ทรายมาเป็นแก้ว

ความยาว 33 นาที ฟิล์ม 16 มม. / เงียบ

อำนวยการสร้าง พลเรือตรีชลี สินธุโสภณ

กำกับ ทัดทรง เสถียรสุต

ถ่ายภาพ ทัดทรง เสถียรสุต


ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างโดย พล.ร.ต. ชลี สินธุโสภณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรี และที่สำคัญคืออดีตผู้บังคับกองสัญญาณทหารเรือ ผู้ไม่ประสงค์ออกนามในภาพยนตร์ ท่านเป็นผู้บังคับกองระหว่างปี พ.ศ. 2484 – 2494 ฝีมือการถ่ายโดย ทัดทรง เสถียรสุต บันทึกโครงการทำแก้วขึ้นใช้เองของกองสัญญาณทหารเรือ ในระยะปี พ.ศ. 2493 – 2494 โดยท่านผู้บังคับกองหวังว่าต่อไปจะสามารถผลิตหลอดวิทยุขึ้นใช้เองในประเทศ โครงการกำลังจะเดินไปสู่ความสำเร็จอยู่รอมร่อ แต่เกิดกรณีกบฏแมนฮัตตัน ซึ่งมีผลให้กองสัญญาณทหารเรืออันมีเกียรติประวัติมายาวนานพอ ๆ กับกองทัพเรือ ถูกยุบไปในปี พ.ศ. 2494 โครงการผลิตหลอดวิทยุเองจึงสลายไปด้วยพร้อม ๆ กับที่ภาพยนตร์นั้นก็มิได้ใช้ไปตามเจตนารมณ์ของผู้สร้าง 


ฟิล์มภาพยนตร์นั้นอาจจะสูญสลายไปจากโลก ถ้าหากว่าเมื่อปี พ.ศ. 2531 คุณพิไลวัน สินธุโสภณ บุตรีของอดีตผู้บังคับกองสัญญาณทหารเรือ ไม่นำฟิล์มภาพยนตร์ดังกล่าวไปมอบให้หอภาพยนตร์ แต่ขณะนั้นฟิล์มภาพยนตร์ตกอยู่ภาวะเสื่อมสภาพ เกินกว่าความสามารถที่หอภาพยนตร์จะอนุรักษ์และทำสำเนาขึ้นใหม่ได้ เพราะเป็นการเสื่อมด้วยโรคกรดน้ำส้ม ซึ่งเป็นชะตากรรมของฟิล์มภาพยนตร์เซลลูโลสไทรอซิเตททั่วไปที่เกิดขึ้นได้เสมอ คงทำได้เพียงบำบัดอาการด้วยการเป่าลมกำจัดแก๊สและจัดเก็บไว้ในห้องเย็นเก็บรักษาฟิล์ม ราวสิบปีผ่านไป เมื่อคุณพิไลวันไถ่ถามถึงความคืบหน้าในการอนุรักษ์ฟิล์มม้วนนี้ เจ้าหน้าที่จึงนำฟิล์มออกมาตรวจและต้องประหลาดใจที่พบว่าฟิล์มภาพยนตร์อาการดีขึ้น และสามารถถ่ายสำเนาเป็นวีดิโอเทปสำหรับดูได้ แม้ว่าคุณภาพในการถ่ายทอดจะด้อยเต็มที แต่เนื้อหาในภาพยนตร์ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าภาพยนตร์ม้วนนี้มีคุณค่ามหาศาลเพียงใด ทั้งในฐานะบันทึกทางประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของชาติ และเป็นเกียรติประวัติของกองสัญญาณทหารเรือ เกียรติประวัติของนักทำงานผู้สร้างโครงการเพื่อบ้านเมืองตน ของนักวิทยาศาสตร์ไทยและนักปรัชญาอีกท่านหนึ่งซึ่งสร้างคุณูปการด้านปัญญาแก่สังคมไทยมาก ทว่าเกือบไม่มีใครรู้จัก คือ พันเอกสมัคร บุราวาศ และของบรรดาบุคลากรในกองสัญญาณทหารเรือ และนอกเหนือจากนั้นตัวงานภาพยนตร์เองได้แสดงให้เห็นว่ามีคุณค่าทางศิลปะการทำภาพยนตร์อย่างน่าทึ่งด้วย ทำให้การค้นพบภาพยนตร์นี้เป็นประดุจการค้นพบเพชรเม็ดงาม