“แกลตา” เป็นนามปากกาของแพทย์หญิงโชติศรี ท่าราบ (6 ตุลาคม 2462 - 30 ธันวาคม 2559) นักเขียนและนักวิจารณ์คนสำคัญในอดีต ผู้มีอีกนามปากกาหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักมากกว่าคือ “จิ๋ว บางซื่อ” ใช้สำหรับงานเขียนเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิก โอเปร่า บัลเลต์ ในคอลัมน์ “กลางกรุง” ประจำนิตยสารชาวกรุง รายเดือน ในขณะที่นามปากกา “แกลตา”นั้นใช้สำหรับงานเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ ในคอลัมน์ “หนังกรุง” ของนิตยสารฉบับเดียวกัน
ในคอลัมน์ “หนังกรุง” ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2501 “แกลตา” ได้เขียนวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง นิ้วเพชร และ ไทยแลนด์ ซึ่งสร้างโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และมอบหมายให้ รัตน์ เปสตันยี แห่งโรงถ่ายหนุมานภาพยนตร์ เป็นผู้กำกับ มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยให้ชาวต่างชาติได้รู้จัก ผลงานทั้งสองเรื่องยาวประมาณ 30 นาที ออกฉายรอบปฐมทัศน์ในเมืองไทยครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2501 ที่โรงภาพยนตร์กรุงเกษม โดยรวมอยู่ในโปรแกรมเดียวกับภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง พยานสวาท หรือ Witness for the Prosecution ของผู้กำกับ บิลลี ไวเดอร์ โดยเรื่อง ไทยแลนด์ เป็นสารคดีบรรยายถึงสภาพบ้านเมืองและวิถีชีวิตของชาวไทย ส่วน นิ้วเพชร นั้นเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดให้เห็นถึงความงามของนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย ผ่านเนื้อหาของวรรณคดีรามเกียรติ์ ตอน นารายณ์ปราบนนทุก และบรรยายเรื่องเป็นภาษาอังกฤษโดย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
เนื่องในวาระที่ กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน ได้เลือก นิ้วเพชร มาจัดฉายในโปรแกรมประจำเดือนมีนาคม 2568 หอภาพยนตร์จึงได้นำบทวิจารณ์ นิ้วเพชร ของ “แกลตา” ฉบับนี้ มาเผยแพร่ให้ได้อ่านกันอีกครั้ง ไม่เพียงแต่จะเพื่อเป็นการศึกษางานวิจารณ์ภาพยนตร์รุ่นบุกเบิกของนักเขียนผู้สามารถนำความเข้าใจด้านภาพยนตร์และความรู้ด้านนาฏศิลป์ไทย มาวิจารณ์ผลงานเรื่องนี้ได้อย่างละเอียดและแตกฉาน หากแต่ กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน เองก็ยังได้กล่าวยกย่อง แพทย์หญิงโชติศรี ท่าราบ อยู่เสมอ ว่าเป็นครูผู้นำทางให้แก่การเป็นนักวิจารณ์ของตน ก่อนที่ อาจารย์กิตติศักดิ์จะกลายมาเป็นครูของนักวิจารณ์อีกมากมายหลายรุ่นในปัจจุบัน
*InArchive เป็นเซกชั่นบทความที่หอภาพยนตร์นำข้อเขียนจากนิตยสารหรือหนังสือเก่า ซึ่งหอภาพยนตร์อนุรักษ์ไว้ มาเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
บทวิจารณ์ ไทยแลนด์ และ นิ้วเพชร จากคอลัมน์ “หนังกรุง” โดย “แกลตา”
ในนิตยสาร “ชาวกรุง” ฉบับปีที่ 8 เล่มที่ 2 พฤศจิกายน 2501
