ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 129 นาที
วันออกฉาย 29 กันยายน 2521
บริษัทสร้าง ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น
ผู้อำนวยการสร้าง เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร
ผู้กำกับ ยุทธนา มุกดาสนิท
ผู้เขียนบท หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล, ยุทธนา มุกดาสนิท
ผู้กำกับภาพ สมชาย ลีลาณุรักษ์
ผู้ลำดับภาพ ยุทธนา มุกดาสนิท
ผู้กำกับศิลป์ ชัยรัตน์ พงษ์บุญฤทธิ์
ผู้ทำดนตรีประกอบ ธารีพันธ์ ธีปศิริ, อดิงดีล่า
ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย กมลวิทย์ เศวตเศรณี
ผู้แสดง จันทรา ชัยนาม, ไกรลาศ เกรียงไกร, สุเชาว์ พงษ์วิไล, สุดา ชื่นบาน, วสันต์ อุตตมะโยธิน, ศิริพงษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา, จุรี โอศิริ, นงนุช เปเรร่า, บุษบง บุระกสิกร, วราภรณ์ ลือนันต์, จุไร อ้นปรางค์, คล้ายจันทร์ สนิทวงศ์, ทิพวัลย์ วะดี, อุทุมพร แก้วสถิตย์, วรภัณฑ์ ลีละชาติ, ชัยธวัช ยุทธนันท์, วิสุทธิพงษ์ ประยูรคง, ชัชวาล จุกนะวัฒนา, ทวีศักดิ์ พรหมสาขา, อรดา สุวรรณบุตร, อโนชา ชาคริต, พิศมัย แสงหิรัญ, สุเมธ เชื้อสังขพันธ์, อินทิรา ทิชาชาติ, มหิศร เลื่อมประไพ, ด.ญ. รุจี, ประคอง
เทพธิดา บาร์ 21 เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของ ยุทธนา มุกดาสนิท คนทำหนังที่เรียนวิชาการภาพยนตร์โดยตรงมาจากคณะวารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีโอกาสได้ไปฝึกงานที่ละโว้ภาพยนตร์ อันเป็นค่ายใหญ่ของวงการในขณะนั้น รวมทั้งได้เป็นผู้ช่วยให้ผู้กำกับรุ่นใหญ่ เชิด ทรงศรี และผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล นั่นทำให้เขามีคุณสมบัติและศักยภาพพร้อมที่จะเป็นแกนนำของคนทำหนังคลื่นลูกที่สองหลังยุค 14 ตุลา ที่ต้องการปฏิรูปวงการภาพยนตร์ไทยซึ่งก่อนหน้านั้นได้ย่ำอยู่กับที่ให้เกิดการพัฒนาไปข้างหน้า
ยุทธนาได้รับความไว้วางใจจากบริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ที่เพิ่งก้าวขึ้นมาเป็นค่ายใหญ่ของวงการ ให้มารับหน้าที่กำกับภาพยนตร์เดี่ยวเรื่องแรกเรื่องนี้ในปี 2521 ด้วยแรงดลใจที่ต้องการนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ให้แก่คนดูหนังไทย ผนวกกับความรู้ที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์ในกองถ่ายต่าง ๆ เขาจึงแสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานด้วยการสร้าง เทพธิดา บาร์ 21 ให้เป็นหนังเพลงหรือมิวสิคัลที่มีการเต้นและร้องอย่างเต็มรูปแบบ แตกต่างจากหนังเพลงเรื่องอื่น ๆ ของไทยก่อนหน้านี้
