แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน จนกระทั่งเมื่อปี 2555 ที่หอภาพยนตร์ได้พบภาพการทำงานประติมากรรมชิ้นที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของอาจารย์ศิลป์โดยบังเอิญในกรุหนังบ้าน
โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู
*ปรับปรุงข้อมูลจากฉบับที่เคยเผยแพร่ในสูจิบัตรพิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2556
เป็นที่ทราบกันดีว่า ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือ “อาจารย์ศิลป์” ชาวอิตาเลียนผู้มีนามเดิมว่า Corrado Feroci เป็นฝรั่งสัญชาติไทยที่มีคุณูปการและบทบาทสำคัญต่อแวดวงศิลปะของไทย เขาเดินทางเข้ามาในสยามเพื่อรับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร ตั้งแต่ปลายรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 6 และมีชีวิตอยู่ในแผ่นดินนี้ยืนยาวมาอีกถึงสามรัชกาล มีผลงานสร้างประติมากรรมชิ้นสำคัญของชาติทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นจำนวนมาก ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อปี 2505 ทั้งยังเป็นผู้ให้กำเนิดมหาวิทยาลัยศิลปากร สำนักตักศิลาทางศิลปะของไทย ที่ผลิตยอดศิลปินหลายต่อหลายคนขึ้นมาประดับวงการ
แม้ว่าเรื่องราวมากมาย และภาพถ่ายในอิริยาบถต่าง ๆ ของ อาจารย์ศิลป์ จะยังคงมีการเผยแพร่ให้ได้เรียนรู้และรำลึกถึงอยู่เสมอในปัจจุบัน แต่กลับไม่เคยมีภาพเคลื่อนไหวการทำงานศิลปะของเขาปรากฏออกมาให้เห็นเลยสักครั้ง กระทั่งวันหนึ่งในปี 2555 ช่วงเวลาที่ชาวศิลปากรกำลังเตรียมจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 120 ปี ศิลป์ พีระศรี หอภาพยนตร์ก็ได้ค้นพบฟิล์มภาพยนตร์ชุดนี้โดยบังเอิญ ขณะแปลงสัญญาณกรุหนังบ้านของครอบครัวตระกูลวิญญรัตน์ จากฟิล์ม 16 มม. ให้เป็นดิจิทัล
ภาพยนตร์ซึ่งมีความยาวเพียงไม่ถึง 2 นาทีนี้ แทรกอยู่ตรงกลางระหว่างภาพบันทึกพิธีศพบรรพบุรุษตามประเพณีจีนของครอบครัววิญญรัตน์อย่างน่าประหลาด โดยนอกจากส่วนของอาจารย์ศิลป์แล้ว ยังมีภาพเคลื่อนไหวซึ่งสันนิษฐานว่าไม่เกี่ยวข้องกับพิธีศพปะปนอยู่ด้วยอีกจำนวนหนึ่ง กล่าวเฉพาะที่ปรากฏภาพอาจารย์ศิลป์ จะเห็นเป็นช่วงที่กำลังทำงานปั้นพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยมีชายอีกสองคนร่วมอยู่ในภาพยนตร์ หนึ่งในนั้นคือ สิทธิเดช แสงหิรัญ ลูกศิษย์ผู้ล่วงลับก่อนวัยอันควร ซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยปั้นอนุสาวรีย์สำคัญอีกหลายแห่ง ส่วนอีกหนึ่งนั้นยังคงเป็นชายนิรนาม ผู้อาจเป็นบุคคลสำคัญสำหรับการเริ่มต้นสืบหาที่มาที่ไปของภาพยนตร์ชุดนี้
จากข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ ปี พ.ศ. 2493 อาจารย์ศิลป์ได้เริ่มปั้นแบบแรกของพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนี้ สูงประมาณครึ่งเมตร ปั้นแบบที่ 2 สูงราว 2 เมตร และแบบที่ 3 รวมส่วนสูงทั้งหมดประมาณ 14 เมตร เสร็จสิ้นเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2494 ซึ่งให้บังเอิญว่าแบบปั้นทั้ง 3 แบบนั้น ได้ปรากฏให้เห็นทั้งหมดในภาพยนตร์ ภาพยนตร์นี้จึงน่าจะได้รับการบันทึกไว้ในปี พ.ศ. 2494 ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ถือเป็นงานศิลปะที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดของอาจารย์ศิลป์ ในเรื่องการชี้ชันขึ้นของหางม้าทรง อย่างที่เขาเองได้กล่าวไว้ในบทความที่เขียนขึ้นเพื่ออธิบายกรณีนี้โดยเฉพาะว่า "ข้าพเจ้าคิดว่าคงไม่เคยมีงานศิลปะชิ้นใดที่สร้างขึ้นในประเทศไทยจะประสบการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย เหมือนอนุสาวรีย์ของพระเจ้าตากสิน"
นอกจากนี้ ในหนังสือ “อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์” ของสำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี ซึ่งได้รวบรวมข้อเขียนจากความทรงจำของชาวศิลปากรหลายรุ่นที่มีต่ออาจารย์ศิลป์ ลูกศิษย์หลายคนก็ได้กล่าวถึงช่วงเวลาที่อาจารย์ศิลป์กำลังคร่ำเคร่งกับการปั้นประติมากรรมชิ้นสำคัญนี้ เช่น สุกิจ ลายเดช ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ที่อาจารย์ศิลป์ “ตกม้าพระเจ้าตาก” ว่า “รอบ ๆ ตัวม้านั้น มีนั่งร้านระเกะระกะ ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นผู้อำนวยการ และมีลูกศิษย์ที่เป็นอาจารย์ของเราหลายคนช่วยกันทำ อาจารย์ฝรั่งก็อดไม่ได้ ท่านต้องปีนขึ้นไปไสปูน ที่เราเห็นว่าม้านั้นสวยดีอยู่แล้ว มีชีวิตชีวาชวนตื่นตา แต่ยังไม่ถูกใจอาจารย์อยู่ดี เลยเป็นเหตุให้อาจารย์ฝรั่งตกม้าเจ้าตาก ก็สูงร่วมๆ สามเมตรนั่นแหละ นี่ก็เพราะแว่นตาหนาเตอะที่สายตาของท่านต้องมองลอดเป็นเหตุ” ซึ่งในภาพยนตร์เพียง 2 นาทีนี้ก็ได้ฉายให้เห็นทั้งนั่งร้านและการไสปูนของอาจารย์ศิลป์
นี่จึงไม่ใช่แค่เพียงภาพเคลื่อนไหวของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีกับงานศิลปะที่ได้รับการค้นพบเป็นครั้งแรก แต่ยังเป็นภาพยนตร์ที่บันทึกท่วงท่าแห่งการทำงานศิลปะชิ้นที่มีอิทธิพลต่อ "บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย" มากที่สุดชิ้นหนึ่ง ทั้งยังเป็นภาพยนตร์นิรนามที่เต็มไปด้วยรหัสลับต่าง ๆ อันชี้ชวนให้แกะรอย เหนืออื่นใด การตื่นขึ้นมาอย่างไม่คาดฝันของมรดกภาพยนตร์ชุดนี้ หลังจากที่หลับใหลไปนานกว่ากึ่งศตวรรษ ยังเกิดเป็นแรงดลใจในการสืบหาร่องรอยมรดกภาพยนตร์ของชาติเรื่องต่อไป ที่อาจถูกเก็บงำอยู่ในกรุอื่น ๆ ของหอภาพยนตร์
ปัจจุบัน ภาพยนตร์นี้ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ คลิกชมภาพยนตร์ได้ที่ https://youtu.be/ULzR45VNOB0