พรายตะเคียน

ความยาว 8 นาที

ฟิล์ม 35 มม. / ขาว-ดำ / เงียบ

บริษัทสร้าง ศรีบูรพาภาพยนตร์

ผู้อำนวยการสร้าง สดศรี ภักดีจิตต์


หากจะพูดว่าหนังผีกับหนังไทยเป็นของคู่กันคงจะว่าได้ ตั้งแต่ยุคแรกที่คนไทยเริ่ม สร้างหนังชนิดเดินเรื่องออกฉายในโรงภาพยนตร์ หนังผีก็มีปรากฏให้เห็นไม่นานหลังจากนั้น บางเรื่องฮิตจนได้รับการต่อหรือสร้างใหม่หลายต่อหลายครั้งจวบจนปัจจุบัน อาทิเรื่อง นางนาคพระโขนง น่าเสียดายที่หนังผีไทย เรื่องแรก คือ “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” (2476) ของภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ไม่หลงเหลือให้เราได้ศึกษา พรายตะเคียน จึงเป็นหนังผีที่เก่าที่สุดที่ค้นพบว่ายังมีฟิล์มภาพยนตร์หลงเหลืออยู่ ในปัจจุบันสร้างโดยบริษัท ศรีบูรพาภาพยนตร์ของ สดศรี ภักดีจิตต์ (ชื่อจริง สดศรี ภักดีวิจิตร) บริษัทสร้างภาพยนตร์ไทยยุค 2480 ซึ่งประสบความสำเร็จจากการนำบทประพันธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เรื่อง สาวเครือฟ้า มาสร้างเป็นภาพยนตร์พากย์ในนามบริษัท บูรพาภาพยนตร์ สดศรี จึงเป็นผู้กรุยทางให้ตระกูลภักดีวิจิตรเดินรอยตามเข้าสู่วงการภาพยนตร์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และสร้างภาพยนตร์มาอย่างต่อเนื่องปลายปี พ.ศ. 2481 สดศรีได้นำบทประพันธ์ชื่อดังของ ป. อินทรปาลิต คือ “ลูกกำพร้า” มาสร้างเป็นภาพยนตร์พากย์ ได้นำไปฉายในหลายจังหวัด ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ชม จนต้องสร้างภาคต่อในอีกไม่กี่เดือนถัดมา คือในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2482 ในการฉาย “ลูกกำพร้า” ภาค 2 สดศรี ได้สร้างภาพยนตร์สั้น เรื่อง “นางนาคพระโขนงตอนใหม่” เพื่อฉายประกอบ ในรายการฉายลูกกำพร้าด้วย ซึ่งน่าจะเป็นการยึดขนบการ จัดรายการฉายภาพยนตร์แต่ครั้งยุคหนังเงียบ ซึ่งจะมีการฉายภาพยนตร์หลากประเภท มีทั้งภาพยนตร์ข่าว ภาพยนตร์สั้น ภาพยนตร์ชุดต่อ และภาพยนตร์เรื่องยาว และการทำเช่นนี้คงประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อสร้าง ลูกกำพร้า ภาคจบ ซึ่งได้รวบเอาภาค 3 - 4 มาฉายในคราวเดียวกัน สดศรีจึงได้สร้างภาพยนตร์สั้นฉายประกอบอีก คือ เรื่อง “พรายตะเคียน” ที่น่าสนใจคือสดศรียังคงเลือกเอาเรื่องผี ๆ มาทำเป็นภาพยนตร์ ประกอบอีกครั้งหนึ่ง แสดงว่าคงจะถูกจริตนักชมภาพยนตร์ในสมัยนั้นก็อาจเป็นได้ พรายตะเคียน เป็นเรื่องของผีนางพรายตะเคียนที่มาหลอกชาวบ้าน ในเรื่องเราจะเห็นแสดงชายที่เล่นบทเป็นชาวนาวิ่งหนีผีหน้าขาวอย่างจ้าละหวั่น โดยมีหมอผีนุ่งขาวห่มขาวนั่งในวงล้อมสายสิญจน์ทำการท่องมนต์ไล่ผี แต่ก็ไม่มีทีท่าจะสำเร็จ ทั้งหมอผีทั้งชาวบ้านหนีผีไปคนละทิศคนละทาง บ้างปีนหนีขึ้นต้นไม้ เป็นไปอย่างสนุกสนาน กลายเป็นหนังผีตลกธรรมเนียมของหนังพากย์ ผู้พากย์สามารถเสกตัวละครให้มีชีวิตชีวายิ่งขึ้นด้วยลีลาการพากย์ พรายตะเคียน และ ลูกกำพร้าภาค 3 – 4 เมื่อออกฉายครั้งแรกนั้น ผู้พากย์คือ พ. ปัญญาพล หรือ เพ็ญ ปัญญาพล เจ้าของคณะละครปัญญาพล และ ศรี ปัญญาพล ลูกสาว ร่วมพากย์“พรายตะเคียน” มีคุณค่าเป็นตัวอย่างของต้นตระกูลหนังผีแบบไทย ๆ ซึ่งผสมผสานรสชาติต่าง ๆ ให้น่ากลัว น่าตื่นเต้น น่าหัวเราะ ซึ่งขนบในทางแสดงตลก เช่น การวิ่งไล่หนีผี หนีลงโอ่ง ลงน้ำอาจจะรับมาโดยตรงจากหนังตลกสั้น ๆ ยุคหนังเงียบซึ่งดูกันอยู่ทั่วโลก และอาจน่าแปลกใจที่ขนบนี้ยังสืบทอดมาถึงผู้สร้างหนังผีไทยในปัจจุบัน คือหนังผีที่มีฉากวิ่งหนีผีปีนขึ้นต้นไม้ มีหมอผีนั่งอยู่ในวงล้อมสายสิญจน์ เหมือนที่ปรากฏในพรายตะเคียน ไม่มีผิดเพี้ยน