สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว่าด้วย “หนังไทยเรื่องแรก”

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”

----------



โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ฉบับที่ 65 ประจำเดือนกันยายน-ตุลาคม พ.ศ. 2564


เรื่องที่มักเข้าใจสับสนที่สุดเรื่องหนึ่งในบรรดาความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย คือภาพยนตร์เรื่องใดเป็น “หนังไทยเรื่องแรก” เพราะแม้ว่าตำแหน่งนี้ควรจะตกเป็นของภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2470 เรื่อง โชคสองชั้น ซึ่งเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกที่สร้างโดยคนไทย แต่ผู้คนจำนวนมากยังคงเข้าใจว่าภาพยนตร์ปี 2466 เรื่อง นางสาวสุวรรณ เป็นหนังไทยเรื่องแรก ด้วยเหตุเพราะถ่ายทำในเมืองไทยและนำแสดงโดยคนไทย แม้จะเป็นผลงานการสร้างของทีมงานจากสหรัฐอเมริกาก็ตาม


เมื่อวันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม 2564 เนื่องในวันครบรอบวันแรกฉายของ โชคสองชั้น หอภาพยนตร์จึงได้จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?” นำเสวนาโดยทีมงานจากหอภาพยนตร์คือ โดม สุขวงศ์, ชลิดา เอื้อบำรุงจิต และผู้เขียน ร่วมกับวิทยากรรับเชิญคือ ผศ.ดร.ปาลิตา จุนแสงจันทร์ อาจารย์ประจำสาขา Asian and Middle Eastern Studies จากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา


ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ เริ่มต้นการเสวนาด้วยการให้ข้อมูลของ นางสาวสุวรรณ ซึ่งเป็นผลงานการสร้างของ เฮนรี แม็กเร ผู้สร้างภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในสยามตั้งแต่เดือนมีนาคม 2465 (2466 หากนับตามปีปัจจุบัน) โดยนอกจากทีมงานมืออาชีพจากต่างประเทศ แม็กเรยังได้รับการช่วยเหลือด้านการเดินทางและจัดหาสถานที่ฉายหนังจากกรมรถไฟหลวง และด้านนักแสดงจากกรมมหรสพหลวง 




ภาพ: เฮนรี่ แม็กเร เมื่อครั้งมาถ่ายทำ นางสาวสุวรรณ


เมื่อถ่ายทำเสร็จ แม็กเรได้มอบฟิล์ม 1 สำเนา ให้แก่กรมรถไฟหลวงตามสัญญาแลกกับการช่วยเหลือ และกรมรถไฟหลวงได้ให้สยามภาพยนตร์บริษัท ซึ่งมีโรงภาพยนตร์อยู่ในเครือจำนวนมาก เป็นผู้จัดจำหน่ายนำออกฉายตามโรงต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2466 ในขณะที่ฟิล์มอีก 1 สำเนา แม็กเรได้ถวายแด่รัชกาลที่ 6 และทรงนำออกจัดฉายที่โรงภาพยนตร์ในเครือของสยามนิรามัย หนึ่งวันก่อนสยามภาพยนตร์บริษัท ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความนิยมทำให้ นางสาวเสงี่ยม นาวีเสถียร ผู้รับบทนางสาวสุวรรณ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนางเอกภาพยนตร์คนแรกของไทย และมีผลิตภัณฑ์ออกมา คือน้ำหอมนางสาวสุวรรณ ที่ห้าง ต.เง็กชวน จัดจำหน่าย


แม้จะมีหลักฐานทั้งการสร้างและจัดฉายในเมืองไทย รวมทั้งแม็กเรได้เขียนบันทึกการถ่ายทำเป็นบทความชื่อ Picturesque and Unusual Siam และในปี 2468 มีข่าวเล็ก ๆ ปรากฏในหนังสือพิมพ์ของไทยว่ามีการนำออกฉายที่อเมริกาในชื่อ Kingdom of Heaven แต่เมื่อตรวจสอบเครดิตรายชื่อผลงานของแม็กเร กลับพบว่า ไม่มีชื่อหนัง นางสาวสุวรรณ (Suvarna of Siam) หรือ Kingdom of Heaven ปรากฏอยู่ โดยในปี พ.ศ. 2538 ชลิดาได้รับการแนะนำจาก โดม สุขวงศ์ ให้ลองออกตามหา นางสาวสุวรรณ ขณะที่เธอไปเรียนอยู่ที่อเมริกา เธอได้พยายามค้นคว้าจนพบที่อยู่ของแม็กเรซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ก่อนจะได้พบกับสุสานของเขา แต่ยังไม่เจอข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์ นางสาวสุวรรณ ที่อเมริกา ที่เป็นปริศนามาจนถึงปัจจุบัน 


