เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพยนตร์ 2 เรื่องนี้ ได้กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ได้รับการอ้างอิงถึงอยู่เสมอ จนกลายเป็นภาพจำของคนรุ่นหลัง รวมทั้งเป็นวัตถุดิบให้แก่ภาพยนตร์จำนวนมากที่ต้องการเล่าถึงประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของประชาชนไทยเหตุการณ์นี้
--------------
ชลิดา เอื้อบำรุงจิต
เผยแพร่ครั้งแรกในวารสารหนังไทย ฉบับที่ 18 พฤศจิกายน 2556
การลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารของนักศึกษาและประชาชนชาวไทยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้น นับได้ว่าเป็นการแสดงพลังทางการเมืองของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ภาพนิ่งของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ที่ผู้คนเรือนแสนเรียงตัวแน่นขนัดอยู่บนถนนราชดำเนิน เป็นสิ่งที่คนเห็นอยู่จนชินตา และถูกนำกลับมาในวาระที่ครบรอบในแต่ละปี แต่สำหรับภาพยนตร์ที่บันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา จะมีสักกี่คนที่รู้ว่ามีอยู่ ใครเป็นผู้ถ่าย หรือจะมีสักกี่คนที่เคยดู แม้แต่คนที่อยู่ในเหตุการณ์
เคยสอบถามคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา ผู้ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ว่าในกระบวนการเคลื่อนไหวในครั้งนั้น เหตุใดจึงไม่ค่อยมีการบันทึกเป็นภาพยนตร์ คุณจิระนันท์อธิบายว่า การถ่ายภาพยนตร์มีกรรมวิธีที่ยุ่งยาก คนจึงเลือกที่จะแต่งบทกวี แต่งเพลง เขียนโปสเตอร์ ซึ่งจะทำได้รวดเร็วทันใจกว่า
การถ่ายภาพยนตร์ในสมัยก่อน เป็นสิ่งที่มีราคาแพง ฟิล์ม 16 มม. 100 ฟุต ถ่ายได้ประมาณ 3 นาทีกว่า นอกจากนั้นต้องมีการส่งฟิล์มไปล้างที่แล็บ เสียค่าล้าง ถ้าเป็นฟิล์ม 8 มม. โกดักโครมก็ต้องส่งไปล้างต่างประเทศ การที่จะมีผู้ตัดสินใจถ่ายเป็นหนังย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มีบุคคลผู้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของเหตุการณ์นี้ว่าควรจะบันทึกไว้เพื่อให้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และได้ถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ ฟิล์มที่เหลือรอดมาและได้รับการอนุรักษ์อยู่ในหอภาพยนตร์มีอยู่อย่างน้อย 2 เรื่อง
อนุทินวีรชน 14 ตุลาคม - ชิน คล้ายปาน
หนังของคุณชิน คล้ายปาน (ซึ่งเราเรียกติดปากว่าอาจารย์ชิน) เป็นหนังที่เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากกว่าเรื่องอื่น เนื่องจากเป็นหนังที่มีการนำออกฉายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และในโอกาสครบรอบบ่อยครั้ง อาจารย์ชิน จบด้านการถ่ายภาพจากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ต่อมาทำงานที่ฝ่ายโสตทัศน์ของสำนักหอสมุด (หรือที่ปัจจุบันเรียกว่าศูนย์บริการสื่อการศึกษา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนถ่ายภาพให้กับคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
