[InArchive] นานุกแห่งถิ่นเหนือ กับ โรเบิร์ต ฟลาเฮอร์ตี

* InArchive เป็นเซกชั่นบทความที่หอภาพยนตร์นำข้อเขียนจากนิตยสารหรือหนังสือเก่า ซึ่งหอภาพยนตร์อนุรักษ์ไว้ มาเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา


รวบรวมโดย โดม สุขวงศ์  

ที่มา: หนังไทยกลับบ้าน - หนังสือเผยแพร่ความรู้ของสมาคมกิจวัฒนธรรม เล่มที่ 2 พ.ศ. 2533


โรเบิร์ต โจเซฟ ฟลาเฮอร์ตี เกิดที่ไอรอนเมาเทน มลรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2427 (ค.ศ. 1884) ปู่ของเขาเป็นชาวไอริช ถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ ได้อพยพจากไอร์แลนด์ ข้ามทะเลไปแสวงโชค ในมณฑลควีเบค ประเทศคานาดา ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ครอบครัวนี้ได้ตระเวนไปตามแถบภาคใต้ของคานาดาและภาคเหนือของสหรัฐอเมริกา หวังจะแสวงหาโชคลาภจากทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ในดินแดนแถบนั้น เพียงแต่ว่าจะเลือกจับทำอะไรดีจึงจะร่ำรวยนั่นต่างหากคือปัญหา 

พ่อของเขา คือ โรเบิร์ต เฮนรี ฟลาเฮอร์ตี ได้ตัดสินใจเลือกอาชีพทำเหมืองแร่ ในสมัยที่การทำเหมืองแร่เหล็กและทองแดงในมลรัฐมินเนโซตา และ มิชิแกน กำลังเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ฐานะของใครก็ตามอาจจะมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นภายในเวลาไม่กี่ปี หรือบางทีก็ไม่กี่เดือนเท่านั้น นี้เป็นความฝันที่กลายเป็นจริงได้สำหรับคนอเมริกัน

พ่อกับแม่แต่งงานกันในช่วงเวลาที่กำลังก่อร่างสร้างตัว แม่เป็นคนเยอรมัน ถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก ครอบครัวของแม่อพยพมาจากเมืองคอบเบลนซ์ประเทศเยอรมัน เป็นคนเคร่งศาสนา ไปโบสถ์เป็นกิจวัตร แต่มิได้ชักชวนสามีให้ต้องคล้อยตามไปด้วย

โรเบิร์ต เจ.ฟลาเฮอร์ตี ลูกคนโตของครอบครัว ซึ่งต่อไปจะมีน้อง ๆ เกิดตามมาอีกถึงหกคน เป็นเด็กที่เติบโตขึ้นในแวดวงของค่ายกระโจมเหมืองแร่ แถบภาคเหนือของมลรัฐมิชิแกนและชายแดนคานาดา ท่ามกลางพวกนักทำเหมืองและพวกอินเดียนในพื้นถิ่น


ภาพโรเบิร์ต โจเซฟ ฟลาเฮอร์ตี 
ที่มา: Robert Flaherty. 2565. 36 camera studies. Nanook Centennial Exhibition in Inukjuak จาก https://theflaherty.org/nanook-centennial

ในปี 2436 อันเป็นปีที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำระบาดไปทั่วสหรัฐ ฯ กิจการเหมืองต่างต้องปิดตัวเองตาม ๆ กัน คนงานเหมืองแร่ถูกลอยแพ ครอบครัวฟลาเฮอร์ตีซึ่งลงทุนรอนไปในกิจการทำเหมืองแร่ ต้องเผชิญหน้ากับโชคชะตาที่พลิกผันเป็นเคราะห์กรรมไปทันใด ดูเหมือนว่าการเสี่ยงโชคในอเมริกานั้น ผู้เสี่ยงโชคมีสิทธิ์ทั้งที่จะร่ำรวยมหาศาลเป็นเศรษฐี หรือไม่ก็สิ้นเนื้อประดาตัว ทั้งนี้เพราะเงื่อนไขทางเศรษฐกิจอยู่นอกเหนือการควบคุม

พ่อต้องเปลี่ยนฐานะจากนายเหมืองไปเป็นนักสำรวจแร่ จำใจทิ้งครอบครัวไว้ที่เหมืองซึ่งต้องปิดร้าง มุ่งหน้าขึ้นไปทางเหนือแถบชายแดนดานาดา ดินแดน ซึ่งเวลานั้นยังเร้นลับไม่มีใครรู้จัก พ่อหวังว่าบางทีจะเจอแหล่งแร่ ซึ่งมิใช่แค่เหล็กหรือทองแดงเท่านั้น แต่คราวนี้อาจจะเป็นทองคำ
เวลาแรมปีผ่านไป พ่อก็กลับมา แบกถุงสัมภาระใบเขื่องมาด้วย ในนั้นบรรจุหินสีต่าง ๆ ซึ่งคาดว่ามีสายแร่ทองคำ พ่ออาจจะพบแร่ทองคำ เพียงแต่ว่า มันมีอยู่น้อยเกินกว่าที่จะทำเป็นธุรกิจได้
 
ปี 2439 พ่อเดินทางกลับไปคานาดาอีก คราวนี้ไปรับหน้าที่เป็นผู้จัดการเหมืองดาวทอง ซึ่งอยู่ในแถบทะเลสาบเรนนี่ รัฐออนตาริโอ พ่อพาโรเบิร์ตซึ่งเวลา นั้นอายุได้ 13 ขวบแล้วไปด้วย อย่างหนึ่งคงเพื่อเอาไปเป็นเพื่อน แต่อีกอย่างหนึ่ง พ่อเห็นว่าลูกชายคนโตน่าจะได้เรียนรู้อะไรยิ่งกว่าที่กำลังเรียนอยู่ในโรงเรียน พ่อทิ้งแม่กับน้อง ๆ ที่กำลังเติบโตให้อยู่กันตามลำพังที่เหมืองร้างในมิชิแกนอีกครั้ง 

ผู้จัดการเหมืองดาวทองกับลูกชายเล็ก ๆ มีชีวิตอยู่ด้วยกันลำพังในกระท่อม ณ ดินแดนทุรกันดารอันห่างไกลแถบทะเลสาบเรนนี่ ตลอดเวลาเกือบสองปี พ่อลูก พักในกระท่อม แต่ไปอาศัยกินอาหารที่โรงเตี๊ยม บ๊อบเป็นเด็กคนเดียวที่นี่ จึงเป็น ที่เอ็นดูของทุกคน แลแม้ว่าโดยทั่วไปพวกนักทำเหมืองจะห่ามเพียงไรก็ตาม แต่พวกนี้ยอมยกให้กับความไร้เดียงสาของบ๊อบทุกคนไป นอกจากพวกคนเหมืองแล้ว เด็กชายยังได้รู้จักมักคุ้นกับพวกอินเดียนแดง ซึ่งบางทีก็ชอบมาป้วนเปี้ยนอยู่แถวโรงเตี๊ยมเหมือนกัน 

ช่วงเวลาสองปีของชีวิตแถบทะเลสาบเรนนี นับเป็นช่วงเวลาที่วิญญาณของนักสำรวจธรรมชาติได้ถูกปลุกเร้าขึ้นในตัวของเด็กบ๊อบซึ่งกำลังโตเป็นหนุ่ม 

ครอบครัวฟลาเฮอร์ตีกลับมารวมพ่อแม่ลูกพร้อมหน้ากันอีก บ๊อบกลับเข้าโรงเรียนตามปกติอีกครั้งที่ไอออนเมาเทนบ้านเกิด แต่ต่อมาก็ถูกส่งไปเข้าโรงเรียนประจำที่อัพเพอร์ คานาดา คอลเลจ เมืองโตรอนโต

ปี 2443 ครอบครัวฟลาเฮอร์ตี อพยพไปอยู่ที่เมืองปอร์ตอาร์เธอร์ ริมทะเลสาบสุพีเรีย เด็กหนุ่มบ๊อบซึ่งส่อแววว่าจะเอาดีได้ในทางเป็นนักสำรวจแร่และทำเหมืองแร่ พ่อจึงส่งเสียให้เข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยการทำเหมืองแร่แห่งมลรัฐ มิชิแกน แต่เมื่อเรียนผ่านไปได้เพียงเจ็ดเดือนผู้บริหารวิทยาลัยซึ่งเห็นว่าเด็กหนุ่มคนนี้ ช่างไม่มีคุณสมบัติในการที่จะเป็นนักแร่ธาตุวิทยาเอาเลยจึงแนะนำว่า เขาไม่ควรไปมัวเสียเวลาอยู่ที่นั่น

ฝ่ายพ่อ เมื่อทราบว่าลูกชายถูกให้ออกจากวิทยาลัย ในขณะที่ลูกเล็ก ๆ อีกหกหน่อก็กำลังกินกำลังเรียน พ่อเห็นว่าตนไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่านี้นอกจากเขียนจดหมายไปอวยพรลูก ไม่ว่าจะคิดอ่านทำมาหากินอย่างไรต่อไปก็ตามใจ ขอให้โชคดี นับแต่บัดนี้ไปลูกจะต้องยืนอยู่บนขาของตัวเอง

แต่ โรเบิร์ต ฟลาเฮอร์ตี หนุ่ม หาได้ยืนบนขาตัวเองอย่างเดียวดายไม่ ถึงแม้จะหมดโอกาสเรียนจนจบวิทยาลัย แต่เขาก็มีโอกาสได้รู้จักสนิทสนมเป็นพิเศษกับดรุณีนาม ฟรานเชส เจ. ฮับบาร์ด หนุ่มสาวมีน้ำใจต้องกันยิ่งนัก แม้ว่า ภูมิหลังทั้งสองจะต่างกันมาก

ฟรานเชส เป็นลูกสาวของ ดอกเตอร์ลูเซียส แอล. ฮับบาร์ด นักแร่ธาตุวิทยา และนักธรณีวิทยามีชื่อผู้หนึ่ง เคยเป็นเจ้าพนักงานธรณีวิทยาแห่งมลรัฐมิชิแกนอยู่ที่เมืองบอสตัน เมื่อเกษียนอายุราชการแล้ว จึงอพยพครอบครัวไปอยู่ทางแถบตอนเหนือของมิชิแกน และเริ่มงานพัฒนาเหมืองแร่ทองแดง ฟรานเชสสำเร็จการศึกษาจากบริยันมาวร์ ดังนั้นพื้นการศึกษาของหนุ่มสาวคู่นี้ต่างกันคนละขั้วทีเดียว


ภาพโรเบิร์ต โจเซฟ ฟลาเฮอร์ตี นักสำรวจ
ที่มา: หนังไทยกลับบ้าน - หนังสือเผยแพร่ความรู้ของสมาคมกิจวัฒนธรรม เล่มที่ 2 พ.ศ. 2533

ฟรานเชสมีประสบการณ์ในวัยเด็กคล้ายกับบ๊อบ คือได้เคยติดตามไปกับพ่อ เมื่อท่านออกสำรวจพื้นที่ป่าอันกว้างขวางของรัฐเมนเป็นครั้งแรก ประสบการณ์นั้นทำให้เด็กสาวมีวิญญาณของผู้รักชีวิตธรรมชาติ เธอหลงใหลชื่นชมภูมิประเทศ ซึ่งยังไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อน เมื่อครอบครัวของเธออพยพไปตั้งถิ่นฐานใน มิชิแกน ฟรานเชสมักหาโอกาสไปขี่ม้าท่องเที่ยวตามป่าเขา บางครั้งก็พักค้างแรมในป่าเพียงลำพังคนเดียว เธอหลงใหลที่สุดกับการได้ท่องไปทั้งคืนตามชายฝั่งทะเลสาบท่ามกลางแสงจันทร์กระจ่างฟ้า และไม่เคยคิดว่าจะมีใครอื่นสามารถเข้าถึงความรู้สึกอันล้ำลึกของเธอได้ จนกระทั่งได้พบกับหนุ่มโรเบิร์ต ฟลาเฮอร์ตีซึ่งมากินข้าวเย็นที่บ้าน และพบว่าเขาเป็นเจ้าของความหลงใหลใฝ่ฝันอย่างเดียวกันกับของหล่อน

