คนเลี้ยงช้าง THE ELEPHANT KEEPER

ความยาว 136 นาที

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง

บริษัทสร้าง พร้อมมิตรภาพยนตร์

ผู้อำนวยการสร้าง กมลา เศรษฐี

ผู้กำกับ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

ผู้แสดง สรพงศ์ ชาตรี, รณ ฤทธิชัย, ดวงเดือน จิไธสงค์, อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์, วิชุดา มงคลเขตร์, บู๊ วิบูลย์นันท์


ภาพยนตร์ที่สร้างโดยหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ “ท่านมุ้ย” นักสร้างภาพยนตร์สะท้อนสังคมที่ดีที่สุดคนหนึ่งของไทยในช่วงเวลานั้น หลังจากถ่ายทอดปัญหาบ้านเมืองในแง่มุมต่าง ๆ ผ่านเรื่องราวของคนตัวเล็ก

ตัวน้อยในสังคมมาอย่างต่อเนื่องนับสิบปี ต้นทศวรรษที่ 2530 ท่านมุ้ยก็ได้เลือกจับเอาปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าซึ่งกำลังเป็นประเด็นสำคัญในสังคมไทยออกมาตีแผ่ โดยระหว่างการสร้างได้เกิดกรณีป่าไม้เขต สายัณห์ จารุคมเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่จับไม้เถื่อนที่อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2532 ซึ่งภาพยนตร์ได้ขึ้นข้อความอุทิศให้เมื่อคราวออกฉาย คนเลี้ยงช้าง เล่าเรื่องราวของสองตัวละครหลัก คือ บุญส่ง ชาวบ้านป่าที่ครอบครัวยึดอาชีพเป็นควาญช้างมาตั้งแต่บรรพบุรุษ กับ คำรณ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ผู้เคร่งครัดต่อหน้าที่ วันหนึ่ง บุญส่ง กับ แตงอ่อน ช้างคู่ชีวิต ได้ช่วยให้ คำรณ รอดพ้นจากการถูกลอบยิงจากพวกลักลอบตัดไม้ แต่ขณะเดียวกัน ตัวเขาเองกลับไม่อาจเอาตัวรอดจากการถูกกดดันเรื่องหนี้สินก้อนโตโดย เสี่ยฮก เจ้าของธุรกิจค้าไม้เถื่อนรายใหญ่ไปได้ ส่งผลให้ต่อมาเขาต้องกลายไปเป็นแรงงานรับจ้างในขบวนการเถื่อนของเสี่ยฮกเสียเอง เมื่อคำรณรู้ข่าวจึงพยายามหยุดยั้งการกระทำของบุญส่ง เป็นเหตุให้ทั้งคู่ถูกคุกคามเอาชีวิตจากเหล่าผู้ที่กลัวจะเสียผลประโยชน์จากการกระทำนี้ นี่คือหนึ่งในภาพยนตร์ไทยจำนวนน้อยยิ่งกว่าน้อยที่พยายามพูดถึงปัญหาป่าไม้อย่างจริงจัง ฉากป่าพนาไพรที่ปรากฏในภาพยนตร์ บางส่วนนั้นคือพื้นที่ที่กำลังถูกรุกรานจริงขณะถ่ายทำ เมื่อผนวกกับการแสดงอันแนบเนียนและทรงพลังของ สรพงศ์ ชาตรี กับ รณ ฤทธิชัย คนเลี้ยงช้าง จึงเปรียบเสมือนบทบันทึกสภาพธรรมชาติและปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในช่วงเวลานั้นได้อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา รวมทั้งยังเปิดเผยให้เห็นถึงรายละเอียดปลีกย่อยอันสลับซับซ้อนของกระบวนการตัดไม้ทำลายป่าที่ผูกพันเชื่อมโยงกันตั้งแต่ระดับชาวบ้านไปจนถึงนักการเมืองใหญ่ ในยุคสมัยที่ช้างยังคงเป็นส่วนหนึ่งของป่า และเป็นจิตวิญญาณแห่งพงไพรที่คอยปกปักรักษาป่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำหน้าที่ทั้งกระตุ้นเตือนและชวนให้ผู้ชมได้ฉุกคิด ก่อนที่ป่าจะค่อย ๆ หมดไปจริง ๆ จนทั้งช้างและคนเลี้ยงช้างต้องระเห็จเร่ร่อนออกจากป่ามาสู่เมืองใหญ่อย่างในปัจจุบัน