ในช่วงเหตุการณ์ อาจารย์ชินเล่าว่า อาจารย์เริ่มจากการอ่านข่าวเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เมื่อตำรวจจับผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญจำนวน 12 คน ทำให้เกิดการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนเหล่านั้น เมื่อมาถึงวันที่ 9 ตุลาคม ขณะที่ขับรถมาทำงาน สังเกตเห็นตึกต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการผูกผ้าดำ มีการล็อกประตูเหล็ก ตามประตูมีการหยอดปูนขาวปิดไว้ เนื่องจากวันนั้นเป็นวันสอบ ทำให้คนเข้าสอบไม่ได้ ตอนเช้ามีคนมาชุมนุมที่ลานโพธิ์ ผู้นำนักศึกษาพูดเรื่องคนที่ถูกจับ อาจารย์จึงเอากล้องถ่ายภาพนิ่งและกล้องถ่ายภาพยนตร์ไปถ่าย ซึ่งตอนนั้นก็พอมีฟิล์มอยู่บ้าง ถ่ายภาพที่ลานโพธิ์เก็บไว้จะเห็นภาพ คุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล กล่าวปราศรัย และนักศึกษาร่วมฟังอย่างสนใจ อาจารย์ไม่ได้คิดว่าเหตุการณ์จะรุนแรง เพราะก่อนหน้านี้มีการประท้วงเรียกร้องเรื่องการเชิญวิทยากรภายนอกมาก่อนแล้ว ตอนค่ำเกิดฝนตกหนักจนผู้ชุมนุมต้องย้ายเข้าไปในหอประชุม มีหนังปฏิวัติรัสเซีย กับปฏิวัติฝรั่งเศสไปฉายในหอประชุมด้วย
วันที่ 10 ตุลาคม นักศึกษาได้ย้ายกลับมาชุมนุมที่ลานโพธิ์ นักเรียน นักศึกษาอาชีวะและประชาชนเข้าร่วมชุมนุมเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนแออัดต้องย้ายไปที่สนามฟุตบอลในตอนค่ำ เมื่อย้ายการชุมนุมมาที่สนามฟุตบอล อาจารย์ได้ตามไปถ่ายภาพมุมสูงจากหน้าห้องล้างรูปของตึกของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ในช่วงแรกอาจารย์ไม่คิดว่าเป็นการเสี่ยงอะไร เพราะคุ้นเคยกับนักศึกษาเป็นอย่างดี
วันที่ 11 ตุลาคม นักศึกษาช่วยกันทำความสะอาดสนามฟุตบอล นักศึกษาจากที่อื่นทยอยกันมาชุมนุมอย่างมีระเบียบ บนเวทีก็มีคนสลับกันขึ้นปราศรัยไม่ขาดสาย
วันที่ 12 ตุลาคม เห็นปริมาณคนที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จากวันแรกที่มีครึ่งสนามมาแน่นขนัด บางช่วงมีการถ่ายบันทึกเสียงการปราศรัยจากในสนาม เห็นมีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามมุมต่าง ๆ ของสนาม
วันที่ 13 ตุลาคม เวลา 12.00 น. ศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้ยื่นคำขาดให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมด ภายใน 24 ชั่วโมง แต่เมื่อไม่ได้รับคำตอบ ผู้ชุมนุมก็เริ่มเคลื่อนตัวออกทางประตูข้างสะพานพระปิ่นเกล้า ไปตามถนนราชดำเนินและสิ้นสุดที่ลานพระบรมรูปทรงม้า
วันที่ 14 ตุลาคม เมื่อได้ยินข่าวว่ามีปะทะกันที่บริเวณสวนจิตรลดา อาจารย์ชินจึงตามออกไป ได้ถ่ายภาพการปะทะหน้าโรงพักชนะสงครามระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุม มีการยิงแล้วเกิดการแตกฮือเข้าไปในถนนราชดำเนิน อาจารย์ได้ขึ้นไปบนตึกของการท่องเที่ยวริมถนนราชดำเนินแล้วถ่ายลงมา เนื่องจากอาจารย์เคยเป็นทหารสื่อสารและเคยเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย และสยามนิกร มาก่อน จึงไม่กลัว ได้ถ่ายการเผาซุ้ม และปาระเบิดขวดเข้าไปที่ตึกกรมประชาสัมพันธ์ ส่วนสยามรัฐก็เอาพระมาวางหน้าถนน นอกจากนี้มีการถ่ายการปะทะกันหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ บริเวณสะพานผ่านพิภพลีลา