ดินแดนชมพูทวีปผลิตภาพยนตร์มากกว่า 2,000 เรื่องในแต่ละปี จนได้ชื่อว่าเป็นอุตสาหกรรมหนังที่ใหญ่ที่สุดในโลก คนดูหนังในประเทศไทยคุ้นเคยกับหนังอินเดียและดาราอินเดียมาตั้งแต่ครึ่งศตวรรษก่อน กับหนังระดับปรากฏการณ์อย่าง Mother India (1957) และ Sholay (1975) จวบจนปัจจุบันหนังอินเดียก็ยังมีที่ทางในโรงภาพยนตร์และมีแฟนประจำอยู่ไม่น้อย กับหนังดังอย่าง Dangal (2016) และ RRR (2022) ในระดับโลก อินเดียภาคภูมิใจกับผู้กำกับปรมาจารย์ระดับคลาสสิกอยู่หลายคน เช่น สัตยาจิต เรย์, เมอร์นัล เซน, บิมาล รอย และ ริทวิค กาตัค ตัดภาพมายังวงการหนังโลกในปีนี้ ภาพยนตร์สายอาร์ตเฮาส์ All We Imagine as Light ของ ปายาล คาปาเดีย โดดเด่นและสร้างชื่อเสียงให้อินเดียจากการได้รางวัล Grand Prix จากเทศกาลเมืองคานส์
คอลัมน์ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี จึงเชิญชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์อันยาวนานและโฉมหน้าอันหลากหลายของหนังอินเดียผ่านหนังสือหลาย ๆ เล่ม ดังที่สรุปความมาให้ในพื้นที่นี้
ไม่ง่ายเลยที่จะย่นย่อการเดินทางอันยาวนานของหนังอินเดียให้กระชับ หนังสือเล่มแรกที่อาจช่วยเป็นแผนที่ให้เราเห็นภาพรวม คือ Indian Cinema: A Very Short Introduction เขียนโดย Ashish Rajadhyaksha ชื่อหนังสือประกาศว่านี่คือ “การแนะนำที่สั้นมาก” ซึ่งก็นับว่าตรงปก เพราะหนังสือมีเนื้อหาประมาณ 130 หน้า ถือได้ว่ากระชับทีเดียวกับการเล่าเรื่องโลกของภาพยนตร์จากดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องความยาว ความยิ่งใหญ่ และความหลากหลายในมิติต่าง ๆ
หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เราเห็นประเด็นอันซับซ้อนของคำว่า “หนังอินเดีย” การฉายภาพเคลื่อนไหวครั้งแรกในดินแดนอินเดียโดยช่างฉายหนังจากลูมิแอร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1896 ตอนนั้นอินเดียยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ คำว่า “ประเทศอินเดีย” ยังไม่มีอยู่ในตอนนั้น เพราะนี่คือดินแดนที่ถูกปกครองโดยเจ้าอาณานิคม และยังเป็นดินแดนแห่งความหลากหลายของเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และเรื่องเล่า แม้แต่เมื่ออินเดียได้รับเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คำว่า “หนังอินเดีย” ก็ยังเป็นคำที่ลื่นไหลและถกเถียงกันได้ว่าสามารถเป็นตัวแทนอัตลักษณ์ของชาติเพียงหนึ่งเดียวได้หรือไม่ เพราะ “หนังอินเดีย” ประกอบด้วยอุตสาหกรรมหนังท้องถิ่นย่อย ๆ จำนวนมาก กระจายตัวไปทั่วภูมิศาสตร์ทางแผนที่และภาษา ทั้งฮินดี (หรือบอลลีวูด ที่คนดูส่วนใหญ่คุ้นเคย) และยังมีหนังทมิฬ หนังเบงกาลี หนังเตลูกู หนังมาลายาลัม และอื่น ๆ อีกมาก
ผู้เขียนพยายามอธิบายหนังอินเดียผ่านแว่นของโลกหลังยุคอาณานิคมและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ Partition (การแยกประเทศปากีสถาน) การเรืองอำนาจของ อินทิรา คานธี ต่อเนื่องถึงยุคโลกาภิวัตน์ โดยมีเป้าหมายเพื่อสำรวจภาพยนตร์และคนทำหนังอินเดียที่ประวัติศาสตร์อาจมองข้าม และเพื่อสนับสนุนแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางภาษา ดารา และวัฒนธรรมของ “หนังอินเดีย”
