ภาพยนตร์แห่งความเป็นไปได้ (Cinema of Possibility) จากยุค 90s

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2567 หอภาพยนตร์จัดฉายภาพยนตร์เรื่อง “จอมโหดมนุษย์ซีอิ๊ว (The Cruelty and the Soy-Sauce Man)” และ  “คนกราบหมา (Dog God)” และเชิญผู้กำกับของหนังทั้งสองเรื่อง ได้แก่ ไพสิฐ พันธ์พฤกษชาติ และ สมานรัชฎ์ “อิ๋ง” กาญจนะวณิชย์ มาร่วมพูดคุยหลังหนังแต่ละเรื่องฉาย เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด และมุมมอง รวมถึงวิธีการสร้างสรรค์ผลงาน เพราะคนทำหนังทั้งสองมีจุดร่วมในฐานะคนทำหนังนอกกระแสจากยุค 90s ที่ต่างใช้ทุนต่ำ ใช้นักแสดงสมัครเล่น กล้าหาญในการทดลองกลวิธีเล่าเรื่อง และหยิบฉวยสิ่งใกล้ตัวเพื่อสร้างเป็นเรื่องราวได้อย่างมีพลัง 


“ความเป็นไปได้” เป็นคำที่สมานรัชฎ์ใช้เพื่อแสดงถึงการใช้ทรัพยากรอันจำกัดเพื่อทำหนังให้สำเร็จ คุณสมบัตินี้ของเหล่าผู้สร้างในช่วงยุคปลาย 90s-2000s กลายเป็นผลงานที่เป็นรากฐานอันแข็งแรงให้กับวงการภาพยนตร์ไทย ที่แม้จะเต็มไปด้วยอุปสรรคที่แตกต่างกันในแต่ละยุคแต่ละสมัย แต่ก็สามารถเชื่อมโยงกันด้วยเหตุแห่งความเป็นไปได้


“จอมโหดมนุษย์ซีอิ๊ว” (2543) ของไพสิฐ เป็นหนังทดลองที่อัดแน่นไปด้วยบทสนทนาอันแปลกประหลาดที่ซ่อนไว้ด้วยความลึกซึ้ง หนังประกอบด้วยฉากเพื่อนนั่งคุยกัน ก่อนที่คำพูดของพวกเขาจะกะเทาะเปลือกแห่งความสัมพันธ์ไปอย่างช้า ๆ ส่วน “คนกราบหมา” (2540) ของ สมานรัชฎ์ “อิ๋ง” กาญจนะวณิชย์ เป็นหนังที่ตั้งคำถามว่าด้วยความศรัทธาในใจของผู้ชมผ่านเรื่องของลัทธิที่บูชาสุนัขเป็นเทพ หนังเรื่องนี้ถูกแบนมา 27 ปีด้วยข้อหาลบหลู่ความเชื่อ ก่อนที่จะผ่านการพิจารณาให้กลับมาฉายได้เมื่อต้นปีนี้ โดยทั้งสองผลงานที่ดูเหมือนแตกต่างนี้ กลับเชื่อมโยงกันได้อย่างน่าสนใจ ผ่านช่วงเวลา สุนทรียศาสตร์ และผู้คน โดยเฉพาะเงื่อนไขการเป็นหนังนอกกระแสที่ต้องต่อสู้กับระบบการหาทุน และระบบการนำหนังออกฉาย 




จากเรื่องราวที่แผ่วเบาเกินกว่าจะเป็นเหตุการณ์ จอมโหดมนุษย์ซีอิ๊ว เกิดขึ้นด้วยความเรียบง่ายอย่างไม่ตั้งใจของ ไพสิฐ พันธ์พฤกษชาติ ที่หยิบจับเรื่องราวชีวิตของ วุฒิ ชายหนุ่มเจ้าของโรงงานซีอิ๊วมาเล่าผ่านบทสนทนาอันไม่ปะติดปะต่อ ด้วยวิธีการกึ่งสารคดี โดยเทคโนโลยีกล้อง Hi8 และไมค์ประดิษฐ์เอง เขาบันทึกเรื่องราวและจับภาพเคลื่อนไหวเหล่านี้ด้วยตนเอง ท่ามกลางบทสนทนาอันดำดิ่งของตัวละครที่เกือบจะไร้การปรุงแต่งใด ๆ จากตัวผู้กำกับ


แม้ว่า จอมโหดมนุษย์ซีอิ๊ว จะถูกเรียกว่าเป็น “หนังทดลอง” แต่ไพสิฐเผยว่าความตั้งใจในการทำหนังเรื่องนี้คือการทำหนังดราม่า โดยใช้ตัวละครอย่าง วุฒิ ชายหนุ่มที่ต้องเผชิญหน้ากับการต่อสู้ในการเลือกเส้นทางชีวิตและความฝันของตัวเอง เป็นภาพแทนของความร่วมสมัยจากสิ่งที่คนหนุ่มสาวต้องเผชิญกันมาตลอดทุกยุค


“วุฒิ เป็นตัวละครที่มีภาพของความร่วมสมัยในเวลานั้น เขาอยากเขียนหนังสือ อยากออกไปทำอะไรอย่างอื่น แต่เขาทำไม่ได้เพราะต้องช่วยงานครอบครัวที่ตัวเองก็ชอบบ้างไม่ชอบบ้าง ซึ่งผมก็คิดว่าเราทุกคนก็เป็นอย่างงี้กันหมด”


ซึ่งหากมองลงไปให้ลึกจะเห็นว่าบันทึกความอ้อยอิ่งของช่วงเปลี่ยนผ่านยุคใน จอมโหดมนุษย์ซีอิ๊ว ไม่เพียงแต่จะถ่ายทอดบทสนทนาในวงเหล้าเท่านั้น แต่ยังแอบซ่อนเรื่องราวของเหล่าผู้รับเหมาที่ต้องแบกรับภาระหลังจากเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง ในปี พ.ศ. 2540 อีกด้วย ซึ่งภายใต้ความไร้รูปแบบของหนังเรื่องนี้ กลับเต็มไปด้วยเสน่ห์บางอย่างที่ดึงดูดให้อยากรู้จักตัวละครมากขึ้น 


ภาพ: ไพสิฐ พันธ์พฤกษชาติ ผู้กำกับภาพยนตร์ จอมโหดมนุษย์ซีอิ๊ว


“ตอนแรกผมไม่ได้คิดเลยว่าผมทำหนังทดลอง ผมแค่ทำหนังดรามาธรรมดา แม้ว่าในช่วงนั้นมันก็มีหนังที่ให้อารมณ์คล้ายๆ กันอย่างหนังสไตล์ Dogma หรือ Naked ของ Mike Leigh แต่เราไม่ได้อยากเป็นแบบนั้น ผมแค่รู้สึกว่าผมทำงานง่ายกว่านั้นเยอะ”


ไพสิฐได้บอกเล่าถึงบรรยากาศในการทำหนังในช่วงยุคปลาย 90s ว่าเป็นยุคของคนทำหนัง ในตอนนั้นเริ่มมีเทศกาลหนังสั้น การเป็นไปของหนังกระแสหลักในไทยก็กำลังมา แต่เทคโนโลยีในสมัยนั้นก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เขาจึงตัดสินใจเลือกวิธีการที่เรียบง่ายที่สุด


“ผมแทบไม่ได้ปรับสีอะไรเลย แม้ว่าในสมัยนั้นคนส่วนใหญ่จะชอบเอาไปปรับสีกันเยอะ แต่คุณภาพวิดีโอของเรามันไม่ดีอยู่แล้ว เราจะไปเค้นมันทำไม เอาเท่าที่มันมีเท่านี้ก็ยังพอดูได้ แล้วผมก็เอาฟุตทั้งหมดมาเรียงตามโครงสร้างของหนังทั่วไปที่มีตอนเต้น ตอนขัดแย้ง และตอนสรุป”


และนอกจากจะเป็นผู้กำกับแล้ว ไพสิฐ ยังเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในวงการคนทำเสียง ซึ่งเขามีโอกาสได้ร่วมงานกับ สมานรัชฎ์ ในการทำหนังเรื่อง “คนกราบหมา” หนังยาวเรื่องแรกของเธอที่ถ่ายด้วยฟิล์ม 16 มม. ผ่านเรื่องราวทางศาสนาที่ชวนดำดิ่งถึงก้นบึ้งของศรัทธาภายใต้ลัทธิสุดประหลาด



ภาพ: สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับภาพยนตร์ คนกราบหมา


คนกราบหมา เปิดกล้องครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2538 ด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากเพื่อนฝูงของสมานรัชฎ์ เธอได้อธิบายว่าการทำหนังเรื่องนี้เปรียบได้กับการไปเข้าโรงเรียนภาพยนตร์ของเธอและของเพื่อนอีกหลายคนในหนัง เพราะเป็นหนังเรื่องแรกของบุคลากรอย่าง น้อย - กฤษดา สุโกศล แคลปป์ ที่ต่อมากลายเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียง 