และบันทึกภาพ คุณประพัฒน์ แซ่ฉั่ว ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ถือท่อนไม้เผชิญกับเจ้าหน้าที่และถูกยิงล้มลง นอกจากนี้ อาจารย์ชินยังได้ถ่ายบันทึกพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ออกอากาศสดทางโทรทัศน์ ซึ่งเป็นจุดจบของเหตุการณ์วันมหาวิปโยค ในตอนนั้นอาจารย์ชินยังอยู่นอกบ้าน เมื่อรู้ข่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวจะประกาศทางโทรทัศน์จึงได้เคาะประตูบ้านที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง และขอถ่ายโดยเอากล้องสอดประตูเข้าไปในบ้านที่กำลังเปิดโทรทัศน์อยู่ และได้กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เพราะขณะนั้นยังไม่มีการบันทึกเทปโทรทัศน์ของการออกอากาศ
วันที่ 15 ตุลาคม เมื่อเหตุการณ์เริ่มคลี่คลายสู่ภาวะปกติ อาจารย์ได้ถ่ายภาพร่องรอยความเสียหายที่ยังหลงเหลืออยู่ ทั้งซากรถที่ถูกเผาจำนวนหลายคัน อาคารกรมประชาสัมพันธ์และกองสลากที่ยังครุกรุ่นควันไฟ ภาพอาสาสมัครที่ออกมาช่วยจัดการจราจรเนื่องจากไฟจราจรถูกทำลาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่กล้าออกมา จนถึงภาพถนนราชดำเนินในยามค่ำ และตัวแทนนักศึกษาออกสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์
วันที่ 16 ตุลาคม ได้บันทึกภาพตามถนนราชดำเนิน ผู้คนได้ออกมาเดินดูร่องรอยของซากความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยปราศจากความหวาดกลัวใด ๆ มีการล้างทำความสะอาดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และจบด้วยเพลงนกสีเหลือง
อาจารย์ชิน เคยเล่าสัมภาษณ์ในภายหลังว่าในช่วงนั้น มีนักข่าวชาวอเมริกันซึ่งได้เห็นอาจารย์ชินถ่ายมาหลายวัน ติดต่อที่จะขอซื้อฟิล์มที่ถ่ายและบอกว่าพร้อมจะเขียนเช็คให้สามแสนบาท แต่อาจารย์ชินก็ไม่ยอมขาย เพราะคิดว่าภาพยนตร์จะเป็นบันทึกที่สำคัญต่อไปในอนาคต
กล้องที่อาจารย์ชินถ่ายเป็นกล้องโบเล็กซ์ไขลาน 16 มิลลิเมตร อาจารย์ชินใช้ฟิล์มสี 6 ม้วน ขาวดำ 2 ม้วน จากเครดิตของภาพยนตร์ นอกจากอาจารย์ชิน และ คุณธนิต บรรเทา จากธรรมศาสตร์ ก็มีช่างภาพจากฝ่ายข่าวไทยทีวีช่อง 4 (หรือช่อง 9 ในปัจจุบัน) อันได้แก่ คุณวินิจ บุญวิวัฒน์ คุณสมศักดิ์ แปลกลำยอง คุณสันทัด สายสมอ รวมทั้งคุณถวิล สุดดี จากมหาวิทยาลัยมหิดล ในด้านเสียงมีการอัดเสียงแยกไว้ในบางส่วน ตอนหลังเอาเพลงปลุกใจ เช่น รักเมืองไทย ความฝันอันสูงสุด ดุจบิดามารดร หนุ่มสาวเสรี ฯลฯ มาประกอบในช่วงที่ไม่มีเสียง โดยมีช่างบันทึกเสียงคือ คุณพูนศักดิ์ ผอมทอง และคุณถกล เพ็งสมจิตต์ เสียงบรรยายโดย อาจารย์วันชัย ธนะวังน้อย แห่งคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาจารย์ชินได้เล่าเพิ่มเติมว่า ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ได้แค่ถ่ายภาพนิ่งไว้ เนื่องจากไปขออนุญาตผู้บริหาร แต่ได้รับคำตอบว่าอย่าถ่ายเลย เปลือง และอาจารย์เองก็ถูกเชิญไปสอบสวนที่โรงพักชนะสงคราม เพราะว่าเคยมีส่วนในการฉายภาพยนตร์เพื่อปลุกระดม แต่สุดท้ายก็ได้รับการปล่อยตัว