ครอบครัวฮับบาร์ดเข้าใจและเห็นอกเห็นใจความสัมพันธ์อันหวานชื่นระหว่างเด็กทั้งคู่ แต่เห็นว่ายังเด็กเกินกว่าที่จะแต่งงานกัน ฟรานเชสจึงถูกส่งไป ยุโรป โดยหวังว่ายุโรปจะทำให้เธอลืมความคิดฝันที่จะแต่งงาน และลืมความหลงใหล ที่จะไปอยู่ในป่า

ข้างฝ่ายพ่อของบ๊อบ ก็พยายามดึงลูกชายเข้าสู่อาชีพนักสำรวจแร่เช่นเดียวกับตน พ่อได้งานสำรวจแหล่งแร่ให้บริษัทยูเอสสตีล คอปอเรชั่น และพา ลูกชายติดตามไปทำงานด้วย หลายต่อหลายครั้งในการออกสำรวจ เด็กหนุ่มซึ่ง ถูกออกจากวิทยาลัยการทำเหมืองแร่ จึงค่อย ๆ เรียนรู้วิธีการทำแผนที่และการสำรวจแร่ วิธีการวิเคราะห์ทางธรณีวิทยา และที่สำคัญที่สุดคือ ได้เรียนรู้ถึงวิธีการเดินทางและการยังชีพในดินแดนอันเร้นลับทางเหนือของทะเลสาบออนตาริโอ

ประสบการณ์สำคัญอีกก้าวหนึ่งในชีวิตของฟลาเฮอร์ตีหนุ่มก็คือ เขาได้รู้จักและคบหากับ เอช.อี.คโนเบล บุรุษผู้มีบุคคลิกภาพพิเศษ เขาผ่านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก แต่ใช้ชีวิตเร่ร่อนจาริกไปเรื่อย ๆ ทีแรกจาริกอยู่ในอาฟริกาใต้ ภายหลังไปจาริกอยู่ในคานาดา คโนเบลเป็นคนถือสันโดษ เกลียดสังคมที่แออัดวุ่นวายและเมือง เขาหนีไปใช้ชีวิตอยู่ในกระท่อมซุงโดดเดี่ยวห่างไกลจากผู้คน พอใจอยู่กับเปียโนหลังหนึ่งเป็นเพื่อนเอาไว้เล่นเพลงของโชแปง

แต่ก่อนที่จะคบหากับคโนเบล ฟลาเฮอร์ตีหนุ่มตระเวนจำกัดอยู่แต่ในเขตตอนเหนือของทะเลสาบออนตาริโอ มาบัดนี้เขาอาจหาญตระเวนข้ามทิวเขาไปจนถึงสันปันน้ำของอ่าวฮัดสัน มีแนวเส้นทางไปยังทะเลสาบนิพิกอน ล่องแม่น้ำลงมาทางใต้จนถึงช่องแคบเซนต์ลอว์เรนซ์ และล่องขึ้นเหนือไปถึงอ่าวฮัดสัน

ปี 2449 ฟรานเชสกลับจากยุโรป หมั้นกับฟลาเฮอร์ตี และท่องเที่ยว ชื่นชมธรรมชาติด้วยกันพักหนึ่ง

ปี 2450 ฟลาเฮอร์ตีเริ่มยึดอาชีพเป็นนักสำรวจแหล่งแร่ โดยได้รับการว่าจ้างจากกลุ่มบริษัทเหมืองแร่เล็ก ๆ สำรวจอยู่แถบเหนือทะเลสาบฮูรอนแล้วค่อย ๆ ขยับขยายไปรับงานบริษัทใหญ่ขึ้น และสำรวจสูงขึ้นไปทางเหนือ จนถึงแถบแม่น้ำแมทตากามิ ไปตามเส้นทางซึ่งเลิกใช้มาถึงร้อยห้าสิบปีแล้ว ฟลาเฮอร์ตีสามารถค้นพบแหล่งแร่เหล็กและทำการปักหมุดแสดงหลักเขตให้บริษัทผู้ว่าจ้างได้ทุกวัน ทำงานสำรวจเช่นนี้อยู่สามสี่ปี เมื่อหมดสัญญาจึงเดินทางลงใต้ไปพักที่เมืองโตรอนโต

ที่โตรอนโต เขาได้พบกับพ่อซึ่งเวลานั้นลาออกจากบริษัทยูเอสสตีลมาร่วมงานกับบริษัทแมคเคนซีแอนด์มานน์อันยิ่งใหญ่ของคานาดา ในฐานะวิศวกรที่ปรึกษา บริษัทนี้เป็นของ เซอร์วิลเลียม แมคเคนซี ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนคนไม่กี่คนในแคนาดา ซึ่งมองเห็นว่าผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลของคานาดานั้น ถึงจะมีภูมิอากาศเลวร้ายปานใดก็ตาม ก็ยังท้าทายความมานะของมนุษย์ เซอร์ วิลเลียม มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งจึงร่วมลงทุนในโครงการบุกเบิกหลายโครงการกับรัฐบาลคา-นาดา

ปี 2453 รัฐบาลคานาดาตัดสินใจสร้างทางรถไฟจากทุ่งปลูกข้าวสาลีในภาคตะวันตกไปยังริมฝั่งตะวันตกของอ่าวฮัดสัน เป็นเส้นทางขนส่งข้าวสาลีผ่านอ่าวฮัดสันไปยังยุโรป เซอร์วิลเลียมได้รับสัญญาให้เป็นผู้สร้างทางรถไฟนั้น ท่านมองเห็นว่า นอกจากการขนส่งข้าวสาลีไปยุโรปแล้ว ทางรถไฟสายนี้น่าจะใช้ประโยชน์ในการขนส่งสินแร่เหล็กไปยุโรปได้ด้วย ถ้าหากว่ามีสินแร่เหล็กอยู่ ในแดนทุรกันดารของคานาดา พ่ออาจเป็นคนแนะนำความคิดนี้แก่เซอร์วิลเลียมและเสนอให้ลูกชายได้งานเป็นผู้สำรวจแหล่งแร่เหล็กในนี้

โรเบิร์ต ฟลาเฮอร์ตี ซึ่งเวลานั้นอายุ 26 ปีกำลังหนุ่มแน่น จึงได้รับการ ว่าจ้างให้เป็นผู้สำรวจแหล่งแร่ในพื้นที่แถบอ่าวฮัดสันของคานาดาโครงการ

ภายในช่วงเวลาสองสามปี จากการออกสำรวจ 4 ครั้งให้เซอร์ วิลเลียมฟลาเฮอร์ตีสามารถสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง ในฐานะนักสำรวจแร่ที่มีปัญญาเฉียบแหลม และทำงานแข็งแกร่งอย่างน่าพิศวง เขาสามารถค้นพบแหล่งแร่และป่าไม้มีค่าหลายต่อหลายแหล่งในดินแดนอันทุรกันดาร ซึ่งไม่มีใครรู้จักมาก่อน ฟลาเฮอร์ตีเป็นนักสำรวจโดยวิญญาณ เมื่อมุ่งหน้าไปในทิศหนึ่งแล้วเขาสามารถคืบหน้าไปได้เรื่อย ๆ โดยใช้สติปัญญาแตกทางออกไปเอง ไม่ชะงักลังเลและไม่ต้องรอคำสั่งและการที่เขาเข้ากันได้ดีกับพวกเอสกิโมซึ่งเป็นลูกมือทำงาน จึงสามารถดำรงชีวิตในดินแดนกันดารนี้ได้อย่างสบาย ดูเหมือนการเดินทางไปสู่ดินแดนแถบเหนือก็คือการเดินทางกลับบ้านนั่นเอง

ในปี 2456 ระหว่างเตรียมตัวรอการออกสำรวจครั้งที่ 3 ซึ่งฟลาเฮอร์ตีหวังไว้ว่าคราวนี้จะขึ้นไปสำรวจให้ถึงหมู่เกาะเบลเชอร์ในอ่าวฮัดสันที่เดียว เซอร์วิลเลียมผู้เป็นนายจ้างเกิดความคิดและแนะนำว่า

"เออ นี่แน่ะ เธอกำลังจะเดินทางเข้าไปในดินแดนอันน่าสนใจ อาจจะพบ ผู้คนแปลก ๆ สัตว์แปลก ๆ อะไรต่ออะไรที่น่าสนใจทั้งนั้น ทำไมไม่ลองหากล้องถ่ายหนัง ติดตัวไปสักกล้องเอาไว้ถ่ายหนังบ้างล่ะ ?"

ฟลาเฮอร์ตีชอบใจความคิดนั้น เขาหาซื้อกล้องถ่ายหนังยี่ห้อ เบลล์ แอนด์โฮเวลล์ ได้กล้องหนึ่ง และหาอุปกรณ์เครื่องล้างและเครื่องพิมพ์สำเนาภาพยนตร์ขนาดกะทัดรัดขนติดตัวได้อีกชุดหนึ่ง และยังหาอุปกรณ์โคมไฟฟ้าให้แสงสว่างสำหรับถ่ายภาพยนตร์ติดไปด้วย

และเนื่องจากไม่เคยรู้อะไรมาก่อนเลยเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ ฟลาเฮอร์ตีจึงเดินทางลงไปเข้ารับการอบรมเรื่องการถ่ายทำภาพยนตร์หลักสูตรสามสัปดาห์ ที่เมืองโรเชสเตอร์ รัฐนิวยอร์ค

การออกสำรวจครั้งนี้ ฟลาเฮอร์ตีขึ้นไปแวะตั้งค่ายพักช่วงฤดูหนาวที่เกาะเเบฟฟิน รอให้ถึงเวลาที่น้ำแข็งในทะเลละลายเมื่อฤดูร้อนมาถึง เพื่อนำเรือล่องลงมาในอ่าวฮัดสัน มุ่งสู่หมู่เกาะเบลเชอร์ ระหว่างพักรออยู่ที่เกาะแบฟฟินนี้เองเขาได้เริ่มถ่ายทำภาพยนตร์บันทึกชีวิตของพวกเอสกิโม ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จนถึง กรกฎาคม 2457 เมื่อน้ำแข็งในทะเลละลาย จึงล่องเรือลงไปในอ่าวฮัดสัน มุ่งไปสู่หมู่เกาะเบลเชอร์ ที่หมายในการสำรวจแหล่งแร่ แต่แล้ววันหนึ่งอากาศเลวร้ายด้วยหมอกลงทึบ เรือชนหินโสโครกถึงชำรุด ต้องเปลี่ยนแผนประคองเรือเข้าจอดฝั่ง

ฟลาเฮอร์ตีกลับไปโตรอนโต เพื่อรายงานเซอร์วิลเลียม แล้วรีบไปพบฟรานเชส ซึ่งถึงเวลาที่ควรจะแต่งงานกันเสียที ทั้งคู่เดินทางไปทำพิธีแต่งงานที่ นครนิวยอร์ค เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2457 แล้วเดินทางกลับไปหาบ้านอยู่กันในโตรอนโต

ปี 2457 นั้น ได้เกิดสงครามโลกครั้งแรกขึ้นในยุโรปแล้ว ทำให้เซอร์วิลเลียมต้องหมกมุ่นอยู่กับการเฝ้าติดตามสถานการณ์สงคราม เพื่อปรับตัวดำเนิน กิจการให้สอดคล้องกับภาวะสงคราม แต่อย่างไรก็ดี เมื่อฟลาเฮอร์ตีเสนอขอ ออกไปสำรวจหมู่เกาะเบลเชอร์อีกครั้งในช่วงฤดูหนาวของปี 2459 เซอร์วิลเลียม ก็ให้ความเห็นชอบ

แต่ก่อนหน้าที่การออกสำรวจจะมาถึง ฟลาเฮอร์ตีได้ใช้เวลาตลอดช่วงฤดูหนาวของปี 2457 ตัดต่อภาพยนตร์ที่เขาถ่ายทำไว้บนเกาะแบฟฟิน เป็นการ ตัดต่ออย่างลวก ๆ ไว้ก่อนเป็นเบื้องต้น การตัดต่อครั้งแรกนี้ ทำให้เขาเกิดความ คิดอ่านขึ้นหลายประการ และคิดว่าเมื่อกลับมาจากการออกสำรวจครั้งที่ 4 แล้วจะตัดต่อใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ฟลาเฮอร์ตี เดินทางออกสำรวจครั้งที่ 4 คราวนี้เขาไปถึงหมู่เกาะเบลเชอร์เมื่อกลางปี 2458 และปักหลักตั้งค่ายอยู่ที่นั่น ออกทำการสำรวจโดยมีพวกเอสกิโมเป็นลูกมือ ระหว่างเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ เขาก็สามารถค้นพบสายแร่ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะนี้ จึงส่งคนกลับไปรายงานเซอร์วิลเลียมพร้อมทั้งขอให้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญไปตรวจสอบแหล่งแร่ที่เขาค้นพบด้วย


