การกำเนิดสิ่งประดิษฐ์และพัฒนาการเทคโนโลยีด้านภาพยนตร์ ทำให้ประสบการณ์ของมนุษย์ในอดีตไม่หล่นหายไปกับกาลเวลา โดยการบันทึกเหตุการณ์ทั้งที่น่ายินดีและสำคัญ สิ่งที่ไม่น่าจดจำแต่ไม่ควรถูกลืม ให้อยู่ได้ไปจนถึงอนาคต รวมถึงการทำให้เหล่าผู้คนที่ล่วงลับไปแล้วกลับมามีชีวิต เคลื่อนไหว เดิน ยิ้ม หัวเราะ ตามที่เราอยากจะเห็นพวกเขาทำสิ่งเหล่านี้อีกครั้งหนึ่ง และวันนี้ห้องสมุดฯ ขอชวนทุกคนอ่านหนังสือเพื่อรำลึกถึงนักประดิษฐ์ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก Louis Aime Augustin Le Prince (ค.ศ. 1842-1890) Thomas Alva Edison (ค.ศ. 1847-1931) และ George Eastman (ค.ศ. 1854-1932)
The Man Who Invented Motion Pictures
Paul Fischer สร้างสรรค์งานเขียน The Man Who Invented Motion Pictures: A True Tale of Obsession, Murder, and the Movies เพื่อสนับสนุน Louis Aime Augustin Le Prince นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส ผู้บุกเบิกภาพยนตร์ตัวจริง และผู้เป็นหัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้ โดยเรื่องราวของเขาอาจช่วยบอกเล่าประเด็นใหม่ ๆ เกี่ยวกับต้นกำเนิดของภาพยนตร์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งจากชื่อเรื่องย่อยของหนังสือได้บอกเป็นนัยเอาไว้ให้ชวนสงสัยว่าจะต้องมีประเด็นเกี่ยวกับการนองเลือด ประวัติศาสตร์ครอบครัว ปมปริศนาลี้ลับที่ยังไม่ถูกคลี่คลาย และข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดในเรื่องประโลมโลกที่ถูกจัดฉากขึ้นมา แต่ไม่มีนักเขียนชีวประวัติคนใดที่ทึกทักว่าตัวเองรู้เรื่องราวทุกสิ่งอย่างแน่ชัด ดังนั้น Fischer จึงต้องนำเสนอความจริงจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่อย่างจำกัด ตัวอย่างเช่น
Le Prince เล่าเรียนที่ฝรั่งเศสเพื่อเป็นนักเคมี แต่เขาประกอบหลายอาชีพ ทั้งเป็นครู ช่างปั้น จิตรกร ช่างเขียนแบบในอุตสาหกรรม ซึ่งเขาโยกย้ายที่อยู่อาศัยตลอดทั้งชีวิต และจุดมุ่งหมายสำคัญที่สุดของการมีชีวิตอยู่คือ “การประดิษฐ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาทุ่มเทแทบจะทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัวเขามีด้วยความเหน็ดเหนื่อย เพื่อคิดค้นอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับภาพเคลื่อนไหว เขาตั้งชื่อกล้องถ่ายว่า ตัวรับ (Receiver) และตั้งชื่อเครื่องฉายว่า ตัวส่ง (Sender) อุปกรณ์ชิ้นนี้มีกลไกไม่ซับซ้อน ทำจากไม้ต้นมะฮอกกานี น้ำหนักราว 40 ปอนด์ แต่ศักยภาพอันไร้ขีดจำกัดของมันกลับมหาศาลอย่างน่าตื่นเต้น เขาทดลองถ่ายภาพยนตร์ด้วยฟิล์มกระดาษม้วนสั้น ๆ โดยถ่ายคนในครอบครัวแต่งกายด้วยชุดยุควิกตอเรียยืนอยู่กันคนละทิศคนละทาง แสดงท่าเดินไปมาในสนามหญ้าเล็ก ๆ หน้าบ้านพักส่วนตัว ช่วงฤดูใบไม้ร่วงในเมืองลีดส์ ประเทศอังกฤษ เกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวราว 2 วินาที แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะเขาไม่สามารถฉายภาพพวกนั้นในแบบที่ทำให้เกิดเป็นภาพลวงตาแสดงการเคลื่อนไหวเสมือนมีชีวิตจริงได้ เขาทำสำเร็จได้เพียงที่อัตราราว 7-10 เฟรมต่อวินาทีเท่านั้น อีกทั้งยังไม่มีแสงสว่างเพียงพอที่จะฉายภาพลงบนจอได้ จนกระทั่งบริษัทโกดักผลิตฟิล์มเซลลูลอยด์ออกมา เขาจึงใช้ฟิล์มมาพัฒนาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ของเขาจนสำเร็จ
