การทำงานของช่างถ่ายภาพนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นงานกีฬา งานประกาศรางวัล งานวันเกิด งานแต่งงาน งานรับปริญญา หรืองานกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม ซึ่งในสถานการณ์นั้น ๆ จะต้องมีช่วงเวลาที่ใครคนหนึ่งแสดงจังหวะอารมณ์ต่าง ๆ ออกมา หน้าที่ของช่างถ่ายภาพนิ่ง คือ การเตรียมกล้องไว้ให้พร้อมและไม่ปล่อยให้ช่วงเวลานั้นหลุดลอยไป เพื่อบันทึกวินาทีแห่งการสื่อสารความรู้สึกของบุคคลเหล่านั้นเอาไว้ให้ได้ การพบกันในจดหมายข่าวครั้งนี้ ห้องสมุดฯ ชวนผู้อ่านมารู้จักกับหนังสือ Photo Breakdowns ผลงานภาพนิ่งและงานเขียนจาก Greg Williams โดยเนื้อหาในเล่มนำเสนอภาพนิ่งเบื้องหลังการทำงานของบุคคลในเส้นทางภาพยนตร์ และการเล่าเทคนิคการถ่ายภาพ รวมถึงเรื่องราวสุดประทับใจในจังหวะที่เขาตัดสินใจกดชัตเตอร์กล้องถ่ายภาพ
ในช่วงยุค 90 Greg เริ่มต้นงานภาพนิ่งจากการถ่ายภาพแนวรายงานข่าวตามแบบฉบับของตนเอง โดยถ่ายภาพสมรภูมิรบในเมียนมา สาธารณรัฐเชเชน สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน ต่อมางานที่ได้รับมอบหมายจาก The Sunday Times Magazine ได้กลายเป็นใบเบิกทางเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ และจนถึงปัจจุบันเขาได้ถ่ายภาพนิ่งฉบับพิเศษให้กับภาพยนตร์มากกว่า 200 เรื่องแล้ว ทุกประสบการณ์ของ Greg ในหนังสือเล่มนี้ล้วนสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแนวทางการถ่ายภาพของพวกเราได้ โดยทุกวันนี้ Greg มีแนวคิดเลือกวิธีแบบเรียบง่ายที่สุดในการถ่ายภาพ คือ ตัวเขา แสงที่แวดล้อม กล้องถ่ายภาพ และสิ่งที่ต้องการถ่ายภาพ เช่น การที่เดินเข้าไปในห้อง ๆ หนึ่งแล้วจินตนาการว่าห้องนั้นส่องสว่างเอาไว้เพื่อเขาคนเดียว แล้วเขาก็ถามกับตัวเองว่า เขาควรทำยังไงต่อกับแสงแบบนี้ สถานที่แบบนี้ และเจ้าสิ่งที่จะถ่ายภาพนี่ดีนะ
อีกหนึ่งบทเรียนสำคัญที่เราจะได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้ คือ ในฐานะช่างถ่ายภาพ เรามักจะออกไปถ่ายภาพโดยคิดในหัวเอาไว้อยู่แล้วว่าพวกเราอยากจะถ่ายภาพแบบไหน ดังนั้น เราต้องเปิดรับต่อความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะว่าภาพที่เราถ่ายออกมาได้ในตอนท้าย อาจจะไม่ใช่ภาพแบบที่เราคิดอยากจะได้ในตอนแรก และยิ่งถ้าเราก้าวข้ามเรื่องนี้ไปได้เร็วแค่ไหน เราก็จะยิ่งเก็บภาพที่กำลังปรากฏอยู่ตรงหน้าของตัวเองได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เหนือสิ่งอื่นใดเราต้องมีอารมณ์ร่วมและอ่อนโยนต่อสิ่งที่ตัวเองจะถ่ายภาพ การปฏิบัติด้วยวิธีนี้จะช่วยให้เกิดความรู้สึกไว้วางใจ และความรู้สึกของการร่วมมือกันจนได้เป็นภาพที่สมจริงมากที่สุด สำหรับหนังสือ Photo Breakdowns ประกอบไปด้วยผลงานภาพชิ้นโปรดของ Greg หลายร้อยรูปภาพเลยทีเดียว
ซึ่งห้องสมุดได้เลือกยกตัวอย่างมาบางภาพ เช่นภาพนิ่ง Johnny Depp ภาพนี้บันทึกจากกองถ่ายภาพยนตร์ Minamata ที่ประเทศมอนเตเนโกร ซึ่ง Greg ถ่ายภาพนี้ทันทีหลังจากฉากที่ Johnny ต้องตัวเปียกโชก พอเขาถ่ายทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาก็ใส่ชุดคลุมอาบน้ำแบบมีหมวกทันทีและถูกพาตัวไปขึ้นรถที่จะขับกลับ เพื่อไปยังฐานกองถ่ายที่อยู่ห่างออกไปราว ๆ 20 นาที Greg เล่าว่า หลอดไฟ LED หลอดเล็ก ๆ ที่อยู่เหนือประตูด้านในรถ มันเป็นไฟหลอดเล็กหลอดน้อยที่สามารถมีแสงงดงามได้จริง หลอดไฟอยู่เหนือ Johnny ทำให้เกิดเงาจาง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ใต้หมวก ใต้จมูก ใต้คางของเขา และในกรณีนี้มันให้ผลลัพธ์ของความสุขุมลุ่มลึกที่สมบูรณ์แบบเลยทีเดียว แต่ปัญหาหลักของหลอดไฟพวกนี้ คือ พวกมันไม่ได้สว่างมากเท่าไรนัก ซึ่งสภาพแสงน้อยเป็นอุปสรรคและเป็นความท้าทายของการถ่ายภาพภายในรถที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ ดังนั้น Greg เลือกใช้เลนส์ระยะไกล 75 มม. เขานำกล้องติดกับมอเตอร์ไดร์ ปรับโฟกัสให้ดี และค่อยเริ่มถ่ายภาพ มีเคล็ดลับอยู่ข้อหนึ่งที่เขาใช้สำหรับการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย โดยการปล่อยให้มอเตอร์ไดร์ทำงานต่อไปเรื่อย ๆ พอถึงจุดหนึ่งแล้วเราก็จะได้ภาพที่คมชัด เขาถ่ายไปหลายภาพและคิดว่ามีอยู่ 3 ภาพที่คมชัด
