Sound Patch Work

ความยาว 5.48 นาที

ฟิล์ม 16 มม. / ขาว-ดำ / เสียง

ผู้สร้าง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร

กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเป็นนักภาพยนตร์สมัครเล่นที่สำคัญที่สุด คนหนึ่งในสยาม ทรงถ่ายภาพยนตร์เป็นงานส่วนพระองค์มาตั้งแต่ทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ เป็นพระราชนิยมส่วนพระองค์ แต่เมื่อทรงรับราชการมีพระภารกิจตามตำแหน่งหน้าที่ตามลำดับ จนทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงกำกับดูแลกิจการสำคัญต่าง ๆ ของชาติ เช่น การคมนาคมขนส่งการสื่อสาร ไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ วิทยุสื่อสาร วิทยุโทรเลข วิทยุโทรศัพท์ วิทยุกระจายเสียง การพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ฯลฯ ทรงใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการโฆษณาเผยแพร่ การอบรม และการบันเทิงทรงจัดตั้งกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว ขึ้นในกรมรถไฟหลวง ทำหน้าที่เป็นศูนย์ผลิตภาพยนตร์ข่าวสารสารคดีและภาพยนตร์บันเทิงของชาติ เพื่อนำออกเผยแพร่สู่สาธารณะ โดย เฉพาะคือโรงภาพยนตร์ทั่วไป แต่โดยส่วนพระองค์ ยังคงทรงถ่ายภาพยนตร์เป็นพระราชนิยมอย่างที่เรียกว่าสมัครเล่นตลอดมา ซึ่งเป็นการทรงถ่ายด้วยฝีพระหัตถ์เองและที่ให้ข้าราชบริพารทำหน้าที่ถ่ายถวาย ทรงเรียกภาพยนตร์ส่วนพระองค์นี้ว่า “บ้านดอกไม้ฟิล์ม” ซึ่งหมายถึงภาพยนตร์ของวังบ้านดอกไม้ที่ประทับของพระองค์ หอภาพยนตร์แห่งชาติได้รับมอบฟิล์มภาพยนตร์ส่วนพระองค์นี้จากพระทายาท จำนวนหลายร้อยม้วน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็น ภาพยนตร์ขนาด 16 มม. Sound Patch Work นี้เป็นฟิล์มภาพยนตร์ม้วนหนึ่งในบรรดาฟิล์มภาพยนตร์ ส่วนพระองค์นับร้อยม้วนของกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน บางม้วนทรงถ่ายสำหรับเป็นการส่วนพระองค์จริง ๆ คือมิได้สำหรับ ฉายให้คนอื่นหรือคนทั่วไปดู แต่บางม้วนทรงถ่ายขึ้นสำหรับใช้เป็นสื่อให้ความรู้หรือเผยแพร่พระกรณียกิจต่าง ๆ ที่ทรงเกี่ยวข้อง เพื่อใช้เผยแพร่แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆตามแต่จะเกี่ยวข้อง แต่คงมิได้มีพระประสงค์สำหรับเผยแพร่สู่สาธารณะ สำหรับภาพยนตร์ Sound Patch Work นี้ เป็นภาพยนตร์ขนาด 16 มม. และถ่ายทำพิเศษคือมีการบันทึกเสียงด้วย ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการบันทึกเสียงระบบแสง (optical sound) แต่มิได้บันทึกลงในแถบฟิล์มที่บันทึกภาพโดยตรง หากแยกอยู่อีกม้วนหนึ่งต่างหาก ซึ่งน่าเสียดายที่แถบฟิล์มเสียงนี้ มิได้มีอยู่ในบรรดาฟิล์มภาพยนตร์ที่หอภาพยนตร์แห่งชาติได้รับมอบมา ให้ ร้อยโทเขียน ธีมากร (บิดาของพูนสวัสดิ์ ธีมากร ช่างถ่ายภาพยนตร์และนักแสดงตลกมีชื่อเสียง) ซึ่งเวลานั้นเป็นข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขทำหน้าที่ผู้ประกาศหรือโฆษกของสถานีวิทยุกระจายเสียง วังพญาไทเป็นผู้นำชม จากลักษณะการถ่ายทำของภาพยนตร์ เข้าใจว่าต้นฉบับจะเป็นการถ่ายทำเป็นภาพยนตร์เสียงโดยบันทึกเสียงลงในจานเสียง แต่ฟิล์มที่ตกทอดมาถึงหอภาพยนตร์ ไม่พบจานเสียงภาพยนตร์ เริ่มด้วยไตเติล ตราบุรฉัตร เป็นรูปวาด เส้นสายลายวาดบ่งบอกลักษณะของภาพเส้นเสียง และทำเป็นเส้นสายฟ้าตามด้วยชื่อเรื่อง เขียนเป็นอักษรภาษาอังกฤษ Sound Patch Work ในลายเส้นของภาพเส้นเสียงระบบแสงเช่นกัน จากนั้นตัดเข้าฉากแรก เห็นนายร้อยโทเขียน ธีมากร กล่าวกับผู้ชมโดยขยับปากอย่างชัดถ้อยคำ ซึ่งแม้ไม่มีเสียงก็อาจจับความได้ว่า “ต่อไปนี้โปรดฟังภาพยนตร์มีเสียง” แล้วแนะนำสิ่งที่จะให้ชมฉากแรก