พยาธิตัวจี๊ด GNATHOSTOMA SPINIGERUM AND GNATHOSTOMIASIS IN THAILAND

ผู้สร้าง : Faculty of Tropical Medicine University of Medical Sciences


คนไทยน้อยคนจะรู้ว่า ผู้ที่ค้นพบวงจรของพยาธิตัวจิ๊ดเป็นรายแรกของโลกคือ นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง (2447-2534) ซึ่งท่านได้ทำวิจัยร่วมกับ นายแพทย์เฉลิม พรหมมาศ(หลวงเฉลิมคัมภีร์เวชช์) และค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2480 นายแพทย์สวัสดิ์ยังเป็นผู้ตั้งชื่อว่าพยาธิตัวจิ๊ด   โดยเรียกตามอาการของผู้ป่วยที่เป็นพยาธินี้ ซึ่งตัวหนอนจะเคลื่อนที่ไปจุดต่าง ๆ ของร่างกาย จะบวมคันและรู้สึกปวดจิ๊ด ๆ การค้นพบนี้ทำให้ท่านและประเทศสยามมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เพราะช่วยให้โลกสามารถป้องกันการติดต่อของโรคนี้ได้


นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง จึงเป็นปรมาจารย์ผู้สร้างคุณูปการยิ่งใหญ่แก่วงวิชาการปรสิตวิทยาและวงการแพทย์ไทย


มีหลักฐานว่า เมื่อครั้งที่ท่านเป็นผู้แทนไทยไปประชุมแพทย์ตะวันออกครั้งที่ 2 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ท่านได้เสนอรายงานวิชาการเรื่อง ตัวจี๊ด วงชีวิตของหนอนพยาธิตัวจี๊ด พร้อมภาพยนตร์ประกอบ


นอกจากนายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง จะเป็นปรมาจารย์นักวิขาการแล้ว ท่านยังเป็นนักบริหาร เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอนามัย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ แต่ท่านก็ยังทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องตลอด และทำในเชิงลึกเฉพาะด้านปรสิตวิทยา เมื่อเกษียณราชการแล้ว ท่านยังได้เป็นที่ปรึกษาของผู้อำนวยการวิจัยทางการแพทย์ ขององค์การ สปอ. ทำงานวิจัยเรื่องพยาธิต่อไป และยังได้ไปทำวิจัยต่อที่สถาบันวิจัยของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ และได้จัดทำภาพยนตร์เรื่องพยาธิตัวจี๊ดฉบับสมบูรณ์ ซึ่งต่อมาอาจารย์แพทย์ภาควิชาปรสิตวิทยา ศิริราช ได้ขอยืมไปใช้สอนนักเรียนแพทย์สืบไปหลายสิบปี


หอภาพยนตร์(องค์การมหาชน) ได้รับมอบฟิล์มภาพยนตร์ม้วนนี้จากพิพิธภัณฑ์ โรงพยาบาลศิริราช ในสภาพที่ฟิล์มมีอาการทรุดโทรมมาก คงจะเนื่องจากผ่านการใช้งานมากและยาวนาน จึงได้บำบัดรักษาเพื่ออนุรักษ์ เพราะตระหนักว่า ภาพยนตร์นี้เป็นบันทึกผลงานเกียรติประวัติสำคัญของวงการแพทย์ไทยและเป็นเกียรติภูมิของชาติ เป็นเอกสารวิชาการอันมีชีวิตชีวา และเหนืออื่นใด ภาพยนตร์นี้อาจจะเป็นแรงดลใจให้อนุชนที่มีโอกาสสัมผัส เกิดพลังที่จะมุ่งมั่นเรียนรู้ศึกษา