แม้ว่าทุกประเทศในโลกต่างคุ้นเคยกับสื่อภาพยนตร์เป็นอย่างดี แต่ด้วยบริบทและวัฒนธรรมอันแตกต่าง ทำให้แต่ละพื้นที่ย่อมมีประวัติศาสตร์และลักษณะเฉพาะของภาพยนตร์ที่ต่างกันออกไป
ในประเทศไทย ขนบธรรมเนียมหนึ่งที่เคยโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์คือการพากย์สดขณะฉายภาพยนตร์ โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2490-2510 ที่การสร้างหนังไทยด้วยฟิล์ม 16 มม. แบบไม่บันทึกเสียง ได้รับความนิยม ทำให้วัฒนธรรมพากย์สดพัฒนาขึ้นจนกลายเป็นมาตรฐานทั่วไปของอุตสาหกรรมหนังไทยในขณะนั้น และเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับชาวต่างชาติ ดังเช่นที่ครั้งหนึ่ง ม.ล.รุจิรา และ มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา ตำนานคู่รักนักพากย์ ได้รับเชิญไปพากย์สดโชว์ประกอบการฉายหนัง 16 มม. เรื่อง อ้อมอกสวรรค์ ที่มหกรรมภาพยนตร์นานาชาติซานฟรานซิสโก เมื่อปี 2505 จนเป็นที่ฮือฮาแก่ผู้ชมและสื่อมวลชนอเมริกัน
ปัจจุบันแม้ธรรมเนียมการพากย์สดจะหมดสมัยไปนานหลายทศวรรษ แต่หอภาพยนตร์ยังคงจัดกิจกรรมฉายหนังพากย์สดตามวาระพิเศษต่าง ๆ อยู่เป็นระยะ เพื่อให้ผู้ชมได้เรียนรู้วิถีของหนังไทยในยุคหนึ่ง จนกระทั่งเดือนกันยายนที่ผ่านมา จึงมีโอกาสนำขนบนี้ไปเผยแพร่ยังต่างประเทศเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่งาน Archival Assembly #3 ประเทศเยอรมนี
ภาพ: โฆษิต กฤตนันท์ เจ้าของนามพากย์ “ดอกคำใต้”
ที่มาของภารกิจดังกล่าวเกิดขึ้นจากเมื่อครั้งที่หอภาพยนตร์จัดงานประชุมประจำปีสมาพันธ์หอภาพยนตร์นานาชาติ FIAF Congress 2024 ช่วงปลายเดือนเมษายน 2567 หนึ่งในกิจกรรมพิเศษของงานคือ การฉายหนัง 16 มม. แม่นาคพระโขนง (2502) พร้อมการพากย์เดี่ยว (ลักษณะการพากย์สดสำหรับหนังกลางแปลงหรือหนังขายยา ซึ่งต่างจากพากย์ในโรงที่มักพากย์เป็นคู่หรือคณะ) โดย โฆษิต กฤตนันท์ เจ้าของนามพากย์ “ดอกคำใต้” ซึ่งเรียกความสนใจจากนักอนุรักษ์ภาพยนตร์ต่างชาติจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ สเตฟานี ชูลต์ สตราเธาส์ ผู้อำนวยการด้านศิลปะของสถาบัน Arsenal ผู้เชิญให้หอภาพยนตร์นำหนังแม่นาคพร้อมการพากย์โดยดอกคำใต้ไปแสดงให้ชาวเยอรมันได้รู้จักถึงเบอร์ลิน
สถาบัน Arsenal หรือ Arsenal – Institute for Film and Video Art ก่อตั้งขึ้นในปี 2506 โดย อุลริช เกรกอร์ และ เอริกา เกรกอร์ คู่รักนักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ผู้ร่วมกันให้กำเนิดโรงหนังอาร์ตเฮาส์ชื่อ Arsenal และต่อมาริเริ่มจัดฉายเซกชันฟอรัมสำหรับหนังทางเลือกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน การจัดฉายหนังอย่างหลากหลายและต่อเนื่องทำให้ Arsenal กลายเป็นสถาบันที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ ตลอดจนมีคอลเลกชันภาพยนตร์ที่อนุรักษ์ไว้กว่า 10,000 เรื่อง และเป็นสมาชิกของสมาพันธ์หอภาพยนตร์นานาชาติ