ที่มา: หนังไทยกลับบ้าน - หนังสือเผยแพร่ความรู้ของสมาคมกิจวัฒนธรรม เล่มที่ 2 พ.ศ. 2533

หลังจากเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ฟลาเฮอร์ตีก็เริ่มใช้เวลาว่างไปในการถ่ายทำภาพยนตร์อีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งเดือนสิงหาคม คณะผู้เชี่ยวชาญจึงมาถึง นับได้ว่าการสำรวจหมู่เกาะเบลเชอร์ประสบความสำเร็จอย่างสูง รัฐบาลคานาดาประจักษ์ชัดถึงสิ่งที่ฟลาเฮอร์ตีค้นพบ ทั้งแผนที่ทางภูมิศาสตร์และแหล่งแร่อันอุดมสมบูรณ์ ถึงกับตั้งชื่อเกาะใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะนี้ตามชื่อของเขา แต่สถานการณ์สงครามโลกที่กำลังยึดเยื้ออยู่ในเวลานั้น ทำให้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ในทันที เซอร์วิลเลียม แมคเคนซี ก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะส่งเขาออกไปสำรวจครั้งใหม่อีก ประกอบกับในระยะหลัง ๆ นี้ ฟลาเฮอร์ตีได้หันมาให้ความสนใจการทำภาพยนตร์ในลักษณะที่จะจับเป็นอาชีพมากขึ้น ดังนั้น เมื่อเสร็จจากการออกสำรวจครั้งที่ 4 แล้ว เขาก็ทุ่มเทเวลาให้กับการจัดการฟิล์มภาพยนตร์

ซึ่งอุตส่าห์ถ่ายทำมาหาตั้งแต่แรก รวมทั้งหมดมีความยาวถึงประมาณ 70,000 ฟุต ซึ่งหากนำมาฉายติดต่อกันจะกินเวลาฉายถึงราว 17 ชั่วโมงครึ่ง

ฟลาเฮอร์ตี หมกมุ่นตัดต่อฟิล์มภาพยนตร์ ซึ่งพิมพ์สำเนาขึ้นมาจากฟิล์มเนกาติฟต้นฉบับทั้งหมดที่เขาถ่ายทำมา จนสำเร็จเป็นเรื่องขึ้นเรื่องหนึ่ง แล้วส่งไปฉายอวดเป็นรายการพิเศษที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ต่อมา ในระหว่างที่ฟลาเฮอร์ตีกำลังบรรจุฟิล์มเนกาติฟต้นฉบับลงหีบห่อเพื่อส่งไปนิวยอร์ค เขาเผลอทำบุหรี่ตกลงถูกฟิล์มเนกาติฟต้นฉบับ ซึ่งเวลานั้น ฟิล์มภาพยนตร์นับเป็นสารไวไฟมากอย่างหนึ่ง เกิดไฟลุกไหม้ เผาผลาญฟิล์มเนกาติฟเสียหายทั้งหมด ฟลาเฮอร์ตีได้รับบาดเจ็บจากการพยายามดับไฟ ต้องเข้าโรงพยาบาล

สิ่งที่เหลือรอดอยู่ก็คือฟิล์มสำเนาที่ตัดต่อเข้าเรื่องและส่งไปฉายอวดที่ฮาร์วาร์ดนั่นเอง ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่คิดเห็นกันว่าจะสามารถทำเนกาติฟจำลองขึ้นมาได้ใหม่จากสำเนาที่เหลือยู่ การสูญเสียฟิล์มเนกาติฟครั้งนั้น จึงเท่าก็ว่าเขาสูญเสียภาพยนตร์ที่อุตสาห์ถ่ายทำมาไปทั้งหมด

แต่ฟลาเฮอร์ตี ดูจะไม่เสียดายอะไรนัก ตรงข้าม เขากลับคิดว่า การสูญเสียนี้เป็นการดีที่สุด เพราะเขาชักรู้สึกว่าไม่พอใจในผลงานภาพยนตร์ที่ได้ทำขึ้นเอาเสียเลย

"ไม่เข้าท่าเอาเลยจริง ๆ มีแต่ฉากนั่นนิดนี่หน่อย ไม่มีโยงใยของเรื่องราวหรือความต่อเนื่องใด ๆ เลย คนดูคงเบื่อแย่ แต่ที่แน่ ๆ ผมเองเบื่อ ผมกับภรรยาช่วยกัน คิดอยู่นาน กว่าที่เราจะค้นพบว่า ทำไมภาพยนตร์ของเราจึงไม่ดี แล้วเราก็เริ่มเห็นแสงรำไรว่า บางทีถ้าหากผมได้เดินทางกลับขึ้นไปทางเหนืออีก คราวนี้ผมจะสร้างภาพยนตร์ซึ่งจะต้องดีแน่ ๆ ผมได้คิดแล้วว่าทำไมเราจึงไม่เลือกเอาขาวเอสกิโมพื้น ๆ สักคนหนึ่งกับครอบครัวของเขา แล้วถ่ายทำเรื่องราวในชีวิตประจำวันของพวกเขาตลอดทั้งปี นั่นจะหมายถึงเรื่องราวของมนุษย์ ผู้ซึ่งอัตคัตขัดสนที่สุดในโลก เรื่องของมนุษย์ผู้อาศัยอยู่ในถิ่นกันดาร ซึ่งมนุษย์เผ่าอื่นใดก็ตาม ไม่อาจจะดำรงชีพอยู่ได้ ชีวิตของมนุษย์เหล่านี้ คือการต่อสู้กับความอดตายอยู่ตลอดเวลา ในดินแดนซึ่งปลูกอะไรไม่ขึ้นเลย พวกเขาต้องแขวนชีวิตไว้กับอะไรก็ตามที่เขาสามารถสังหารได้ และเหนืออื่นใดบนความยากลำบากทั้งหมดนี้ พวกเขายังต้องต่อสู้กับการกดขี่ที่น่ากลัวที่สุดจาก ภูมิอากาศแสนเข็ญแห่งถิ่นเหนือ ภูมิอากาศแสนเข็ญที่สุดของโลก"

แต่สถานการณ์ในเวลานั้น ไม่มีใครคิดถึงเรื่องอื่นใด นอกจากจดจ่ออยู่ที่มหาสงคราม ซึ่งดำเนินอยู่ระหว่างปี 2457 ถึง 2461 ความหวังในการเดินทางไปแถบอ่าวฮัดสันเพื่อการสำรวจใด ๆ ดังเคยอีกเป็นอันเลิกคิดได้ ยิ่งการเดินทางไปเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ขึ้นใหม่ตามความคิดของฟลาเฮอร์ตียิ่งแล้วใหญ่ แต่เขา ก็ไม่ลดละความคิด พยายามแสวงหานายทุนสนับสนุนโครงการสร้างภาพยนตร์ของเขาตลอดเวลา

ปี 2461 ฟลาเฮอร์ตีเขียนบทความสองชิ้นให้นิตยสาร ยีออกราฟฟิค รีวิว เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสำรวจดินแดนแถบเหนือ ทำให้ชื่อเสียงของเขากระจายออกไปในแวดวงแคบ ๆ นี้ แต่ได้เงินค่าเรื่องไม่มากมายอะไร สำหรับการเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งเวลานั้นมีลูกสาวเกิดขึ้นถึงสามคน

ปี 2463 สงครามผ่านไปแล้ว ฟลาเฮอร์ตี ซึ่งมีอายุได้ 36 ปีแล้ว และอยู่ในฐานะของชายหนุ่มที่ล้มเหลวในสายตาของคนรุ่นพ่อแม่ของเขา แต่โอกาสของเขาก็มาถึง เมื่อได้รู้จักกับจอห์น รีวิลลอน เจ้าของบริษัทเสื้อผ้าขนสัตว์ รีวิลลอนแฟร์ส ซึ่งกำลังเป็นคู่แข่งกันกับบริษัท ฮัดสันส์ เบย์ ผู้มีชื่อเสียงในกิจการผ้าขนสัตว์มานับร้อยปีแล้ว และมีอิทธิพลมากมายในแหล่งขนสัตว์แถบถิ่นเหนือ

ฟลาเฮอร์ตี นำภาพยนตร์สำเนาที่เคยฉายอวดที่ฮาร์วาร์ด ไปฉายให้รีวิลลอนดู เพื่อเสนอขอทุนทำภาพยนตร์แบบเดียวกันนั้นใหม่ บริษัทรีวิลลอนแม้จะกำลังเป็นคู่แข่งสำคัญกับบริษัทฮัดสันส์ เบย์ แต่ก็ไม่ค่อยมีใครรู้จัก เพราะชื่อของบริษัทฮัดสันส์ เบย์ เป็นชื่อที่คนทั่วไปรู้จักจากชื่ออ่าวฮัดสันในแผนที่อยู่แล้วบริษัทรีวิลลอนตกลงสนับสนุนฟลาเฮอร์ตี โดยเห็นว่าเมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ออกเผยแพร่ โดยปรากฏชื่อของบริษัทในฐานะผู้นำเสนอ คงจะช่วยโฆษณาชื่อเสียงของบริษัทได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น ในปี 2463 นั้นเอง ฟลาเฮอร์ตีก็ได้เดินทางขึ้นไปยังดินแดนถิ่นเหนืออีก แต่คราวนี้มิได้ไปในฐานะนักสำรวจแร่ หากไปในฐานะนักสร้างภาพยนตร์เขาจะได้รับเงินค่าจ้างเดือนละ 500 เหรียญ โดยไม่กำหนดระยะเวลา คือจนกว่า จะสร้างภาพยนตร์นี้จบ และได้รับเงิน 13,000 เหรียญ เป็นค่าอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายทางเทคนิคการถ่ายทำ และวงเงินอีก 3,000 เหรียญ เป็นค่าตอบแทนแก่ชาวพื้นเมืองที่จะนำมาช่วยการสร้างภาพยนตร์นี้

บริษัทรีวิลลอน แฟร์ส เลือกปอร์ต แฮริสัน บนแหลมดุฟเฟอริน ทาง ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของอ่าวฮัดสัน เป็นฐานที่ตั้งของการทำภาพยนตร์ของฟลาเฮอร์ตี ซึ่งต้องใช้เวลาสองเดือนในการขนสัมภาระเดินทางไปยังที่นั่น ฟลาเฮอร์ตี ขนอุปกรณ์การถ่ายทำไปเต็มที่ ไม่เพียงแต่กล้องกับไฟสำหรับจัดแสงเท่านั้น แต่เขายังขนเครื่องล้าง เครื่องพิมพ์สำเนาฟิล์ม และเครื่องฉายไปด้วย

ในเวลานั้น ฟลาเฮอร์ตี เรียนรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์การถ่ายทำและกลวิธีต่าง ๆ เป็นอย่างดีแล้ว เขาเลือกใช้กล้องถ่ายภาพยนตร์ของ เอคลีย์ 2 กล้อง เพราะเห็นว่าเป็นกล้องที่ใช้การได้ดีที่สุดในภูมิอากาศหนาวจัด เนื่องจากเป็นกล้องที่ใช้ระบบหล่อลื่นด้วยผงถ่านแทนน้ำมันหรือไข ฟลาเฮอร์ตีชื่นชมกล้องเหล่านี้มาก

นับเป็นกล้องรุ่นแรกที่ติดตั้งบนหัวตั้งระบบไจโรบนสามขา ซึ่งทำให้สามารถ ถ่ายทำโดยการกวาดและก้มเงยกล้องได้อย่างราบเรียบ ไม่มีอาการสั่นไหวใด ๆ ปรากฏในภาพเลย