เป็นครั้งแรกที่กรมศิลปากรทำหนังออกมาให้ประชาชนชม ถึงแม้จุดมุ่งหมายจะเป็นไปเพื่อให้ชาวต่างประเทศรู้จักเมืองไทยและศิลปะของไทยมากกว่าตั้งใจจะให้คนไทยด้วยกันดู ผมก็จะขอกล่าวถึง “ไทยแลนด์” กับ “นิ้วเพชร” เสียก่อน
สำหรับ “ไทยแลนด์” ผมว่าก็ยังงั้นยังงั้น ใจจริงของผมไม่ได้รู้สึกชื่นชอบเสียเลยเพราะมันไม่ใช่ชีวิตจริง ๆของคนไทย อีกอย่างหนึ่งพอขึ้นต้นเห็นยังใส่เกือกรำละคอน รวมทั้งตอนฟ้อนของชาวเหนือ ก็ยังใส่เกือกปลายงอนอยู่อีก ผมก็ชักหมดอาลัย ยิ่งพอมาถึงตอนถ่ายภูเขาทองหรือที่แท้ภูเขาปูนซีเมนต์ฝีมือเจ๊กไปอวดเขา อาการหมดอาลัยของผมก็ยิ่งกำเริบหนักขึ้นไปอีก แล้วก็การที่ผู้หญิงสาว ๆ ชาวไทยจะไปไหว้พระโบสถ์กันแต่ละทีนั้น เขาต้องแต่งชุดราตรีกันไปยังงั้นหรือครับดูแล้วไม่เข้าใจจริง ๆ พิธีแต่งงานก็อีก ตัวเจ้าบ่าวนั้นเหมือนกับเด็กที่โดนผู้ใหญ่เขาจับมานั่งดูการแต่งงานว่าเขาทำกันยังไง มากกว่าจะเป็นเจ้าบ่าวจริง ๆ เพราะดูเที่ยวยิ้มมองใครต่อใครที่เข้ามาทำเป็นราดน้ำสังข์อยู่ตลอดเวลา และไม่ได้มีท่าว่าจะเอาใจใส่กับเจ้าสาวที่หน้าแก่กว่าเลยสักนิดเดียว แล้วถึงเวลารำวงฉลอง ตัวเจ้าบ่าวก็ไปรำกับใครไม่รู้ ไม่ใช่เจ้าสาว เพราะฉะนั้นใคร ๆ ก็พอจะจับได้ว่าพิธีแต่งงานนี้เป็นเพียงพิธีหลอก ๆ เท่านั้นเอง เจ้าสาวถึงหน้าบอกบุญไม่รับเลย พิธีลอยกระทงก็ดูชอบกลเหมือนการลอยกระทงในหนัง “สันติ-วีณา” ของหนุมานภาพยนตร์ยังงั้นแหละ ดูจบแล้ว ผมก็ได้คิดว่า “ไทยแลนด์” ของกรมศิลปากรก็คือกรุงเทพหรือกรุงเทพฯ ก็คือ “ไทยแลนด์” นี่เองแหละแฮะ แล้วก็เกิดไปคิดถึงชีวิตของชาวเรือไทยที่วอลท์ ดิสนี่ย์ มาถ่ายทำเต็มที ดูแล้วเขาเข้าถึงชีวิตจริง ๆ ของคนไทยดีเสียกว่า แต่สรุปแล้ว “ไทยแลนด์”ของศิลปากรนี่ดีตรงพากย์
ภาพ: ฉากพิธีแต่งงานใน ไทยแลนด์
ส่วน “นิ้วเพชร” นั้นตรงข้าม ดีวิเศษพร้อมทุกประการ ผู้แสดงทุกคนก็เยี่ยมมาก โดยเฉพาะคุณทองเริ่ม มงคลนัฏ ผู้แสดงเป็นนนทุกนั้นตีบทแตกจริง ๆ แสดงอารมณ์ต่าง ๆ ด้วยกระบวนรำและท่วงท่าอันเป็นศิลปได้งดงามถึงใจ ผมชอบตอนแสดงความขัดเคืองคั่งแค้นที่โดนพวกเทวดารุมแกล้งต่าง ๆ นานา ตอนรำเพลงเสมอมารขึ้นบันไดไปเฝ้าพระอิศวร ก็ออกท่าเศร้าให้เห็นแม้จะถ่ายจากด้านหลังและยิ่งโศกหนักขึ้นไปอีกเมื่อถึงเพลงธรณีร้องไห้หรือสุธากรรแสง ปี่พาทย์ก็เล่นดีจนผมอยากกรรแสงตาม แต่ตอนได้ประทานนิ้วเพชรแล้วเต้นกราวรำลงบันไดมานั้นคึกคักดีอกดีใจเป็นที่ถูกอารมณ์คุณ “จอเหี่ยว” มากกว่าผม
พระอิศวร (อาคม สายาคม) รำขับไม้บัณเฑาะว์กับกระบองกัณฑ์ไว้สวยเสียจนชักจะเคลิ้มว่าได้ดูเทวดาแขกจริง ๆ ส่วนพระนารายณ์ (ทองสุข ทองหลิม) นั้นรำกลมสั้นนิดเดียวแต่ตอนรำตระนิมิตจะแปลงเป็นนางฟ้าล่อนนทุกนั้นสวยมาก ท่าทางงามสง่าสมเป็นนารายณ์ดี นางนารายณ์แปลง (บุนนาค เศวตนัย) ก็รำแม่บทในเพลงชมตลาดได้อ่อนช้อยน่าดู แต่ตอนนนทุกรำตามจนถึงท่านาคาม้วนหางแล้วล้มลง และก่อนจะตายก็ได้แปลงกายเป็นนารายณ์สี่กรนั่น Close up พระนารายณ์แวบเดียวเท่านั้นเองไม่ถึง 2 วินาที
