ในสายธารประวัติศาสตร์วงการวิจารณ์ภาพยนตร์ ตลอดจนการศึกษาเรื่องภาพยนตร์ในประเทศไทย บุคคลผู้เป็นส่วนหนึ่งของต้นธาร และได้รับการเคารพยกย่องมายาวนานหลายทศวรรษ ไม่เพียงแต่เฉพาะทักษะความสามารถ หากยังเกิดจากจิตวิญญาณความเป็นครูอันเปี่ยมล้น นั่นคือ กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน – ครูแดง หรือ อาจารย์แดง ของลูกศิษย์และแฟนภาพยนตร์ ผู้ผ่านชีวิตมาจนถึงวัยแปดสิบในปีนี้
กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2488 เขาชอบดูหนังมาตั้งแต่เด็ก เริ่มจากติดตามแม่และพี่ไปโรงหนัง และยิ่งพัฒนาขึ้นเมื่อมาอยู่โรงเรียนประจำที่วิทยาลัยบางแสน ชลบุรี ตั้งแต่อายุราว 8-9 ปี เพราะทางโรงเรียนจะเช่าหนังต่างประเทศมาฉายให้นักเรียนดูทุกคืนวันเสาร์
หนังเหล่านี้เป็นสำเนาฉบับฟิล์ม 16 มม. ที่ไม่มีซับไตเติลภาษาไทย เนื่องจากทำขึ้นสำหรับส่งไปฉายตามต่างจังหวัดซึ่งใช้วิธีการพากย์สด ส่งผลให้เขาได้ทั้งความรู้ภาษาอังกฤษควบคู่ไปกับภาษาภาพยนตร์ จากการต้องคอยสังเกตเทคนิคการเล่าเรื่องด้วยภาพเพื่อพยายามดูให้เข้าใจ เมื่ออายุ 12 ปี เขาได้เป็นผู้รับผิดชอบในการเข้าไปเลือกเช่าหนังจากกรุงเทพฯ มาจัดโปรแกรมฉายให้นักเรียนดูด้วยตนเอง
ยิ่งเติบโตความรักในการดูหนังของเขายิ่งเข้มข้นและหลากหลายขึ้นตามลำดับ ไม่เพียงแต่เฉพาะหนังโรง เขายังตระเวนดูหนังตามหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สถาบันเกอเธ่, สมาคมฝรั่งเศส, สถาบันเอยูเอ รวมถึงเคยเป็นสมาชิก Film Society of Thailand ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ซึ่งนับเป็น Film Club หรือภาพยนตร์สโมสรแห่งแรกในประเทศไทย
ความรู้ด้านภาพยนตร์ที่สั่งสมมาจากการดูหนังจนช่ำชองทำให้เขาได้รับการทาบทามให้เขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ตั้งแต่อยู่ชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย เสถียร จันทิมาธร ได้ชักชวนมาเขียนลงหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยรายวัน หลังจากนั้นเขาก็กลายเป็นนักวิจารณ์หนังผู้ได้รับการยอมรับจากผู้อ่านและมีผลงานในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารต่าง ๆ ต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี ทั้งสยามรัฐ, ประชาชาติรายสัปดาห์, ดาราภาพ (สตาร์พิคส์), แมน, ลลนา, แพรว, ฟิล์มวิว, สีสัน ฯลฯ
ภาพเมื่อครั้ง กิตติศักดิ์ นำชุดครุยและปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มาถ่ายเป็นที่ระลึกที่หอภาพยนตร์ ปี 2566 ถ่ายโดย เอกรินทร์ เอกอัจฉริยะวงศ์