ปัจจุบันนี้ การถ่ายทำภาพยนตร์ โดยเคลื่อนไหวกล้องอย่างสลับซับซ้อนเป็นเรื่องปกติ แต่ในอดีตขณะนั้นมีใช้กันเพียงเล็กน้อย เดวิด วาร์ค กริฟฟิธ นักสร้างภาพยนตร์ชาวอเมริกันที่ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่ง เป็นผู้บุกเบิกการถ่ายทำภาพยนตร์ด้วยการเคลื่อนไหวกล้องกวาดหรือหันซ้ายขวา และการก้มเงยกล้อง ซึ่งการเคลื่อนไหวกล้องสองลักษณะนี้ด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์แบบเก่า จะต้องหมุนเฟือง ซึ่งมักจะได้ภาพที่สั่นไหว และส่วนมากมักจะใช้ไม่ได้ผล

การประดิษฐ์หัวตั้งกล้องบนสามขาแบบไจโร นับเป็นการปฏิวัติทางเทคนิคที่สำคัญอย่างหนึ่งของภาพยนตร์ และเป็นสิ่งที่ฟลาเฮอร์ตีรับมาใช้ในภาพยนตร์ของเขาได้อย่างเหมาะเจาะพอดี หัวตั้งกล้องแบบนี้ ทำให้การเคลื่อนไหวกล้องเป็นไปอย่างนุ่มนวล เขานำมาใช้ในการถ่ายกวาดให้เห็นภาพภูมิประเทศอันกว้างไพศาลของทุ่งน้ำแข็ง ภาพของภูเขาน้ำแข็งเป็นทิวยาว ภาพของนักล่าแมวน้ำคนหนึ่งกำลังเฝ้าจดจออยู่ที่รูบนผิวน้ำแข็ง ซึ่งแมวน้ำที่อยู่ข้างล่างใช้เป็นรูหายใจ


ที่มา: หนังไทยกลับบ้าน - หนังสือเผยแพร่ความรู้ของสมาคมกิจวัฒนธรรม เล่มที่ 2 พ.ศ. 2533

วันที่ 15 สิงหาคม 2463 เรือของฟลาเฮอร์ตีก็เข้าทอดสมอจอดอยู่ที่บริเวณปากแม่น้ำอินนุกสุก ซึ่งห่างออกไปอีกเพียงครึ่งไมล์ ก็จะถึงหมู่อาคารห้าหลังบนเนินหินซึ่งเป็นที่ทำการด่านของท่าเรือแฮริสัน

"ชาวเอสกิโมสิบสองคนซึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นเลยดีกับพวกที่ด่าน ถูกขักชวนให้มาร่วมการคัดเลือกเข้าทำงานในกองถ่าย หนึ่งในจำนวนนี้คือ นานุก ซึ่งเป็นเอสกิโม ที่กว้างขวางอยู่ในท้องที่แถบนั้น ผมคัดเลือกเขาไว้เป็นหัวหน้า และเลือกเอสกิโมหนุ่ม ๆ ไว้ได้อีกสามคนโดยความเห็นชอบของนานุกเอาไว้เป็นผู้ช่วย นี่หมายถึงว่าในเวลาเดียวกันนั้น เรายังได้บรรดาเมีย ๆ และลูก ๆ ของคนพวกนี้ หมาอีกราวยี่สิบห้าตัวเลื่อน เรือพาย และบรรดาสัมภาระต่าง ๆ เกี่ยวกับการล่าสัตว์เข้าไว้ด้วยโดยปริยาย"  

คราวนี้ฟลาเฮอร์ตีรู้ดีแล้วว่าเขาควรจะใช้วิธีการทำงานอย่างไร การได้รับความร่วมไม้ร่วมมือจากพวกเอสกิโมเป็นกุญแจสำคัญ นี่มิใช่เป็นเรื่องของหลักการเท่านั้น แต่เป็นความจำเป็นจริง ๆ ในทางปฏิบัติ พวกเอสกิโมบางคนที่ร่วมงานในกองถ่าย ไม่นานก็สามารถเรียนรู้เรื่องกล้องถ่ายภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี บางทีกล้องพลัดตกลงน้ำทะเล ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการทำความสะอาดทุกชิ้นส่วน พวกนี้สามารถถอดชิ้นส่วนออกทำความสะอาด แล้วประกอบกลับเข้าไปใหม่ได้เป็นอย่างดี พวกเขาสามารถช่วยงานทุกอย่างในกองถ่าย

นานุก ที่ฟลาเฮอร์ตีคัดเลือกให้เป็นหัวหน้าพวกเอสกิโมลูกมือในกองถ่ายเป็นเอสกิโมเผ่าอิติวิมุท เป็นพรานที่ลือชื่อในท้องถิ่น นานุกมีใจจดจ่อในการร่วมงานถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งภาษาเอสกิโมของพวกเขาเรียกเจ้าภาพยนตร์นี้ว่า "อักกี" เป็นอันมาก

ฉากแรก ๆ ฉากหนึ่งที่ถ่ายทำ คือฉากการล่าช้างน้ำ เป็นฉากที่จะเปิดตัวนานุกด้วย ฟลาเฮอร์ตีต้องการแสดงวิธีการล่าช้างน้ำแบบดั้งเดิมตามที่พวกเอสกิโมกระทำกัน

"สมมุติว่าเรากำลังล่าช้างน้ำ นายต้องเข้าใจนะว่าถ้าหากเกิดมีอะไรติดขัดขึ้นมา ในขณะที่ฉันกำลังถ่ายหนังอยู่ นายกับพรรคพวกต้องหยุดชะงักการฆ่าเจ้าช้างน้ำตัวนั้นไว้ก่อน ฉันต้องการภาพยนตร์ที่เห็นนายกำลังล่าข้างน้ำ ฉันไม่ได้ต้องการเนื้อเจ้าช้างน้ำนั่น" ฟลาเฮอร์ตีลงทุนอธิบายให้นานุกเข้าใจ

"ครับ ครับ" นานุกรับรอง "อักกีจะต้องมาก่อนอย่างอื่น"

สมุดบันทึกของฟลาเฮอร์ตี ซึ่งเขียนด้วยดินสอดำลายมือสุดหวัด บันทึกของวันที่ 26 กันยายน 2463 ซึ่งเป็นเวลาหกสัปดาห์หลังจากเขาเดินทางไปถึงที่นั่น มีความว่า

"มันเป็นวันพิเศษ อากาศแจ่มใสและอบอุ่นตั้งแต่เข้า มีช้างน้ำสักยี่สิบตัวนอนเล่นอยู่บนโขดหิน เข้าไปใกล้ราวร้อยฟุตและถ่ายด้วยเทเลโฟโตเลนส์ นานุกเดิน ย่องเข้าไปหาเหยื่อพร้อมฉมวกในระยะ 20 ฟุต พวกมันก็รู้ตัวและตื่นหนีลงทะเลฉมวกของนานุกถูกเป้า แต่พวกมันก็หนีลงน้ำสำเร็จ จากนั้นก็เปิดฉากการต่อสู้กันยกใหญ่ พวกเอสกิโมช่วยกันชักคะเย่อเหยื่อที่ปลายเชือกล่ามฉมวกบนริมหาด ช้างน้ำนี้เหมือนปลาขนาดใหญ่ซึ่งตะเกียกตะกายดิ้นรนหนีอยู่ในทะเล ช้างน้ำตัวอื่น ๆ ในฝูงพากันวนเวียนอยู่รอบ ๆ ส่งเสียงร้อง "โอค โอค" ช้างน้ำตัวใหญ่ตัวหนึ่งเข้ามาจนใกล้ตัวที่ตกเป็นเหยื่อ กางกั้นงาของมันอย่างจะช่วยชีวิตเพื่อน ผมถ่าย ถ่าย ถ่าย จนพวกเขาตะโกนร้องบอกให้ใช้ไรเฟิลหยุดการต่อสู้นี้เสียเถอะ เพราะกลัวว่าเผลอ ๆ พวกเขาจะถูกมันลากลงทะเล"


ที่มา: หนังไทยกลับบ้าน - หนังสือเผยแพร่ความรู้ของสมาคมกิจวัฒนธรรม เล่มที่ 2 พ.ศ. 2533

ฟลาเฮอร์ตีเขียนเล่าในภายหลังว่า เขาแกล้งทำเป็นฟังไม่เข้าใจเสียงที่พวกนั้นร้องบอก คงตั้งหน้าตั้งตาหมุนคันหมุนไกกล้องถ่ายหนังต่อไป ฉากนี้กลายมาเป็นฉากที่ขึ้นชื่อที่สุดฉากหนึ่งในหนัง ผู้ชมคิดไม่ถึงเลยว่าเบื้องหลังฉากนี้มีปืนไรเฟิลเกี่ยวอยู่ด้วย

งานถ่ายทำดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดไม่พักกันเลย ฟลาเฮอร์ตีจดบันทึกแนวสำหรับถ่ายตอนต่างๆ ของหนังไว้คร่าว ๆ ดังนี้

ฉากจัดท่าถ่ายต่าง ๆ
ถ่ายออกจากเรือ
ที่ท่าเรือ
ฤดูหนาว
ลาก
เครื่องเล่นจานเสียง
คริสต์มาส
ลากเลื่อนน้ำแข็ง
ยา น้ำมันละหุ่ง

ครื่องเล่นจานเสียงและน้ำมันละหุ่ง เป็นสิ่งแปลกปลอมจากโลกภายนอกเพียงสองสิ่งที่ฟลาเฮอร์ตียอมให้ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ บางที่เหตุผลอาจจะเป็นเพราะสองสิ่งนี้เป็นส่วนที่ช่วยทำให้เห็นการแสดงออกถึงความอบอุ่นและอารมณ์ขันของชาวเอสกิโม

ในสมุดบันทึก ยังมีการบันทึกเกี่ยวกับคำพูดและความหมายของคำพูดภาษาเอสกิโมปรากฏอยู่เรื่อย ๆ คำแรก ๆ ที่ปรากฏคือ "อีกที พูนัก" ฟลาเฮอร์ตีคงต้องร้องบอก "พูนัก" กับพรรคพวกลูกมือเขาอยู่เรื่อย ๆ เช่น เมื่อเห็นว่าฉากเหตุการณ์อย่างหนึ่งที่ถ่ายไปแล้วยังไม่ถูกอกถูกใจ หรือไม่ก็เมื่อเวลาต้องการ ถ่ายฉากนั้นจากมุมอื่น ๆ ซึ่งต้องร้องบอกให้แสดงซ้ำอีกที

ปัญหาและอุปสรรคในการถ่ายทำเกิดขึ้นเช่นกัน บางครั้งอากาศหนาวจัดมากจนกระทั่งฟิล์มเปราะแตกเป็นเศษเล็กเศษน้อย บางครั้งต้องเดินทางไปไกล ๆ ต้องสร้างกระท่อมอิกลูค้างแรมกันกลางทาง มีอยู่คราวหนึ่ง กองถ่ายต้องเดินทางรอนแรมกันหลายอาทิตย์ เพื่อถ่ายฉากเกี่ยวกับหมีขั้วโลก ซึ่งกลายเป็นเรื่องรนหาที่ตายโดยไม่ตั้งใจ นานุกเป็นคนต้นคิดให้ถ่ายฉากนี้ ซึ่งผลเกือบจะเอาชีวิตไปทิ้งกันหมด เพราะไปแล้วพวกเขาไม่เจอหมีเลยสักตัว อาหารก็หมดเกลี้ยงไม่ว่าสำหรับคนหรือสำหรับหมาลากเลื่อนที่พาไปด้วย กองถ่ายต้องติดพายุหิมะอยู่หลายวัน ทุกคนได้แต่นั่งเจ่าจุกอยู่ในกระท่อมหิมะ จนหลังคากระท่อมเปลี่ยนจากสีขาวกลายเป็นสีดำของเขม่าควันไฟที่ก่อไว้ และหยดแหมะ ๆ เป็นน้ำสีดำ แต่กองถ่าย ก็รอดชีวิตกลับมาได้หวุดหวิด ในตอนขากลับถึงกับต้องใช้ฟิล์มดิบที่ติดตัวไปเป็นเชื้อไฟ