เมื่อคุณโดม สุขวงศ์ เริ่มก่อตั้งหอภาพยนตร์ ก็มีการนำภาพยนตร์เรื่องนี้มาฉาย และพูดคุยในรายการภาพยนตร์สโมสร และภายหลังทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้มอบฟิล์มนี้ให้แก่หอภาพยนตร์
วันมหาวิปโยค - ทวีศักดิ์ วิรยศิริ
คุณทวีศักดิ์ วิรยศิริ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นช่างถ่ายหนังข่าวอาชีพ และช่างถ่ายหนังสมัครเล่น เพราะบทบาททั้งสองด้านโดดเด่นไม่แพ้กัน ท่านเป็นลูกของพระยามหาอมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ เคยเป็นเลขานุการในรัชกาลที่ 5) สนใจถ่ายรูปมาตั้งแต่อายุ 15-16 ปี เพราะพ่อชอบถ่ายรูป ในครอบครัวยังมีน้องที่สนใจการถ่ายรูป ถ่ายภาพยนตร์ คือ คุณสรรพสิริ และคุณสมบูรณ์ วิรยศิริ เมื่อคุณทวีศักดิ์เรียนจบชั้นมัธยมหก ตอนแรกไปเรียนเป็นนักเรียนนายเรือ แต่เรียนไม่จบ มีปัญหาเมาคลื่น จึงตามพี่ชายไปอยู่สิงคโปร์เพื่อเรียนการบัญชี
คุณทวีศักดิ์ เป็นผู้ที่มีช่วงชีวิตยาวถึง 97 ปี เป็นบุคคลที่มีชีวิตอันน่าทึ่ง ครึ่งแรกของชีวิตเป็นเป็นนักบัญชี อยู่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ภายหลัง พ.ร.บ. การบัญชี บริษัทต้องมีการตรวจสอบบัญชี คุณทวีศักดิ์ ก็รับจ้างตรวจบัญชีตามบริษัท เมื่องานมากเข้าก็ลาออกจากราชการมาทำส่วนตัว ต่อมาคุณสุจิต หิรัญพฤกษ์ (อดีตข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ และเป็นสามีของ คุณกันยา เทียนสว่าง นางสาวไทยคนแรก) ชวนไปถ่ายการแสดงละครเรื่อง สมิงพระราม ของกรมศิลปากร ถ่ายด้วยฟิล์ม 16 มม. สี เสียง มีการร้องเพลง คุณสุจิต พกหนังเรื่องนี้ไปฉายต่างประเทศและได้รับคำชมมาก ต่อมาเมื่อ คุณสุจิต ไปประชุมและได้รู้จักประธานบริษัท Hearst Metro News ซึ่งกำลังหาคนถ่ายหนังข่าวในภูมิภาคนี้ จึงได้แนะนำคุณทวีศักดิ์ ให้มาถ่ายหนังข่าวให้เมโทร นับเป็นการเปลี่ยนบทบาทสู่ครึ่งหลังของชีวิตในวัยสี่สิบกว่า
การถ่ายหนังข่าวให้เมโทร ใช้กล้อง 35 มม. ผลงานเรื่องแรกเป็นหนังชกมวยระหว่างจิมมี่ คารัธเธอร์ กับจำเริญ ทรงกิตรัตน์ นอกจากนี้ยังได้ถ่ายงานพระบรมศพรัชกาลที่ 8 ถ่ายตั้งแต่ยกพระโกศ ลงจากเมรุมาถวายพระเพลิง ต่อมา CBS ของอเมริกาซึ่งเห็นผลงานข่าวของเมโทร ก็มาจ้างให้คุณทวีศักดิ์ถ่ายข่าวให้ด้วย จากนั้นก็ขยายไปถ่ายให้ Visnews ของอังกฤษ ABC ออสเตรเลีย ITN ของอังกฤษ NBC BBC จนกระทั่ง German Television Italy เป็นหนังข่าว หนังกีฬา หนังสารคดี ช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามเวียดนาม มีคนต้องการจ้างเยอะมาก ทำให้มีงานค่อนข้างมาก บางครั้งต้องถ่าย 2 - 3 กล้อง เพื่อส่งหลายสำนักข่าว อย่างเหตุการณ์สำคัญที่เกิดครั้งเดียว เช่น การตัดริบบิ้นเปิดงาน ต้องถ่ายอย่างน้อยสองกล้อง คุณทวีศักดิ์จะมีบาร์ไว้ติดกล้องหลายตัว กดสวิตช์ทีเดียว กล้องก็จะเดินพร้อมกัน
นอกจากภาพยนตร์ข่าว คุณทวีศักดิ์ ก็เคยถ่ายภาพนิ่งชุดเรื่อง ฝิ่น ลงใน National Geographic ซึ่งได้รับการส่งเข้าประกวดพูลิตเซอร์ นอกจากนี้ยังเคยร่วมงานกับกองถ่าย 80 วันรอบโลก เป็นผู้ประสานงานให้กองถ่าย และเป็นช่างภาพ ถ่าย 35 มม. เก็บรายละเอียดในส่วนที่กล้อง 70 มม. ไปไม่ได้
