ช้าง (Chang: A Drama of the Wilderness)

ความยาว 69 นาที ฟิล์ม 35 มม. / ขาว-ดำ / เงียบ

อำนวยการสร้าง Paramount Pictures

กำกับ Merian C. Cooper, Ernest B. Schoedsack

ถ่ายภาพ Ernest B. Schoedsack

นักแสดง ครู, จันตุ้ย


ปี พ.ศ. 2469 คณะถ่ายหนังจากฮอลลีวู้ด ซึ่งนำโดย มีเรียน ซี. คูเปอร์ ผู้อำนวยการสร้าง และ เออร์เนส บี. โชดแสค ตากล้อง ในนามบริษัทพาราเมาท์ ได้เดินทางเข้ามาในสยาม เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตชาวพื้นถิ่นสยาม อันยังเป็นความเร้นลับและดูป่าเถื่อนสำหรับชาวตะวันตก


ฝรั่งนักทำหนังสองสหาย ได้ตกลงทำหนังเรื่อง “ช้าง” หรือ Chang เพื่อแสดงวิถีชีวิตของชาวพื้นเมืองสยาม ที่ต้องดำรงชีวิตในบ้านป่า หักร้างถางพงเพื่อทำนา และต้องผจญกับสัตว์ป่าต่าง ๆ โดยเฉพาะเสือ และฝูงช้างป่า และต้องการแสดงถึงภูมิปัญญาของชาวพื้นเมืองสยามที่สามารถจับเสือ และที่สำคัญยังสามารถต้อนจับฝูงช้างป่า เพื่อเอามาฝึกจนเชื่อง ให้ทำงานรับใช้คน


ภาพยนตร์นี้ ได้รับความร่วมมือจาก สยามภาพยนตร์บริษัท บริษัทค้าภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ของสยามเวลานั้น และทางการของสยาม ถ่ายทำส่วนใหญ่ที่ตัวเมืองในจังหวัดน่านและบางจังหวัดทางภาคใต้ ใช้ชาวพื้นเมืองเป็นผู้แสดง โดยเฉพาะ นายเมืองและครอบครัวของเขาแห่งจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นชาวสยามที่เข้ารีตและทำงานให้คณะมิชชันนารี

 

เมื่อ “ช้าง” ออกฉายทั่วโลกในปี พ.ศ. 2470 ปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ได้เข้ามาฉายในสยามในปีถัดมา ก็ประสบความสำเร็จสูงเช่นกัน  ในเวลานั้นวงการหนังไทยเพิ่งเริ่มเกิด พวกหนังสือพิมพ์เขียนลงหน้าหนังสือตัดพ้อว่า คนไทยมัวชักช้า เสียท่า ถูกนักทำหนังฝรั่งมาเอาของดีไปกินเสียแล้ว 


สองฝรั่งนักทำหนัง ได้ทำหนังสือมาขอให้พระเจ้าแผ่นดินไทยออกหนังสือชมเชยที่เขาทำชื่อเสียงให้สยามดังไปทั่วโลก แต่ราชสำนักไทยตอบไปทำนองว่า  ชื่อเสียงนั้นไม่ค่อยเท่าไร บางทีจะทำให้โลกเห็นว่าสยามเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนไม่มีความเจริญเสียเลย แลว่าฝรั่งก็ได้เงินกำไรไปมากแล้ว ควรจะขอบคุณสยามมากกว่า หากอยากได้คำชมเชย แนะนำให้ไปขอจากสยามสมาคมอะไรเทือกนั้นดีกว่า เพราะเป็นเรื่องไปทางชาติพันธุ์


อย่างไรก็ดี ด้วยความโด่งดังของหนังเรื่องนี้ ซึ่งถ่ายทำในสยาม และใช้คนพื้นเมืองเป็นตัวแสดง เพื่อแสดงวิถีหากินหาอยู่ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความคิดความเชื่อ อย่างไรเสียก็ต้องนับว่าเป็นหนังที่บันทึกภาพชีวิตของชาวสยามในแบบของภาพยนตร์บันเทิง และภาพนั้นแผ่ไปสร้างความบันเทิงให้คนทั่วโลก จึงสมควรที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งในมรดกภาพยนตร์ของชาติ