การก่อสร้างกระท่อมด้วยหิมะหรือกระท่อมอิกลูของชาวเอสกิโม ก็กลายเป็นฉากหนึ่งที่คนดูชื่นชอบมากที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่การถ่ายทำฉากภายในกระท่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ กระท่อมของจริงมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะเข้าไปตั้งกล้องถ่ายได้ นานุกกับพวกพ้องต้องสร้างกระท่อมพิเศษ มีขนาดใหญ่กว่าของจริงพอสมควร ทำครั้งแรกไม่สำเร็จเพราะหลังคาส่วนโค้งของกระท่อม พังครืนลงมาเสียก่อน ทุกคนเห็นขำฮากันตึง แต่ที่สุดก็ทำสำเร็จ อย่างไรก็ดีเอาเข้าจริง ๆ ภายในกระท่อมยังมืดเกินกว่าที่จะถ่ายภาพยนตร์ได้ ดังนั้นกระท่อม น้ำแข็งจึงถูกผ่าซีก ทิ้งไปครึ่งหนึ่ง นานุกกับครอบครัวเมียและลูก ๆ รวมห้าชีวิต ต้องเข้าไปแสดงการใช้ชีวิตอยู่ในนั้น การกินอยู่หลับนอน โดยถูกลมหนาวยะเยือก พัดโกรกตลอดเวลา ฟลาเฮอร์ตีถ่ายฉากภายในกระท่อมทั้งหมดโดยใช้แสงสว่างกลางวันนั่นเอง นับเป็นความฉลาดในการรู้จักพลิกแพลงการถ่ายทำ

ฟิล์มเนกาติฟจำนวนมาก ที่ได้จากการถ่ายทำตลอดช่วงกลางฤดูหนาว ถูกรวบรวมมาล้างในเดือนมีนาคมและเมษายน 2464 ทุกคนในคณะต้องช่วยกันหมด งานล้างฟิล์มต้องใช้น้ำปริมาณมาก โดยขนลากมาจากบ่อที่จาะรูลึกลงไปหกฟุตบนพื้นน้ำแข็ง ลากด้วยเลื่อนยาวสิบสี่ฟุต เทียมหมาสิบตัว ไปยังที่พักของฟลาเฮอร์ตี เติมลงใส่ถังล้างฟิล์ม เสร็จแล้วต้องขนลากไปทิ้งอีกที่หนึ่ง บางวันต้องขนน้ำนี้มากเป็นตัน ๆ การระมัดระวังมิให้มีเศษขนใด ๆ ปนอยู่ในน้ำนับเป็นปัญหาโกลาหลที่เดียว

การพิมพ์ถ่ายทอดทำสำเนาฟิล์มภาพยนตร์ นับเป็นข้อที่แสดงให้เห็นความฉลาดอีกอย่างหนึ่งของฟลาเฮอร์ตี คือเมื่อพบว่าแสงไฟฟ้าในเครื่องพิมพ์ ซึ่งติดไฟโดยกระแสไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟเล็ก ๆ ที่นำติดไปด้วยนั้น เป็นแสงที่สว่างจ้ามากเกินไป เขาแก้ปัญหาโดยทดลองเจาะรูบนผนังกระท่อมที่พัก เป็นรูเท่ากรอบภาพของฟิล์มภาพยนตร์ 35 มม. แล้วปิดหน้าต่างและช่องอื่น ๆ หมด เอาเครื่องพิมพ์ติดตั้งเข้ากับผนัง ใช้แสงแดดเป็นแสงสำหรับพิมพ์ และปรับแต่งความเข้มแสงด้วยผ้ามัสลิน

ปลายฤดูร้อนของปี 2464 ฟลาเฮอร์ตีก็บ่ายหน้าเดินทางกลับสู่โลก ศิวิไลซ์ ระหว่างทางเขาชี้มือไปที่เม็ดกรวดทรายบนชายหาด ปากก็พร่ำบอกนานุกว่า ไกลลงไปทางใต้โน้น จะมีผู้คนเป็นจำนวนมาก มากเท่ากับเม็ดกรวดทรายนั่นได้ ดูอินนูอิท (คือภาษาที่พวกเอสกิโมเรียกตัวเอง แปลว่าเรา ผู้คน) กระทำอาการต่าง ๆ ตามที่ได้ถ่ายทำภาพยนตร์ไว้ด้วยกัน พอถึงฤดูหนาวของปี 2464 นั้น "นานุกแห่งถิ่นเหนือ" ก็สำเร็จเต็มเรื่อง ที่โต๊ะตัดต่อ


ภาพ: ไนยลา และลูกน้อย
ที่มา: หนังสือเผยแพร่ความรู้ของสมาคมกิจวัฒนธรรม เล่มที่ 2 (หนังไทยกลับบ้าน) พ.ศ. 2533

ซึ่งคราวนี้ฟลาเฮอร์ตี มิได้ลงมือทำเองคนเดียว แต่เขาได้ชาร์ลส์ เกล็บเป็นผู้ช่วย โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของเขาทุกขณะ ฟลาเฮอร์ตีได้รับประสบการณ์มากมายจากการตัดต่อภาพยนตร์เอสกิโมครั้งก่อน โดยเฉพาะได้เรียนรู้ถึงความผิดพลาดหลาย ๆ ประการ ความผิดพลาดนั้นเป็นบทเรียนที่เขานำมาแก้ไขในการถ่ายทำนานุก คราวนี้เขาถ่ายภาพเผื่อไว้แต่ละฉากมากหลายมุม หลายระยะและใช้การเคลื่อนไหวกล้องผสานไปกับการตัดต่อ

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ฟลาเฮอร์ตีมีพื้นปัญญาและความจัดเจนในไวยากรณ์หรือหลักการใช้สื่อภาษาภาพยนตร์ ซึ่งเวลานั้นได้ก่อตัวและพัฒนา จนเป็นแบบแผนอยู่ในวงการภาพยนตร์ โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่องแสดง หรือภาพยนตร์บันเทิง ความจัดเจนในแบบแผนเช่นนี้ นักสร้างภาพยนตร์สารคดีที่มีมาก่อนหน้านี้ไม่เคยนำมาใช้ พัฒนาการเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนกรรมวิธีการต่างๆ ในการทำภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของผู้ชมด้วยกล่าวคือผู้ชมสามารถเห็นหรือรับรู้เหตุการณ์หนึ่ง ๆ จากหลาย ๆ มุมมอง จากระยะห่างใกล้ไกลต่าง ๆ กัน และเป็นลำดับต่อเนื่องไปอย่าง รวดเร็ว ซึ่งในชีวิตจริงเราไม่ได้รับรู้เหตุการณ์ในลักษณะอย่างนี้ แต่ผู้ชมภาพยนตร์จะค่อย ๆ ยอมรับการรับรู้อันผิดปกติเช่นนี้ และเมื่อคุ้นชินก็เห็นเป็นปกติธรรมดา การที่ฟลาเฮอร์ตีรับเอากลวิธีการสื่อภาษาของภาพยนตร์ ซึ่งพัฒนาขึ้นใช้กันอยู่ในวงการภาพยนตร์เรื่องแสดง โดยนำมาใช้กับภาพยนตร์ของเขาซึ่งมิได้ใช้การจัดฉากแสดง และ มิได้ใช้นักแสดงอาชีพ โดยธรรมดาลักษณะของความเป็นการแสดงหรือนาฏลักษณ์ย่อมก่อความสะเทือนอารมณ์หรือหวั่นไหวให้ผู้ชมได้ง่ายอยู่แล้ว จึงถูกนำมาประสานเข้ากับสิ่งที่เป็นของจริง โดยเฉพาะตัวแสดงซึ่งแสดงเป็นตัวของตัวเองจริง ๆ

อย่างไรก็ดี มีอยู่สองสามครั้งในภาพยนตร์ที่ส่อให้เห็นแบบวิธีการทำภาพยนตร์สารคดีในยุคแรก ๆ เช่น การปล่อยให้ผู้แสดงเหลือบมองมาที่กล้องซึ่งหมายถึงตัวผู้ถ่ายทำภาพยนตร์ ครั้งหนึ่งในฉากเครื่องเล่นจานเสียง นานุกยิ้มหัวอย่างสงสัยแปลกใจกับเครื่องเล่นจานเสียง แล้วหยิบจานเสียงขึ้นมาลองแทะดูเหลือบมองมาทางกล้องคล้ายจะถามว่าที่เขาทำไปใช้ได้ไหม ลูกของนานุกเมื่อได้ลอง กินน้ำมันละหุ่งจากช้อนที่ผู้ใหญ่คนหนึ่งป้อนให้ ก็อมยิ้มอย่างชอบอกชอบใจกับกล้อง สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะติดมาจากแบบวิธีในภาพยนตร์ประเภทนำเที่ยว ซึ่ง มักให้ผู้แสดงกระทำกริยาอาการหรือสาธิตความน่ารักน่าเอ็นดูต่าง ๆ ต่อหน้ากล้อง ลักษณะการถ่ายทำอย่างนี้ ได้หายไปในผลงานภาพยนตร์เรื่องต่อ ๆ มาของฟลาเฮอร์ตี

ข้อความอักษรบรรยายในภาพยนตร์ของฟลาเฮอร์ตี เป็นอีกส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นความสามารถยอดเยี่ยมในการใช้ภาษาถ้อยคำ ซึ่งเหมาะเจาะ รัดกุมไม่มีการอธิบายเกินจำเป็น เช่น ในฉากการสร้างกระท่อมหิมะ เมื่อนานุกกับพวกสร้างกระท่อมเกือบจะเสร็จแล้ว มีอักษรบรรยายแทรกขึ้นมาว่า "ทีนี้ ยังขาดเพียง สิ่งเดียวที่ต้องทำ" แล้วเราก็เห็นภาพนานุกเดินไปหาก้อนน้ำแข็งบนพื้น ลงมือใช้ฉมวกตัดน้ำแข็งบนพื้นขึ้นมาก้อนหนึ่ง ทีแรกคนดูไม่รู้เลยว่า อะไรคือสิ่งที่ยังขาดอยู่ แต่ในไม่ช้าก็เริ่มรู้ เมื่อเห็นนานุกใช้มีดเจาะผนังกระท่อมอิกลูเป็นช่อง ขนาดเท่าก้อนน้ำแข็งที่เขาตัดมา แล้วเอาก้อนน้ำแข็งนั้นปะลงไปบนช่อง กลายเป็นหน้าต่างกระจกรับแสงสว่างเข้าไปในกระท่อม เสร็จแล้วนานุกยังใช้ก้อนหิมะทำเป็นแผ่นสะท้อนแสงติดไว้ที่บานหน้าต่างด้วย ฉากนี้สร้างความพอใจชื่นชอบให้ผู้ชมทุกครั้งที่ออกฉาย สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมชื่นชอบ น่าจะเป็นเพราะว่าผู้ชม มีความรู้สึกเช่นเดียวกับฟลาเฮอร์ตี คือเป็นนักสำรวจ เป็นผู้ได้ค้นพบด้วยตัวเอง

เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งในหนังเรื่องนี้ คือการได้เห็นเด็ก ๆ และเห็นความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ๆ กับคนอื่น ๆ ในฉากการสร้างกระท่อมเช่นกัน ระหว่างที่พวกผู้ใหญ่กำลังง่วนอยู่กับการสร้างกระท่อม เราจะเห็นลูกชายของนานุกซึ่งยังเป็นเด็กเล็ก หัดใช้ธนูของเล่นยิงลูกศรไปยังตุ๊กตารูปสัตว์เล็ก ๆ ที่ปั้นจากหิมะ มีข้อความตัวอักษรบรรยายแทรกว่า "เพื่อที่จะเป็นนายพรานผู้ยิ่งใหญ่เหมือนพ่อ" เมื่อนานุกสร้างกระท่อมเสร็จ เขาก็หันมาสนใจสอนลูกน้อยยิงธนูเสียนิดหนึ่ง ก่อนจะกุมมือเล็ก ๆ ของลูกน้อยมาอังลมอุ่นที่ปากของตน ซึ่งเป็นภาพของชั่วขณะที่ก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์และความลึกซึ้งอย่างหาไม่ได้ในภาพยนตร์สารคดีแบบนำเที่ยว พื้น ๆ


ภาพ: นานุกผิงมือให้ลูกอุ่น
ที่มา: หนังไทยกลับบ้าน - หนังสือเผยแพร่ความรู้ของสมาคมกิจวัฒนธรรม เล่มที่ 2 พ.ศ. 2533

ปลายปี  2664  ภาพยนตร์ "นานุกแห่งถิ่นเหนือ" ผลิตผลอันเกิดจากประสบการณ์การทำงานสำรวจทรัพยากรในดินแดนถิ่นเหนือนี้ร่วมสองทศวรรษและการทำงานถ่ายทำภาพยนตร์ในดินแดนดังกล่าวอีกร่วมหนึ่งทศวรรษของฟลาเฮอร์ตี ก็เสร็จเรียบร้อย พร้อมที่จะจัดจำหน่าย และแล้วบริษัทผู้จัดจำหน่ายรายแรกที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ คือบริษัทพาราเมานท์

