ผู้ชนะสิบทิศ

ฟิล์ม 16 มม. / สี / พากย์

อำนวยการสร้าง เจ้าพระยาภาพยนตร์

กำกับ เนรมิต (อำนวย กลัสนิมิ)

นักแสดง ไชยา สุริยัน, พิสมัย วิไลศักดิ์, กรุณา ยุวากร, ชนะ ศรีอุบล, แมน ธีระพล, ประจวบ ฤกษ์ยามดี, เมตตา รุ่งรัตน์


จากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของยาขอบ นามปากกาของโชติ แพร่พันธุ์ ซึ่งเขียนเรื่องนี้ขณะที่เขามีอายุเพียง 24 ปี เฑียร กรรณสูต ได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์โดยแบ่งออกเป็นสามภาค อันได้แก่ ยอดขุนพล ออกฉายเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2509 ปฐมบทของสงครามอันมีที่มาจากความรักที่กลายเป็นความแค้น โดยมีฉากหลังของเรื่อง ในแคว้นพุกาม พระเจ้าศิริชัยยะ แห่งราชวงศ์ตองอู ได้อุปการะหนุ่มน้อยนามว่าจะเด็ด ไว้หวังจะให้ปกครองดินแดนพุกามในภายภาคหน้า แต่ด้วยรูปโฉมอันงดงาม วาจาที่อ่อนหวาน เจ้าหญิงจันทรา พระราชธิดาของพระเจ้าศิริชัยยะจึงเกิดหลงรักจะเด็ด เป็นเหตุให้จะเด็ดถูกใส่ร้ายและต้องระเห็จออกจากแคว้นตองอู และได้ไปพบ ตะคะญี ซึ่งช่วยถ่ายทอดเคล็ดวิชาการต่อสู้ด้วยดาบให้จะเด็ดจนได้รับเลือกให้เป็นผู้สืบทอด ดาบยอดขุนพล ในขณะนั้นได้สิ้นรัชสมัยของพระเจ้าศิริชัยยะเสียแล้ว พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ได้ขึ้นครองราชย์ แล้วแต่งตั้งจะเด็ดเป็นแม่ทัพแห่งตองอูนำทัพบุกเมืองแปร เพราะเกรงเมืองแปรจะเหิมเกริมหลังเปลี่ยนผ่านราชบัลลังก์ 


ตามความสำเร็จของภาคแรกมาติด ๆ ด้วย บุเรงนองลั่นกลองรบ ออกฉายเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2510 และตอนจบของไตรภาคผู้ชนะสิบทิศ ในตอน ถล่มหงสาวดี ออกฉายเมื่อวันที่ 7 กันยายน ในปีเดียวกัน ภาพยนตร์ได้ครูเนรมิต ผู้กำกับชั้นครูเป็นผู้กำกับการแสดง โดยใช้ทีมงานและนักแสดงชุดเดียวกัน ไชยา สุริยัน ซึ่งกำลังโด่งดังมาก รับบทจะเด็ด นักรักซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสงคราม เจ้าหญิงจันทรา รับบทโดย กรุณา ยุวากร และพิศมัย วิไลศักดิ์ ในบทของเจ้าหญิงกุสุมา


“ผู้ชนะสิบทิศ” ถือเป็นยอดวรรณกรรมนวนิยายไทย ซึ่งเป็นป๊อปปิวลาหรือยอดนิยมของมหาชนที่สุดเรื่องหนึ่ง จึงมีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์อยู่เรื่อย ๆ  สำหรับการสร้างเป็นภาพยนตร์นั้น รัตน์ เปสตันยี เคยซื้อลิขสิทธิ์จากยาขอบและทำเป็นบทถ่ายทำเสร็จเรียบร้อย แต่ไม่ได้สร้าง จน เฑียร กรรณสูต ขอไปสร้างแทน ในรูปแบบหนังไทย 16 มม. พากย์ และทำออกมาถึง 3 ภาค


หอภาพยนตร์ได้รับมอบฟิล์มภาพยนตร์ “ผู้ชนะสิบทิศ” ทั้งสามภาค พร้อมบทพากย์ ในสภาพที่เกือบสมบูรณ์จาก คุณใหม่ กรรณสูต ทายาท คุณเฑียร กรรณสูต เมื่อปี พ.ศ. 2552 ทำให้ “ผู้ชนะสิบทิศ” เป็นตัวอย่างอันหายากของหนังไทยไตรภาค และตัวหนังเองก็เป็นตัวอย่างอันดีเลิศของขนบการทำหนังอย่างนาฏลักษณ์หนังไทย เป็นตัวอย่างอันดีเลิศของการแสดงแบบหนังไทย การออกแบบฉาก เครื่องแต่งกาย การถ่ายทำ การตัดต่อ และที่สุดการกำกับของบรมครู “เนรมิต”