ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอนต่อไป


โดย อธิพันธ์ สิมมาคำ

ที่มาภาพปก: © The Forbidden Reel / NFB Marketing


ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประเทศอัฟกานิสถานปรากฏเป็นประเด็นข่าวที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจากคลิปวิดีโอบันทึกเหตุการณ์โกลาหล ณ สนามบินกรุงคาบูล ที่ผู้คนจำนวนมากพยายามดิ้นรนอพยพหนีเอาชีวิตรอดออกนอกประเทศ ภายหลังจากกลุ่มตาลีบันเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลและสถาปนาตนเป็นผู้ปกครองประเทศ สืบเนื่องจากการที่สหรัฐอเมริกาทำการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน นับเป็นการสิ้นสุดสงครามที่กินเวลายืดเยื้อยาวนานมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 หรือกว่า 2 ทศวรรษ 



การประกาศชัยชนะของตาลีบันครั้งล่าสุดนี้ นำมาซึ่งความวิตกกังวลและหวาดกลัวแก่ชาวอัฟกันว่า จะเกิดบาดแผลซ้ำรอยในอดีตอีกครั้ง ย้อนไปในช่วงกลางทศวรรษปี ค.ศ. 1990 กองกำลังทหารของสหภาพโซเวียตที่ตอนนั้นยึดครองอัฟกานิสถานมาหลายปี ตัดสินใจถอนกำลังกลับ นำมาสู่การสู้รบภายในของกลุ่มขุนศึกท้องถิ่น และสุดท้ายเป็นกลุ่มตาลีบันที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจเต็มรูปแบบ กลุ่มสุดโต่งนี้ประกาศบังคับใช้กฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัด ออกกฎเกณฑ์ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายประการ ทั้งบังคับให้ผู้ชายทุกคนไว้หนวดเครา กีดกันสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง รวมถึงต่อต้านการให้เด็กผู้หญิงอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เดินทางไปเรียนหนังสือ ฯลฯ



ในการลุสู่อำนาจครั้งแรกของตาลีบันเมื่อปลายทศวรรษที่ 1990 มีการเผาและทุบทำลายผลงานศิลปวัฒนธรรมสำคัญของชาติเป็นจำนวนมาก เนื่องจากทางกลุ่มมองว่าการเสพสื่อบันเทิง ถือเป็นกิจกรรมที่ผิดหลักจารีตของศาสนา ไม่เว้นแม้แต่โลกของภาพยนตร์ เมื่อเจ้าหน้าที่ของ National Film Archive of Afghanistan หน่วยงานด้านภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่อยู่ในการดูแลของรัฐ ถูกตาลีบันสั่งให้เผาและทำลายทิ้งม้วนฟิล์มจำนวนมากที่บันทึกประวัติศาสตร์ของประเทศหลายทศวรรษ ถึงแม้ว่าในเวลาต่อมาว่าสมบัติทางภาพยนตร์ส่วนหนึ่งจะได้รับการปกป้อง และชุบชีวิตขึ้นมาใหม่อีกครั้งจากวีรกรรมที่กล้าหาญของเจ้าหน้าที่ในห้องเก็บฟิล์ม


ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อัฟกานิสถาน



ภาพยนตร์มาถึงอัฟกานิสถานตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 แต่คล้ายกับหลาย ๆ ประเทศ คือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เข้าถึงได้เฉพาะคนในรั้วในวังและกลุ่มชนชั้นสูง หนังเล่าเรื่องเรื่องแรกของอัฟกานิสถาน Love and Friendship สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1946 และหลังจากนั้นมีโรงภาพยนตร์จำนวนมากเปิดทำการในกรุงคาบูล ซึ่งตอนนั้นยังสงบสุขและมีความเปิดกว้างทางสังคม จากนั้นในปี ค.ศ. 1968 Afghan Film Organization ถือกำเนิดขึ้นและทำหน้าที่ผลิตสารคดีและหนังข่าวที่เกี่ยวข้องกับการประชุมในหน่วยงานราชการ ฉายเปิดหัวก่อนภาพยนตร์ทั่วไปจะเริ่มตามธรรมเนียมของประเทศอินเดีย ต่อเนื่องมาผลิตหนังเล่าเรื่องขนาดยาว Like Eagles นำแสดงโดย ซาฮีร์ ไวดา (Zahir Waida) นักร้องชื่อดังของยุค จากนั้นในช่วงต้นยุคปี ค.ศ. 1980 เริ่มมีการผลิตหนังสีเป็นครั้งแรก โดยผลงานที่โด่งดังในช่วงนั้น ได้แก่ Faraar, Hamaasa e Ishg, Saboor Sarbaaz ฯลฯ แม้ว่าภาพยนตร์เหล่านี้จะไม่ได้มีงานสร้างที่พิถีพิถันหากเทียบเท่ากับหนังต่างประเทศ แต่ก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความงดงามของชีวิตผู้คนและทัศนียภาพของอัฟกานิสถานในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี



ปลายทศวรรษปี ค.ศ. 1960 และ ค.ศ. 1970 สหภาพโซเวียตได้เข้ามาให้การช่วยเหลืออัฟกานิสถานหลายอย่าง รวมถึงการฝึกอบรมด้านวัฒนธรรม และให้ทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่สนใจศึกษาต่อด้านภาพยนตร์ แต่ด้วยความที่ภายในประเทศไม่มีสถาบันภาพยนตร์อย่างเป็นทางการ จึงทำให้ไม่สามารถนำไปต่อยอดได้ จากนั้นความวุ่นวายอันเกิดขึ้นหลังจากโซเวียตบุกอัฟกานิสถาน ต่อเนื่องมาถึงสงครามขับไล่ และสงครามกลางเมืองระหว่างกองกำลังต่าง ๆ ในทศวรรษปี ค.ศ. 1990 ทำให้งานสร้างสรรค์ไม่เติบโตไปถึงไหน บุคลากรที่ทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อัฟกันจำนวนมาก ตัดสินใจอพยพไปยังอิหร่านและปากีสถาน เพื่อความสะดวกในการผลิตผลงานของตัวเอง กระทั่งในปี ค.ศ. 1996 กลุ่มตาลีบันได้ขึ้นมากุมอำนาจและออกกฎต่อต้านการดูหนังและโทรทัศน์ ส่งผลให้โรงหนังบางส่วนถูกทุบทำลายหรือปล่อยร้างไว้ในสภาพทรุดโทรม บางส่วนถูกดัดแปลงให้เป็นร้านอาหารหรือโรงน้ำชา นับเป็นการสิ้นสุดประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อัฟกันในยุคแรกไว้แต่เพียงเท่านี้


 

ภาพ: บรรยากาศของผู้คนในกรุงคาบูล ขณะแย่งซื้อตั๋วชมภาพยนตร์บริเวณโรงหนัง Bakhtar Cinema

© Yannis Behrakis / Reuters


หลังจากเกิดเหตุการณ์วินาศกรรมที่อเมริกา ในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 กองทัพของสหรัฐฯ ได้ส่งกองทหารเข้ามายังอัฟกานิสถานเพื่อทำลายฐานที่มั่นของกลุ่มตาลีบันและกลุ่มอัลกออิดะห์ เกิดสภาวะ “ยึดครอง” แบบกลาย ๆ และประคองสถานการณ์จนความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจของอัฟกานิสถานดีขึ้น ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อัฟกันจึงเริ่มต้นนับหนึ่งเข้าสู่ยุคใหม่ โดยมี Teardrops ภาพยนตร์สะท้อนสังคมที่ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กหนุ่มผู้ติดยาเสพติด เข้าฉายเป็นเรื่องแรก ณ โรงหนัง Bakhtar Cinema ซึ่งในวันนั้นมีผู้ตีตั๋วเข้ามาชมรอบแรกมากกว่า 1,000 คน



