ฟ้าทะลายโจร

ความยาว 110 นาที

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง 

อำนวยการสร้าง ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ร่วมกับฟิล์มบางกอก

กำกับ วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง

นักแสดง ชาติชาย งามสรรพ์, สเตลล่า มาลูกี้, ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ, เอราวัต เรืองวุฒิ, สมบัติ เมทะนี, ไพโรจน์ ใจสิงห์, นัยนา ชีวานันท์, ครรชิต ขวัญประชา, สุวินิจ ปัญจมะวัต


โศกนาฏกรรมความรักของ รำเพย สาวสูงศักดิ์ กับ ดำ ลูกชาวไร่ ความทรงจำในวัยเยาว์ที่เขาและเธอมีต่อกัน กลายเป็นความรักที่ยั่งยืน ดำให้สัญญาว่าเขาจะกลับไปทำไร่ที่สุพรรณบุรีเก็บเงินมาสู่ขอรำเพยให้ได้แม้จะถูกครอบครัวรำเพยกีดกัน ส่วนรำเพยสัญญาว่าจะหนีตามเขาไป แต่แล้วเมื่อดำกลับถึงบ้านกลับพบว่าพ่อถูกฆ่าตาย จึงเขาคว้าปืนออกตามล้างแค้นคนที่ฆ่าพ่อ จนต้องระหกระเหินไปอาศัยอยู่กับกองโจรของเสือฝ้ายและเสือมเหศวร และตกกระไดพลอยโจนไปเป็นเสือ นับแต่นั้นมาทั่วทั้งสุพรรณ จึงรู้จักชื่อเขาในชื่อของ “เสือดำ” สมุนมือขวาของเสือฝ้าย ผู้ยิงปืนแม่นราวจับวาง ฝ่ายรำเพย ถูกบังคับให้รับ


หมั้นกับ ร.ต.อ.กำจร นายตำรวจหนุ่มจากพระนคร จึงตัดสินใจหนีตามดำไป โดยทั้งสองนัดแนะกันมารอที่จุดนัดพบ แต่โชคชะตาก็เล่นตลกกับรำเพยและดำ เพราะเสือดำบังเอิญติดภารกิจสำคัญ แม้จะพยายามเร่งรีบเพื่อมาพบเธอให้ได้แต่ก็สายไปเสียแล้ว รำเพยรอจนใจสลาย จึงกลับไปเข้าพิธีหมั้นกับกำจร หลังงาน


หมั้น กำจร ตัดสินใจนำกำลังตำรวจไปกวาดล้างรังโจรเสือฝ้ายหมายสร้างผลงาน แต่เสียทีถูกเสือฝ้ายจับได้ เสือฝ้ายให้เสือดำไปสังหารกำจร ครั้นรู้ว่าวาระสุดท้ายของตนมาถึงแล้วกำจรได้ขอร้องเสือดำให้ส่งข่าวแก่คู่หมั้นของเขาพร้อมมอบรูปถ่ายรำเพยให้ดู เสือดำตกตะลึงเมื่อรู้ว่ารำเพยคือคู่หมั้นของกำจร จึงตัดสินใจปล่อยกำจรไป เมื่อเสือฝ้ายรู้ว่าเสือดำทรยศ จึงสั่งให้เสือมเหศวรหลอกเสือดำไปฆ่า แต่เสือดำก็รอดมาได้หวุดหวิด และย้อนกลับไปช่วยรำเพยหญิงผู้เป็นที่รัก


หลังจากเขียนบทภาพยนตร์มาแล้วหลายเรื่อง วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง กลับมาจับงานกำกับภาพยนตร์อีกครั้ง หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องแรก 2029 เครื่องครัวล้างโลก ไม่ได้ออกฉาย วิศิษฐ์หันไปหยิบแรงบันดาลจากบรรยา-กาศเก่า ๆ ในหนังไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์ของรัตน์ เปสตันยี โดยมีฉากหลังในยุคที่ “เสือ” ครองเมืองภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และยืมชื่อสามเสือชื่อดังแห่งเมืองสุพรรณ เสือดำ เสือฝ้าย และเสือมเหศวร มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์รักโศก บู๊ เคล้าบทเพลงเสนาะหู ตามขนบหนังไทยยุคเก่า ย้อมฟิล์มให้สีวิจิตรตา แม้จะประสบความสำเร็จเฉพาะในหมู่นักดูหนังเฉพาะกลุ่มในประเทศไทย แต่ภาพยนตร์ก็มีความโดดเด่น จนได้รับการคัดเลือกให้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับเกียรตินี้