20 ปี พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย ในวาระ 40 ปี หอภาพยนตร์

ย้อนกลับไปปี 2541 นิคม มูสิกะคามะ เพิ่งรับตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ได้มาตรวจงานที่สำนักช่างสิบหมู่ ศาลายา เลยแวะมาดูหอภาพยนตร์แห่งชาติ ท่านสมเพชว่าหอภาพยนตร์แห่งชาติชื่อใหญ่โต แต่กระจอกมาก เพราะขณะนั้นมีอาคารเก็บฟิล์มเพียงอาคารเดียวตั้งอยู่กลางทุ่งนา จึงออกปากว่ามีงบประมาณให้สองล้านบาท หอภาพยนตร์ ไปคิดมาว่าจะทำอะไร


จึงเป็นที่มาของโครงการสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย โดยเลือกแบบโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงของพี่น้องตระกูลวสุวัต เปิด ใช้งานในปี 2478 ปัจจุบันคือที่ตั้งสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีสุขุมวิท เป็นต้นแบบในการสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงโรงถ่ายหนังเสียงแห่งแรกของไทย 


31 กรกฎาคม 2543 ลงเสาเข็มต้นแรก แล้วเสร็จปลายปีเดียวกัน มีแต่ตัวอาคารขนาดเล็กพื้นที่เพียง 230 ตร.ม. ซึ่งยังว่างเปล่า หอภาพยนตร์จึงคิดจัดงานผ้าป่าสามัคคี หาเงินบริจาคและหาสิ่งของบริจาคจากคนในวงการภาพยนตร์ไทย เพื่อตกแต่งอาคารและจัดแสดงสิ่งของ นอกเหนือจากที่เคยได้รับตั้งแต่เริ่มแต่งตั้งเป็นหอภาพยนตร์แห่งชาติเมื่อปี 2527 โดยมี แท้ ประกาศวุฒิสาร และ เชิด ทรงศรี ยินดีรับเป็นประธานกองผ้าป่า ปรากฏว่าได้รับการสนับสนุนจากผู้คนในวงการภาพยนตร์เป็นอย่างดี สามารถหา เงินบริจาคได้เกือบสองแสนบาท และได้รับมอบวัตถุสิ่งของจัดแสดงอีกพอสมควร โดยจัดงานทอดผ้าป่าในวันที่ 19 กันยายน 2547 ซึ่งบังเอิญตรงกับวันพิพิธภัณฑ์ไทยพอดี และเริ่มเปิดพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนเข้าชมได้ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา 



พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยแบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน จัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์หนึ่งศตวรรษภาพยนตร์ไทย โถงเกียรติยศเพื่อยกย่องบุคคลสำคัญในวงการภาพยนตร์ไทย รวมถึงกระบวนการผลิตภาพยนตร์ โดยภายในจะไม่มีป้ายคำอธิบายใต้วัตถุ แต่ออกแบบให้เป็นการนำชมโดยวิทยากรเป็นรอบ รอบละ 1 ชม. เปิดให้บริการเป็นสาธารณะ จนหอภาพยนตร์แห่งชาติได้เปลี่ยนสถานะเป็นหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ในปี 2552 จึงมีแนวความคิดว่าจะเปิดบริการเพิ่มในวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อขยายโอกาสให้ผู้เยี่ยมชมได้เข้าถึงบริการ และต้องการบุคลากรที่เพียงพอเพื่อรองรับผู้เข้าชม จึงได้จัดอบรมหลักสูตรการนำชมพิพิธภัณฑ์แก่บุคลากร รวมถึงเปิดรับอาสาสมัครนำชมพิพิธภัณฑ์ อีกทั้งให้ความสำคัญเรื่องการทำทะเบียนวัตถุการจัดเก็บฐานข้อมูล การศึกษางานด้านเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ควบคู่ไป


จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ด้วยพื้นที่พิพิธภัณฑ์มีขนาดภายในเพียง 230 ตร.ม. ถือว่าเป็นพื้นที่เล็กมากถ้าเทียบกับเนื้อหาที่จัดแสดงอยู่ จึงเป็นที่มาในการขยับขยายพื้นที่โดยรอบให้เป็นนิทรรศการ “เมืองมายา” เมืองฉากถ่ายหนังที่จำลองสถานที่อันเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ ถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แลนด์มาร์กของศาลายา ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม


จากการบันทึกจำนวนผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยตั้งแต่วันแรก 19 กันยายน 2547 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยมีผู้เยี่ยมชมแล้วราว 20,000 คน



ผู้นำชมยุคบุกเบิกคือเจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์ แทบทุกคนจะหมุนเวียนกันเป็นวิทยากรอาสานำชม จนเมื่อเป็นองค์การมหาชนแล้วจึงมีการปรับโครงสร้างหน่วยงาน มีทีมงานประจำสำหรับนำชม ปัจจุบันมีวิทยากรนำชมหลัก 8 คน ได้แก่


1. พุทธิดุลย์ สังขดุลย์

2. อัคคณัฐ เกื้อกิจฐานิตกุล

3. กนกกร อีหวั่น

4. กาญจนา ถาวรนุกูลพงศ์

5. มาริสา รักแจ้ง

6. จิรายุส ปะสีหาคลัง

7. วราคม สุวัณณปุระ

8. บุญญรัตน์ ธนูสิทธิ์


ในปีนี้ วันที่ 19 กันยายน 2567 พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยมีอายุครบ 20 ปี เป็นวาระพอดีกับที่ปรับการนำชมเมืองมายาเป็น 2 สายเส้นทางคือ เส้นทางกำเนิดภาพยนตร์โลก รอบเข้าชม 10.00 น. 13.00 น. และ 15.00 น. เส้นทางศตวรรษภาพยนตร์ไทย รอบเข้าชม 11.00 น. 14.00 น. และ 16.00 น.



ทั้งนี้ เพื่อให้สมกับปณิธานของหอภาพยนตร์ที่ว่า ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา ให้เมืองมายาเป็นสถานที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์การกำเนิดภาพยนตร์โลก และพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยเป็นดั่งสถานที่สถิตแห่งจิตวิญญาณของวงการภาพยนตร์ไทย เป็นที่รวมพลังความรัก ความศรัทธา การอุทิศและการเสียสละในวงการภาพยนตร์ไทย เป็นเครื่องเชิดชูใจให้อนุสติแก่โลกภาพยนตร์และบรรดาผู้มาเยือน 


พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยเปิดให้บริการวันอังคาร-อาทิตย์  เวลา 09.30-17.30 น.


-------------------------------


โดย ทีมงานพิพิธภัณฑ์

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 83 ประจำเดือนกันยายน - ตุลาคม 2567