SC 1: INT. - Cherd Songsri Library - DAY - มาอ่านบทหนังกัน!

บทภาพยนตร์เป็นกระดูกสันหลังของหนังทุกเรื่อง คำค่อนขอดที่ว่าหนังไม่ดีเพราะบทไม่ดี ถึงจะไม่จริงเสมอไปแต่ก็เป็นคำกล่าวที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน การศึกษาภาพยนตร์ ไม่ว่าจะอย่างจริงจังหรือเพื่อความสนุกสนาน จะยิ่งทวีความหมายหากเราย้อนกลับไปดูสารตั้งต้น อันได้แก่ บท หรือ screenplay อันเปรียบเสมือนแผนที่ที่ทำให้ผู้กำกับ นักแสดง และบุคลากรในกองถ่ายทุกคนสามารถจินตนาการเห็นภาพเดียวกันขณะถ่ายทำ 


ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ที่หอภาพยนตร์มีหนังสือที่ตีพิมพ์บทภาพยนตร์ของหนังจำนวนมาก หลายเรื่องเป็นหนังคลาสสิกควรค่าแก่การวิเคราะห์และศึกษา เป็นขุมทรัพย์ชั้นดีที่นักอ่านไม่ควรมองข้ามหากมาอ่านหนังสือที่นี่ บทหนังเด่น ๆ ที่เราอยากแนะนำให้มาดูกันมีดังนี้


ชุดบทภาพยนตร์ของค่าย A24 


สตูดิโอ A24 เป็นค่ายหนังที่มาแรงในฮอลลีวูด ด้วยผลงานภาพยนตร์ที่แปลก ไม่ซ้ำซาก แต่ก็ดูไม่ยากจนผลักไสผู้ชมออกห่าง A24 ตีพิมพ์บทหนังของค่ายออกมาเป็นหนังสือ ถึงตอนนี้มี 10 เรื่อง ด้วยรูปเล่มสวยงาม ประกอบด้วยบทภาพยนตร์ครบถ้วนและภาพเบื้องหลัง เหมาะแก่การอ่าน ดูภาพ หรือสะสม หนังสือในชุดนี้ ได้แก่ Moonlight (2016), The Lobster (2015), Under the Skin (2013), Minari (2020), Midsommar (2019), The Witch (2015), Lady Bird (2017), Hereditary (2018), Ex Machina (2014) จะเห็นได้ว่าล้วนเป็นหนังร่วมสมัยที่มีความโดดเด่นเรื่องบท และการพลิกตำราของตระกูลหนังต่าง ๆ บทหนังแต่ละเรื่องยังแสดงให้เห็นวิธีการเขียน การบรรยายฉาก (หรือซีน) การสร้างไดอะล็อก ที่ทำให้หนังมีชีวิต 





L’Age d’Or, Un Chien Andalou 


ใครว่าหนังเซอร์เรียลไม่มีบท หนังสือเล่มนี้คือบทถ่ายทำของหนังสำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก Un Chien Andalou (1928) และ L’Age d’Or (1930) โดย หลุยส์ บุนเยล บทหนังนี้แสดงให้เห็นว่า ต่อให้เป็นหนังที่ดูเหมือนเป็นภาพความฝันที่ไม่มีต้นมีปลาย คล้ายกับสุ่มถ่ายอะไรไปเรื่อย ๆ แท้จริงแล้วทุกอย่างถูกเขียน ถูกวางแผนไว้ล่วงหน้าอย่างละเอียด (ส่วนที่เพิ่มเติมมาในหนังแต่ไม่อยู่ในบทแรกเริ่มจะมีเครื่องหมายบ่งบอกไว้ในหน้าหนังสือ) หนังสือเล่มนี้ยังมีบทแถลงการณ์ของศิลปินกลุ่มเซอร์เรียลิสม์ ซึ่งเป็นแรงขับทางศิลปะที่มีอิทธิพลต่อการทำหนังยุโรปช่วงทศวรรษ 1920




Best American Screenplays


หนังสือเล่มนี้รวบรวมบทหนังคลาสสิกอเมริกันช่วงทศวรรษ 1960-1970 ไว้นับสิบเรื่อง เช่น The Graduate (1967), Bonnie and Clyde (1979), Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969), All Quiet on the Western Front (1979) และอื่น ๆ ตัวหนังสืออาจเล็กสักหน่อย ทั้งนี้เพื่อให้ได้ปริมาณมาก บทหนังเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นหนังจากยุคทองของฮอลลีวูด นอกจากบทพูด บทบรรยายฉาก เรายังจะเห็นบทที่มีการกำหนดมุมกล้องในแต่ละฉากด้วย จะยิ่งสนุกถ้าสามารถอ่านไปแล้วดูหนังจริงประกอบไปด้วย




Satyajit Ray: The Apu Trilogy 


หนังไตรภาค The Apu Trilogy ของผู้กำกับชาวอินเดีย สัตยาจิต เรย์ ประกอบด้วย Pather Panchali (1955), Aparajito (1956) และ The World of Apu (1959) หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่บทภาพยนตร์ดั้งเดิม แต่เป็นการใช้กระบวนการย้อนกลับ โดยผู้เขียนบรรยายหนังทั้งสามเรื่องทีละช็อต ๆ จากตัวหนังที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดย สัตยาจิต เรย์ เป็นบรรณาธิการเล่มเพื่อ ตรวจสอบความถูกต้อง และให้การยอมรับตัวหนังสือที่ปรากฏออกมา หนังสือเล่มนี้ยังมีภาพจากหนังสอดแทรก เป็นการชวนให้เราอ่านหนังผ่านตัวหนังสืออย่างแท้จริง




Asteroid City 


เล่มนี้เลือกมานำเสนอสำหรับแฟนของผู้กำกับ เวส แอนเดอร์สัน คนทำหนังอเมริกันที่มีเอกลักษณ์ที่สุดคนหนึ่ง Asteroid City เป็นหนังปี 2023 ที่โดดเด่นด้วยภาพ สี และองค์ประกอบศิลป์จัดจ้าน แต่สิ่งที่คนมักมองข้ามคือการที่แอนเดอร์สันเป็นคนเขียนบทหนังที่ใช้ภาษาได้สละสลวย บทพูดเต็มไปด้วยคำศัพท์น่าสนใจ สำนวนเก๋ ๆ และอารมณ์ขันลึก ๆ อันเป็นสิ่งที่ประกอบสร้างตัวละครและบรรยากาศชวนหัวในหนังของเขาทุกเรื่อง รวมทั้ง Asteroid City ด้วย 





Four Films of Woody Allen


คงไม่ต้องสาธยายมาก วูดดี อัลเลน เป็นคนทำหนังและเขียนบทที่ได้รับการยกย่องในฝีมือมากที่สุดคนหนึ่ง (ไม่ว่าเรื่องส่วนตัวของเขาจะเป็นประเด็นถกเถียงขนาดไหน) โดยเฉพาะการเขียนบทเจรจาอันเชือดเฉือน ตลก และลึกซึ้ง หนังสือเล่มนี้คือการรวมบทภาพยนตร์ 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ Annie Hall (1977), Interiors (1978), Manhattan (1979) และ Stardust Memories (1980) นักเรียนเขียนบททุกคนไม่ควรพลาด




หมายเหตุ: เนื่องจากภาพยนตร์ที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นภาพยนตร์ต่างประเทศทั้งหมด จึงใช้ปี ค.ศ. แทน พ.ศ. ต่างจากหน้าอื่น ๆ ในเล่ม


-------------------------------

โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 83 ประจำเดือนกันยายน - ตุลาคม 2567