รักริษยา

ความยาว 96 นาที

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง

บริษัทสร้าง กรรณสูตภาพยนตร์

ผู้อำนวยการสร้าง เฑียรร์ กรรณสูต

ผู้ประพันธ์ ถาวร สุวรรณ

ผู้กำกับ มารุต (ทวี ณ บางช้าง)

ผู้แสดง ชนะ ศรีอุบล, อมรา อัศวนนท์,พงษ์ลดา พิมลพรรณ, ประจวบ ฤกษ์ยามดี,เยาวนารถ ปัญญะโชติ, ม.ร.ว. ประสิทธิ์ศักดิ์สิงหรา, สำราญจิต อมาตยกุล


รักริษยา เล่าเรื่องราวของ ปัทมา หญิงสาวที่ถูกเลี้ยงมาอย่างตามใจ และความพยายามของเธอที่จะโหยหาความรัก จนก่อให้เกิดโศกนาฏกรรม ภาพยนตร์เปิดเรื่องในวันเกิดของประจักษ์ ชัชวาลย์ เศรษฐีม่าย โดยปัทมา ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนของประจักษ์เป็นตัวตั้งตัวตีจัดงานวันเกิดแก่ประจักษ์อย่างใหญ่โต แต่ไม่ทันคาดคิด จู่ ๆ บิดาก็ประกาศจะแต่งงานใหม่กับสมร แม่ม่ายลูกติด ปัทมาซึ่งเคยแต่ถูกห้อมล้อมเอาใจ จึงรู้สึกเหมือนถูกสมรมาแย่งความรักจากพ่อ ซ้ำร้ายยังถูกมนต์จันทร์ ลูกติดของสมรแย่งความสนใจจากเชษฐ ชัชวาลย์ พี่ชาย ปัทมาจึงประชดทั้งสองด้วยการเที่ยวเตร่ยามราตรีจนถูก ฤทธิ์ เจ้าของสถานบันเทิงซึ่งมีเบื้องหลังค้าของเถื่อนมอมเหล้าและตกเป็นเมียของฤทธิ์ในที่สุด ไม่นานหลังจากนั้นฤทธิ์ก็ออกลายเจ้าชู้ ปัทมาจึงเปิดโปงเบื้องหลังของฤทธิ์แก่ตำรวจ ก่อนจะกลับมาอาศัยอยู่กับเชษฐซึ่งบัดนี้ได้แต่งงานกับมนต์จันทร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภาพเชษฐพะเน้าพะนอมนต์จันทร์ทำร้ายจิตใจของปัทมาจนเธออดคิดไม่ได้ว่าความโชคร้ายที่เธอต้องประสบ ก็นับจากวันที่สมรและมนต์จันทร์ปรากฏตัว และในที่สุดโอกาสก็มาถึง ปัทมาไม่รอช้าที่จะทำลายชีวิตมนต์จันทร์ให้สาสม แต่แล้วก็ต้องตกใจสุดขีดเมื่อได้เห็นมนต์จันทร์ยังมีชีวิต ปัทมารีบหนีออกจากบ้านด้วยความกลัวความผิด ความผิดจากความริษยาที่เธอไม่ได้เป็นคนก่อ เชษฐออกตามหาปัทมาก่อนจะพบเธอเป็นศพในท้องทะเลบทบาทที่เข้มข้นของ ปัทมา ได้รับการถ่ายทอดโดย อมรา อัศวนันท์ นักแสดงหญิงปูชนียบุคคลของไทย มีผลงานการแสดงตั้งแต่ยุคก่อนปี 2500 ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่น่าเสียดายที่มีภาพยนตร์ผลงานการแสดงในยุคแรก ๆ ของเธอ ในฐานะนักแสดงนำ หลงเหลือเพียงไม่กี่เรื่อง ความเข้มข้นของบทบาททำให้เธอได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง ในฐานะนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จากการประกาศรางวัลตุ๊กตาทองครั้งที่ 2 ในปี 2501 แล้ว ตัวละครปัทมานั้นน่าจะได้รับการศึกษาอย่างจริงจังเพราะตัวละครนางเอกตัวนี้ ต่างจากภาพลักษณ์นางเอกไทยที่หลายคนมักจะเชื่อกัน ปัทมาเป็นตัวละครหญิงที่ไม่ยอมคน และไม่ปกปิดความปรารถนาของตัวเอง ถึงแม้ว่าตัวเธอจะถูกลงโทษในตอนท้ายของเรื่องก็ตาม รักริษยา เป็นภาพยนตร์ไทยยุคต้นศักราช 2500 ที่ยังหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่เรื่อง ในขณะที่ภาพยนตร์ในยุคเดียวกันนิยมสร้างด้วยฟิล์ม 16 มม. แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างด้วยฟิล์ม 35 มม. ตามมาตรฐานสากลแต่เป็นที่น่าเสียดายที่ฟิล์มที่หอภาพยนตร์ได้รับมาเป็นฟิล์ม 16 มม. และส่วนท้ายเรื่องกลับสูญหายไป แต่กระนั้นเราก็ไม่สามารถปฏิเสธคุณค่าของภาพยนตร์ที่หลงเหลืออยู่ได้ โดยเฉพาะคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ของภาพยนตร์ไทยในยุคต้น 2500 และแฟชั่นต่าง ๆ ในยุคที่ถูกเรียกว่า ยุคโก๋หลังวัง ที่หลายคนถวิลหา ทั้งการใส่กระโปรงสุ่ม วาดคิ้วใหญ่ ๆปลายเชิด ปากสีจัด ซึ่งแสดงให้เห็นอิทธิพลทางแฟชั่นจากตะวันตก ภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังทำให้ผู้ชมได้มีโอกาสเห็นอมราในยุคที่เธอถือ เป็นผู้นำแฟชั่นผู้หญิง และเหตุผลเชิงประจักษ์ที่ทำให้เธอได้รับขนานนามว่า ElizabethTaylor ของไทย