ตัวอย่างภาพที่แสดงอารมณ์อย่างเปิดเผยแบบสุดขีดภาพหนึ่งที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ คือ Lady Gaga ในช่วงวินาทีที่เธอเดินลงจากเวทีงานประกาศรางวัลออสการ์เมื่อ ค.ศ. 2019 หลังจากที่เธอชนะรางวัล สาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยมอย่างเพลง “Shallow” จากภาพยนตร์ A Star Is Born (2561) ซึ่ง Greg เล่าที่มาของภาพนี้ว่า อันที่จริงก็มีภาพถ่ายในคืนนั้นอยู่หลายภาพที่ Gaga ดูอ่อนไหวและมีความสุขอย่างแท้จริง แต่ก็ไม่มีภาพไหนที่เหมือนกับภาพนี้เลย เพราะภาพนี้บันทึกได้ก่อนที่อารมณ์ของเธอจะสงบนิ่ง สิ่งที่พวกเราได้เห็น คือ ความผ่อนคลาย และความภาคภูมิใจที่ปลดปล่อยออกมาอย่างชัดเจนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเธอรู้สึกท่วมท้นอิ่มเอมใจกับรางวัลนี้
ภาพบรรยากาศเบื้องหลังขณะทีมงานกำลังถ่ายทำภาพยนตร์ Casino Royale (2549) ในภาพ Daniel Craig กำลังยืนถือปืนอยู่พร้อมกับใส่แว่นกันแดดด้วย ซึ่งทั้งปืนและแว่นกันแดดจะต้องถอดออกก่อนที่เขาจะพูดบทอันโด่งดังว่า “บอนด์ เจมส์ บอนด์” สิ่งที่ Greg ชื่นชอบมากที่สุดเกี่ยวกับภาพนี้ คือ พวกเราจะมองเห็นทีมงานที่หน้างานทั้งหมด เจ้าแผ่นสะท้อนแสงสีขาวช่วยส่งให้ Daniel ดูโดดเด่น ซึ่ง Greg รักการทำงานในกองถ่ายแม้ว่าเขาไม่เคยได้ชื่อว่าเป็นช่างถ่ายภาพนิ่งประจำกองถ่ายเลย แต่ Greg ทำในสิ่งที่เรียกว่า “การถ่ายภาพฉบับพิเศษ” ดังนั้นหน้าที่ของเขาคือการคอยเก็บภาพช่วงเวลาต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมโดยรวมของการถ่ายทำภาพยนตร์ และเป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำสำหรับการทำหน้าที่ช่างถ่ายภาพนิ่งของเขา
สำหรับการเล่าประสบการณ์ของ Greg ที่น่าสนใจอีกภาพหนึ่งเป็นการถ่ายภาพ Robert Downy Jr. เพื่อขึ้นหน้าปกนิตยสาร Esquire หลังจากการประกาศว่าเขาได้รับบทเป็น Iron Man การถ่ายภาพครั้งนั้น ทีมงานเช่าฉากกลางแจ้งที่ Universal Studios โดย Robert กำลังหมุนตัวไปรอบ ๆ แบบอิสระ และเขาก็ส่งพลังงานอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความสนุกสนานมีชีวิตชีวาพุ่งไปที่กล้องถ่ายภาพ ซึ่งภาพนี้จะแตกต่างกับผลงานภาพถ่ายของ Greg ในห้วงเวลานั้นที่ค่อนข้างมีการควบคุม มีการจัดแสง ถูกวางแผนไตร่ตรองเอาไว้ล่วงหน้้า แม้ว่าแนวทางในอาชีพช่างภาพคนหนึ่งจะเปลี่ยนไป แต่เขามองว่าสิ่งที่เขาปฏิบัติมาตลอดในฐานะช่างถ่ายภาพนิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือ การให้คุณค่ากับความสมจริงในภาพถ่ายแต่ละภาพ
ผู้สนใจใช้งานสามารถสืบค้นและรับชมภาพยนตร์ได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี วันอังคาร-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.30-17.30 น. หรือสืบค้นออนไลน์ได้จาก Open Data ภาพยนตร์ ทางเว็บไซต์หอภาพยนตร์ www.fapot.or.th/main/library/view2/4 เลือก “สืบค้นหนังสือ”
-------------------------------
โดย วิมลิน มีศิริ
ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 82 ประจำเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2567