ว่าเป็นการแสดงของตัวละครสามตัวแต่กำกับและแสดงโดยคน ๆ เดียวคือ นายร้อยโท เขียน ธีมากร แล้วหนังก็ตัดไปเข้าฉากที่มีนายร้อยโทเขียนออกมายืนหน้าฉากบังตาแสดงเป็นชายหนุ่มในชุดขุนนางนุ่งผ้าม่วงสวมเสื้อราชปะแตนสวมหมวกและถือไม้เท้าแถลงเรื่อง แล้วเดินหายไปหลังฉากบังตา กลับออกมาอีกทีกลายเป็นชายขี้เมา หัวเถิกล้านเป็นง่าม กอดขวดเหล้าเดินโซหน้าเซหลังและพูดพล่าม (หรือร้องเพลง?) ก่อนจะเดินหายไปหลังฉาก บังตา และกลับออกมากลายเป็นหญิงนางหนึ่ง เดินโซซัดโซเซกุมท้อง แล้วล้มลงนอนชักดิ้นชักงอขาดใจตายภาพยนตร์ตัดไปฉากที่สอง เป็นการทดลองถ่ายทำเชิงถ่ายพลิกแพลง เห็นตุ๊กตาสัตว์ คือลาไขลานตัวหนึ่งวางอยู่บนพื้น กำลังเคลื่อนที่ไปเป็นวงรอบ ๆ สันนิษฐานว่า เป็นการถ่ายตุ๊กตาลาไขลาน ซึ่งปกติอยู่นิ่ง ๆ แต่เมื่อไขลาน ลาจะส่ายหัวไปมาเท่านั้น แต่อาศัยการถ่ายแบบหยุดขยับ (stop motionaction) เพื่อทำให้เห็นว่าตุ๊กตาลานั้นเดินไปได้เองด้วยภาพยนตร์ตัดไปฉากที่สาม เป็นการทดลองถ่ายเชิงศิลปะภาพยนตร์ คือถ่ายให้เห็นครึ่งตัวบนของชายคนหนึ่งสวมชฎาแสดงท่าร่ายรำแต่ปรากฏเป็นเงาดำตัดกับฉากหลังสีขาวภาพยนตร์ตัดไปฉากที่สี่ เป็นฉากนำชมสถานีวิทยุกระจายเสียง วังพญาไท เริ่มต้นเห็นนายร้อยโท เขียน ธีมากร กำลังพูดกับผู้ชมอย่างชัดถ้อยชัดคำ จนอ่านปากได้ว่า“ต่อไปนี้ ข้าพเจ้าจะพาท่านชม ห้องส่งวิทยุกระจายเสียง ที่พญาไท” แล้วภาพยนตร์ก็ฉายให้เห็นห้องต่าง ๆ ในสถานีวิทยุ ซึ่งเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงสาธารณะเป็นทางการสถานีแรกของสยาม อันเป็นผลงานหนึ่งของกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน โดยกรมไปรษณีย์โทรเลข เช่าพื้นที่ของโรงแรมวังพญาไทของกรมรถไฟหลวง (นอกเหนือจากโรงแรมรถไฟที่หัวหิน) ซึ่งเคยเป็นวังที่ประทับของพระพันปีหลวง พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี และพระบาทสมเด็จ พระมงกฎุเกล้า ฯนายร้อยโทเขียน นำผู้ชมไปชมห้องต่าง ๆ ทีละห้อง ได้แก่ “ห้องรับแขก” “ห้องบังคับเสียง” “ห้องผู้ประกาศ” ซึ่งเห็นตัวอักษรเขียนบอกที่ประตูห้องว่า ห้องส่ง 3 ต่อไป นายร้อยโทเขียนมาถึง “ห้องประสมเสียง” (?) ซึ่งที่บานประตูห้องมีอักษรเขียนความว่า ห้องส่ง2 สุดท้ายนายร้อยโทเขียน พามาแนะนำ“ห้องประสมเสียง” อยู่หน้าห้องซึ่งที่บานประตูมีอักษรเขียนว่า ห้องส่ง 1 ซึ่งเมื่อเปิดประตูเข้าไปภายในห้อง เห็นวงดนตรีไทยประเภทเครื่องสายผสมกำลังบรรเลงเพลงแล้วภาพยนตร์นำไปสู่ห้องผู้ประกาศ นั่งอยู่ที่โต๊ะผู้ประกาศ ผู้ประกาศเคาะเครื่องทำเสียงสัญญานของสถานี แล้วประกาศ (ว่าอะไรดูปากไม่ถนัด อาจจะประกาศปิดสถานี?) แล้วผู้ประกาศวางหัวเข็มเล่นจานเสียง จบฉากเห็นไตเติลท้ายขึ้น เป็นตัวอักษร ภาพวาดลวดลายของเส้นเสียง คำว่า The End Sound Patch Work นี้ จึงมีคุณค่าเป็นหนึ่งในผลงานภาพยนตร์ส่วนพระองค์ของ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้ทรงเป็นบิดาแห่งการใช้เทคโนโลยีของประเทศโดยเฉพาะทางด้านการเป็นนักภาพยนตร์สมัครเล่น และภาพยนตร์ทดลอง ขณะเดียวกัน ยังเป็นภาพยนตร์บันทึกสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของประเทศ ซึ่งพัฒนาเป็นสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน ทำให้เราสามารถเห็นสภาพของอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือของสถานี สภาพการตกแต่งห้องซึ่งเคยเป็นห้องพระบรรทมของพระเจ้าแผ่นดิน ให้กลายมาเป็นห้องส่งวิทยุกระจายเสียง เห็นภาพเคลื่อนไหวมีชีวิตชีวาของนักวิทยุรุ่นบุกเบิกของชาติ และที่สุดเป็นประจักษ์พยานแห่งการพัฒนาบ้านเมืองให้ก้าวไปทันโลกด้วยวิสัยทัศน์ของสยามเอง