งาน Archival Assembly เป็นงานที่สถาบัน Arsenal เริ่มจัดขึ้นในปี 2564 ประกอบด้วยการฉายภาพยนตร์ งานสัมมนา การสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิด นิทรรศการ ฯลฯ ที่มุ่งเน้นในเชิงประวัติศาสตร์และงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ สำหรับปีที่ 3 นี้จัดระหว่างวันที่ 17-22 กันยายน 2567 ในหลากหลายสถานที่ ทั้งโรงหนัง Kino Arsenal บริเวณจัตุรัส Potsdamer Platz และ Silent Green ซึ่งจะเป็นบ้านหลังใหม่ของสถาบัน Arsenal ในอนาคตอันใกล้ รวมถึง Sinema Transtopia พื้นที่ฉายหนังทางเลือกอีกแห่งหนึ่งในเบอร์ลิน เป็นต้น โดยมีหัวข้อหลักว่าด้วยเสียงในภาพยนตร์ ภายใต้ชื่อธีม “Resounding Archives: The Politics of Listening to the Moving Image”
กิจกรรมต่าง ๆ ภายในงานจึงเป็นการนำเสนอ ขุดค้น และสนทนาถึงเสียงที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ในบริบทต่าง ๆ จากหลายแห่งทั่วโลก สำหรับประเทศไทย นอกจากการฉายหนังพากย์สด ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ยังได้รับเชิญให้มาบรรยายถึงประวัติการพากย์สดของไทย ที่มีมาตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลอดจนแนวทางการอนุรักษ์และเผยแพร่ภาพยนตร์ฟิล์ม 16 มม. ในคลังของหอภาพยนตร์ รวมทั้งตั้งประเด็นถึงความเป็น “ออริจินัล” ของเสียงที่ต้องพากย์ใหม่ ในหัวข้อการนำเสนอชื่อ “The Revival of Thai Films with Live Dubbing” เมื่อวันที่ 20 กันยายน
ภาพ: ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมน่าสนใจอื่น ๆ ที่ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมชมและร่วมฟัง เช่น การฉาย Badnam Basti (2514) หนังเควียร์เรื่องแรกของอินเดีย โดยสถาบัน Arsenal นำฟิล์มในคลังของตนมาบูรณะร่วมกับฟิล์มจากหอภาพยนตร์แห่งชาติอินเดีย ที่ต่างก็ไม่ครบสมบูรณ์และมีความยาวแตกต่างกัน ฉบับบูรณะใหม่นี้จึงมีบางฉากที่คงเสียงจากฟิล์มเนกาทีฟเสียงเอาไว้ แต่ไม่มีภาพปรากฏ, การแสดงดนตรีทดลองประกอบการฉายฟุตเทจจากหนังเลบานอนเรื่อง A Stranger in the House (2501) ตลอดจนการนำเสนอเรื่องคนบรรยายสดประกอบภาพยนตร์ของเคนยา ในลักษณะแบบ VJ ที่พูดเร้าอารมณ์ตลอดการฉายหนัง และโด่งดังทางโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ในงานยังมี VJ Junior จากยูกันดา มาโชว์บรรยายสดแบบนี้ ประกอบการฉายหนังฮอลลีวูดเรื่อง Blood Diamond (2549) ด้วย
มาถึงไฮไลต์สำคัญจากหอภาพยนตร์ การฉาย แม่นาคพระโขนง (2502) พร้อมพากย์สดโดยดอกคำใต้ มีขึ้นในคืนวันที่ 21 กันยายน ที่โรงหนัง Kino Arsenal โดยฉายจากฟิล์ม 16 มม. ที่หอภาพยนตร์พิมพ์สำเนาขึ้นเมื่อปี 2534 จากฟิล์มต้นฉบับที่ห้างขายยาศรีตระการเภสัช อุดรธานี เคยมอบให้ในปี 2529 แม้ฟิล์มจะมีริ้วรอยและสีซีดจาง เนื่องจากต้นฉบับผ่านการใช้งานมาอย่างหนัก แต่ไม่ว่าจะจัดฉายครั้งใดฟิล์มแม่นาคชุดนี้ก็ยังคงมีมนตร์ขลังดึงดูดความสนใจจากผู้ชม เหมือนเช่นที่เคยสร้างปรากฏการณ์ให้แก่สังคมไทยเมื่อคราวออกฉายครั้งแรก
