พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตพระนคร พ.ศ. 2481

อำนวยการสร้าง : บริษัท ไทยฟิล์ม จำกัด

ถ่ายภาพ : - ม.ร.ว.อนุศักดิ์ หัสดินทร


วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน ปี 2481 เป็นวันที่มีกำหนดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ยุวกษัตริย์ พระชนมายุเพียง 13 พรรษา พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล  จะเสด็จ ฯ  นิวัติพระนครหรือสยาม เป็นการชั่วคราว นับเป็นครั้งแรกที่แผ่นดินสยาม ซึ่งว่างเว้นจากการมีกษัตริย์ประทับอยู่ในประเทศนับจากปี 2476 ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ เสด็จนิราศจากประเทศไป แล้วทรงสละราชสมบัติ 


ตามกำหนดการ จะเสด็จถึงพระนครในวันที่ 15 พฤศจิกายน  เวลา 06.00 น. เรือเดินสมุทรมีโอเนีย มาถึงถึงเกาะสีชัง เวลา 08.00 น. เรือรบหลวงศรีอยุธยา รอรับเสด็จอยู่ที่เกาะสีชัง ซึ่งสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จไปคอยรับพระราชนัดดาและพระสุนิสาด้วย  พระเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยเรือยนต์เล็กไปประทับ ณ เรือรบหลวงศรีอยุธยา ซึ่งคณะผู้สำเร็จราชการและคณะรัฐมนตรีเฝ้ารับเสด็จ เรือรบหลวงศรีอยุธยาแล่นขึ้นมาตามลำน้ำเจ้าพระยา จนถึงกรุงเทพ ฯ ประชาชนพากันนำเรือเล็กเรือน้อยมาเฝ้ารับเสด็จจำนวนมาก และแหนเฝ้าอยู่เนืองแน่น ตั้งแต่ปากอ่าวจนตลอดสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่างโบกธงและร้อง "ไชโย" กันเสียงดัง จากนั้นเสด็จขึ้นฝั่งที่ท่าราชวรดิฐ  ทรงใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยเพื่อเสด็จเยี่ยมราษฎร และประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์


ภาพยนตร์ม้วนนี้ เป็นภาพยนตร์ข่าว สร้างโดย บริษัท ไทยฟิล์ม จำกัด ต้นฉบับเป็นภาพยนตร์ 35 มิลลิเมตร ขาว-ดำ เสียงในฟิล์ม ยาวสองม้วน หรือ กินเวลาฉายประมาณ 20 นาที ซึ่งบริษัทสร้างเพื่อนำออกฉายเป็นภาพยนตร์ข่าวพิเศษตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ  


หอภาพยนตร์แห่งชาติ  ได้รับมอบฟิล์มม้วนนี้เมื่อปี 2528 จาก บริการภาพยนตร์เฉลิมวัฒนา นครราชสีมา ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการโรงภาพยนตร์รายใหญ่ทั่วภาคอิสาน น่าเสียดายที่ฟิล์มภาพยนตร์ไม่อยู่ในสภาพสมบูรณ์เต็มเรื่องและไม่มีแถบบันทึกเสียง  แต่เท่าที่เหลืออยู่ก็นับได้ว่าเป็นตัวอย่างอันหาได้ยากของภาพยนตร์ข่าว ที่สร้างโดยบริษัทภาพยนตร์ สำหรับฉายตามโรงภาพยนตร์ นอกเหนือไปจากการที่ภาพยนตร์นี้ได้บันทึกภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของชาติ อันเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่อยู่ในความทรงจำและการบอกเล่าในรูปแบบต่าง ๆ ของสังคมไทยสืบเนื่องกันมาสมัยหนึ่ง