Clermont-Ferrand International Short Film Festival เป็นหนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์สั้นที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในโลก จัดขึ้นที่เมืองแคลมองต์-แฟร์ร็องด์ เมืองที่อาจไม่ได้มีชื่อเสียงเท่าเมืองใหญ่อื่น ๆ ในฝรั่งเศส แต่โดดเด่นด้วยบรรยากาศแห่งการศึกษาและศิลปวัฒนธรรม จนได้รับเลือกให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning City ขององค์การยูเนสโก
ภาพปก: บรรยากาศในโรง Jean-Cocteau ก่อนเริ่มฉายในสายประกวด จะมีการเชิญผู้กำกับขึ้นมาแนะนำตัวบนเวที
การมีขึ้นของเทศกาลภาพยนตร์สั้นประจำเมืองก็นับเป็นเครื่องสะท้อนถึงศักยภาพแห่งการเรียนรู้ของชุมชนแห่งนี้เป็นอย่างดี เทศกาลนี้เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1979 ในรูปแบบ Short Film Week โดยสมาคมฟิล์มของมหาวิทยาลัยแคลมองต์-แฟร์ร็องด์ ก่อนที่จะค่อย ๆ เติบโตขึ้น จนปัจจุบัน ในปีล่าสุดซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มกราคม - 8 กุมภาพันธ์ 2568 มีภาพยนตร์สั้นฉายมากกว่า 500 เรื่องจากทั่วโลก ทั้งสายประกวดนานาชาติและสายประกวดหนังฝรั่งเศส ไปจนถึงโปรแกรมพิเศษอื่น ๆ อีกมากมาย
แม้จะเป็นงานระดับโลก แต่เทศกาลก็ให้ความสำคัญแก่คนท้องถิ่นเป็นหลัก โดยสถานที่ฉายซึ่งกระจายอยู่ทั่วเมืองทั้ง 14 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงหนังสแตนด์อะโลน โรงหนังในห้างสรรพสินค้า ห้องฉายในมหาวิทยาลัย ฯลฯ และสามารถเดินเท้าหรือนั่งรถรางถึงกันได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที จะมีเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่มีซับไตเติลภาษาอังกฤษ ที่เหลือเป็นซับไตเติลภาษาฝรั่งเศส สถานที่หลักคือ Maison de la Culture ศูนย์วัฒนธรรมของเมือง ที่มีอยู่หลายโรงข้างใน ที่นี่จะมีจอทีวีคอยบอกสถานะของผู้ชม ว่ารอบนั้น ๆ ยังพอมีที่นั่งหรือเต็มแล้ว รวมทั้งแจ้งในแอปพลิเคชันของเทศกาลที่มีให้ดาวน์โหลดไว้เช็กโปรแกรมและวางแผนการชมได้อย่างสะดวก
ภาพ: บรรยากาศต่อแถวรอชมภาพยนตร์ใน Maison de la Culture ศูนย์วัฒนธรรมเมืองแคลมองต์-แฟร์ร็องด์
ทุกรอบที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ชม พบว่าต่างมีคนดูกันแน่นขนัด แม้แต่โรง Jean-Cocteau ที่มีขนาดใหญ่สุดที่มีเกือบ 1,400 ที่นั่ง มีหลายรอบที่ไปเข้าชมไม่ทันเพราะที่นั่งเต็มแล้ว แม้จะไปก่อนล่วงหน้าเกือบครึ่งชั่วโมงก็ตาม ภาพการยืนรอต่อคิวหน้าโรงยาวเหยียดจึงเป็นสิ่งที่เห็นจนชินตา เสมือนเป็นช่วงเวลาพิเศษของเมืองที่ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวต่างออกมามีส่วนร่วม เดินผ่านไปมาก็พบแต่คนสะพายกระเป๋าเทศกาล เปิดอ่านสูจิบัตร ทุกสิ่งต่างเคลื่อนไหวและมีชีวิตชีวาอย่างเป็นธรรมชาติ ราวกับเทศกาลและผู้คนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
ไม่เพียงแต่คนดูหนังทั่วไป ยังเห็นพ่อแม่พาเด็ก ๆ มาดูหนังสั้นโปรแกรมเด็กที่มีสำหรับหลากหลายช่วงวัยกันอย่างคึกคัก ก่อนฉายมีคนมาพูดกระตุ้นเด็ก ๆ และขึ้นตัวเลขนับถอยหลังให้เตรียมตัวดูหนังและได้เปล่งเสียงพร้อมเพรียงกันจนลั่นโรง รวมทั้งยังมีรอบสำหรับโรงเรียนที่คัดหนังจากโปรแกรมอื่น ๆ มาฉายให้นักเรียนชั้นมัธยมชม ในรอบที่ผู้เขียนไปสังเกตการณ์ มีมาจากหลายโรงเรียน บรรยากาศระหว่างการฉายก็จะสนุกสนาน เด็ก ๆ ต่างแสดงอารมณ์ร่วมกับหนังอย่างเต็มที่แตกต่างจากผู้ชมรอบทั่วไป
