การฉายภาพยนตร์เก็บเงินค่าดูครั้งแรกของโลก

ที่มา : หนังสือห้องอินเดียกับกำเนิดภาพยนตร์


แมกซ์ และ อีมิล สคลาดาเนาสกี (Max and Emil Skladanowsky) สองพี่น้องแห่งเยอรมัน ซึ่งเป็นตระกูลที่อพยพมาจากโปแลนด์ มีอาชีพผลิตกระจกภาพสำหรับโคมเชิดหนัง (Magic Lantern) จำหน่ายและเป็นนักแสดงโคมเชิดหนังเองด้วย แมกซ์มีความคิดที่จะพัฒนาโคมเชิดหนังให้ฉายภาพถ่ายเคลื่อนไหวได้ และต่อมาเขาได้เห็นคิเนโตสโคปของเอดิสันซึ่งมาแสดงอยู่ในเบอร์ลิน แม้จะขาดแคลนเงินทุน แต่ที่สุดแมกซ์ก็ประดิษฐ์กล้องถ่ายและเครื่องฉายภาพยนตร์ของเขาสำเร็จ ใช้ชื่อว่า “ไบโอสโคป” Bioscope เป็นภาพยนตร์ที่ใช้ฟิล์มขนาด 54 มม. ถ่ายและฉายเป็นฟิล์มสองแถบ ฉายสลับกันทีละภาพ เพื่อให้ได้อัตราเร็ว 16 ภาพต่อวินาที เริ่มแรกได้ถ่ายทำภาพยนตร์คล้ายๆกับของเอดิสัน คือให้คนมาแสดงท่าทางต่างๆหน้ากล้อง เช่น เด็กสองคนเต้นระบำชาวนา คนแสดงกายกรรมห้อยโหน จิงโจ้ต่อยมวยกับคน ฯลฯ เป็นภาพยนตร์สั้นมากเพียงเรื่องละ 5 – 6 วินาที แต่นำฟิล์มมาต่อเป็นลูปเพื่อฉายวนไปได้เรื่อยๆ แรกเริ่มได้นำออกแสดงให้ญาติมิตรดูกันเองก่อนโดยไม่เก็บค่าดูในร้านกาแฟย่านคนงานอุตสาหกรรมตอนเหนือของกรุงเบอร์ลินที่เขาพักอาศัยอยู่




ภาพ: แมกซ์ สคลาดาเนาสกี และประดิษฐกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการฉายภาพและการเล่นภาพเคลื่อนไหว


จนวันหนึ่งเจ้าของสถานบันเทิง วินเตอร์กาเตน บอลล์รูม (Wintergarten Ballroom) ในโรงแรมเซ็นทรัล (Central Hotel) อันหรูหรากลางกรุงเบอร์ลินมาเห็นการแสดงเข้า จึงติดต่อว่าจ้างให้แมกซ์นำไบโอสโคปไปแสดงเป็นเวลา 1 เดือน เริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายน 1895 แมกซ์นำเครื่องไบโอสโคปไปจัดฉาย เป็นภาพยนตร์เรื่องสั้นๆ 8 เรื่อง เรื่องหนึ่งกินเวลาไม่กี่วินาทีแต่ฉายวนรวมกันแล้วกินเวลาประมาณ 15 นาทีต่อรอบการแสดง นับเป็นการฉายภาพยนตร์เก็บค่าดูรายแรกของโลก แต่รายการแสดงที่วินเตอร์การ์เตน บอลล์รูม เป็นการแสดงที่หลากหลาย ในโรงจุผู้ชมถึง 1,500 คน แต่นั่งล้อมโต๊ะกลม กระจายทั่วพื้นที่ และมีเวทีการแสดงอยู่รอบๆ ประกอบด้วยการแสดงหลากหลายอย่าง ทั้งดนตรี ร้องเพลง การแสดงตลก ละครสัตว์ ส่วนไบโอสโคปนั้นเขาจัดให้อยู่รายการสุดท้ายบนเวทีเล็กๆ ห่างจากเวทีใหญ่ ข้างๆทางออกด้านหนึ่ง ซึ่งกว่าจะถึงเวลาฉายก็เป็นเวลาที่ผู้ชมจำนวนหนึ่งที่ชมการแสดงส่วนใหญ่พากันลุกออกจากโรงไปแล้วบ้าง และผู้ชมที่จะดูเห็นการแสดงของไบโอสโคปจะได้แก่คนที่นั่งโต๊ะตรงหน้าจอเท่านั้น ซึ่งมีไม่มากนัก การฉายจะตั้งเครื่องฉายอยู่หลังจอ แมกซ์ใช้จอผ้าผืนใหญ่พอที่จะเห็นภาพคนเท่าขนาดคนจริงได้ และทำให้จอเปียกเพื่อมีสภาพโปร่งแสงจะได้เห็นภาพที่ฉายได้ชัด เมื่อฉายทีละเรื่องจนจบเรื่องสุดท้าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ถ่ายแมกซ์กับอีมิลแสดงท่าทางกระโดดโลดเต้น แมกซ์และอีมิลสองพี่น้องจะเดินออกมาคนละข้างจอ เพื่อแสดงท่าสดๆ เหมือนบนจอหนัง ผู้ชมจะปรบมือให้ บ้างก็โยนช่อดอกไม้ให้



