น้ำพุ

ความยาว 134 นาที

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง

อำนวยการสร้าง ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น

กำกับ ยุทธนา มุกดาสนิท

นักแสดง ภัทราวดี มีชูธน, อำพล ลำพูน, วรรษมน วัฒโรดม, เรวัต พุทธินันทน์, สุเชาว์ พงษ์วิไล


น้ำพุ ลูกชายคนเดียวในพี่น้องทั้งหมดสี่คน เมื่อพ่อและแม่ตัดสินใจแยกทางกัน น้ำพุจึงไปอาศัยอยู่กับแม่ลำพังสองคน แม่ของน้ำพุมีอาชีพเป็นนักเขียน และไม่ค่อยมีเวลาให้น้ำพุ น้ำพุก็เหมือนวัยรุ่นทั่ว ๆ ไปที่สนใจสิ่งที่อยู่นอกห้องเรียนมากกว่า กระนั้นก็ตามน้ำพุก็ยังมีแม่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง แต่การมาของ น้ารัน ผู้ชายคนใหม่ของแม่ ทำให้ช่องว่างระหว่างแม่กับน้ำพุเริ่มขยายขึ้นอย่างยากจะเยียวยา น้ำพุเริ่มลิ้มลองยาเสพติดจนกระทั่งเป็นทาสของมัน สุดท้ายน้ำพุตัดสินใจบอกความจริงกับแม่ และไปอดยาที่ถ้ำกระบอก จนสำเร็จ แต่เมื่อเขากลับมากลับไม่มีใครเหลียวแล น้ำพุจึงหันไปหา “เพื่อน” เพียงสิ่งเดียว ซึ่งนำไปสู่จุดจบของเขา


เรื่องราวเด็กวัยรุ่นมีปัญหา ติดยาจนเสียชีวิต เป็นเสมือนการฉายหนังซ้ำที่เราพบเห็นในทุกยุคทุกสมัย แต่หากจะมีเรื่องใดที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึก หรือมองทะลุเข้าไปถึงหัวใจคนหนุ่มสาว คงมีน้อยเรื่องที่ทำได้สมจริงอย่างน้ำพุ ซึ่งสร้างมาจากเรื่องจริงของ วงษ์เมือง นันทขว้าง หรือ รอม หรือ น้ำพุ ลูกชายคนเดียวของสุวรรณี สุคนธ์เที่ยง เจ้าของนามปากกา “สุวรรณี สุคนธา”


น้ำพุเขียนจดหมายถึงแม่ในระหว่างที่เขารับการรักษาตัวที่ถ้ำกระบอกเป็นเวลากว่าสิบวัน และคะยั้นคะยอแม่อยู่หลายครั้งให้นำจดหมายของเขาตีพิมพ์ลงในนิตยสาร แต่จนแล้วจนรอด ในขณะที่มีชีวิตอยู่คำขอของน้ำพุก็ไม่เคยเป็นผล จนเขาเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลันในขณะที่อายุเพียง 18 ปี สุวรรณี สุคนธา จึงรวบรวมจดหมายของน้ำพุจำนวนกว่า 10 ฉบับ มาตีพิมพ์เป็นหนังสืองานศพ และต่อมาได้เขียนเป็นนิยาย “พระจันทร์สีน้ำเงิน” ซึ่ง ยุทธนา มุกดาสนิท นำมาดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ด้วยตนเอง โดยคงข้อความตามจดหมายของน้ำพุในฉากที่น้ำพุกำลังเลิกยาที่ถ้ำกระบอก 


ภาพยนตร์ได้ภัทราวดี มีชูธน มารับบทเป็นสุวรรณี สุคนธา และ อำพล ลำพูน ซึ่งเพิ่งเคยผ่านการแสดงเพียงเรื่องแรกมารับบทหนักเป็น น้ำพุ ด้วยวัยที่ใกล้เคียงกับน้ำพุและบุคลิกที่ดูเหม่อลอย ทำให้อำพลสวมบทบาทได้อย่างสนิทสมจริง และโด่งดังขึ้นมาทันทีก่อนจะเป็นหนัง “น้ำพุ” เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่กระทรวงศึกษาแนะนำให้นักเรียนอ่านนอกเวลา เพราะความตายของน้ำพุ สะเทือนใจสังคมไทยในเวลานั้น และเมื่อเป็นหนัง แม้ไม่มีหลักสูตรแนะนำหนังนอกโรงเรียน แต่หลายโรงเรียนได้นำนักเรียนไปดูที่โรง ชีวิตน้อย ๆ และชะตากรรมของเขาจึงฝังอยู่ในความทรงจำของแห่งยุคสมัยหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งจะกลายเป็นตำนาน