[จอมพลสฤษดิ์ไปอเมริกา]

ฟิล์ม 16 มม. / สี / เงียบ / 22 นาที

ปีสร้าง 2501

ผู้สร้าง นายแพทย์จำลอง หะริณสุต 


ภาพยนตร์บันทึกภาพการเดินทางไปรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกาของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี 2501 ขณะดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการกองทัพบก ซึ่งแม้จะไม่ได้อยู่ในคณะรัฐมนตรี แต่ก็ถือเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดทางการเมืองไทยในขณะนั้น 


จอมพลสฤษดิ์ได้ล้มป่วยอย่างรุนแรงด้วยอาการเกี่ยวกับไตและม้าม เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2500 แพทย์ลงความเห็นว่าควรจะไปผ่าตัดที่ศูนย์การแพทย์ทหารแห่งชาติ วอลเตอร์ รีด กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ให้การรักษาประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและผู้นำหลายประเทศ นายทหารคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์ คือ พันเอก เฉลิมชัย จารุวัสตร์ (ยศขณะนั้น) อดีตผู้ช่วยทูตทหารบกไทยประจำสหรัฐ เป็นผู้ติดต่อประสานอย่างไม่เป็นทางการกับเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาที่กรุงเทพฯ เพื่อช่วยให้จอมพลสฤษดิ์เดินทางไปรักษาตัว โดยถือเป็นแขกส่วนตัวของประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ และรัฐบาลไทยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด 


จอมพลสฤษดิ์เดินทางไปถึงสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2501 พร้อมคณะ ประกอบด้วยภริยา คือ ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์, พันเอก เฉลิมชัย จารุวัสตร์ และนายแพทย์ของไทยกับนายทหารที่ใกล้ชิดอีกสองสามนาย แพทย์คนหนึ่งคือนายแพทย์จำลอง หะริณสุต ซึ่งต่อมาเป็นแพทย์พลเรือนประจำตัวจอมพลสฤษดิ์ ตามข้อมูลระบุว่าจอมพลสฤษดิ์เข้ารับการตรวจเบื้องต้นที่ศูนย์การแพทย์ฯ วอลเตอร์ รีด วันที่ 30 มกราคม และเข้าพักในโรงพยาบาลวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ก่อนจะผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินโลหิตดำใหญ่ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 


ภาพยนตร์นี้เข้าใจว่าถ่ายโดยแพทย์ไทยที่ไปในคณะ ซึ่งอาจจะเป็นนายแพทย์จำลองเอง เป็นภาพยนตร์ส่วนตัวคือมิใช่เพื่อเผยแพร่สาธารณะ แต่นับว่าผู้ถ่ายทำมีความสามารถหรือชำนาญในการถ่ายภาพยนตร์เป็นอย่างดี ใช้กล้องฟิล์ม 16 มม. ทั้งใช้แสงธรรมชาติหรือแสงเท่าที่มีอยู่จริงเป็นหลัก แต่ก็มีบางเหตุการณ์ที่ใช้แสงไฟฟ้าสำหรับถ่ายภาพยนตร์ช่วยด้วย ภาพยนตร์ไม่ได้บันทึกเสียง โดยผู้ถ่ายได้จับภาพเหตุการณ์เป็นลำดับไปทีละม้วน เป็นการตัดต่อในกล้องเป็นส่วนใหญ่ ภาพยนตร์ยาวม้วนละ 100 ฟุต คาดว่ามีการถ่ายไว้รวม 5 ม้วน แล้วนำม้วนมาต่อกันตามลำดับถ่ายก่อนหลังของเหตุการณ์จริง ได้เป็นภาพยนตร์ความยาวประมาณ 22 นาที 


เริ่มต้นม้วนแรกเป็นภาพภายนอกอาคาร เข้าใจว่าที่บ้านพักในวอชิงตัน ก่อนที่จอมพลสฤษดิ์และภริยาจะออกจากบ้านขึ้นรถยนต์ไปยังโรงพยาบาล เห็นสองข้างทางที่เป็นย่านที่พักอาศัยมีหิมะปกคลุมขาวทั่วพื้น เมื่อมาถึงโรงพยาบาล จอมพลสฤษดิ์และภริยาเดินเข้าไปยังห้องพัก พร้อมทั้งคณะที่ติดตามมา เห็นเตียงผู้ป่วยและบรรยากาศในห้องที่เต็มไปด้วยดอกไม้ที่นำมาประดับตกแต่งห้องหลากสี จอมพลสฤษดิ์เดินดูห้องในสภาพที่ร่างกายที่ซูบและอิดโรย มีนายแพทย์ไทยสองคนที่เป็นนายทหารและพลเรือน รวมทั้งพันเอก เฉลิมชัย จารุวัสตร์ ร่วมสนทนา และนายทหารที่เข้าใจว่าเป็นนายแพทย์ของโรงพยาบาลกำลังดูเอกสารปรึกษากัน ปิดท้ายด้วยภาพจอมพลสฤษดิ์รับประทานอาหารเย็นคนเดียวที่โต๊ะ


ม้วนที่สองเป็นเหตุการณ์หลังผ่าตัดแล้ว บันทึกภาพจอมพลสฤษดิ์นอนรับน้ำเกลืออยู่บนเตียงผู้ป่วย มีแพทย์และคณะมาตรวจอาการ ตัดไปภายนอกอาคารเข้าใจว่าที่ด้านนอกโรงพยาบาล บริเวณพื้นที่รอบ ๆ ยังปกคลุมด้วยหิมะ ตัดกลับมาในห้องพัก จอมพลสฤษดิ์อยู่บนเตียงหลังผ่าตัด อาการดีขึ้น นายแพทย์ไทยสองคนเข้ามาดู เข้าใจว่ามีบุตรชายคือ เศรษฐา ธนะรัชต์ ร่วมอยู่ด้วย 


