การสวนสนามของกองกำลังเสรีไทย

เป็นภาพยนตร์ซึ่งถ่ายทำโดยช่างถ่ายภาพยนตร์ของฝ่ายสัมพันธมิตร ต้นฉบับเป็นฟิล์มภาพยนตร์ 35 มิลลิเมตร ขาว-ดำ ไม่มีเสียง หอภาพยนตร์แห่งชาติได้รับมอบสำเนาฟิล์มนี้จากสำนักงาน บริติชเคาน์ซิล กรุงเทพ เมื่อปี 2530 เป็นภาพยนตร์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกเหตุการณ์เป็นเอกสารสำคัญหรือหลักฐานอย่างหนึ่งมากกว่าเพื่อการเผยแพร่


เหตุการณ์ การสวนสนามของกองกำลังเสรีไทยนี้ มีนัยความสำคัญเกี่ยวกับความเป็นความตายของประเทศ เนื่องจากในสงครามโลกครั้งที่สองนี้ รัฐบาลไทยได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอักษะและประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร โดยเฉพาะกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ผู้นำไทยอีกฝ่ายหนึ่ง นำโดย นายปรีดี พนมยงค์ ได้จัดตั้งขบวนการใต้ดินต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ร่วมกับคนไทยในต่างประเทศ ติดต่อประสานในทางลับกับสัมพันธมิตร เพื่อร่วมมือต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นผู้รุกราน เมื่อสัมพันธมิตรได้ชัยชนะเด็ดขาด โดยกองทัพญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ เมื่อ 6  สิงหาคม 2488 นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการได้ประกาศสันติภาพของประเทศไทยทันทีในวันที่ 16 สิงหาคม  ยกเลิกภาวะสงคราม ให้ถือว่าการประกาศสงครามของรัฐบาลไทยต่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นโมฆะ ซึ่งได้รับการรับรองจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ทำให้ไทยไม่ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม  นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะหัวหน้าเสรีไทยในประเทศไทย ได้จัดให้มีการรวมพลพรรคเสรีไทยทั่วประเทศ ประมาณแปดพันคน กระทำพิธีสวนสนามพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสัมพันธมิตร บนถนนราชดำเนินกลาง ใจกลางพระนคร ในวันที่ 25 กันยายน 2488 กองกำลังเสรีไทยติดอาวุธจากสายต่าง ๆ และจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เดินขบวนผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำความเคารพต่อนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการและหัวหน้าเสรีไทย  พร้อมผู้นำขบวนการทั้งหลาย ซึ่งยืนรับการสวนสนามอยู่ที่ฐานอนุสาวรีย์ 


การสวนสนามของกองกำลังเสรีไทยนี้ เป็นการประกาศต่อโลกว่า ประเทศไทยยังมีเอกราชเหนือแผ่นดินตนเองโดยสมบูรณ์ ยังมีเกียรติศักดิ์ศรี มิได้ถูกยึดครองและถูกปลดอาวุธอย่างผู้แพ้ 

ช่างถ่ายภาพยนตร์ของฝ่ายสัมพันธมิตร คงบันทึกภาพด้วยสายตาและหัวใจของการทำหน้าที่ตามปกติ อาจมิได้ยินดียินร้าย แต่สำหรับคนไทยเรา โดยเฉพาะในปัจจุบันและอนุชนในภายภาคหน้า เมื่อเห็นภาพของ คนไทยจากสาขาอาชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะชาวไร่ชาวนา ข้าราชการ กรรมกร ไม่ว่าชาย หญิง ได้ลุกขึ้นมาปฏิบัติภารกิจของการกอบกู้เอกราชของบ้านเมือง ในยามคับขัน ด้วยความเสียสละกล้าหาญ เพื่อเสรีภาพและสันติภาพ โดยมิได้หวังประโยชน์ส่วนตนใด ๆ ภาพเหล่านี้ไม่อาจบรรยายให้เกิดความรู้สึกได้ด้วยถ้อยคำพูดเขียนได้เท่ากับการประจักษ์บนจอภาพยนตร์