สำหรับ ดอกคำใต้ หรือ โฆษิต กฤตนันท์ เป็นนักพากย์ผู้มีประสบการณ์มากว่า 50 ปี เขาหลงใหลในหนังพากย์ 16 มม. มาตั้งแต่เด็ก และเรียนรู้เทคนิคการพากย์จาก “ดอกรัก” น้าชายผู้เป็นนักพากย์ชื่อดังที่บ้านเกิด สมุทรสงคราม ก่อนจะได้เริ่มพากย์หนังต่างประเทศตั้งแต่วัยรุ่น ในยุคที่ไม่มีหนังไทย 16 มม. พากย์ แล้ว แต่หนังต่างประเทศที่เข้าฉายส่วนมากยังใช้การพากย์สดอยู่ โดยพากย์ประจำทั้งในโรงหนังและกลางแปลง จนกลายเป็นนักพากย์ชื่อดังที่สุดคนหนึ่งแห่งย่านภาคกลางในช่วงทศวรรษ 2520 กระทั่งเมื่อยุคพากย์สดหมดไป เขาจึงเข้าสู่วงการพากย์บันทึกเสียง นับเป็นนักพากย์ที่มีผลงานจำนวนมากและมีเอกลักษณ์เป็นที่จดจำ ซึ่งยังคงพากย์อยู่จนถึงปัจจุบันในวัย 69 ปี
ในคืนนั้นดอกคำใต้โชว์ลีลาการพากย์เดี่ยวให้เสียงตัวละครทุกตัวใน แม่นาคพระโขนง ได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งเสียงแม่นาค ปรียา รุ่งเรือง เสียงพระเอก สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ ไปจนถึงเสียงตัวตลกขาประจำของหนัง 16 มม. ทั้ง ล้อต๊อก, เสน่ห์ โกมารชุน, ทองฮะ ฯลฯ ที่สามารถใช้ลูกเล่นปรับน้ำเสียงตามเอกลักษณ์ของแต่ละคนได้หมดจด และสะกดอารมณ์ผู้ชมชาวต่างประเทศไว้ได้ตลอดเรื่องกว่า 2 ชั่วโมง โดยมีการกดซับไตเติลภาษาอังกฤษสดให้ได้พอเข้าใจเนื้อเรื่อง
ภาพ: ดอกคำใต้ (กลาง) กับทีมงานหอภาพยนตร์และสถาบัน Arsenal
หลังฉายจบผู้ชมหลายคนกล่าวถึงความตื่นเต้นที่ได้รับชมการพากย์หนังแบบสด ๆ เป็นครั้งแรก บ้างก็ยกให้เป็นประสบการณ์การดูหนังที่พิเศษที่สุดครั้งหนึ่ง ในขณะที่บางคนสอบถามถึงเทคนิคการพากย์ ทั้งเสียงตัวละครที่ใช้ว่ามีทั้งหมดกี่เสียง หรือเวลาที่พากย์แม่นาคตอนยังมีชีวิตอยู่กับตอนที่ตายแล้วใช้วิธีการต่างอย่างไร ซึ่งดอกคำใต้ตอบว่า เขาไม่ได้กำหนดว่ามีกี่เสียง เพียงแต่ปรับไปตามบทที่ท่องมาจนขึ้นใจและสถานการณ์เฉพาะหน้า ส่วนเสียงแม่นาค หากช่วงที่กลายเป็นผีก็จะพยายามลากเสียงให้เนิบช้ากว่าตอนเป็นคน นอกจากนี้ยังมีผู้ชมที่สนใจซักถามเกี่ยวกับบริบทผีแม่นาคในหนังไทย
ภารกิจพาแม่นาคมาพากย์สดที่เบอร์ลินจบลงด้วยความประทับใจของทั้งผู้ชมและผู้จัด นับเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ต่างทวีปที่มีจุดเริ่มต้นจากงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ ตามที่ อองรี ล็องกลัวส์ ผู้ร่วมก่อตั้งสมาพันธ์หอภาพยนตร์นานาชาติ เคยกล่าวไว้ในปี 2479 ว่า “Only when film archives of different countries will have established regular exchanges will one be finally able to know the true history of cinema - ตราบใดที่หอภาพยนตร์ของประเทศต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนกันเป็นปรกติแล้วนั่นแหละ ใครสักคนจึงจะสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ได้อย่างแท้จริง”
______________________________
โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู
ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 84 ประจำเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2567