ดรรชนีนาง

ฟิล์ม 16 มม. / สี / พากย์ / 83 นาที

วันออกฉาย 23 ตุลาคม 2496

บริษัทสร้าง พนาสิทธิ์ฟิล์ม

ผู้อำนวยการสร้าง รัศมี จันทวิโรจน์, อรกิจ อมาตยกุล, ศักดิ์เกษม หุตาคม

ผู้กำกับ สมชาย อาสนจินดา, ศักดิ์เกษม หุตาคม

ผู้เขียนบท อิงอร

ผู้กำกับภาพ อรกิจ อมาตยกุล

ผู้ลำดับภาพ อรกิจ อมาตยกุล

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ท. ภีมะโยธิน

ผู้แสดง สมชาย อาสนจินดา, สุทิน บัณฑิตกุล, สวลี ผกาพันธุ์, วิโรจน์ สายะวัฒนะ, ส่องศรี บัณฑิตกุล, ขวัญ สุวรรณะ, มั่น วินิจฉัยภาค, ชุม ศรีแหลมสน, กิติ เจริญ, วิเชียร จักรกรด, ด.ญ. อรวรรณ กบิลกาญจน์


ดรรชนีนาง มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นบทประพันธ์ที่สร้างสรรค์จากจินตนาการของ “อิงอร” หรือ ศักดิ์เกษม หุตาคม นักประพันธ์ชั้นครู เจ้าของสำนวนหวานหยดย้อย อันนำมาซึ่งฉายา “ปากกาจุ่มน้ำผึ้ง” ในนวนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้ เขาได้วาดเรื่องราวของ ดรรชนี หญิงสาวชาวใต้ ที่พบรักกับนายทหารเรือผู้สูงศักดิ์ ม.จ. นิรันดร์ฤทธิ์ธำรง โดยมีทิวทัศน์ของจังหวัดสงขลา บ้านเกิด เป็นฉากหลักของเรื่อง และมีบทประพันธ์เรื่อง “เต็ลมา” ของแมรี่ คอเรลลี เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ 


ปี พ.ศ. 2490 ยุคที่ละครเวทีไทยกำลังเฟื่องฟู ดรรชนีนาง ได้จับใจผู้อ่านจนเกิดเสียงเรียกร้องในนำมาสร้างเป็นละครเวที ซึ่งได้ คณะละคร “เทพศิลป์” นำโดย หลวงอรรถไกวัลวที มารับหน้าที่ดำเนินงานสร้าง โดยร่วมกับอิงอรซึ่งนำมาสู่การตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ของวงการบันเทิงไทย เมื่ออิงอรจงใจมอบบทพระเอกให้แก่ ส. อาสนจินดา อดีตนักสหกรณ์และนักเขียนซึ่งเพิ่งลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน “8 พฤศจิ.” ของคณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 เพราะทำไป ๆ เห็นว่าคณะนั้นกลายเป็นเผด็จการซึ่งขัดกับจุดยืนของตน


ส. อาสนจินดา เล่าว่า ในตอนนั้น เขากำลังตัดสินใจจะบวชไม่สึก และเขียนหนังสือเรื่อง “สุขอื่นยิ่งกว่าสงบไม่มี” จึงไปขอกระดาษกับเพื่อนคือ อิศรา อมันตกุล ที่โรงพิมพ์ แต่ที่นั่น เขากลับพบอิงอรที่ประทับใจในบุคลิกซึ่งเต็มไปด้วยความทระนง และไว้หนวดตามแบบพระเอกในจินตนาการ ผนวกกับคำแนะนำของอิศรา อิงอรจึงได้ชักชวนแกมขอร้องให้เขามารับหน้าที่พระเอกละครเวทีแค่เป็นการเฉพาะกิจ แล้วค่อยออกบวช แต่สุดท้ายเมื่อละครเวทีเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ ส. อาสนจินดา จึงไม่อาจถอนตัวจากโลกแห่งการแสดง และสุดท้ายเขาได้อยู่ยงกลายเป็นนักแสดง ผู้เขียนบท และผู้สร้าง ผู้กำกับภาพยนตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของวงการนี้ ไปตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต 


ปี พ.ศ. 2496 ยุคที่ภาพยนตร์เริ่มกลับมาได้รับความนิยม หลังซบเซาลงไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ส. อาสนจินดา และ อิงอร ได้ข้องเกี่ยวกับ ดรรชนีนาง อีกครั้ง เมื่อทั้งคู่ได้ร่วมกันกำกับภาพยนตร์ 16 มม. ที่สร้างจากบทประพันธ์ยอดนิยมเรื่องนี้ โดยนอกจากร่วมกำกับ อิงอร ยังรับหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์ ในขณะที่ ส. อาสนจินดา กลับมารับบท ม.จ. นิรันดร์ฤทธิ์ธำรง เช่นเดิม รวมถึงนักแสดงละครเวทีหญิงชื่อดัง สวลี ผกาพันธุ์ ที่มารับบทที่เธอเคยแสดงในฉบับละครเวที แต่บท ดรรชนี นั้น ได้ สุทิน บัณฑิตกุล ซึ่งเพิ่งได้รับมงกุฎนางงามเกษตร มารับหน้าที่เป็นนางเอกหน้าใหม่


เวลาผ่านไปหลายทศวรรษ พ.ศ. 2535 หอภาพยนตร์ได้รับมอบฟิล์มภาพยนตร์ 16 มม. เรื่องนี้จาก ชาตรี วัฒนเขจร และเนื่องในวาระรำลึก 100 ปีชาตกาล ส. อาสนจินดา เมื่อปลายปี 2564 หอภาพยนตร์ได้นำฟิล์มฉบับนี้มาสแกนภาพใหม่ เพื่อจัดฉายในคราวนั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาพยนตร์ 16 มม. ในยุคนั้น ใช้วิธีการพากย์สด จึงทำให้ไม่มีเสียงในฟิล์ม และปัจจุบัน ยังไม่พบบทพากย์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงได้ให้กลุ่มนักแสดงละครเวทีร่วมสมัย ได้แก่ จารุนันท์ พันธชาติ, คานธี วสุวิชย์กิต และ วัฒนชัย ตรีเดชา มาร่วมกันถ่ายทอดเสียงพากย์จากบทพากย์ที่แกะขึ้นมาใหม่ โดยอิงจากบทประพันธ์ต้นฉบับของ อิงอร


นอกจากจะเป็นหมุดหมายสำคัญของ ส. อาสนจินดา และ อิงอร สองยักษ์ใหญ่ของวงการบันเทิงไทย ดรรชนีนาง ยังมีคุณค่าเป็นดังตัวแทนความบันเทิงที่เคยติดอกติดใจคนไทยในช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ด้วยเรื่องราวที่พาฝัน อ่อนหวาน แต่มีตอนจบที่รันทดสะเทือนใจ รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงของศิลปะหลากหลายรูปแบบที่กล่อมเกลาผู้คน ทั้งวรรณกรรม ละครเวที มาจนถึงภาพยนตร์ ในขณะเดียวกัน ยังเป็นตัวอย่างอันหายากที่ทำให้ได้เรียนรู้ลักษณาการและอารมณ์บรรยากาศของหนังไทย 16 มม. ยุคก่อนปี 2500 ที่หลงเหลืออยู่น้อยนิด