ความยาว 1.50 นาที
ฟิล์ม 16 มม. / ขาว-ดำ / เงียบ
แม้ว่าเรื่องราวมากมายและภาพถ่ายในอิริยาบถต่าง ๆ ของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ชาวอิตาเลียนสัญชาติไทย ผู้มีคุณูปการและบทบาทสำคัญต่อแวดวงศิลปะร่วมสมัยของไทยจวบจนปัจจุบัน ผู้ให้กำเนิดมหาวิทยาลัยศิลปากร สำนักตักศิลาทางศิลปะของไทย จะยังคงมีการเผยแพร่ให้ได้เรียนรู้และรำลึกถึงอยู่เสมอในปัจจุบัน แต่กลับไม่เคยมีภาพเคลื่อนไหวการทำงานศิลปะของเขาปรากฏออกมาให้เห็นเลยสักครั้ง กระทั่งวันหนึ่งในปี 2555 ช่วงเวลาที่ชาวศิลปากรกำลังเตรียมจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 120 ปี ศิลป์ พีระศรี หอภาพยนตร์ก็ได้ค้นพบฟิล์มภาพยนตร์ชุดนี้โดยบังเอิญ ขณะแปลงสัญญาณกรุหนังบ้านของครอบครัววิญญรัตน์ จากฟิล์ม 16 มม. ความยาวไม่ถึง 2 นาที แทรกอยู่ตรงกลางระหว่างภาพบันทึกพิธีศพบรรพบุรุษตามประเพณีจีนของครอบครัววิญญรัตน์ เป็นภาพที่ท่านกำลังทำงานปั้นพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยมีชายอีกสองคนร่วมอยู่ในภาพยนตร์ หนึ่งในนั้นคือ สิทธิเดช แสงหิรัญ ลูกศิษย์ผู้ล่วงลับก่อนวัยอันควร ซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยปั้นอนุสาวรีย์สำคัญอีกหลายแห่ง ส่วนอีกหนึ่งนั้นยังคงเป็นชายนิรนาม ผู้อาจเป็นบุคคลสำคัญสำหรับการเริ่มต้นสืบหาที่มาที่ไปของภาพยนตร์ชุดนี้
จากข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ ปี พ.ศ. 2493 อาจารย์ศิลป์ได้เริ่มปั้นแบบแรกของพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนี้ สูงประมาณครึ่งเมตร ปั้นแบบที่ 2 สูงราว 2 เมตร และแบบที่ 3 รวมส่วนสูงทั้งหมดประมาณ 14 เมตร เสร็จสิ้นเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2494 ซึ่งให้บังเอิญว่าแบบปั้นทั้ง 3 แบบนั้น ได้ปรากฏให้เห็นทั้งหมดในภาพยนตร์ ภาพยนตร์นี้จึงน่าจะได้รับการบันทึกไว้ในปี พ.ศ. 2494 ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถือเป็นงานศิลปะที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดของอาจารย์ศิลป์ ในเรื่องการชี้ชันขึ้นของหางม้าทรง อย่างที่ท่านเองได้กล่าวไว้ในบทความที่เขียนขึ้นเพื่ออธิบายกรณีนี้โดยเฉพาะว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าคงไม่เคยมีงานศิลปะชิ้นใดที่สร้างขึ้นในประเทศไทยจะประสบการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย เหมือนอนุสาวรีย์ของพระเจ้าตากสิน”
นี่จึงไม่ใช่แค่เพียงภาพเคลื่อนไหวของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีกับงานศิลปะที่ได้รับการค้นพบเป็นครั้งแรก แต่ยังเป็นภาพยนตร์ที่บันทึกท่วงท่าแห่งการทำงานศิลปะชิ้นที่มีอิทธิพลต่อ “บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย” มากที่สุดชิ้นหนึ่ง