มันมากับความมืด

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 141 นาที
วันออกฉาย 31 ธันวาคม 2514
บริษัทสร้าง ละโว้ภาพยนตร์
ผู้อำนวยการสร้าง หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา
ผู้กำกับ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
ผู้ประพันธ์ ป.อัศวดารา
ผู้กำกับภาพ จุรัย เกษมสุวรรณ
ผู้ลำดับภาพ สุธรรม สุริยวงค์
ผู้กำกับศิลป์ ทวีศักดิ์ เสนาณรงค์
ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ปัทมนรังษี เสนาณรงค์, สุรพงค์ โปร่งมณี
ผู้แสดง สรพงศ์ ชาตรี, นัยนา ชีวานันท์, สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์, ถนอม นวลอนันต์, ดามพ์ ดัสกร, พนม นพพร, จอมใจ จรินทร, จริยา ศิริพิศ, ศรัทธา สถาพร, ดวงดารา ประทับใจ, คมน์ อรรฆเดช, เบญจมภรณ์ ปริมสุวรรณ, สุพรรณ อุปถัมภ์, พร้อม จอมปลวก, ชูศรี มีสมมนต์, สะอาด เกศะปิณฑ์, วิคม สิงห์โมฬี, หยาดรุ้ง ระพี, สุดจัยยะ ชมพูนุท, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ, ม.ล. รุจิรา อิศรางกูร, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, ศิริ ศิริจินดา, วงศ์ทอง ผลานุสนธิ์, เอนก เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

มันมากับความมืด เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ ท่านมุ้ย หลังจากทรงกำกับภาพยนตร์โทรทัศน์มาหลายเรื่องก่อนหน้านั้น โดยทรงสร้างในนาม ละโว้ภาพยนตร์ บริษัทภาพยนตร์ของพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ หรือ “เสด็จพระองค์ชายเล็ก” พระบิดาของพระองค์ ซึ่งเป็นคนทำหนังไทยที่มีบทบาทมายาวนาน

มันมากับความมืด ภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ อันเป็นแนวทางที่แปลกแตกต่างจากหนังไทยทั่วไปในตอนนั้น เล่าเรื่องราวของ ธงชัย นักวิทยาศาสตร์ และ เสก ลูกศิษย์หนุ่ม ที่เดินทางไปตรวจสอบปรากฏการณ์หินอุกกาบาตตกลงมาที่หมู่บ้านคนน้ำ แต่พวกเขากลับพบว่าหมู่บ้านคนน้ำได้กลายเป็นหมู่บ้านร้างไปภายในชั่วข้ามคืน เหลือเพียงเศษโครงกระดูกของชาวบ้านเท่านั้นที่เป็นร่องรอยของเบาะแส ในขณะที่บางคนที่ตายไปแล้วก็กลับกลายเป็นศพเดินได้ เที่ยวออกอาละวาดปล่อยลำแสงทำลายล้างผ่านทางดวงตา กระทั่งพวกเขาได้พบกับชิ้นส่วนผิวหนังและนำมาตรวจ จึงรู้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตจากนอกโลก โดยสาเหตุหนึ่งที่ทรงสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นเป็นผลงานเรื่องแรก เพราะท่านมุ้ยทรงมีพื้นความรู้ทางธรณีวิทยาที่ทรงเรียนมาและทรงมีความสามารถและประสบการณ์ในการดำน้ำ ซึ่งในเรื่องจึงมีทั้งฉากทางทะเล ฉากดำน้ำ และฉากภายในถ้ำ 

ปี 2514 ที่ มันมากับความมืด ออกฉายเป็นปีสำคัญที่วงการหนังไทยเริ่มเปลี่ยนผ่านจากหนัง 16 มม. พากย์สดที่ครองตลาดมายาวนาน เป็นหนังฟิล์ม 35 มม. เสียงในฟิล์ม ซึ่งมี มันมากับความมืด เป็นหนึ่งในนั้น และยังเป็นปีแรกที่วงการภาพยนตร์ไทยไม่มี มิตร ชัยบัญชา พระเอกหมายเลขหนึ่งผู้เสียชีวิตในปีก่อนหน้า จึงเกิดการปั้นพระเอกใหม่ขึ้นมาพร้อมกันอย่างมากมายในปีเดียวกัน เช่น ครรชิต ขวัญประชา, กรุง ศรีวิไล, นาท ภูวนัย, ไพโรจน์ ใจสิงห์, ยอดชาย เมฆสุวรรณ ฯลฯ รวมไปถึง สรพงศ์ ชาตรี พระเอก มันมากับความมืด

ก่อนหน้านั้น สรพงศ์ ชาตรี เป็นเด็กในกองถ่ายหนังไทย ที่ได้เข้ามาคัดตัวจนได้เป็นนักแสดงประกอบในหนังโทรทัศน์ที่ท่านมุ้ยทรงกำกับอยู่หลายเรื่อง และทรงเห็นแววในการเป็นนักแสดง เดิมที สรพงศ์ ได้รับบทเป็นพระรองใน มันมากับความมืด แต่ระหว่างถ่ายทำได้เกิดปัญหาจนทำให้พระองค์ทรงเลื่อนสรพงศ์ขึ้นมาเป็นพระเอกแทน ไชยา สุริยัน พระเอกคนแรกที่วางไว้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย แม้แต่ตัวสรพงศ์เองที่มองว่าตัวเองยังไม่พร้อมและรูปร่างหน้าตาไม่ตรงกับขนบของพระเอกหนังไทยในเวลานั้น ในขณะที่นางเอกคือ นัยนา ชีวานันท์ นักแสดงสาวที่ละโว้ภาพยนตร์กำลังปลุกปั้นขึ้นมา

เมื่อออกฉายส่งท้ายปี 2514 ในโปรแกรมต้อนรับปีใหม่ของโรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ โรงหนังซึ่งเป็นกิจการของราชสกุลยุคลและเป็นโรงประจำของละโว้ภาพยนตร์ มันมากับความมืด ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ ส่วนหนึ่งเพราะแนวทางที่แปลกแตกต่างจากหนังไทยทั่วไปในตอนนั้น ก่อนที่ทั้งท่านมุ้ย และสรพงศ์ รวมถึงนัยนา จะร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานเรื่องที่สองซึ่งเปลี่ยนเป็นแนวสะท้อนสังคมเรื่อง เขาชื่อกานต์ ในปี 2516 และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม มันมากับความมืด ก็ยังนับได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่กล้าหาญในการนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ในช่วงรอยต่อสำคัญของวงการหนังไทย และเมื่อพิจารณาถึงสถานะของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล และ สรพงศ์ ชาตรี ในเวลาต่อมา มันมากับความมืด ยังมีคุณค่าสำคัญในฐานะที่เป็นปฐมบทของทั้งผู้กำกับและนักแสดงชายผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย