)  หมายถึง ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว หอภาพยนตร์พบเพียงเศษฟิล์มที่มีความยาวไม่ถึงครึ่งเรื่อง

ชื่อเรื่องที่ต่อท้ายว่า (ส่วนที่ไม่ได้ใช้)  หมายถึง ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เป็นส่วนที่เหลือจากการตัดต่อ (outtakes) โดยหอภาพยนตร์ยังไม่พบภาพยนตร์ฉบับที่ออกฉาย