บทของหนังเรื่องนี้เริ่มต้นจากการเขียนสิ่งที่ “เป็นไปได้” คือสามารถไปถ่ายทำได้จริง สมานรัชฎ์อธิบายว่า แม้ในฐานะผู้กำกับเธอจะมีความฝันอยากทำอะไรมากมาย แต่ในฐานะที่เธอเคยเป็นนักข่าวมาก่อน มันทำให้เธอรู้ว่าเราไม่ควรที่จะฝันแบบนั้น


“คนถามว่าทำไมคุณถึงประหยัดได้ขนาดนี้ ก็เพราะฉันไม่เขียนอะไรที่ฉันไม่มีเงินทำ เราเขียนบทจากสิ่งที่เป็นไปได้ อย่างใน “เชคสเปียร์ต้องตาย” เราก็อยากได้รถถังเต็มเมือง มีรัฐประหารนั่นนี่ โห มันคือสุดยอดแห่งความฝัน แต่เรารู้ไงว่าอย่าไปฝันแบบนั้น เราต้องแก้ปัญหาบนกระดาษ นั่นคือสิ่งที่ถูกที่สุด”


ในส่วนประเด็นการถูกแบน เชคสเปียร์ต้องตาย และ คนกราบหมา สมานรัชฎ์เล่าอย่างติดตลกว่า เธอได้กลายเป็นผู้กำกับไทยที่ถูกแบนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยข้อหาที่รุนแรง หมิ่นทุกศาสนา และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ แต่ท้ายที่สุด คนกราบหมา ใช้วิธีการตัดต่อใหม่ และใช้เวลาในการต่อสู้นานกว่า 25 ปีก่อนจะได้กลับมาฉาย ส่วน เชคสเปียร์ต้องตาย ก็ได้กลับมาฉายอีกครั้งหลังจากการชนะคดีในศาลปกครองสูงสุด



ภาพ: (จากซ้ายไปขวา) ก้อง ฤทธิ์ดี และ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์


“สำหรับ คนกราบหมา หลายคนเข้าใจว่าเรายอมประนีประนอมใช่ไหม ยอมตัดอะไรโหด ๆ ออกไปใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้ตัดอะไรออกไปเลย มันแค่เป็นความแตกต่างระหว่างการตัดต่อแบบดิจิทัลและแอนาล็อก เราเอามาตัดใหม่แล้วยื่นส่งไปอีกครั้ง”


สมานรัชฎ์บอกเล่าถึงบรรยากาศในการถ่ายทำ ว่าในช่วงเวลานั้นเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ทุกคนต่างมาด้วยใจ ทำงานกันทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เช่นเดียวกับเธอที่นอกจากจะต้องกำกับแล้ว เธอยังต้องแสดงในหนังเรื่องนี้อีกด้วย


“อยากแนะนำคนที่อยากกำกับหนัง คุณควรจะต้องลองแสดงหนังนะคะ เพราะมันโหดมาก คุณจะได้รู้ว่ามันยากแค่ไหน”


และในขณะที่เวลาเปลี่ยนผ่านไป สมานรัชฎ์เผยว่าในปีนี้เธอมีอายุ 64 ปี และมีแผนกับหนังเรื่องใหม่ที่จะบอกเล่าประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดของพวกเรา โดยที่หวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ที่จะทำให้เรื่องราวนี้เป็นไปได้ 




“ทำไมพวกเราถึงไม่เคยเห็นประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวดของพวกเราอยู่บนจอเลย ทำไมเราไม่เคยเห็นสิ่งที่ทุกข์ทรมานที่สุดในชีวิตของเราหรือในความทรงจำของชาติ สำหรับโปรเจกต์ใหม่ที่จะทำมันมีข้อจำกัดเยอะมาก ทั้งเรื่องข้อกฎหมาย งบประมาณ และนักแสดง ซึ่งมันยากมาก แต่ก็แล้วแต่ว่าจะมีปาฏิหาริย์หรืออะไรที่จะทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นไปได้”


การเดินทางของ “คนกราบหมา” และ “จอมโหดมนุษย์ซีอิ๊ว” เป็นอีกหนึ่งความท้าทายภายใต้เรื่องราวไร้รูปแบบ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของโลกเก่าที่พร้อมเปิดรับเข้าสู่โลกใหม่ เป็นรสชาติของกาลไร้เวลาที่ดึงดูดให้ความเป็นไปได้เกิดขึ้นจริง นี่คือสิ่งที่ยืนยันได้ว่าภาพยนตร์แห่งความเป็นไปได้นั้นล้วนอยู่ในทุกยุคทุกสมัย เพียงแค่แปรสภาพ หลบซ่อน และรอคอยเท่านั้น


เรียบเรียงโดย จินต์จุฑา ธงภักดิ์