เวลานั้นพาราเมานท์กำลังเป็นบริษัทชั้นแนวหน้าที่สุดของฮอลลีวู้ด ซึ่งขณะนั้นอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันซึ่งมีศูนย์กลางที่ฮอลลีวู้ดก็กำลังเติบโต ขึ้นครองตลาดโลกแทนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฝรั่งเศส ซึ่งเคยเป็นเจ้าตลาดโลกมาก่อน แต่ต้องตกต่ำลงทันที่เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 อันเกิดขึ้นระหว่างปี 2457 ถึง 2461 สงครามยังทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของอังกฤษและอิตาลีเกือบจะหยุดลงอย่างสิ้นเชิงด้วย เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง บริษัทภาพยนตร์รายใหญ่ ๆของสหรัฐ ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการทั้งผลิต จัดจำหน่ายและจัดฉาย ครบวงจร ก็สามารถครองตลาดภาพยนตร์ทั้งโลก แต่ละบริษัทต่างก็รู้สึกว่าพวกคนรู้ดีว่า ผู้ชมต้องการอะไร เพราะภาพยนตร์ของตนขายไปได้ทั่วโลก

ฟลาเฮอร์ตีเคยเล่าถึงวันที่เขาจัดฉาย "นานุกแห่งถิ่นเหนือ" ให้พวกตัวแทนของบริษัทพาราเมานท์ดู ซึ่งวันนั้นห้องฉายคละคลุ้งไปด้วยหมอกควันบุหรี่ขณะกำลังฉาย และเมื่อหนังจบ พวกนั้นก็พากันลุกออกจากห้องไปเฉยๆ

"ท่านผู้จัดการเดินเข้ามาหาผม เอื้อมมือมาจับไหล่ผมอย่างฐานกรุณา พลางบอกว่า แกรู้สึกเสียใจด้วยจริง ๆ มันเป็นหนังที่เอาไปฉายออกสู่สายตาสาธารณชนไม่ได้จริง ๆ เขายังคุยว่า เขาเองก็เคยพยายามทำหนังอย่างนี้มาก่อน และมักพบจุดจบ ล้มเหลวไม่เป็นท่าทุกครั้ง เขารู้สึกเสียคายแทนเหลือเกิน ที่ผมสู้อุตส่าห์ฝ่าฟันความยากลำบากแสนเข็ญทั้งปวงทำหนังเรื่องนี้ออกมา แล้วต้องมาจบลงอย่างนี้ เขารู้สึกว่าเขาจำเป็นต้องบอกผมตามที่มันเป็นอย่างนั้น"

ฟลาเฮอร์ตีนำภาพยนตร์ของเขาไปเสนอบริษัทจัดจำหน่ายรายใหญ่อื่น ๆ อีกสี่ราย ซึ่งทุกรายตอบสนองทำนองเดียวกันอีก ผู้จัดการของบริษัทหนึ่งในพวกนี้บอกเขาว่า คนดูหนังไม่อยากดูพวกเอสกิโมหรอก คนดูเขาชอบดูตัวแสดงที่แต่งตัว ด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์หรูหรามากกว่า

แต่ในที่สุด บริษัทปาเต๊ะ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีต้นตอกำเนิดจากฝรั่งเศสเช่นเดียวกับบริษัทรีวิลลอนซึ่งอุดหนุนทุนสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้มาก่อน ก็ตกลงรับเป็นผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ และสามารถเปิดรอบปฐมทัศน์ขึ้นที่โรงภาพยนตร์แคปปิตอล ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์สำคัญแห่งหนึ่งในมหานครนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2465 ปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ นักวิจารณ์พากันกล่าวขวัญว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่ง

หนังสือพิมพ์ นิวยอร์ค ไทมส์ กล่าวว่า "ยกเว้นภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว ภาพยนตร์ตามปกติเรื่องอื่น ๆ อย่างที่ได้รับการขนานนามว่า นาฏกรรมบนจอ ได้กลายเป็น สิ่งที่เบาหวิว และว่างเปล่าเหมือนกับเซลลูลอยด์ที่ใช้ทำภาพยนตร์นั้นเอง" นักวิจารณ์เห็นว่า "นานุกแห่งถิ่นเหนือ" เป็นหนังที่น่าสนใจยิ่งกว่า เป็นความบันเทิงแท้ๆ ยิ่งกว่าบรรดาภาพยนตร์ที่จัดว่าพิเศษกว่าภาพยนตร์เรื่องใด ๆ

นักวิจารณ์สำคัญท่านหนึ่ง ซึ่งวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ออกฉายมาตลอดทั้ง ปีนั้น ได้กล่าวถึง "นานุกแห่งถิ่นเหนือ" ว่า

"หนังเรื่องนี้ถึงระดับชั้นด้วยตัวมันเองอย่างแท้จริง อันที่จริง ทำเนียบรายชื่อของบรรดาภาพยนตร์ที่จัดว่ายอดเยี่ยมที่สุดของปี หรือของตลอดเวลาที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์สั้น ๆ ของภาพยนตร์ไม่อาจจะนับถือ ได้เลยว่าสมบูรณ์ ถ้าหากไม่มีชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้รวมอยู่ด้วย"

นอกเหนือจากการได้รับคำนิยมยกย่องจากนักวิจารณ์แทบทั้งหมดแล้ว

"นานุกแห่งถิ่นเหนือ" ยังประสบความสำเร็จด้านรายได้ในสหรัฐอเมริกาและในตลาดส่วนใหญ่ทั่วโลก ชื่อเสียงเกียรติคุณของหนังเรื่องนี้ขจรขจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว นักวิจารณ์ในยุโรปแย่งกันสดุดีเป็นการใหญ่ นักวิจารณ์ชาวฝรั่งเศสรายหนึ่ง ถึงกับเปรียบเทียบหนังเรื่องนี้ได้กับนาฏกรรมคลาสสิคกรีก

ฟลาเฮอร์ตีใช้จ่ายเงินไปในการถ่ายทำ "นานุกแห่งถิ่นเหนือ" เกินกว่าตัวเลขงบประมาณที่ตั้งไว้เมื่อเริ่มต้นถึงเกือบสองเท่า คือเขาใช้เงินไปทั้งสิ้นราว 53,000 ดอลลาร์ การใช้จ่ายเงินทำหนังบานปลายเกินงบประมาณเช่นนี้ ได้กลายเป็นนิสัยประจำตัวอย่างหนึ่งของฟลาเฮอร์ตีในเวลาต่อ ๆ มา รายจ่ายที่เกินงบนี้ บริษัทรีวิลลอนเป็นผู้ออกทุนให้ก่อน แล้วหักคืนเอาจากรายได้จากการจัดจำหน่าย ปรากฏว่ารายได้นี้ นอกจากคุ้มทุนแล้ว ยังทำกำไรเป็นกอบเป็นกำให้ทั้งฟลาเฮอร์ตีและบริษัทรีวิลลอน

ความสำเร็จด้านรายได้เช่นนี้ มีผลทำให้การสร้างภาพยนตร์สารคดีกลายเป็นโครงการที่อาจได้รับการสนับสนุนทางการเงินขึ้นมาโดยทันที ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยได้รับการสนับสนุนมาก่อนเลย บริษัทพาราเมาท์เป็นบริษัทแรกที่ปฏิเสธการรับเป็นผู้จัดจำหน่ายให้แก่ "นานุกแห่งถิ่นเหนือ" แต่แล้วก็เป็นบริษัทแรกอีกเช่นกันที่มองเห็นสู่ทางของหนังสารคดี

เจสสี ลาสกี แห่งบริษัทพาราเมาท์ รีบยื่นข้อเสนอแก่ฟลาเฮอร์ตีทันทีว่าบริษัทยินดีที่จะส่งเขาไปทุกแห่งในโลกตามแต่เขาต้องการไป เพื่อไปทำหนังแบบนานุกออกมาอีกสักเรื่องหนึ่ง สิ่งที่ยืนยันถึงความสำเร็จทางการค้าอย่างสุดยอดของ "นานุกแห่งถิ่นเหนือ" ก็คือการที่มีผู้แต่งเพลงร้องชื่อ "นานุก" ออกมา กลายเป็นเพลงยอดนิยมในวงการเพลงบรอดเวย์ เพลงนานุกมีเนื้อร้องดังนี้

พวกหมีขั้วโลกกำลังเพ่นพ่าน
ลมหนาวกำลังหวีดหวิว
ณ ที่ซึ่งหิมะกำลังตก ที่นั้นอกข้ากำลังเรียกหา :
นานุก นานุก
แล้วถึงบทสร้อย เป็นคำร้องต่อไปดังนี้ นานุกน่ารักนักหนา
แม้เพื่อนยาไม่รู้จักหนังสือ
แต่ โอ้ พ่อก็รู้จักรัก
จับใจข้าดุจแสงเหนืองามระยับจับอัมพร

นานุกยังโด่งดังเป็นยอดนิยม ถึงขนาดผู้ผลิตไอศครีมหวานเย็นรายหนึ่งเอารูปใบหน้ากำลังยิ้มกริ่มของนานุกไปพิมพ์เป็นตราบนกระดาษห่อไอศครีม ยี่ห้อ "นานุก" อีกรายหนึ่งเอาไปใช้เป็นชื่อยี่ห้อสบู่หอม

เมื่อนานุกตัวจริงเสียชีวิต ในเวลาสองปีต่อมาหลังจากที่เขาปรากฏตัว ขึ้นในโลกภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ทั่วโลกพากันรายงานข่าวการสูญเสียนี้

ในงานเทศกาลภาพยนตร์แห่งเมืองมาน์นไฮม์ เยอรมัน เมื่อปี 57 นักสร้างภาพยนตร์สารคดีจากชาติต่าง ๆ ได้รับแบบสอบถามให้ระบุรายชื่อภาพยนตร์สารคดีเรื่องต่าง ๆ ที่พวกเขาคิดว่ายิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับทุกกาลสมัย ผลปรากฏ ว่า "นานุกแห่งถิ่นเหนือ " ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก ระบุให้อยู่ในอันดับแรกสุดของบรรดาภาพยนตร์สารคดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเหล่านั้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่า "นานุกแห่งถิ่นเหนือ" จะกลายเป็นต้นแบบของภาพยนตร์ประเภทใหม่อีกประเภทหนึ่ง โดยเฉพาะเป็นแบบแผนอย่างหนึ่งของภาพยนตร์สารคดี แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้รวมทั้งผู้สร้างมันขึ้นมา ต่างก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ มากมาย ในเรื่องนี้และเรื่องต่อ ๆ มาของฟลาเฮอร์ตี เขาถูกโจมดีอย่างมากในเรื่องการปล่อยให้ผู้แสดง แสดงฉากที่ล่อแหลมต่อภยันตราย หรือเสี่ยงต่อชีวิตอย่างสุดขีด พวกตัวแสดงก็ยินดีเผชิญหน้ากับความตาย หรือไม่ก็รนหาที่ตายอย่างไม่สะทกสะท้าน เมื่อทำงานร่วมกับฟลาเฮอร์ตี

นานุกซึ่งต้องแสดงในฉากเสี่ยงตายที่สุดหลายครั้ง อาจจะดูแล้วรู้สึกว่าเขาเป็นผู้อยู่ยงคงกระพัน ท่าทางของนานุกที่ปรากฏในภาพยนตร์ เต็มไปด้วยความกล้าหาญและช่ำซอง แต่ในความเป็นจริง ไม่มีใครรู้ว่าเวลานั้นเขากำลังป่วยเรื้อรัง แต่ฟลาเฮอร์ตีน่าจะรู้ดี เขาบันทึกลงสมุดประจำวันว่า ในคืนหนึ่ง นานุกไอโขลกออกมาเป็นเลือดกระจายติดอยู่บนผนังกระท่อมหิมะ