ภาพ: ผู้ชมต่อแถวรอเข้าโรง Ciné Capitole
ในขณะที่ผู้สูงอายุก็มาร่วมเทศกาลอย่างแข็งขันไม่แพ้กัน วันแรก ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนากับผู้ชมสูงวัยท่านหนึ่งที่ยืนต่อคิวใกล้กัน เธอบอกว่าบ้านอยู่ใกล้ศูนย์วัฒนธรรมเมือง จึงเดินมาดูหนังในเทศกาลเป็นประจำ เมื่อก่อนอาจจะไม่ได้มีเวลามาทุกวัน เพราะทำงานเป็นนักวิจัยอยู่ในโรงพยาบาล แต่ตอนนี้เกษียณแล้วเลยมาดูได้บ่อยขึ้น
ภาพ: บรรยากาศรอบโปรแกรมสำหรับเด็กทีโรง Georges-Conchon ที่มีผู้ชมหลากหลายวัย
นอกจากไปชมภาพยนตร์ ผู้เขียนยังได้มีโอกาสไปเยือน La Jetée ซึ่งเป็นสำนักงานของเทศกาล ชั้นล่างเป็นห้องสมุดภาพยนตร์ มีหนังสือหลากหลายและโต๊ะนั่งชมภาพยนตร์สำหรับให้บริการค้นคว้า ในช่วงเทศกาลนี้ ภายในห้องสมุดยังได้จัดนิทรรศการ Turn It up! Music Film Posters on Display ด้วยการนำโปสเตอร์ต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสของหนังมิวสิคัลเรื่องดังในอดีตมาจัดแสดง นิทรรศการนี้เป็นหนึ่งในสิบนิทรรศการ ที่เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล และกระจายตัวจัดอยู่หลายแห่ง ในขณะเดียวกัน ภายในอาคาร La Jetée ก็ยังมีโรงหนังเล็ก ๆ ขนาด 92 ที่นั่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่จัดฉายของเทศกาลด้วยเช่นกัน
ภาพ: นิทรรศการ Turn It up! Music Film Posters on Display ในห้องสมุดของ La Jetée
สถานที่ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งคือ Mille Formes ศูนย์ศิลปะสำหรับเด็กอายุ 0-6 ขวบ ที่เพิ่งเปิดมาได้ 5 ปี เป็นนโยบายของเมืองที่อยากให้เด็ก ๆ ได้มาเรียนรู้ศิลปะร่วมกับผู้ปกครอง ในช่วงนี้ที่เมืองกำลังมีเทศกาลภาพยนตร์สั้น ก็ได้นำของเล่นยุคก่อนกำเนิดภาพยนตร์ เช่น โซโทรป และพราซิโนสโคป มาจัดแสดงให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ และมีกิจกรรมเกี่ยวกับการทำแอนิเมชันให้ลองเล่น รวมทั้งมีโรงหนังขนาดจิ๋ว ที่นำโปรแกรมหนังสั้นสำหรับเด็กบางเรื่องในเทศกาลตอนนี้มาจัดฉาย รวมทั้งในช่วงเวลาอื่น ๆ ทางเทศกาลแคลมองต์-แฟร์ร็องด์ ก็จะเป็นคนคัดหนังสั้นมาจัดโปรแกรมให้เช่นกัน
ภาพ: นิทรรศการและกิจกรรมเกี่ยวกับภาพยนตร์ใน Mille Formes
สำหรับภารกิจหลักในครั้งนี้ ผู้เขียนมาในฐานะตัวแทนหอภาพยนตร์ที่ได้รับเชิญจากมูลนิธิหนังไทย ซึ่งได้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ให้มาร่วมออกบูธประชาสัมพันธ์หนังสั้นไทยใน Short Film Market อันเป็นตลาดหนังสั้นที่ให้บุคลากรในแวดวงหนังสั้นทั่วโลกได้มาเปิดพื้นที่แนะนำตัว พบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนซื้อขายภาพยนตร์ เพื่อผูกสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายระหว่างกัน