กิตติศักดิ์เคยกล่าวถึงครูผู้นำทางในการเป็นนักวิจารณ์ของเขาว่ามีอยู่ 2 คน คนแรกคือ แพทย์หญิงโชติศรี ท่าราบ นักวิจารณ์เจ้าของนามปากกา “จิ๋ว บางซื่อ” และ “แกลตา” ที่เขาได้อ่านข้อเขียนมาตั้งแต่ชั้นมัธยม ซึ่งช่วยชี้ให้เห็นว่าศิลปะของเพลง หนัง และละคร นั้นอยู่ตรงไหน คนที่สองคือ สดใส พันธุมโกมล อาจารย์ด้านการละคร ซึ่งเคยเขียนบทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง The Graduate ลงในวารสารจุฬาฯ สาร ตั้งแต่สมัยที่กิตติศักดิ์ยังเป็นนิสิต บทความนั้นได้วิเคราะห์การสื่อความหมายของหนังโดยละเอียด โดยเฉพาะบทบาทของกระจกและน้ำในเรื่อง เป็นการวิเคราะห์หนังแบบที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนในเมืองไทย และทำให้เขาได้ตระหนักว่า หนังไม่ใช่แค่ความบันเทิง แต่ยังกระตุ้นให้ได้ใช้ความคิดระหว่างดู
งานวิจารณ์ของกิตติศักดิ์จึงมีลักษณะสองประการนี้รวมกันอยู่เสมอ คือชี้ให้ผู้อ่านเห็นถึงศิลปะของหนังและกระตุ้นให้เกิดความคิด ด้วยภาษาที่ไม่เพียงกระชับเรียบง่าย หากแต่ยังทำให้อ่านง่าย แม้แต่การอธิบายเรื่องยาก ๆ หรือกล่าวถึงหนังที่เข้าใจยาก เพราะความสามารถในการจับประเด็นที่แม่นยำและการถ่ายทอดที่ชัดเจน รวมทั้งเป้าหมายที่ต้องการให้ผู้อ่านสนุกกับการอ่าน จนอาจสามารถดูหนังที่ไม่สนุกให้สนุกได้
นอกจากการเขียนวิจารณ์ด้วยตนเอง กิตติศักดิ์ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้โอกาสนักวิจารณ์รุ่นหลังอยู่เสมอ ด้วยการหาพื้นที่ให้เขียน ส่งผลให้เกิดการเติบโตของนักวิจารณ์ภาพยนตร์หลายคน ซึ่งมีส่วนช่วยพัฒนาวงการภาพยนตร์ในเมืองไทย
บทบาทในฐานะคอลัมนิสต์ภาพยนตร์อีกด้านหนึ่งของกิตติศักดิ์ที่มีอิทธิพลต่อผู้อ่านเป็นอย่างมาก คือการตอบจดหมายในนิตยสารสตาร์พิคส์ด้วยนามปากกา “ทิวลิบ” แต่เดิมนั้นผู้เริ่มต้นนามปากกานี้คือ มานิจ โมฬีชาติ ที่ใช้เขียนตอบผู้อ่านในคอลัมน์ We Read Your Mail ซึ่งเริ่มมีในปี 2516 โดยกิตติศักดิ์เคยเข้าไปช่วยตอบในบางคราวก่อนที่มานิจจะเลิกทำ เขาจึงเข้ามาแทนอย่างเต็มตัว
ในยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตให้ค้นคว้า ทิวลิบได้ทำหน้าที่ตอบคำถามภาพยนตร์สารพัด จนกลายเป็นหนึ่งในคอลัมน์ที่ผู้อ่านคอยติดตามอ่านกันตลอดมายาวนานหลายปี ครั้งหนึ่งในปี 2519 วิลาศ มณีวัต นักเขียนชื่อดัง ได้เขียนชื่นชมถึงวิธีการตอบจดหมายของทิวลิบว่า “คนตอบแกเป็นคนมีเสน่ห์ทางปากกา ตอบจดหมายได้อย่างวิเศษ เพราะแกมีพรสวรรค์ไปทางขีดเขียน และมีความรู้ ข้อสำคัญคืออ่านหนังสือมาก เรียกได้ว่าเป็นหนอนหนังสือเชียวแหละ... และฉลาดมากคือ ชอบอ่านเรื่องแปล”
นอกจากชอบอ่านเรื่องแปล กิตติศักดิ์ยังเป็นนักแปลอีกด้วย งานแปลเล่มหนึ่งของเขาที่มีคุณค่าและช่วยเปิดโลกให้นักดูหนังในเมืองไทยเป็นอย่างมากคือ “หนังคลาสสิค” ที่เขาแปลและเรียบเรียงจากหนังสือ The Great Movies ของ วิลเลียม ไบเออร์ ด้วยความรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้พูดถึงหนังที่หลากหลายและคนไทยควรได้รู้จักกัน เขาจึงเริ่มแปลลงนิตยสารสตาร์พิคส์ ก่อนจะจัดพิมพ์รวมเล่มในปี 2529
ความเป็นพหูสูตในโลกภาพยนตร์ ทำให้เขามักได้รับการยกย่องว่าเป็น “เอ็นไซโคลพีเดียภาพยนตร์” แต่คุณูปการสำคัญของกิตติศักดิ์ไม่ได้แต่จะทำให้ผู้รับสารได้ “ข้อมูล” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากยังทำให้เกิดสิ่งที่สำคัญกว่า นั่นคือ “ปัญญา” เช่นเดียวกับเมื่อเขารับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนภาพยนตร์ เริ่มต้นจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อเนื่องไปอีกหลายสถาบันนับสิบแห่ง วิธีการสอนของเขานั้นจะกระตุ้นให้นักศึกษาได้คิดหาคำตอบด้วยตนเองก่อนเสมอ แม้คำตอบแรกอาจจะผิด แต่เขาก็สามารถค่อย ๆ ชี้ชวนให้ได้คิดตามจนเข้าใจและพบคำตอบที่ถูกต้องในท้ายที่สุด
กิตติศักดิ์ไม่เพียงเป็นครูในสถาบันการศึกษาภาพยนตร์ หากแต่เขายังเป็นผู้อบรมความรู้ด้านภาพยนตร์ให้แก่ผู้คนอีกหลายกลุ่ม กล่าวเฉพาะหอภาพยนตร์ เขาเริ่มตั้งแต่จัดอบรม “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภาพยนตร์” เมื่อปี 2533 ซึ่งเป็นงานที่หอภาพยนตร์ร่วมกับชมรมวิจารณ์บันเทิง และต่อมากลายเป็นคอร์ส “ภาพยนตร์วิจักษณ์” ที่มูลนิธิหนังไทยซึ่งเขาเป็นประธานเคยจัดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงงานอบรมอื่น ๆ ของหอภาพยนตร์เอง เช่น อบรมการวิจารณ์ภาพยนตร์สำหรับเยาวชนปี 2555 และปี 2564, อบรมครู เรื่องการใช้ภาพยนตร์ในห้องเรียน ปี 2563 และปี 2565 และที่สำคัญคือการจัดรายการ “ดูหนังคลาสสิกกับ กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน” อันเป็นโปรแกรมที่เขาเลือกสรรหนังหลากหลายมาจัดฉาย พร้อมให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้ชมที่หอภาพยนตร์ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560
ทั้งหมดนี้เป็นบทบาทเพียงด้านหนึ่งของ กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน หากแต่เป็นด้านสำคัญ นั่นคือด้านที่เป็นครูให้แก่ผู้อ่าน ผู้ดู ผู้เขียน และผู้เรียนรู้ภาพยนตร์มากมายหลายต่อหลายรุ่น เพื่อเชิดชูครูแดงของทุกคน หอภาพยนตร์และชมรมวิจารณ์บันเทิงจึงได้ร่วมกันจัด กิจกรรม “80 ปี กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน” ในวันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม 2568 โดยจัดฉายภาพยนตร์สารคดีและการสนทนาถึงคุณูปการอันหลากหลายของท่าน นอกจากนี้หอภาพยนตร์ยังได้ให้ท่านเลือกหนัง 10 เรื่องที่ประทับใจมาฉายตลอดเดือนมีนาคม รวมถึงนำผลงานละครเวทีจากบทของท่านมาจัดฉายควบคู่ไปด้วย
เขียนโดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู
ภาพปกโดย เอกรินทร์ เอกอัจฉริยะวงศ์
ที่มา จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ฉบับที่ 86 ประจำเดือนมีนาคม - เมษายน 2568