ฟลาเฮอร์ตีเป็นคนมีเสน่ห์อย่างมาก ดวงตาสีฟ้าของเขาตรึ่งใจผู้พบเห็น ฟลาเฮอร์ตีรักดนตรีมากที่เดียว ลงทุนนำไวโอลินกับจานเสียงจำนวนหนึ่งติดตัวไปขั้วโลกด้วย เพื่อให้ความบันเทิงแก่ตัวเองและพวกเอสกิโม เขาเป็นคนหนึ่งที่มีชื่อว่าเป็นผู้ชื่นชมและสะสมผลงานหัตถกรรมแกะสลักและงานวาดเขียนของพวกเอสกิโม น่าสังเกตว่าการจัดองค์ประกอบภาพในหนัง "นานุกแห่งถิ่นเหนือ" ของเขา หลายฉากส่อให้เห็นลักษณะของแบบฉบับศิลปการวาดภาพของเอสกิโม นั่นคือการจัดให้เห็นภาพของวัตถุเล็ก ๆ กระจายอยู่ในท่ามกลางพื้นที่กว้างสีขาว ซึ่งหมายถึงทุ่งหิมะ มักจะปรากฏเป็นพื้นสุดลูกหลูกตาของภาพเสมอ

แต่ความรู้สึกทั้งหมดที่เกี่ยวกับเอสกิโมของฟลาเฮอร์ตี กับลักษณะที่ปรากฏออกมาในหนัง "นานุกแห่งถิ่นเหนือ" ตลอดจนลักษณะการนำเสนอในผลงานภาพยนตร์เรื่องต่อ ๆ มาของเขา ดูเหมือนว่าจะเกี่ยวโยงได้กับความขัดแย้งบางอย่างในตัวเขาเอง กล่าวคือ ฟลาเฮอร์ตีมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจพวกเอสกิโมหรือพวกชนเผ่าดั้งเดิมมาแต่เล็กแต่น้อย เขาได้พบเห็นพวกชนเผ่าแบบนี้ตั้งแต่เล็ก ๆ และด้วยความรู้สึกหดหู่ เขาได้เห็นพวกอินเดียนแดงที่ชอบมาวนเวียนตามค่ายกระโจมเหมืองของพ่อ บางทีก็เข้ามาเลียบ ๆ เคียง ๆ ที่ครัวของแม่เพื่อขอเศษอาหารและความอบอุ่นจากเตาไฟ ภาพของพวกนี้น่าเวทนายิ่งนัก เป็นภาพของ ผู้ที่ประสบพิษภัยของความศิวิไลซ์ บางคนเป็นโรคพิษสุรา หลายคนไอโขลก ๆ ฟลาเฮอร์ตีจำได้ถึงความรู้สึกที่แม่พูดถึงคนพวกนี้ด้วยน้ำตาคลอเบ้าว่า "ดูช่าง น่าเวทนาจริงๆ คนขาวไปทำเวรทำกรรมอะไรกับคนพวกนี้ก็ไม่รู้"

เมื่อฟลาเฮอร์ตีได้พบพวกเอสกิโมครั้งแรก เขาเห็นความน่าเวทนาเช่นเดียวกันนี้ แต่เมื่อเขาเดินทางสูงขึ้นไปทางเหนือ ซึ่งพวกเอสกิโมในแถบนั้นมีการติดต่อกับพวกนักสำรวจจากภายนอกน้อยลง เขาก็เริ่มเห็นความบริสุทธิ์งดงามของชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ประทับความสนใจของเขาอย่างรุนแรง แต่สิ่งเหล่านี้กำลังถูกทำลายให้หมดไป ฟลาเฮอร์ตีมีความรู้สึกที่เกาะกินใจว่า ตัวเขาเองก็เป็นตัวแทนของการทำลายล้างวัฒนธรรมของพวกเขาเหล่านั้นเช่นกัน เขาเริ่มชีวิตทำงานอาชีพด้วยการเป็นนักสำรวจทรัพยากร พ่อเป็นวีรบุรุษของเขา เขารู้สึกว่าตัวเอง คือผู้ปกป้องคุ้มครองความเจริญก้าวหน้าของอุตสาหกรรม ปกป้องโลกของบริษัท ยูไนเต็ดสตีล ปกป้องกิจการรถไฟและเหมืองแร่ของเซอร์วิลเลียม แมคเคนซี ความรู้สึกสองอย่างอันขัดแย้งกันอยู่ในส่วนลึกเช่นนี้ ทิ้งรอยให้อาจมองเห็นได้ในผลงานภาพยนตร์ทุกเรื่องของเขา

อย่างไรก็ดี ฟลาเฮอร์ตีไม่เผชิญหน้ากับความขัดแย้งนี้ และพยายามหลีกเลี่ยงอย่างเต็มที่ เขาพยายามกันสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งที่เป็นผู้บุกรุกออกไปจากโลกที่เขาจะแสดงให้เห็นในภาพยนตร์

"ผมมิได้ทำหนังเกี่ยวกับว่า คนผิวขาวได้กระทำอะไรลงไปบ้างแก่คนท้องถิ่นดั้งเดิม แต่สิ่งที่ผมต้องการแสดงให้เห็นก็คือ ศักดิ์ศรีที่มีมาแต่เดิมและบุคลิกของผู้คนเหล่านั้น ในขณะที่ยังคงทำได้ ก่อนที่คนขาวจะทำลายลงไปเสียหมด ซึ่งไม่เพียงแต่บุคลิกภาพเท่านั้นแต่ทำลายผู้คนเหล่านั้นลงด้วย แรงคลใจที่ผมทำ นานุกแห่งถิ่นเหนือ เกิดจากแนวความคิดที่ผมรู้สึกต่อพวกเขาเหล่านั้น ความชื่นชมที่ผมมีต่อพวกเขา ผมอยากจะบอกเล่าให้คนอื่น ๆ ร่วมรับรู้"


ที่มา: Robert Flaherty. 2565. 36 camera studies. Nanook Centennial Exhibition in Inukjuak จาก https://theflaherty.org/nanook-centennial

อันที่จริงแรงดลใจในการถ่ายทำภาพยนตร์เพื่อบันทึกเรื่องราวของลักษณะ วัฒนธรรมของกลุ่มชนที่กำลังจะสูญหายไปเช่นนี้ มีพวกนักมานุษยวิทยากระทำ กันอยู่บ้างแล้วในเวลานั้น แต่กรณีของฟลาเฮอร์ตี เขาทำโดยเหตุผลส่วนตัวลึก ๆ มากกว่าเหตุผลทางวิชาการ ทว่าผลที่ออกมาก็ใกล้เคียงกันอยู่ดี ภาพยนตร์ของพวกนักมานุษยวิทยา ได้รับการเรียกขานว่าเป็น ภาพยนตร์ "กอบกู้ชาติวงศ์วรรณนา"

จอห์น เกรียร์สัน ผู้สร้างภาพยนตร์นักวิจารณ์และนักทฤษฎีภาพยนตร์ชาวอังกฤษ ผู้เขียนบทความและหนังสือเผยแพร่ผลงานของฟลาเฮอร์ตี เป็นผู้กล่าว ว่างานของฟลาเฮอร์ตีเป็นงานในลัทธิโรแมนติค ในลักษณะที่ฟลาเฮอร์ตีมิได้บันทึกเหตุการณ์ในกระแสชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่บันทึกโดยกรองผ่านความทรงจำของนานุกและพวกพ้อง ไม่ต้องสงสัยว่าภาพยนตร์นี้จะไม่สะท้อนให้เห็นมโนภาพของพวกเขาเกี่ยวกับชีวิตตามขนบประเพณีของพวกเขาเอง มโนภาพแห่งตัวเองของผู้คน อาจจะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญยิ่งในวัฒนธรรมของพวกเขา และควรค่าที่จะบันทึกไว้
เกรียร์สันเขียนไว้ในเวลาต่อมาว่า "ลองพิจารณาดู ปัญหาของพวกเอสกิโม...

เสื้อผ้าและผ้าห่มนอนของพวกเขา เกือบทั้งหมดมักจะมาจากแมนเชสเตอร์ จัดส่งมาโดยห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ในเมืองวินนีเพก...พวกเขาฟังราคาขึ้นลงของขนสัตว์จาก วิทยุ และตกอยู่ภายใต้การปฏิบัติการอย่างฉับไวของพวกพ่อค้านักฉวยโอกาสที่บินม่าจากนิวยอร์ค.…"

ฟลาเฮอร์ตีเองก็รู้เรื่องนี้ดี และสำนึกว่าเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของพวกนั้น แต่ภาระของเขาขณะนี้ มิใช่การสร้างภาพยนตร์เพื่อเปิดเผยเรื่องนี้ แต่เพื่อเชิดชูสิ่งที่เขาเห็นคุณค่า

ในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา บรรดาภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ ที่สร้างกันในระยะหลังสงครามโลกครั้งแรก ได้กลายเป็นของมีค่าน่าสนใจของ พิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่จัดฉากและการแต่งกายอย่างหรูหรา แต่สำหรับ "นานุกแห่งถิ่นเหนือ" เป็นหนังที่มีคุณค่าน่าพิศวงอยู่เสมอ ไม่ว่าเวลาจะล่วงไปอย่างไรก็ยังคงความมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ"

ปี 2466 ฟลาเฮอร์ตี ตกลงทำสัญญากับพาราเมาท์ ซึ่งเสนอตัวให้การสนับสนุนเขาเต็มที่ไม่ว่าจะเลือกเดินทางไปที่ใดในโลกนี้ เพื่อทำหนังทำนองเดียวกับนานุกขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง ฟลาเฮอร์ตีตัดสินใจเดินทางไปยังหมู่เกาะชามัวในมหาสมุทรปาซิฟิก คราวนี้เขานำภรรยาและลูกสาวสามคนกับนางพี่เลี้ยงคนหนึ่ง และเดวิด ฟลาเฮอร์ตี น้องชายไปด้วย

เวลานั้น โรเบิร์ต ฟลาเฮอร์ตี กลายเป็นนักทำหนังที่มีชื่อเสียงระดับโลกในฐานะเป็นผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์ประเภทใหม่ ทุกคนรู้ว่าเขาไปที่ทะเลใต้ เพื่อทำนานุกขึ้นมาอีกชิ้นหนึ่ง

แต่คราวนี้ การทำภาพยนตร์สารคดีในลักษณะที่เขาเป็นผู้วางแบบฉบับไว้เองนั้น มิใช่ทำได้ง่าย ๆ อย่างเรื่องแรกที่ขั้วโลก เพราะเบื้องหลังของการถ่ายทำ

"นานุกแห่งถิ่นเหนือ" ฟลาเฮอร์ตีได้ใช้ชีวิตเกือบทั้งชีวิตของเขาเป็นนักสำรวจทรัพยากร เดินทางคลุกคลีไปกับพวกเอสกิโมกว่ายี่สิบปี แต่การทำหนังเรื่องใหม่ที่ทะเลใต้ด้วยขบวนการเช่นเดียวกันนี้ เขาจะต้องใช้เวลาทำย่นย่อลงมาเหลือเพียง ปีหนึ่งหรือสองปี ซึ่งเวลาเท่านี้นับว่าเนิ่นนานมากที่เดียวสำหรับการทำหนังแบบฮอลลีวู้ด

คณะถ่ายทำของฟลาเฮอร์ตีมุ่งหน้าสู่หมู่บ้านซาฟูน บนเกาะฮาไวอิ ซึ่งเป็นที่ที่เขาได้รับคำบอกเล่าว่า ที่เกาะนี้แหละ หากไม่สายเกินไป บางทีเขาอาจจะได้พบกับวัฒนธรรมดั้งเดิมแท้ ๆ ของพวกโพลีเนเชียน ก่อนที่พวกพ่อค้าและพวกเผยแพร่ศาสนาจะเข้าไปถึง

การถ่ายทำเริ่มต้นขึ้นอย่างกระดือรือร้น แต่เมื่อพวกชาวบ้านชาฟูนเริ่มรู้ตัวว่า ฟลาเฮอร์ตีมิได้ต้องการถ่ายทำภาพยนตร์ซึ่งมีพวกเขาแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบที่พวกเผยแพร่ศาสนา และพวกพ่อค้านำเข้ามาเผยแพร่ พวกชาวบ้านแปลกใจมาก และรู้สึกวิตกวิจารณ์อย่างยิ่ง ด้วยอิทธิพลของพวกสอนศาสนา จึงทำให้การแต่งกายดั้งเดิมของชาวเกาะซึ่งมีเพียงผ้าเตี่ยวผืนเดียวกลายเป็นเรื่องการดูถูก ฟลาเฮอร์ตีต้องชักจูงให้หัวหน้าชาวบ้านขอร้องให้ทุกคนนุ่งผ้าเตี่ยวกันอีก

แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ไม่อาจช่วยให้เกิดหนังอย่าง "นานุกแห่งถิ่นเหนือ" ขึ้นมาได้อีกเรื่องหนึ่งแต่อย่างใด เพราะเรื่องของการดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด ซึ่งเคยเป็นแกนสำคัญในหนังนานุก ดูท่าว่าจะเกิดขึ้นยากในหนังเกี่ยวกับพวกซามัว ฟลาเฮอร์ตีเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องของบรรดาสัตว์ร้ายต่าง ๆ ใน ท้องทะเล แต่ก็ไม่เคยพบสัตว์ร้ายเหล่านี้ ธรรมชาติก็ไม่เลวร้ายอะไร อาหารของชาวเกาะก็หาได้จากผลหมากรากไม้ ดังนั้นเพื่อที่จะสร้างปมสนใจให้หนังเรื่องนี้ ฟลาเฮอร์ตีต้องดึงเอาพิธีกรรมการสักร่างกายอย่างเจ็บปวด อันเป็นพิธีกรรมสำหรับการเริ่มต้นเป็นผู้ใหญ่ของพวกโพลีเนเชียน มาเป็นจุดสำคัญในหนัง ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง พิธีกรรมนี้เกือบจะสาบสูญไปแล้ว เมื่อถูกอิทธิพลจากพวกเผยแพร่ศาสนาแผ่เข้ามา 

ภาพยนตร์เรื่องที่สองของฟลาเฮอร์ตี เรื่องนี้ซึ่งใช้ชื่อว่า "โมอานา" สำเร็จสมบูรณ์ออกฉายเผยแพร่ในปี 2469 และได้รับการแช่ซร้องสรรเสริญจากนักวิจารณ์บางคนว่าเป็นผลงานอันล้ำค่าสืบต่อจาก "นานุกแห่งถิ่นเหนือ" บางคนยกย่องว่าเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายภาพได้งดงามอย่างยิ่งใหญ่ บางคนลงความเห็นให้ทีเดียวว่าเป็นผลงาน "สุดยอด" อันเป็นคำวิจารณ์อย่างยกย่องเทิดทูนเต็มที่ ซึ่งโดยทั่วไปแทนที่จะดึงผู้ชมเข้ามาดู ตรงข้ามกลับมักจะเป็นสาเหตุผลักให้ผู้ชมถอยห่างออกไป บริษัทพาราเมาท์ซึ่งลงขันให้หนังเรื่องนี้ พยายามทำโฆษณาว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น "ชีวิตรักของเทพธิดาแห่งทะเลใต้" แต่ผู้ชมที่หลงเชื่อไปดูเพราะคำโฆษณานี้ มักจะพบกับความผิดหวัง "โมอานา" จึงล้มเหลวทางด้านรายได้

ความล้มเหลวนี้มีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฟลาเฮอร์ตีกับบริษัทภาพยนตร์รายใหญ่ ๆ ของฮอลลีวู้ดสิ้นสุดลงด้วย ฟลาเฮอร์ตีมีโครงการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับอินเดียนแดงเรื่องหนึ่ง ซึ่งบริษัทฟอกซ์ตกลงให้การสนับสนุนในขั้นเริ่มต้น แต่ไม่ช้าฟอกซ์ก็ขอถอนตัวไป ต่อมาฟลาเฮอร์ตีได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเมโทรโกลด์วินเมเยอร์ในโครงการทำภาพยนตร์เรื่อง "เงาขาวในทะเลใต้" แต่เมื่อเขาเห็นว่าหนังเรื่องนี้ถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นเรื่องแบบนิยายเพ้อพกเขาก็ขอถอนตัวออกมาแต่ ฟลาเฮอร์ตียังคงเป็นคนเด่นดังระดับโลก เขาได้รับข้อเสนอ และคำเชิญชวนให้เดินทางไปทำหนังในที่ต่าง ๆ มากมาย หลั่งไหลมาจากทั่วโลก แต่มักจะเชิญมาโดยไม่มีงบประมาณใด ๆ ให้

ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเยอรมันคนหนึ่ง คือ เฟรด มัวเนา ซึ่งเหนื่อยหน่ายกับการทำหนังให้ฮอลลีวู้ดเต็มที ได้ติดต่อชักชวนฟลาเฮอร์ตีไปร่วมทำงานกับเขาในโครงการทำภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่บาหลี แต่หลังจากเจรจาต่อรองกันเป็นเวลาเนิ่นนาน โครงการนี้ก็มีอันต้องยกเลิกไปอีก อย่างไรก็ดี ฟลาเฮอร์ตีได้ตกลง ร่วมงานทำภาพยนตร์เรื่อง "ตาบู" กับ มัวเนา ซึ่งเป็นการสร้างอิสระ แต่ทำไปได้ไม่เท่าไร ฟลาเฮอร์ตีก็ขอถอนตัว เมื่อเห็นว่าหนังมิได้ดำเนินไปในแนวทางเดิมที่ตกลงกันไว้

ฟลาเฮอร์ตีจึงตัดสินใจทิ้งฮอลลีวู้ด เดินทางไปยุโรป ที่แรกเขาปรารถนาจะทำหนังสักเรื่องหนึ่งในสหภาพโซเวียต เกี่ยวกับชาวเผ่าดั้งเดิมในไซบีเรีย แต่ทางการโซเวียตไม่ให้ความสนับสนุน ดูเหมือนการเน้นคุณค่าของวัฒนธรรมดั้งเดิม มิใช่เรื่องที่มีอันดับความสำคัญในโซเวียต  
ต่อมา ฟลาเฮอร์ตีก็ได้รับการติดต่อเชื้อเชิญจาก จอห์น เกรียร์สัน ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าหน่วยงานผลิตภาพยนตร์ข่าวสารของรัฐบาลอังกฤษ ให้ร่วมทำงานในวงการหนังสารคดีของอังกฤษ ที่นี่เองเขาได้รับการชักชวนและสนับสนุนจากบริษัทโกมองต์แห่งอังกฤษ ให้เดินทางไปทำหนังเรื่องหนึ่งที่หมู่เกาะอแรนนอกชายฝั่งของไอร์แลนด์ ชาวเกาะที่นั่นยังมีความเป็นอยู่อย่างล้าหลัง ต้องต่อสู้กับธรรมชาติอย่างสาหัส ที่เกาะนี้ ฟลาเฮอร์ตีจึงทำหนังเรื่อง "ผู้คนแห่งอแรน"มีแกนเรื่องอยู่ที่การต่อรู้ของมนุษย์กับท้องทะเล สำเร็จออกฉายเมื่อปี 2477

"ผู้คนแห่งอแรม" ได้รับการกล่าวขวัญยกย่องมากกว่าภาพยนตร์เรื่อง อื่น ๆ ที่ฟลาเฮอร์ตีทำ นับจากเรื่อง "นานุกแห่งถิ่นเหนือ" เป็นต้นมา

ถัดจากนั้น อเล็กซานเดอร์ กอร์ดา ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์คนสำคัญคนหนึ่งของอังกฤษ ได้ตกลงสนับสนุนให้ฟลาเฮอร์ตีทำหนังสารคดีเรื่องด่อไปที่อินเดีย คือเรื่อง "เด็กช้าง" แต่เมื่อฟลาเฮอร์ตีถ่ายทำนอกสถานที่ในอินเดียเสร็จแล้ว ผู้สร้างได้แก้ไขหนังใหม่ โดยถ่ายทำเพิ่มเติมในโรงถ่าย ตัดต่อเพิ่มเข้าไปใหม่ ให้เป็นหนังแนวตลาด เอาออกฉายเมื่อปี 2480

ปี 2482 หน่วยงานผลิตภาพยนตร์เผยแพร่ของรัฐบาลสหรัฐ ได้เชิญฟลาเฮอร์ตีกลับคืนสหรัฐ เพื่อรับงานสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับปัญหาการกัดกร่อนของแผ่นดิน ฟลาเฮอร์ตีจึงมีโอกาสสร้างภาพยนตร์สารคดีที่ยิ่งใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง "แผ่นดิน" ซึ่งออกเผยแพร่เมื่อปี ๒๔๘๕ แต่เผยแพร่จำกัดอยู่เฉพาะในวงการศึกษา มิได้ออกฉายตามโรงภาพยนตร์ และฉายเฉพาะในสหรัฐอเมริกา

ต่อมา ฟลาเฮอร์ตีได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแสตนดาร์ดออยล์ให้สร้างภาพยนตร์เรื่อง "เรื่องของหลุยเซียนา" เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาสภาวะแวดล้อมออกฉายเมื่อปี 2491 และกลายเป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของเขา

ฟลาเฮอร์ตีล้มป่วยด้วยโรคปอดและหลอดลมอักเสบเมื่อต้นปี 2493 ชีวิตในบั้นปลายของเขายังคงดิ้นรนต่อสู้เพื่อทำหนังสารคดีในแบบฉบับของเขาและต่อสู้กับโรคร้ายอันทุกข์ทรมาน ฟลาเฮอร์ตีเสียชีวิตด้วยสาเหตุโลหิตคั่งในสมอง เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2497 ที่นิวยอร์ค อายุได้ 67 ปี


ที่มา: Robert Flaherty. 2565. 36 camera studies. Nanook Centennial Exhibition in Inukjuak จาก https://theflaherty.org/nanook-centennial

ตลอดเวลาราวสามสิบปีในการยึดอาชีพเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ โรเบิร์ตฟลาเฮอร์ตี มีผลงานกำกับภาพยนตร์เพียงประมาณสิบเรื่อง แต่เกียรติคุณยิ่งใหญ่ของเขาคือ การได้รับยกย่องให้เป็นบิดาแห่งภาพยนตร์สารคดีอเมริกัน

ฌอง เกรมิยอง นักสร้างภาพยนตร์ลือนามที่สุดคนหนึ่งของฝรั่งเศส เคยกล่าวถึงฟลาเฮอร์ดไว้ดังนี้

"ในดวงตาอันแจ่มใสของเขา มันมีอยู่ทั้งความแกร่งและความอ่อนโยนอันเป็นส่วนของชีวิตวัยเด็กของเขา ซึ่งอาจหลับใหลไปได้ทั้ง ๆ ที่ยังสวมใส่รองเท้ามอคคาซินของพวกอินเดียนแดง และฝันหวานถึงดินแดนของพวกอินเดียน ซึ่งมีทองคำ เขาค้นพบทองคำนั้น และนั่นคือสิ่งที่เขาได้มอบให้พวกเรา เขามักจะค้นหาแต่สิ่งเดิม นั่นคือคุณสมบัติสองอย่างของมนุษย์ หนึ่งคือการต่อสู้กับธรรมชาติ ซึ่งตัวเขาเองสั่งสมความเจนจัดมาจากโลกในวัยเด็กอันน่าหลงใหล อีกหนึ่งคือความรู้สึกแห่งความมหัศจรรย์ของโลกธรรมชาติ ในเรื่อง "โมอานา" และเรื่อง "เรื่องของหลุยเชียนา" ไม่มีนักสร้างหนังคนใดใช้เวลามากไปกว่าเขาอีกแล้วในการศึกษา และทำความเข้าใจองค์ประกอบของแกนเรื่อง และในการเข้าถึงเนื้อหาของเรื่องทั้งอย่างลึกขึ้งและกว้างขวาง"

แต่วาทะของฟลาเฮอร์ตี เขากล่าวไว้เมื่อปี 2469 ดังนี้

"ภาพยนตร์ที่ยิ่ง ใหญ่จริง ๆ นั้น ยังต้องมีการสร้างกันขึ้นมาอีก มันอาจจะไม่ใช่ภาพยนตร์ของพวกโรงถ่ายยักษ์ใหญ่ แต่จะเป็นภาพยนตร์ของพวกนักสร้างอย่างที่เรียกกันว่ามือสมัครเล่น หรือของพวกนักสร้างที่มีความรู้สึกแรงกล้า ในการทำงานโดยไม่หวังผลทางการค้า ภาพยนตร์เหล่านี้จะถูกทำขึ้นด้วยศิลปและด้วยความจริง"


หนังสือประกอบการเขียน
1. Documentary: A History of the Non-Fiction Film. แต่งโดย Erik Barnouw
2. The Innocent Eye แต่งโดย Arthur Calder-Marshall