ภาพ: นนทุก (ทองเริ่ม มงคลนัฎ) ขณะรำตามนางนารายณ์แปลง (บุนนาค เศวตนัย)
พูดถึงการถ่าย ผมก็ออกจะชอบตั้งแต่ตอนขึ้นต้นที่เห็นแต่การ “ซอยจังหวะประเท้าเคล่าคล่อง” ของเหล่าเทวดานางฟ้าที่ลงบันไดมา รู้สึกว่าเรียกความสนใจทำให้ตื่นเต้นได้มากทีเดียว แต่ตอนขึ้น Title เหล่าเทวันออกจะรำชิดแผ่นป้ายตัวหนังสือมากไป ถ้าเว้นระยะให้ห่างออกไปอีกสักเล็กน้อยคงจะงามตาขึ้น บันไดสวรรค์จากเชิงเขาไกรลาศขึ้นไปปราสาทพระอิศวรก็ออกจะมืดมัวไปสักหน่อยและถ่ายพระนารายณ์ตอนแรกที่เสด็จมาไกลไปหน่อยเหมือนกัน ตอนนี้ถ้าหากศิลปากรมีทุนรอนมากทำได้เต็มตามสคริ๊พท์เดิม (ที่ผมมีโอกาสได้เห็นก็เนื่องจากท่านผู้เป็น Narrator & advisor ของหนังเรื่องนี้ท่านส่งมาให้อ่าน ไม่ใช่ว่าจะให้ผมช่วยออกความเห็นเป็นที่ปรึกษาด้วยหรอกครับ แต่ท่านยื่นมาให้อ่านแก้อาการนั่งเล่นอยู่ว่าง ๆ ของผมน่ะ) หนังที่ออกมาคงจะสวยมากทีเดียว เพราะสคริ๊พท์เดิมเขียนตามบทในรามเกียรติ์ที่ต้องให้พระอิศวรเสด็จไปปลุกบรรทมพระนารายณ์เพื่อทูลขอให้มาช่วยปราบนนทุก ฉากตอนพระนารายณ์บรรทมอยู่บนหลังอนันตนาคราชในเกษียรสมุทรนั้น ลองหลับตานึกภาพก็จะเห็นได้ว่าต้องสวยเหลือเกิน เกษียรสมุทรอันไพศาลจะเห็นเป็นสีขาวดังน้ำนม ตัดกับสีเขียวเลื่อมของเกร็ดพญาอนันตนาคราช อันรองรับองค์นารายณ์ในเครื่องทรงสอดสีงามระยับ เห็นเด่นอยู่กลางฟองคลื่นขาวสะอาดแห่งทะเลน้ำนม แต่โดยเหตุที่ทุนรอนอันมีไม่ค่อยมากนั้นเอง ทำให้ต้องตัดฉากนี้ออกไป และเปลี่ยนเป็นพระนายณ์ทรงทราบเรื่องขุกเข็ญบนสวรรค์ด้วยพระองค์เอง และเสด็จมาเองโดยไม่มีใครเขาไปเชิญว่าชาติ – เอ๊ยเหล่าเทวดาต้องการ
ภาพ: อาคม สายาคม ผู้แสดงเป็น พระอิศวร ใน นิ้วเพชร
ได้ทราบมาว่าผู้จัดการบริษัทฝรั่งใหญ่โตแห่งหนึ่ง ถึงกับมีหนังสือเวียนแจ้งให้เจ้าหน้าที่ฝรั่งทุกคนในบริษัทไปดูหนังเรื่องนี้ให้จงได้ อันศิลปบริสุทธิ์นั้นย่อมเป็นสิ่งที่เข้าใจกันได้ไม่ว่าชาติใดภาษาใดอย่างงี้แหละ
อีก 2 อาทิตย์ต่อมา พระนารายณ์ใน “นิ้วเพชร” ก็ได้อวตารมาเป็นพระรามจริง ๆ บนเวทีกรุงเกษมในการแสดงโขนหน้าพระที่นั่งตอนขาดเศียรขาดกร ส่วนนนทุกไม่ยักมาเกิดเป็นทศกัณฐ์ แต่ไพล่ไปเกิดเป็นพิเภกเสียนี่ ปล่อยให้ท่านผู้เป็น Narrator & Advisor จุติเป็นทศกัณฐ์ตัวนั่งเมืองและตรวจพลแทน ใครที่เป็นแฟนพระรามอยากจะรู้ว่าตัวจริงเวลาไม่ได้รัดเครื่องเป็นอย่างไร ก็จงดูเอาได้จากตัวเจ้าบ่าวอุปโหลกใน “ไทยแลนด์” นั่นแหละเขาละ
เกือบลืมไปเสียเรื่องหนึ่งแล้ว ไม่รู้ว่าว่าความคิดของใครที่เอาเด็กนักเรียนนาฏศิลปสาว ๆ มาจีบปากจีบคอชะม้อยชะม้ายตาพูดเกริ่นก่อนฉายนิ้วเพชร คนดูดูแล้วร้องอื้ออ้ากันทั้งโรงเลย รำคาญ บ้านเมืองเราเพราะผู้ใหญ่ไม่เป็นผู้ใหญ่ เด็กมันก็เลยไม่เป็นเด็ก ชัดจะเลอะกันไปเสียยังงี้ละนา
ภาพ: แพทย์หญิงโชติศรี ท่าราบ ถ่ายโดย รงค์ วงษ์สวรรค์
ภาพจาก นิวัติ กองเพียร