Compte-rendu de Mission Archéologique…au SIAM ~ NOV-DEC 1929 ~ (รายงานการสำรวจทางโบราณคดี ณ กรุงสยาม พฤศจิกายนถึงธันวาคม 2472)

ฟิล์ม 9.5 มม. / ขาวดำ / เงียบ / ความยาว 64 นาที

ปีสร้าง 2472

ผู้สร้าง Jean-Yves Claeys


ช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2472 Jean-Yves Claeys นักโบราณคดีและสถาปนิกชาวฝรั่งเศส ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ประจำอยู่กับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ประเทศเวียดนาม ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรสยาม เพื่อเข้าร่วมกับคณะสำรวจแหล่งโบราณคดี โดยมี George Cœdès เป็นผู้ประสานงานกับรัฐบาลสยาม และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอำนวยการเดินทาง 


ระหว่างการเดินทางสำรวจนี้ Claeys ซึ่งสนใจการถ่ายภาพนิ่งและภาพยนตร์ ได้ถ่ายทำภาพยนตร์บันทึก “ความทรงจำของการเดินทาง” โดยช่วงต้นของภาพยนตร์นั้นปรากฏ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พร้อมด้วย Cœdès และ Claeys อยู่ภายในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล และบันทึกการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ รวมทั้งโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น วัดพระศรีสรรเพชญ์, วิหารพระมงคลบพิตร, วัดพุทไธศวรรย์ ต่อมาเป็นการเดินทางโดยรถไฟซึ่ง Cœdès มิได้ร่วมเดินทางด้วย โดยมุ่งหน้าไปยังพระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช จากนั้นจึงย้อนกลับมาที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ่านเส้นทางกันดารไปยังซากโบราณสถานเขาน้ำร้อน จากนั้นเดินทางสู่จังหวัดเพชรบุรี แวะชมเขาวัง และออกเดินทางต่อไปจังหวัดราชบุรี เข้าเยี่ยมชมวัดมหาธาตุวรวิหาร บรรยากาศตลาดริมน้ำที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน และกลับเข้ากรุงเทพฯ จากนั้นจึงเริ่มเดินทางอีกครั้ง


การเดินทางช่วงนี้มีเอกสารบันทึกเป็นจดหมายรายงานวันเดินทางของ Cœdès กราบทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าเริ่มขึ้นในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2472 โดยคณะสำรวจเดินทางไปยังบริเวณพระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี จากนั้นเดินทางต่อไปยังจังหวัดพิษณุโลก แล้วล่องแม่น้ำน่านไปถึงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุหรือวัดใหญ่ และชมละครรำชาตรี ก่อนเดินทางต่อไปยังแหล่งโบราณสถาน สวรรคโลก ศรีสัชนาลัย บันทึกภาพบริเวณพระปรางค์ใหญ่ และพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลา วัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง จากนั้นจึงเดินทางไปเยี่ยมชมแหล่งโบราณสถาน ซึ่งปัจจุบันคือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีการบันทึกภาพบริเวณวัดตะพานหิน


จากนั้น คณะสำรวจเดินทางขึ้นเหนือต่อเพื่อชมการทำอุตสาหกรรมป่าไม้ ซึ่งใช้ช้างเป็นแรงงานหลัก แล้วจึงไปเยือนเชียงแสน ในพื้นที่ที่คาดว่าน่าจะเป็นบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ก่อนย้อนกลับมายังจังหวัดลำปาง ซึ่ง Cœdès กลับเข้ามาร่วมคณะสำรวจ และเดินทางต่อไปสู่จังหวัดเชียงใหม่ มีการบันทึกภาพของบ้านเมือง ตลาดเช้า บ้านหลวงอนุสารสุนทร (เดิม) ซึ่งอยู่แถวริมปิง สะพานนวรัฐ เจดีย์บรรจุอัฐิพระเจ้าติโลกราชในวัดเจ็ดยอด ที่วัดเจ็ดยอดนี้ Claeys ได้ตั้งกล้องบันทึกภาพตนเองขณะจดบันทึก ต่อมาเป็นภาพของวัดพระสิงห์ ทั้งในส่วนของหอไตร และวิหารหลวง แล้วจึงเป็นภาพของพระศีลา และพระแก้วขาว วัดเชียงหมั้น กับพระสงฆ์รูปหนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานว่าคือ ครูบาเจ้าศรีวิชัย จากนั้นได้เดินทางไปยังเจดีย์วัดกู่กุด หรือวัดจามเทวี และบันทึกภาพของโรงทอผ้าไหมยกดอก ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวง ฝั่งตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน Claeys บันทึกภาพสุดท้ายของการเดินทางสำรวจราชอาณาจักรสยามที่แม่น้ำโขง รวมความยาวในส่วนนี้ ประมาณ 40 นาที


ส่วนท้ายของภาพยนตร์ ประกอบไปด้วยฉากเล็ก ๆ หลากหลายเหตุการณ์ เช่น ภาพแหล่งโบราณคดี Dong Son ริมแม่น้ำ Ma ในจังหวัด Thanh Hoa ในเวียดนาม ภาพของสะพาน Thanh Hoa (เดิม) ซึ่งเป็นสะพานเหล็กขนาดใหญ่ ภาพบันทึกร่วมกับ Cœdès ที่พระตะบอง ภาพของจุดข้ามแดน อรัญประเทศ ภูมิทัศน์สองข้างทาง ถนน บ้านเรือนที่ไม่สามารถระบุสถานที่ได้ และช่วงท้ายสุดของภาพยนตร์มีลักษณะเป็น เศษฟิล์ม ปรากฏภาพ ชายฝั่ง ท่าเรือ เรือเดินสมุทร ออกจากท่าที่ Hai Phong เพื่อไป Da Nang และภาพเรือจะเข้าเทียบท่าที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถระบุช่วงเวลา และลำดับของเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจน


การบันทึกภาพการเดินทางนี้ Claeys มิได้เพียงแต่บันทึกภาพโบราณสถานเท่านั้น แต่ได้บันทึกภาพสมาชิกของคณะสำรวจ เช่น หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นภัณฑารักษ์ของกองงานพิพิธภัณฑ์หลวง) และผู้คนในท้องถิ่น เช่น พระสงฆ์ที่วัดป่าลิไลยก์ อำเภอไชยา หญิงสาวที่โรงทอผ้า ครอบครัวชาวบ้านที่วัดกู่กุด เด็กหญิงเด็กชายในครอบครัวของช่างฝีมือเครื่องเขินในเชียงใหม่


นอกจาก ภาพยนตร์บันทึกความทรงจำแล้ว Claeys ยังได้จัดทำเอกสาร L’archéologie du Siam (รายงานการสำรวจทางโบราณคดี ณ กรุงสยาม) ซึ่งในเวลาต่อมาถือเป็นเอกสารสำคัญอย่างหนึ่งในด้านการศึกษาโบราณคดีของสยาม