ยุทธนาดัดแปลง เทพธิดา บาร์ 21 มาจากบทละครเรื่อง “เกียรติของโสเภณี” ของ ฌอง ปอล ซาร์ต นักปรัชญาคนดังของฝรั่งเศส และปรับให้เข้ากับบริบทของไทย โดยร่วมเขียนบทกับหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล กลายมาเป็นเรื่องราวที่ดำเนินไปใน “บาร์ 21” บาร์แห่งหนึ่งในกรุงเทพ ฯ ที่มีพาร์ตเนอร์อยู่ 9 คน หนึ่งในนั้นคือ รินดา หญิงสาวผู้ผิดหวังในความรัก และบังเอิญเข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์ฆาตกรรมบนรถไฟ จนทำให้รู้จักกับ สิงห์ หนุ่มบ้านนอกที่เดินทางมาหางานทำในกรุงเทพฯ ต่อมาเธอได้พบกับ ทนง ชายหนุ่มแสนดีและร่ำรวย ผู้หาทางมาใกล้ชิดกับเธอ โดยหารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วเขาหวังผลประโยชน์บางอย่างจากความเป็นคนซื่อของเธอ
แม้หนังเพลงส่วนมากจะเน้นที่ความเพลิดเพลินใจ แต่ เทพธิดา บาร์ 21 กลับถ่ายทอดเรื่องราวที่เสียดสีสังคม ทั้งการเอารัดเอาเปรียบผู้ด้อยโอกาส นักการเมืองที่เลวร้าย รวมไปถึงยาเสพติด ท่ามกลางฉากเพลงที่ร้องและเต้นอย่างตระการตา ยุทธนาได้พาผู้ชมไปพบกับภูมิทัศน์ต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ทั้งสถานบันเทิงยามราตรีที่เต็มไปด้วยแสงสีและความเย้ายวน คฤหาสน์หลังงามที่เบื้องหลังมีแต่ความเน่าเฟะ และชุมชนสลัมซึ่งอยู่กันอย่างแร้นแค้น
ผู้รับบท รินดา วงศ์ซื่อ บทเด่นของเรื่องคือ จันทรา ชัยนาม ผู้มีชื่อเสียงและบทบาทหลากหลายในฐานะสื่อสารมวลชน ทั้งบรรณาธิการและนักจัดรายการวิทยุ โดยยุทธนาประทับใจจากบทบาทการแสดงละครเวที ราโชมอน เมื่อครั้งที่เธอยังเป็นนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ชักชวนให้เธอมารับบทนำใน เทพธิดา บาร์ 21 ซึ่งเธอได้ลงทุนลาออกจากงานบรรณาธิการนิตยสาร ดิฉัน เพื่อมาร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่องเดียวในชีวิตเรื่องนี้โดยเฉพาะ
เทพธิดา บาร์ 21 ออกฉายในปี 2521 แม้จะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ แต่ก็ได้รับคำชมอย่างมากจากนักวิจารณ์และสื่อมวลชน รวมทั้งประสบความสำเร็จในเวทีประกวด เมื่อสองนักแสดงหน้าใหม่ คือ จันทรา ชัยนาม ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขาผู้แสดงนำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม และ ไกรลาศ เกรียงไกร ผู้รับบท สิงห์ ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขาผู้แสดงสมทบฝ่ายชายยอดเยี่ยม
เทพธิดา บาร์ 21 นับเป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นการผลัดใบของวงการหนังไทย จากยุคที่ผู้สร้างมองภาพยนตร์เป็นสินค้าและจำกัดอยู่แค่เรื่องประโลมโลกย์ มาสู่ยุคของคนทำหนังรุ่นใหม่ที่ร่ำเรียนวิชาภาพยนตร์มาโดยตรง จึงมองเห็นคุณค่าของภาพยนตร์ต่างออกไป ทั้งยังมีเป้าหมายใหญ่ที่ต้องการสื่อสารถึงปัญหาสังคมและการเมือง ที่สำคัญ ยังเป็นผลงานที่ถึงพร้อมด้วยศิลปะภาพยนตร์ จนได้รับการยอมรับจากผู้ที่มองเห็นคุณค่าของภาพยนตร์แบบเดียวกัน รวมทั้งเป็นใบเบิกทางให้ผู้กำกับหน้าใหม่ ได้กลายเป็นคนทำหนังไทยที่สร้างสรรค์ผลงานสำคัญอีกมากมายในเวลาต่อมา