“เคยคุยกับ เควิน บราวน์โลว์ อาจารย์ทางด้านภาพยนตร์ศึกษา (Film Studies) แล้วก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์เงียบ (Silent Film) เขาก็บอก เขากำลังบูรณะหนังของเฮนรี่ แม็กเร แต่เขาไม่รู้จัก นางสาวสุวรรณ ซึ่งมันก็ดูเป็นปริศนาว่า เขาก็เป็นผู้กำกับที่มีชื่อเสียงในโลกตะวันตกหรือข้อมูลในโลกตะวันตก ทำไมชื่อของ นางสาวสุวรรณ หรือ Suvarna of Siam ถึงไม่อยู่ในสารบบ นอกจากได้ข้อมูลมาจากทางเมืองไทย” ชลิดากล่าว






อย่างไรก็ตาม การที่แม็กเรเข้ามาสร้าง นางสาวสุวรรณ ได้ส่งอิทธิพลในสยาม จนมีผู้เรียกร้องให้คนไทยสร้างหนังด้วยตนเอง ต่อมาจึงได้เกิดการแข่งขันเพื่อสร้าง “หนังไทยเรื่องแรก” ขึ้น โดยผู้เขียนได้บรรยายให้เห็นว่า มีสัญญาณเกิดขึ้นว่าคนไทยจะเริ่มสร้างหนังเองเป็นครั้งแรกตั้งแต่ต้นปี 2470 โดยกลุ่มแรกที่เปิดตัวคือ บริษัท ถ่ายภาพยนตร์ไทย ของ หลวงสุนทรอัศวราช อดีตข้าราชการกรมม้าต้น ซึ่งได้รวมทีมกับเพื่อนข้าราชการกรมต่าง ๆ ที่ส่วนมากต้อง “ถูกดุล” ออกจากงาน เพื่อให้การคลังของบ้านเมืองเกิดความสมดุล อันเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก  แต่แม้ บริษัท ถ่ายภาพยนตร์ไทย ซึ่งต่อมาเปิดเผยว่าภาพยนตร์ที่จะสร้างชื่อว่า ไม่คิดเลย จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องทั้งเบื้องหน้า คือการประกาศรับนักแสดง กับประชาสัมพันธ์ทางหน้าหนังสือพิมพ์ และเบื้องหลัง คือการทำหนังสือขอพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ 7 ให้อดีตข้าราชการมาร่วมแสดงภาพยนตร์ แต่สุดท้ายพวกเขากลับถูกตัดหน้า ด้วยกรุงเทพภาพยนตร์บริษัท ซึ่งเพิ่งเริ่มเปิดตัวทีหลังหลายเดือน แต่กลับสร้างภาพยนตร์เรื่อง โชคสองชั้น ออกฉายได้ก่อนในวันที่ 30 กรกฎาคม 2470 


กรุงเทพภาพยนตร์บริษัท เกิดจากความร่วมมือของสยามภาพยนตร์บริษัท และพี่น้องตระกูลวสุวัต ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการโรงภาพยนตร์ในเครือของบริษัทสยามนิรามัย เมื่อออกฉาย โชคสองชั้น ได้สร้างปรากฏการณ์และความตื่นเต้นแก่คนไทยยิ่งกว่าคราว นางสาวสุวรรณ ในเวลาต่อมา พี่น้องตระกูลวสุวัตก็ได้กลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์อันดับหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทยไปอีกราว 15 ปี ก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะที่กลุ่มของบริษัทถ่ายภาพยนตร์ไทย แม้สุดท้ายแล้วได้สร้างเรื่อง ไม่คิดเลย ออกฉายสำเร็จในวันที่ 17 กันยายน 2470 และทีมงานบางส่วนจะยังคงสร้างภาพยนตร์ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่ากับกลุ่มพี่น้องวสุวัต ปัจจุบันภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องล้วนหายสาบสูญ เหลือแต่เพียงเศษฟิล์มของ โชคสองชั้น ความยาวเพียงประมาณ 1 นาที ที่หอภาพยนตร์ค้นพบในปี พ.ศ. 2538




ภาพ: ภาพในเศษฟิล์มของ โชคสองชั้น ที่หอภาพยนตร์ค้นพบในปี พ.ศ. 2538 (รับชมได้ที่ https://youtu.be/MllxNllgnBY)


ด้าน โดม สุขวงศ์ ผู้บุกเบิกการค้นคว้าข้อมูลทั้งเรื่อง นางสาวสุวรรณ และ โชคสองชั้น มาตั้งแต่ต้น ได้เล่าว่า ในปี พ.ศ. 2520–2523 เขาเริ่มค้นข้อมูลที่หอสมุดแห่งชาติ เพื่อเขียนประวัติภาพยนตร์ไทย ทำให้พบข้อมูลหลายอย่างที่แตกต่างไปจากที่เชื่อต่อ ๆ กันมา แต่ในขณะนั้น เขาเองก็ยังเข้าใจว่า นางสาวสุวรรณ เป็นหนังไทยเรื่องแรก และพยายามตามหาตัวภาพยนตร์เพื่อนำมาดูประกอบการเขียน ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่พบ แต่กลับไปพบฟิล์มภาพยนตร์เก่าอื่น ๆ สมัยรัชกาลที่ 7 แทน จนทำให้เขาหันมารณรงค์ให้เกิดหอภาพยนตร์ขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ความพยายามในการตามหาฟิล์ม นางสาวสุวรรณ ก็ยังคงอยู่ แม้จะเปลี่ยนความคิดว่า ควรยกสถานะ “หนังไทยเรื่องแรก” ให้ โชคสองชั้น แทน 