ภาพ: พี่น้องสคลาดาเนาสกีหน้าจอหนัง

การแสดงไบโอสโคปของพี่น้องสคลาดาเนาสกีที่วินเตอร์กาเตน บอลล์รูม ประสบความสำเร็จ มีเจ้าของกิจการบันเทิงหลายแห่งติดต่อให้เขาไปจัดแสดง แต่การแสดงไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเดิม โรงละครชื่อดังแห่งหนึ่งในปารีสคือ โฟรีส์ แบแช (Folies Bergere) ได้ติดต่อตกลงให้แมกซ์นำไบโอสโคปไปแสดง เริ่มวันที่ 1 มกราคม 1896 แมกซ์ไปถึงปารีสวันที่ 27 ธันวาคม 1895 และต่อมาวันที่ 29 ธันวาคม เจ้าของโรงได้พาเขาไปดูการแสดง ซีเนมาโตกราฟ ของพี่น้องลูมิแอร์ ที่ห้องซาลองอินเดียน ของร้าน กรองด์คาเฟ่ ซึ่งตั้งอยู่ในโรงแรมสคริป ย่านบันเทิงกลางกรุงปารีส พี่น้องสคลาดาเนาสกี พบว่าภาพยนตร์ไบโอสโคปของเขาสู้ซีเนมาโตกราฟไม่ได้ และที่น่าเศร้าคือเจ้าของโรงโฟรีส์ แบแช ได้ขอยกเลิกการแสดงไบโอสโคป นอกจากนี้กำหนดการต่อไปที่จะแสดงที่โรงละครเอ็มไพร์ในกรุงลอนดอนก็ถูกยกเลิก


ภาพ: แมกซ์ สคลาดาเนาสกี และเครื่องฉายไบโอสโคปที่พัฒนาเป็นเครื่องฟิล์มเดียวแล้ว


อย่างไรก็ดีในปี 1896 พี่น้องสคลาดาเนาสกี สามารถเดินสายนำภาพยนตร์ของตนเร่ไปฉายตามเมืองต่างๆ ในยุโรปหลายเมืองนอกจากเยอรมัน ได้แก่ ฮอลแลนด์และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย แต่ยิ่งตระเวนไปก็ยิ่งพบว่าประดิษฐกรรมของตนสู้คนอื่นๆไม่ได้ แต่แมกซ์ก็พยายามปรับปรุงเครื่องฉายของเขาให้ดีขึ้นและใช้ฟิล์มแถบเดียว ได้ถ่ายภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันต่างๆ เช่นเดียวกับภาพยนตร์ของบริษัทลูมิแอร์ แต่กระนั้นก็ต้องเลิกกิจการฉายภาพยนตร์ไปในต้นปี 1897