สิ่งที่มักถูกมองข้ามเสมอเวลาพูดถึงหนังอินเดียคือหนังนอกกระแส และโดยเฉพาะหนังสารคดีนอกกระแส Indian Documentary Film and Filmmakers: Independence in Practice โดย Shweta Kishore เป็นงานศึกษากลุ่มคนทำหนังสารคดี โดยเฉพาะสารคดีการเมือง ที่มีบทบาทควบคู่ไปกับสารคดีทางการที่สร้างโดยหน่วยงานรัฐของอินเดีย หนังสือไล่เรียงถึงคนทำหนังสารคดีคนสำคัญ เช่น อานันด์ แพตวาร์ธันพูดถึงการจัดจำหน่าย การออกฉาย และอิทธิพลของหนังสารคดีต่อภูมิทัศน์การเมืองที่เข้มข้นของอินเดีย
สลับมายังอีกหนึ่งโฉมหน้าของความหลากหลายในอาณาจักรหนังอินเดีย Bollywood Horrors: Religion, Violence and Cinematic Fears in India โดย Ellen Goldberg, Aditi Sen และ Brian Collins เป็นหนังสือที่รวบรวมงานเขียนของนักวิชาการหลายคนที่ศึกษาเรื่องหนังสยองขวัญ หนังเกรดบี หนังใต้ดิน รวมทั้งหนังที่ใช้ปรัชญา “ความน่ากลัว” ในบริบทการเล่าเรื่อง การวิพากษ์สังคม และการใช้สิ่งเหนือธรรมชาติเป็นสัญลักษณ์ของสตรีนิยม
ในขณะที่หนังบอลลีวูดเชิงพาณิชย์มีช่องทางออกฉายทั่วโลก ส่วนหนังอาร์ตอินเดียก็มีที่ทางในเทศกาลหนังนานาชาติ หนังผีและหนังทุนต่ำยังคงเป็นหนังกลุ่มย่อยที่คนนอกอินเดียอาจไม่คุ้นเคย หนังสือพาเราไปสำรวจแง่มุมต่าง ๆ ของหนังสยองขวัญ ตั้งแต่การใช้เรื่องเล่าและตำนานผีพื้นถิ่น เช่น ผีดูดเลือดอินเดีย สัตว์ประหลาดต่าง ๆ ตัวละคร tantrik หรือโยคีสายมืดที่ใช้เวทมนตร์เพื่อทำร้ายคน และหนังผีที่อ้างอิงโครงสร้างของตำนานปรัมปรา เช่น รามายณะ หรือมหาภารตะ อันว่าด้วยเทพีหรือเจ้าแม่ที่ต้องการหลั่งเลือดแก้แค้นและทวงคืนความยุติธรรมในสังคมที่มักดูแคลนผู้หญิง หนังสือยังเชื่อมโยงตระกูลหนังสยองขวัญเข้ากับสภาวะทางสังคมและการเมืองของอินเดีย เช่น การครองอำนาจของ อินทิรา คานธี และการลอบสังหารเธอในทศวรรษที่ 1980 เป็นปัจจัยที่สร้างบรรยากาศความน่ากลัวให้กับสังคมโดยรวม และทำให้หนังสยองขวัญเป็นช่องทางระบายความรู้สึกนั้น ก่อนที่หนังผีจะค่อย ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของหนังตลาดอินเดียในยุคต่อมา
หนังสือเล่มสุดท้ายที่จะแนะนำ 100 Essential Indian Films โดย Rohit K. Dasgupta และ Sangeeta Datta เล่มนี้ว่ากันตรง ๆ ถึงหนัง 100 เรื่องสำคัญของอินเดีย ทั้งหนังที่คุ้นเคยอย่าง Mother India และ Salaam Bombay (1988) มาถึงหนังร่วมสมัยอย่าง Lagaan (2001) และ The Lunchbox (2013) โดยมีบทวิเคราะห์หนังแต่ละเรื่องอย่างละเอียด เป็นหนังสือที่วาดภาพความร่ำรวยและหลากหลายของหนังอินเดียได้เป็นอย่างดี
เขียนโดย ก้อง ฤทธิ์ดี
ที่มา จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ฉบับที่ 85 ประจำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568