หลังจากนั้น มีหนังหลายเรื่องที่เล่าเรื่องชีวิตและความเป็นอยู่อย่างยากลำบากของผู้คนชาวอัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน แต่มักเป็นหนังที่สร้างนอกประเทศ ทั้งอิหร่านซึ่งมีพรมแดนติดกัน หรือแม้กระทั่งหนังฮอลลีวูด ผลงานที่โดดเด่นในช่วงทศวรรษนี้ ได้แก่ Osama (2003) หนังพูดภาษาเปอร์เซียและปาทานของ ซิดดิค บาร์มัก (Siddiq Barmak) ซึ่งคว้ารางวัลลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม และรางวัล Special Mention Camera D’or จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ นอกจากนี้ยังมีผลงานที่ถ่ายทอดผ่านฝีมือของผู้กำกับต่างชาติอย่าง Kandahar (2001) โดย โมห์เซน มัคฮ์มัลบัฟ (Mohsen Makhmalbaf) ผู้กำกับชื่อดังชาวอิหร่าน และ The Kite Runner (2007) ของผู้กำกับเยอรมัน มาร์ค ฟอร์สเตอร์ (Marc Forster) อีกด้วย



ทศวรรษนี้ ผู้หญิงเริ่มมีบทบาทกับวงการหนังอัฟกันมากยิ่งขึ้น นำโดย ลีนา อาลัม (Leena Alam) นักแสดงและนักสิทธิมนุษยชน ซาบา ซาฮาร์ (Saba Sahar) ผู้กำกับหญิงคนแรกของประเทศ และ ซาห์รา คาริมี (Sahraa Karimi) นักทำหนังสารคดีและผู้อำนวยการหญิงคนแรกของ Afghan Film Organization


 

ภาพ: Kandahar (2001) โดย โมห์เซน มัคฮ์มัลบัฟ

© Makhmalbaf Film House / Sharifiniya


การบูรณะและเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมที่เหลือรอดจากอดีต



เรื่องเล่าที่โด่งดังคือ เมื่อตาลีบันเข้าปกครองประเทศครั้งแรกในปี ค.ศ. 1996 มีการสั่งให้เผาทำลายม้วนฟิล์มจำนวนมากในหอภาพยนตร์อัฟกานิสถาน ทว่าเจ้าหน้าที่นับ 10 ชีวิตที่ทำงานอยู่ในตอนนั้น เช่น ฮาบีบุลเลาะห์ ฮาบิบ (Habibullah Habib) ตัดสินใจเสี่ยงชีวิตลักลอบนำฟิล์มภาพยนตร์ที่หลงเหลืออยู่จำนวนหนึ่งซุกซ่อนไว้ตามผนังและเพดานในห้องลับต่าง ๆ ของอาคารสำนักงาน เพื่อปกป้องสมบัติโสตทัศน์ของชาติจากความสุดโต่งของตาลีบัน หลังจากกองทัพของสหรัฐสามารถขับไล่ตาลีบันออกจากกรุงคาบูลได้สำเร็จในปี ค.ศ. 2001 อดีตเจ้าหน้าที่เหล่านี้เดินทางกลับไปยังอาคารหลังเดิมอีกครั้ง และพบว่าฟิล์มหนังทั้งหมดยังคงอยู่ที่เดิม



“ผลงานสำคัญเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของชาติ หากไม่สงวนและรักษาเอาไว้ สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงตัวตนของเราจะสูญหายไปทันที” สุลต่าน โมฮัมหมัด อิสตาลีฟี (Sultan Mohammad Istalifi) เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายดิจิทัล วัย 72 ปี ของ Afghan Film Organization กล่าวถึงความสำคัญและที่มาของโครงการบูรณะและแปลงสัญญาณดิจิทัลภาพยนตร์เหล่านี้ของรัฐบาล ซึ่งจัดฉายสัญจรผ่านรถโรงหนังทั่วประเทศ ในปี ค.ศ. 2019