แม้จะทำงานอาชีพเป็นช่างภาพข่าว แต่คุณทวีศักดิ์ ก็ได้ถ่ายกล้อง 8 มม. ของตัวเองไว้เสมอเมื่อมีโอกาส หนังวันมหาวิปโยค ก็เป็นหนึ่งในคอลเล็กชั่นของหนังส่วนตัว ถ่ายด้วยฟิล์มโกดักโครม ซึ่งมีคุณสมบัติที่สีสวยสดใส และจะไม่ซีดจางแม้เวลาจะผ่านไป
สำหรับหนังวันมหาวิปโยค คุณทวีศักดิ์ ออกไปถ่ายเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ด้วยคิดว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่ต้องส่งข่าวไปยังสำนักข่าว แต่เนื่องจากการชุมนุมกินเวลานาน ปกติถ่ายข่าวส่งสำนักข่าวจะไม่เกิน 400 ฟุต จึงมีเวลาที่จะถ่ายหนัง 8 มม. ของตนเอง คุณทวีศักดิ์เน้นในการเก็บรายละเอียดอิริยาบถของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งทำให้ได้ความรู้สึกใกล้ชิดราวกับได้เข้าร่วมชุมนุม เริ่มจากการชุมนุมที่สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ จนกระทั่งขบวนเคลื่อนสู่ถนนราชดำเนินไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภาพที่ให้เห็นพลังของคนหนุ่มสาวที่เดินเรียงกันขบวนอย่างห้าวหาญ
แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ปะทะกันที่บริเวณสวนจิตรลดาในวันที่ 14 ตุลาคม คุณทวีศักดิ์ต้องมุ่งถ่ายภาพสำหรับส่งสำนักข่าว จึงไม่ได้ถ่าย 8 มม. ในส่วนนี้ เมื่อมาตัดต่อเป็นหนัง เหตุการณ์ช่วงนี้จะนำเสนอด้วยภาพนิ่งและบรรยายด้วยเสียงของคุณทวีศักดิ์เอง วันที่ 15 ตุลาคม เมื่อเหตุการณ์สงบลง คุณทวีศักดิ์ได้ออกมาถ่ายเก็บบรรยากาศรอบถนนราชดำเนิน พร้อมกับคุณนวลละออง พวงทอง ภรรยา ซึ่งทำหน้าที่ผู้ช่วย หนังได้บันทึกทั้งภาพความเสียหายที่เกิดจาการเผาของผู้ชุมนุมและภาพผู้คนช่วยกันทำความสะอาดถนน และการบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ สิ่งหนึ่งยืนยันความเป็นหนังส่วนตัวของหนังชุดนี้ คือการปรากฏตัวของ คุณนวลละออง ที่ทำตัวราวกับคนเดินถนนคนหนึ่ง และในช่วงเวลาสั้นคุณทวีศักดิ์ก็ได้ให้คุณนวลละอองถ่ายตนเองเดินเข้าไปในกล้องและเดินออกมา
แม้หนังจะมีความยาวเพียง 38 นาที แต่ก็ได้สะท้อนมุมมองของปัจเจกชนที่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ และด้วยทักษะของการถ่ายภาพยนตร์ข่าว ทำให้คุณทวีศักดิ์รู้ว่าจะต้องวางแผนการถ่ายล่วงหน้าอย่างไร จะต้องไปอยู่ตรงไหนจึงจะได้ภาพที่ต้องการ และจะถ่ายอะไรบ้าง ซึ่งทั้งหมดได้สะท้อนอยู่ในฟิล์ม 8 มม. ชุดนี้
คุณทวีศักดิ์เริ่มถ่ายหนังข่าวเป็นอาชีพตอนอายุ 40 กว่าปี ตอนถ่ายหนังวันมหาวิปโยค ท่านอายุ 72 ปี และท่านมาหยุดงานถ่ายหนังเมื่ออายุ 75 ปี และในบรรดาหนังหลายร้อยม้วนของท่านที่ได้รับการอนุรักษ์ในหอภาพยนตร์ หนังเรื่องวันมหาวิปโยคเป็นหนังที่โดดเด่นเรื่องหนึ่ง
เงาของประวัติศาสตร์ 14 ตุลาในภาพยนตร์
เงื่อนไขของการถ่ายภาพยนตร์เป็นฟิล์มอาจเป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจสำหรับคนในสมัยปัจจุบันที่เรามีอุปกรณ์บันทึกภาพเคลื่อนไหวที่สะดวกและง่ายดาย ฟิล์มเป็นของแพง และไม่ได้มีขายตามร้านสะดวกซื้อ ตอนถ่ายก็ต้องจินตนาการว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร เพราะจะไม่ได้เห็นภาพในทันที ถ่ายเสร็จก็ต้องส่งไปล้างที่แล็บ ล้างมาบางส่วนก็มีแต่ภาพ ต้องมาใส่เสียงในภายหลัง