ม้วนต่อไปน่าจะเป็นเวลาที่พักฟื้นอยู่ที่บ้านพัก จอมพลสฤษดิ์สามารถนั่งพักได้แล้ว สีหน้าดีขึ้น ถ่ายโดยใช้แสงไฟฟ้าช่วยซึ่งแสดงว่ายินดีให้ถ่าย มีแพทย์ไทยตรวจชีพจร วัดอุณหภูมิ มีแพทย์ฝรั่งมาตรวจเท้า ท่านผู้หญิงวิจิตราเข้ามากราบที่อกและจับแก้มจอมพล แล้วนั่งสนทนากัน ตัดไปมีนายทหารสหรัฐมาพบ และมีชายไทยหลายคนมาชุมนุมที่ห้อง เห็นบุรุษพยาบาลฝรั่งในชุดพยาบาลติดบั้งยศจ่าที่แขนมาปฏิบัติงาน นำน้ำหรือยาให้จอมพลดื่มด้วยหลอดดูดในที่นอน ในขณะที่ภริยาตัดเล็บเท้าให้ ต่อมานายแพทย์ฝรั่งมาตรวจร่างกาย ดูแผลที่ผ่าตัดที่ท้องและบีบจับจุดที่รอบตัว ส่วนสุดท้ายของม้วนนี้เป็นอีกวันที่จอมพลมีอาการดีขึ้น แจ่มใส สามารถยืนและเดินรับแขกที่มาเยี่ยม เห็นนายแพทย์จำลองมาตรวจและนั่งสนทนาพร้อมกับแพทย์หญิงตระหนักจิต ภริยานายแพทย์จำลอง 


ม้วนต่อมา เข้าใจว่าถ่ายทำหลังจากจอมพลสฤษดิ์ออกจากโรงพยาบาลแล้ว มีบันทึกกิจกรรมพบปะกับนายทหารอเมริกันชั้นนายพลผู้หนึ่ง คาดว่าเป็นที่สถานทูตไทย โดยมี ถนัด คอมันตร์ เอกอัคราชทูตประจำสหรัฐอเมริกา ร่วมอยู่ด้วย ต่อไปเป็นเหตุการณ์ในบ้านพัก มีการสังสรรค์ดื่มและทำอาหารค่ำเลี้ยงกัน จอมพลสฤษดิ์ดูมีความสุข สวมหมวกแดงทักทายหน้ากล้อง 


ม้วนสุดท้าย จอมพลสฤษดิ์ กับภริยา ออกจากที่พัก ขึ้นรถยนต์เพื่อเดินทางต่อไป ในขณะที่คณะแพทย์และคนอื่น ๆ รวมทั้ง ถนัด คอมันตร์ มาคอยส่งที่หน้าที่พัก สังเกตเห็นว่าจอมพลสฤษดิ์ถือกล้องถ่ายภาพยนตร์ขนาดเล็กอยู่ในมือขณะก้าวขึ้นรถ แสดงว่าจอมพลถ่ายภาพยนตร์ของตนเองด้วย ต่อมาเป็นภาพที่สนามบินนานาชาติ ไมอามี มีนายแพทย์จำลองและครอบครัวกับคนอื่น ๆ เช่น ถนัด คอมันตร์ อยู่ที่สนามบิน เห็น พันเอกเฉลิมชัย จารุวัสตร์ เดินกับใครบนถนน และเห็นคณะในสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง แล้วฟิล์มจึงหมดเพียงเท่านี้


หอภาพยนตร์ได้รับมอบภาพยนตร์นี้จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นไปได้ว่าฟิล์มภาพยนตร์เป็นสมบัติส่วนตัวของนายแพทย์จำลอง หะริณสุต เพราะท่านได้เป็นผู้ก่อตั้งคณะเวชศาสตร์ฯ เมื่อปี 2503 และบริจาคฟิล์มเหล่านี้แก่คณะ ซึ่งต่อมาได้มอบให้หอภาพยนตร์ดำเนินการอนุรักษ์


โดยทั่วไปภายหลังได้รับการผ่าตัดทางเดินโลหิตดำใหญ่แล้ว ผู้ป่วยจะมีอายุไม่ยืนยาวนัก จอมพลสฤษดิ์เองคงจะทราบดี ภายหลังผ่าตัดเสร็จสิ้น จึงได้เขียนบันทึกประจำวัน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2501 ว่า “ดีใจมากเตรียมการต่าง ๆ ทั้งวันเป็นสุขใจมาก แต่ก็ใจหาย รู้ว่าจะอยู่ได้อีกไม่นาน ต่อไปนี้เราจะหาความสุขให้เต็มที่ และทำงานเพื่อชาติ” ในขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยที่ระบุว่าการไปรับการรักษาตัวครั้งนั้น น่าจะมีการติดต่อเจรจาลับระหว่างจอมพลสฤษดิ์กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อกำหนดอนาคตประเทศไทยใต้อิทธิพลสหรัฐฯ และหลังจากกลับมาประเทศไทย ในปลายปีนั้นเองจอมพลสฤษดิ์ได้ก่อการรัฐประหารอีกครั้งและขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเองในระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ


ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำแบบส่วนตัว และบันทึกเหตุการณ์ส่วนหนึ่งในชีวิตส่วนตัวของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรื่องนี้ จึงมีความสำคัญระดับชาติ ในฐานะเครื่องบันทึกช่วงเวลาอันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สุดแห่งชีวิตของผู้ทรงอิทธิพลต่อการเมืองไทย และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการกำหนดชะตากรรมความเป็นไปของประเทศที่ส่งผลสืบเนื่องยาวนานไปอีกหลายปีต่อมา