 

© AFP


โครงการต่อลมหายใจหนังอัฟกันของรัฐบาล เกิดขึ้นก่อนหน้านี้มานานนับสิบปี แต่ด้วยเงินทุนและอุปกรณ์ที่ขาดแคลน จึงทำให้กระบวนการดังกล่าวต้องหยุดชะงักลง จากนั้นในปี ค.ศ. 2018 เจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุประจำทำเนียบประธานาธิบดีอัฟกานิสถานเข้ารับช่วงต่อโครงการนี้ และย้ายม้วนฟิล์มทั้งหมดจากสำนักงานใหญ่ของ Afghan Film Organization ไปยังห้องควบคุมอุณหภูมิชั้นใต้ดินของอาคาร ซึ่งตั้งอยู่อีกฟากกับพระราชวังในกรุงคาบูล ภายใต้การล็อคประตูที่แน่นหนา โดยการดูแลของเจ้าหน้าที่นักอนุรักษ์ที่มีความชำนาญเป็นการเฉพาะ



“อัฟกานิสถานชอกช้ำมามากแล้ว ฟิล์มหนังเหล่านี้ก็เช่นกัน เราต้องดูแลพวกเขาเสมือนกับเด็กแรกคลอด” ราฟิอุลเลาะห์ อาซีซี (Rafiullah Azizi) ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุฯ ในเวลานั้น กล่าวถึงเจตนารมณ์การสานต่อโครงการนี้ โดยขั้นตอนในการบูรณะฟิล์มหนังเหล่านี้ จะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายฟิล์มและดิจิทัลนั่งทำงานร่วมกัน 6 วันต่อสัปดาห์ ด้วยความที่ฟิล์มเหล่านี้อยู่ในสภาพทรุดโทรมอย่างหนัก เจ้าหน้าที่แต่ละฝ่ายจำเป็นต้องทำงานด้วยความระมัดระวังอย่างเช่นเดียวกับการบูรณะซ่อมแซมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในกรุงคาบูล โดยเมื่อเสร็จสมบูรณ์ถึงขั้นตอนสุดท้าย คือการแปลงสัญญาณเป็นดิจิทัล หอจดหมายเหตุฯ จะอัปโหลดภาพยนตร์ไว้ในฐานข้อมูลกลางของหอจดหมายเหตุฯ เพื่อให้ประชาชนเข้ามาสืบค้น รวมทั้งสอบถามถึงความเป็นไปได้ในการย้ายสำเนาภาพยนตร์เหล่านี้ ไปยังสถานทูตประจำประเทศต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ผลงานทรงคุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศนี้ จะยังคงมีชีวิตอยู่ในอนาคตสืบไป 


 

© AFP


อนาคตที่ไม่แน่นอนของงานอนุรักษ์ภาพยนตร์อัฟกัน



กลุ่มตาลีบันยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลอัฟกานิสถานได้สำเร็จในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา แม้ภาพลักษณ์และท่าทีในการแถลงข่าวครั้งแรกของกลุ่มตาลีบันจะดูประนีประนอมมากขึ้น หากเทียบการครองอำนาจครั้งแรกเมื่อกว่า 20 ปีก่อน แต่ประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรมหลาย ๆ อย่างภายในประเทศยังคงถูกตั้งคำถาม ว่าตาลีบันจะยอมโอนอ่อนปฏิบัติตามวิถีของโลกเพียงใด 


อนาคตของงานอนุรักษ์ภาพยนตร์เป็นหนึ่งในเรื่องที่ยังไม่มีใครทราบคำตอบแน่ชัด ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุฯ ได้เพียงแต่กล่าวว่า “ตาลีบันแจ้งว่า จะปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยจะไม่แก้แค้นหรือทรมานใคร แต่น่าเสียดายที่พวกเขาไม่ได้ระบุอะไรต่อถึงพวกเรา เราได้แต่หวังว่าทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดีตามที่พวกเขากล่าวไว้ และหวังว่าสิ่งที่เราอนุรักษ์เอาไว้จะรอดพ้นจากภยันตราย โปรดสวดมนต์และภาวนาเผื่อพวกเราด้วย”



ซาห์รา คาริมี ผู้อำนวยการคนปัจจุบันของ Afghan Film Organization ซึ่งเดินทางออกนอกประเทศ ก่อนที่ตาลีบันจะยึดสนามบินกรุงคาบูลได้สำเร็จ ถ่ายทอดประสบการณ์ของตัวเองในฐานะผู้ลี้ภัย ขณะเข้าร่วมการประชุมที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต ประเทศแคนาดาว่า “ฉันกำลังพยายามหาคำตอบจากรัฐบาลตาลีบันว่า ตอนนี้ฉันยังคงดำรงตำแหน่งนี้หรือไม่ แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบยืนยันแน่ชัด ฉันพร้อมจะเดินทางกลับประเทศตัวเอง หากพวกเขาเห็นพ้องว่า ฉันสามารถทำงานต่อได้ แม้จริง ๆ จะสงสัยว่า พวกเขาจะอนุญาตให้ฉันทำได้จริง ๆ เหรอ ในเมื่อฉันเกิดมาเป็นผู้หญิง”


  

ภาพ: ซาห์รา คาริมี ผู้อำนวยการคนปัจจุบันของ Afghan Film Organization

© Filippo Monteforte / AFP

ก่อนเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งล่าสุดที่อัฟกานิสถานนี้ คาริมีและทีมงาน วุ่นอยู่กับการวางแผนจัดเทศกาลภาพยนตร์ระดับชาติ และพยายามที่จะเปิดโรงหนังในประเทศให้มากกว่าเดิม แต่แผนการดังกล่าวกลับต้องล่มสลายไปก่อน โดยในอนาคต เธอตั้งใจจะนำประสบการณ์การลี้ภัยของเธอมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์สารคดีในชื่อว่า Flight from Kabul


“ความผิดพลาดที่ใหญ่หลวงที่สุดอย่างหนึ่งของรัฐบาลอัฟกานิสถานในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คือพวกเขาไม่เคยสนับสนุนศิลปะ วัฒนธรรม และภาพยนตร์อย่างจริง ๆ จัง ๆ ไม่แม้แต่ที่จะสร้างโรงภาพยนตร์ขึ้นมาสักแห่งในประเทศ ถ้าเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีโรงภาพยนตร์จริง ๆ ภาคเอกชนและผู้สร้างได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อสร้างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ขึ้นมาจริง ๆ ก็จะคงไม่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ แม้ว่าตอนนี้คุณจะมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย แต่อย่าปล่อยให้ภาพยนตร์อัฟกันตาย และขอให้ผู้สร้างภาพยนตร์ทั่วโลกทุกคน ได้โปรดอย่าหยุดส่งเสียงเรียกร้องถึงสถานการณ์ทั่วไปและภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ณ เวลานี้”


ข้อมูลประกอบการเขียน

- www.washingtonpost.com/world/2019/08/27/taliban-tried-wipe-out-afghanistans-film-industry-this-is-what-survived/

- www.theguardian.com/film/2008/feb/20/features.afghanistan

- www.indiewire.com/2019/11/afghanistan-films-taliban-1202186940/

- www.hollywoodreporter.com/movies/movie-news/afghan-director-sahraa-karimi-tiff-do-not-let-afghan-cinema-die-1235012957/ 


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด

ความฝันที่จะเก็บรักษาฝันของชาติ

10 ก.ย. 64  บทความ

บทบันทึกการต่อสู้ ความรู้สึก และความทรงจำของ โดม สุขวงศ์ เมื่อครั้งเดินหน้ารณรงค์เรียกร้องให้เกิดหน่วยงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ในประเทศไทย ไปจนถึงช่วง 5 ปีแ...

อ่านรายละเอียด