แม้จะเต็มไปด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไข ฟิล์มทั้งสองเรื่อง ก็ได้ทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์อย่างตรงไปตรงมา อาจจะไม่ครอบคลุมทุกบริเวณเนื่องจากเหตุการณ์กระจายออกไปกว้างในระยะเวลาอันสั้น แต่หนังทั้งสองเรื่องก็ทำหน้าที่บันทึกบรรยากาศของยุคสมัยอย่างซื่อสัตย์ โดยเฉพาะในส่วนที่มีการบันทึกเสียงขณะถ่ายทำ
ฟิล์มภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนอกจากจะบันทึกห้วงเวลาของประวัติศาสตร์ และยังทำหน้าที่เป็นวัตถุดิบให้กับภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เรื่องอื่น ๆ ในเวลาต่อมา เช่น คู่กรรม 2 (2539) 14 ตุลา สงครามประชาชน (2544)
ในปี พ.ศ. 2536 ซึ่งเป็นปีที่ครบ 20 ปีของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คณะอนุกรรมการของที่ระลึก ธรรมศาสตร์ 60 ปี ได้ทำวิดีทัศน์ “14 ตุลา” ออกจำหน่ายเพื่อนำรายได้สมทบกองทุน 60 ปี ธรรมศาสตร์ เป็นสารคดีที่มีคำบรรยาย ทำบทโดย อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรยายและควบคุมการผลิตโดย วีระ สมบูรณ์ ซึ่งให้ภาพที่ครบถ้วนกว่าหนังทั้งสองเรื่อง แต่ขณะเดียวกันภาพของหนังทั้งสองเรื่องก็ถูกลดลงเป็นเพียงแค่ภาพประกอบการดำเนินเรื่อง โดยไม่ได้เอากลิ่นหรือบรรยากาศของยุคสมัยเหมือนเมื่อดูจากภาพยนตร์ต้นฉบับ อย่างไรก็ตาม วิดีโอชุดนี้ก็เป็นชุดที่ถูกใช้ในการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม มากที่สุดในยุคหลัง โดยชื่อของ อาจารย์ชิน คล้ายปาน และ คุณทวีศักดิ์ วิรยศิริ ก็ค่อย ๆ เลือนไป
ในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 นอกจากสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ จะให้ความสำคัญในการทำสารคดีเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา ยังมีหนังอิสระของคนรุ่นใหม่ที่ทำเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น ประชาธิป’ไทย ของ เป็นเอก รัตนเรือง และ ภาสกร ประมูลวงศ์ ลมตุลาคม ของ พัฒนะ จิระวงศ์ และ เงาประวัติศาสตร์ ของ ภาณุ อารี ก้อง ฤทธิ์ดี และกวีนิพนธ์ เกตุประสิทธิ์ โดยได้ใช้ภาพจากหนังทั้งสองเรื่องเป็นส่วนประกอบ
ไม่ว่าหนังทั้งสองเรื่องจะเกิดขึ้นจากการสัญชาตญาณของช่างภาพที่เล็งเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าจะเป็นสิ่งสำคัญในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของอนาคต หรือจะเกิดขึ้นด้วยเหตุบังเอิญใด ๆ ก็ตาม ต้องถือเป็นความโชคดีที่ฟิล์มเหล่านี้ยังเหลือรอดมาถึงคนในยุคปัจจุบัน เพื่อให้เราได้เข้าใจประวัติศาสตร์ด้วยหูและตาของเราเอง
อ้างอิง
อนุทินวีรชน 14 ตุลาคม 2516 - ชิน คล้ายปาน, 90 นาที 2516 (หมายเหตุ อนุทินวีรชน 14 ตุลา เป็นชื่อที่ตั้งโดย อาจารย์ชิน คล้ายปาน แต่ชื่อเรื่องที่อยู่ในไตเติ้ลภาพยนตร์คือ “บันทึกเหตุการณ์การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ”
วันมหาวิปโยค – ทวีศักดิ์ วิรยศิริ, 38 นาที 2516
สัมภาษณ์อาจารย์ชิน คล้ายปาน รายการสวัสดีกรุงเทพ 29 นาที
สัมภาษณ์คุณทวีศักดิ์ วิรยศิริ โดย หอภาพยนตร์ 81 นาที