“ในช่วงแรกที่ผมเขียนบทความต่าง ๆ ก็เขียนไปว่า นางสาวสุวรรณ เป็นหนังไทยเรื่องแรก แต่ช่วงหลัง ๆ จะเขียนว่านั่นไม่ใช่หนังไทยนะ แม้ว่าจะใช้นักแสดงคนไทย พูดภาษาไทย แต่ว่าคนสร้างเป็นฝรั่ง ต่อมาเริ่มมีเกณฑ์ว่าหนังถือสัญชาติไหน ใครสร้าง ใครลงทุน เพื่อจะได้ไปยกย่องเรื่อง โชคสองชั้น เพราะมีความภูมิใจมากกว่า แต่ก็ยังไม่สำเร็จเท่าที่ควร ตามที่คุณชลิดาได้พูดไว้ ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง มีวิดีโอในยูทูบแนะนำหนัง ยังบอกว่า นางสาวสุวรรณ เป็นหนังไทยเรื่องแรก”






ในขณะที่ ผศ.ดร.ปาลิตา จุนแสงจันทร์ ได้แสดงความเห็นว่า นักวิชาการต่างประเทศได้ตั้งคำถามว่า เราสามารถมองว่า นางสาวสุวรรณ จะเป็นเรื่องแรกในการ co-production หรือการร่วมงานกันระหว่างชาติได้หรือไม่ ซึ่งนั่นทำให้การระบุสัญชาติของหนังยากขึ้น เพราะหลายอย่างใน นางสาวสุวรรณ เป็นสิ่งที่แม็กเรไม่สามารถจินตนาการหรือทำให้เกิดขึ้นเองได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากไทย โดยปัจจุบันประเด็นเรื่องการ co-production หรือ transnational cinema หรือภาพยนตร์ลูกครึ่ง กำลังเป็นที่สนใจ นอกจากนี้การที่มีข่าวว่า นางสาวสุวรรณ ถูกเซ็นเซอร์ในบางฉาก ซึ่งหากเป็นเหตุผลที่ทำให้เรื่องนี้ไม่ได้ฉายที่อเมริกา และเกิดจากการแทรกแซงโดยรัฐ ก็จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็น “เรื่องแรก” ของไทยในประเด็นอื่นไปด้วย


“ภาพยนตร์เรื่อง นางสาวสุวรรณ เป็นเรื่องแรกที่มองได้ในหลายมิติ เช่น อยากให้มีความเป็นไทยไปสู่ต่างชาติ state intervention คืออะไรในช่วงที่ไทยอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การโฆษณาบ่งบอกว่าเราเป็นคนไทยทำได้มากแค่ไหนในระบบการเมือง หรือในความคิดที่ว่าภาพยนตร์คืออะไรในตอนนั้น 


“ยิ่งเราถามคำถามและจับมันมาผูกกัน ในเชิงว่ามันเป็นบริบททางประวัติศาสตร์ในยุคนั้นของ นางสาวสุวรรณ ทำให้เรื่องของความเข้าใจว่าภาพยนตร์ในฐานะสื่อใหม่ในยุคนั้นคืออะไรกันแน่ มันน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก แน่นอนว่าทางราชการน่าจะมองภาพยนตร์เรื่อง นางสาวสุวรรณ ไปอีกแบบ แตกต่างจาก โชคสองชั้น ที่ข้าราชการที่เข้าไปทำ production มองภาพยนตร์เป็น industry ซึ่ง position มันต่างกัน คำถามว่า นางสาวสุวรรณ เป็นเรื่องแรกหรือเปล่า จะต้องชี้ให้ชัดว่าเรื่องแรกในด้านไหน เกี่ยวกับอะไร ทั้งหมดนี้ก็จะเป็นการตอบคำถามของความสำคัญในเรื่องแรกในมุมของนักวิชาการ” 


ความน่าสนใจของการศึกษากรณีภาพยนตร์เรื่อง นางสาวสุวรรณ และ โชคสองชั้น จึงไม่ได้หยุดอยู่แค่เพียงประเด็นที่ว่าเรื่องใดคือ “หนังไทยเรื่องแรก” เท่านั้น หากแต่ยังนำไปสู่บริบทอื่น ๆ ที่จะกลายเป็นแว่นขยายให้เราได้สำรวจและทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยในมิติต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น  






ชมบันทึกการเสวนาย้อนหลังทั้งหมดได้ที่ www.youtube.com/watch?v=OE-RmUgcU5U


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด

ความฝันที่จะเก็บรักษาฝันของชาติ

10 ก.ย. 64  บทความ

บทบันทึกการต่อสู้ ความรู้สึก และความทรงจำของ โดม สุขวงศ์ เมื่อครั้งเดินหน้ารณรงค์เรียกร้องให้เกิดหน่วยงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ในประเทศไทย ไปจนถึงช่วง 5 ปีแ...

อ่านรายละเอียด