Le Prince ไม่ทันได้อยู่เห็นความสำเร็จจากการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่นี้ด้วยตาตัวเอง เนื่องจากเมื่อเขาวางแผนจะเดินทางไปจดสิทธิบัตรที่สหรัฐอเมริกา แต่กลับหายตัวไปอย่างลึกลับในวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1890 ขณะโดยสารรถไฟจากบ้านเกิดที่เมืองดีฌงไปยังกรุงปารีส ก่อนจะเดินทางไปเปิดตัวภาพยนตร์ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ดังนั้นภาพยนตร์ของเขาจึงยังไม่เคยเผยแพร่สู่สาธารณชน การหายตัวไปของเขายังคงไม่ได้รับการคลี่คลายอย่างเป็นทางการ ถึงแม้ว่า Lizzie Whitley ภรรยาชาวอังกฤษของเขามีข้อสันนิษฐานที่อาจจะเป็นไปได้ คือ Le Prince เป็นคนไขปริศนาเครื่องจักรที่ Edison อยากครอบครองเองและถูกฆาตกรรม โดยสิ่งนี้เป็นความก้าวหน้าที่ไม่รอดพ้นจากสายตาของเหล่าคนในแวดวงเดียวกัน Edison เริ่มหาทางขัดขวาง และต้องรู้ให้ได้ว่าบรรดาคนหน้าใหม่ที่ประสบความสำเร็จมากกว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ซึ่ง Edison กลายเป็นจอมวายร้ายได้อย่างง่ายดาย เขามีทั้งทีมทนาย ชื่อเสียง ทรัพยากรมากมายมหาศาล จึงสามารถโจมตีสำนักงานจดทะเบียนสิทธิบัตรของสหรัฐฯด้วยการชิงอ้างสิทธิ์ก่อนใคร และมีส่วนได้ส่วนเสียภายในกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง Edison อาจจะไม่ได้สนใจในตัวผลผลิตจากการคิดค้นเป็นสิ่งแรก แต่ผลประโยชน์ที่แท้จริงคือการที่เขาลำพองว่าตัวเองมีสิทธิ์ยึดของส่วนบุคคลของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง
EDISON
Edmund Morris เขียนหนังสือมีความยาวเกือบ 800 หน้า แต่ตั้งชื่อเรื่องเพียงสั้น ๆ ว่า Edison แม้ว่าชื่อของ Thomas Alva Edison จะเป็นชาวอเมริกันที่โด่งดังมากที่สุดในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ แต่ทุกวันนี้ชื่อของเขายังคงเป็นชื่อที่มีความเป็นสากล โดยส่วนใหญ่จะมีภาพจำกันเพียงเรื่องเดียวว่า เขาเป็นผู้คิดค้นหลอดไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก สิ่งประดิษฐ์โคมไฟส่องแสงที่ใช้งานได้จริงเครื่องแรกของเขาเมื่อราวกว่า 140 ปีก่อนนั้นทำเอาทั้งโลกตื่นตาตื่นใจอย่างมากจนมาทับถมผลงานความสำเร็จ
ครั้งต่อ ๆ มาของเขา ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งโลกก็ทึ่งกันไปแล้วกับสิ่งประดิษฐ์อย่างเครื่องเล่นแผ่นเสียง และอุปกรณ์ใหม่พลิกโลกอีกมากมาย โดยสรุปแล้ว อัจฉริยะที่เข้าขั้นหูหนวกผู้นี้ เพราะเขาไม่ได้ยินเสียงนกร้องมาตั้งแต่อายุ 12 ปี ได้จดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ถึง 1,093 ชิ้น ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่รวมสิ่งประดิษฐ์ชิ้นอื่น ๆ เช่น เครื่องเอกซเรย์ฟลูออโรสโคป ที่เขาไม่ได้จดสิทธิบัตรเพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ทางการแพทย์
หนังสือชีวประวัติเล่มนี้ตีแผ่เรื่องราวช่วงชีวิตที่สำคัญของ Edison เป็นครั้งแรกในรอบเกินกว่า 20 ปี คือการเขียนถึงศักยภาพเกี่ยวกับ Edison ในด้านที่ยังไม่เป็นที่รู้จักเอาไว้อย่างครบถ้วน เขาเป็นทั้งนักปรัชญา นักเคมี นักพฤกษศาสตร์ ผู้ให้คำปรึกษากองทัพในช่วงยุคสงคราม นักประดิษฐ์ด้านภาพยนตร์ และผู้ก่อตั้งบริษัทเกือบ 250 แห่ง โดย Morris ใช้ทักษะการเขียนที่มีความหลักแหลมด้านการตีความและความงดงามทางวรรณกรรมที่มีอยู่ทั้งหมดมาใช้กับหนังสือเล่มนี้ รวมถึงได้รับสิทธิพิเศษและความไว้วางใจจากครอบครัวของ Edison ให้เข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ซึ่ง Morris ใช้เวลา 7 ปีสำหรับการค้นคว้าเอกสารต้นฉบับที่เก็บรักษาไว้ในห้องทดลอง ขนาดใหญ่ของ Edison ในชานเมืองเวสต์ออเรนจ์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ตัวอย่างเช่น ผู้เขียนบอกเล่าถึง Edison ที่มุ่งมั่นบุกเบิกอยู่กับเรื่องเทคโนโลยีบันทึกข้อมูลและพัฒนาความก้าวหน้าของการทำให้ภาพยนตร์และเสียงตรงกันอยู่เป็นเวลาถึง 50 ปี แต่ Morris มองข้ามการเชื่อมโยงเรื่องราวที่ทำให้เกิดประเด็นการเป็นศัตรูกันระหว่าง Edison กับ Nikola Tesla ไป และเลือกที่จะนำเสนอหลักฐานที่พิสูจน์ว่าพวกเขามีความสัมพันธ์ที่ทั้งคู่ต่างชื่นชมกันและกัน แต่ก็ยังมีความระมัดระวังกันและกันอยู่
นอกจากนี้ Morris ยังสามารถทำให้บุคคลที่ถูกเขียนถึงในแต่ละหน้าดูน่าสนใจขึ้นมาได้ เช่น ผู้เป็นสามีอันเป็นที่รักของภรรยาทั้งสองและพ่อของลูกทั้งหก แต่ก็มีความเผด็จการในตัว ถ้าหากชายผู้เป็นบุคคลสำคัญในหนังสือเล่มนี้อย่าง Edison มีความคิดสร้างสรรค์อันหยุดไม่อยู่เป็นแรงขับเคลื่อน มีความเป็นคนที่มีไฟในตัวอย่างเหลือล้นแบบไม่มีใครเทียบได้มากกว่าที่จะเป็นวีรบุรุษผู้ใช้อารมณ์ความรู้สึกนำทางจริง ถ้าอย่างนั้นก็สมควรแล้วที่เขาจะได้รับการเขียนชีวประวัติ
George Eastman
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 หนังสือ George Eastman: A Biography เล่มนี้นับได้ว่าเป็นหนังสือชีวประวัติเล่มแรกที่เขียนถึง George Eastman โดยนักประวัติศาสตร์ Elizabeth Brayer เธอเล่าชีวิตของพนักงานธนาคารวัย 23 ปีผู้หนึ่ง คือ Eastman ก้าวไปเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีและพลิกโฉมอุตสาหกรรมการถ่ายภาพ การเป็นผู้นำประกอบการด้านอุตสาหกรรม
ซึ่งเหตุผลที่ Eastman ประสบความสำเร็จนั้นส่วนหนึ่งมาจากสิ่งประดิษฐ์ของเขาก็จริง แต่ส่วนใหญ่จะมาจากการที่เขาสามารถสร้างเงินทุน จ้างพนักงานที่มีความสามารถด้านเทคนิค ขายสินค้าของตัวเองและแซงหน้าบรรดาคู่แข่งได้อย่างเทียบไม่ติด การที่ Eastman ริเริ่มนำสิ่งประดิษฐ์ทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สำคัญเข้ามา เช่น ฟิล์มม้วน และกล้องถ่ายภาพแบบใช้มือถือที่มีน้ำหนักเบา เป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้บริษัท Eastman Kodak Company เป็นเจ้าครองตลาดโลก และยิ่งไปกว่านั้น Brayer ยังวาดภาพอันดูมีชีวิตชีวาของชายผู้นี้ที่อยู่เบื้องหลังเงินบริจาคไว้ด้วย เช่น Eastman พยายามหนักมากเพื่อออกมาจากการตกเป็นเป้าของสาธารณะ อีกทั้งยังยืนกรานด้วยว่าการบริจาคเงินให้กับการกุศลของตัวเองเป็นแบบไม่ระบุนาม หนังสือพิมพ์ Boston Globe จึงมอบฉายาให้เขาว่าเป็น “เศรษฐีผู้ถ่อมตนและไม่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในอเมริกา”
แม้ว่า Eastman จะเกษียณอายุในปี ค.ศ. 1925 แต่เขาไม่มีทีท่าว่าจะหยุดทำงานเลยแม้แต่น้อย การหาเงินมันน่าสนใจจริงแต่การปล่อยให้เงินทำงานเองมันน่าสนใจยิ่งกว่า ในช่วงยุค 20 เขาได้ออกแบบกล้องชนิดพิเศษสำหรับใช้ในการจัดฟันและก่อตั้งคลินิกทำฟันอย่างดีให้กับเด็กยากจนทั่วโลก เขาเป็นคนควบคุมตรวจตราการก่อสร้างโรงภาพยนตร์ Eastman และโรงเรียนดนตรี Eastman ในเมืองโรเชสเตอร์ เงินบริจาคของเขามีส่วนช่วยในการสร้างวิทยาเขตแห่งใหม่ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และโรงเรียนแพทย์แห่งใหม่แก่มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ รวมถึงได้ชื่อว่าเป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดของการศึกษาสำหรับชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในช่วงยุค 20 และผู้สร้างคุณประโยชน์คนสำคัญที่สุดของสถาบัน Tuskegee
______________________________
โดย วิมลิน มีศิริ
ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 84 ประจำเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2567