ครั้งล่าสุดที่บูธมูลนิธิหนังไทยและหอภาพยนตร์ได้มาออกบูธในเทศกาลนี้ ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 คราวนั้นจิรัศยา วงษ์สุทิน ผู้กำกับหนังสั้นนักศึกษาเรื่อง วันนั้นของเดือน ได้เดินทางมาด้วย เพราะหนังสั้นเรื่องนี้ของเธอเข้ารอบในสายประกวดนานาชาติและสุดท้ายได้รับรางวัล Jury Mention จากเด็กสาวผู้ชนะรางวัลช้างเผือกของเทศกาลภาพยนตร์สั้นในเมืองไทย ที่ได้มายืนบนเวทีเทศกาลหนังสั้นระดับโลกแห่งนี้ เวลาผ่านไป 10 ปี จิรัศยากำลังมีหนังยาวเรื่องแรก แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่าง เ ร า เข้าฉายในช่วงเดียวกับเทศกาลกำลังจัดขึ้นพอดี ซึ่ง ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ขณะเป็นผู้ดำเนินรายการใน Short Film Conference เรื่อง From Labs to Festivals: Supporting Emerging Talents เพื่อให้ผู้ฟังเห็นว่าเทศกาลนี้มีส่วนผลักดันคนทำหนังรุ่นใหม่ได้อย่างไร
ภาพ: ชลิดา เอื้อบำรุงจิต กับวิทยากรใน Short Film Conference หัวข้อ From Labs to Festivals: Supporting Emerging Talents
ในปีนี้ แม้จะไม่มีผลงานของคนไทยเข้ารอบในสายประกวด แต่ก็ยังมีหนังสั้นไทย 3 เรื่อง ที่ได้จัดฉายในโปรแกรมของเทศกาล คือ OST. (2564) ของ อภิโชค จันทรเสน ในโปรแกรม Blood และ เสียงเงียบ (2550) ของ ศิวโรจน์ คงสกุล กับ อวสานซาวด์แมน (2560) ของ สรยศ ประภาพันธ์ ในโปรแกรม The Buzz ซึ่งกล่าวถึงเรื่องเสียงในภาพยนตร์ นอกจากนี้ หอภาพยนตร์และมูลนิธิหนังไทยยังได้คัดสรรหนังสั้นที่เข้ารอบสุดท้ายในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 28 จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ Avocado on Pancakes, แถนอยู่ไส, ขอให้เรารักกันโดยสวัสดิภาพ, ผื่นกุหลาบ, สะ-บั้น-ปลาย และ To the Mars and Back มาฉายโชว์ในโปรแกรม Market Screening เพื่อนำเสนอศักยภาพของหนังสั้นไทยให้แก่ผู้คนในอุตสาหกรรมหนังสั้นทั่วโลกได้ชม
สำหรับบรรยากาศการออกบูธใน Short Film Market ก็เป็นไปอย่างคึกคัก มีทั้งคนทำหนัง คนจัดเทศกาล ตัวแทนจากหน่วยงาน นักข่าว หรือแม้กระทั่งนักศึกษาไทยในต่างประเทศ ที่มาเทศกาลในฐานะผู้ชม ได้แวะเวียนเข้ามาทักทาย สอบถาม หรือชวนสนทนาในหัวข้อต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่บูธของเราได้คิวจัดกิจกรรม Meet & Greet นำเครื่องดื่มและขนมจากไทยมาเลี้ยงรับรองให้เพื่อน ๆ ชาวตลาดหนังสั้นทั่วโลกได้ลิ้มลอง เป็นประสบการณ์ที่ดีที่ได้พบปะเพื่อนมิตรใหม่ ๆ หรือแม้กระทั่งได้เจอคนคุ้นเคยเก่า ๆ ที่หนังสั้นพาให้เราได้มารู้จักกัน
หนึ่งในบุคคลเหล่านั้น ที่มีความสำคัญและมาเยี่ยมเยียนบูธของเราอยู่บ่อยครั้งคือ รอเฌ โกแน็ง (Roger Gonin) ผู้ร่วมบุกเบิกเทศกาลมาตั้งแต่ต้น ทั้งยังเป็นผู้รักและเชี่ยวชาญเรื่องเมจิกแลนเทิร์น ซึ่งได้มอบเครื่องฉายภาพสไลด์สำหรับเด็กที่เขาปรับแต่งจากของดั้งเดิมเพื่อประโยชน์ในการศึกษามาให้ด้วย นับเป็นของที่ระลึกที่มีความหมาย จากเทศกาลที่เปี่ยมล้นด้วยพลังแห่งผู้คนและหนังสั้น ซึ่งหอภาพยนตร์จะได้นำไปจัดแสดงให้เรียนรู้กันต่อไป
ภาพ: Roger Gonin มอบเครื่องฉายสไลด์ให้ ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์
___________________________
เขียนโดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู
ที่มา จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ฉบับที่ 86 ประจำเดือนมีนาคม - เมษายน 2568