เก็บความทรงจำด้วยหนังบ้านของ สุรพงษ์ ลาภผาติกุล

โดย ธิติพงษ์ ก่อสกุล

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ฉบับที่ 66 ประจำเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม พ.ศ. 2564



สุรพงษ์ ลาภผาติกุล ได้รับกล้องถ่ายรูปตัวเก่าของพ่อมาถ่ายรูปเล่นตั้งแต่อายุราว 10 ขวบ ตัวเขาและพี่ชายจึงได้มีโอกาสฝึกหัดการใช้กล้องถ่ายรูปบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ และเป็นเสมือนเครื่องเล่นอย่างหนึ่งในยามว่าง จนกระทั่งเมื่ออายุย่างเข้า 20 ปี จึงได้มีโอกาสได้ลองถ่ายกล้องถ่ายภาพยนตร์ 8 มม. เป็นครั้งแรก ไม่นานนับจากนั้น สุรพงษ์ซึ่งมีมารดาเป็นชาวญี่ปุ่นได้มีโอกาสเดินทางไปญี่ปุ่นครั้งแรก โดยเป็นการไปพักกับญาติ และฝึกงานกับบริษัทของเพื่อนพ่อซึ่งดำเนินกิจการอยู่ในวงการนำเข้าส่งออก เป็นเวลาราว 3 เดือน ด้วยความตื่นเต้นและไม่อยากจะลืมความทรงจำเหล่านั้น สุรพงษ์ซื้อกล้องถ่ายภาพยนตร์เป็นของตนเองและเริ่มบันทึกกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งชีวิตการฝึกงาน การเดินทางพบปะญาติ ท่องเที่ยว และสิ่งต่าง ๆ ที่เขาเห็นว่าน่าสนใจและอยากจะจดจำไว้


“ผมไม่อยากจะรู้สึกเสียดาย ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้กลับมาอีก หรือว่ามาอีกที เด็กคนนี้โตแล้ว อะไรแบบนี้ ผมก็อยากมีบันทึกเก็บไว้ตลอด เพื่อว่าตอนแก่ ๆ จะได้มาดู นั่งดูสนุก ๆ ตอนไม่มีอะไรทำแล้ว”




หนังบ้านจากการถ่ายของสุรพงษ์ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ถ่ายในญี่ปุ่นนั้น นอกจากจะบันทึกเอาภาพเคลื่อนไหวของสิ่งต่าง ๆ ที่พบเจอและต้องการจะจดจำไว้แล้ว ยังมีลักษณะน่าสนใจอันเกิดขึ้นจากนิสัยชอบบันทึกรายละเอียดเรื่องราวต่าง ๆ ของเขาเอง คือมีการเขียนข้อความลงบนกระดาษขนาดใหญ่ก่อนเริ่มกิจกรรมนั้น ๆ เป็น Intertitle ซึ่งบันทึก ข้อมูล เช่น วันเดือนปี เวลา สภาพอากาศ อุณหภูมิประจำวัน กิจกรรม และบางครั้งก็เขียนถึงผู้คนที่เมืองไทยที่เขาระลึกถึง ราวกับการถ่ายหนังบันทึกกิจกรรมที่เขาทำนั้นแทนจดหมายที่เขาส่งไปเล่าเรื่องราวต่าง ๆ 


“ผมถ่ายแล้วก็กลัวว่าผมจะลืมเองว่า ไปถ่ายที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ แล้วก็เนื่องจากมันเป็นหนัง 8 มม. ด้วย คือมันไม่มีอะไรเลย พอวางไว้มันดูไม่ออกเลย ต้องยกขึ้นมาดู ผมก็เลยคิดว่าถ่ายต่างหากแล้วก็ตัดต่อมาแปะไว้ตอนต้นเพื่อให้ตัวเองจำได้เท่านั้นเอง”




หนังบ้านของสุรพงษ์ในช่วงไปฝึกงานที่ญี่ปุ่นนี้ ประกอบด้วย SNOW IN JAPAN, MY LIFE IN JAPAN, พระราชวังอิมพีเรียล, ไปบ้านจินดาที่ชิบูย่า, สวนสาธารณะอาโอโนะ โตเกียว ไปนั่งเล่น, [สนามบิน ญี่ปุ่น] โดยเป็นการบันทึกภาพเหตุการณ์และสถานที่ต่าง ๆ ที่ได้ไปเยือน ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2527 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2527 ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น สำนักงานของบริษัท TAIYO BOEKI, ที่พักแถบชานเมืองเนริมะ, ห้องพักของเพื่อนแถบชิบูย่า พระราชวังอิมพีเรียล, แหล่งชุมนุมและทำกิจกรรมของวัยรุ่นญี่ปุ่นอย่างฮาราจูกุ และโตเกียวทาวเวอร์จากมุมล่างและจากมุมบนหอคอย ถัดจากนั้นจึงเป็น ถ่ายบนเครื่องบินกำลังจะไปไต้หวัน บันทึกการแวะเยือนไต้หวันระหว่างขากลับอีก 3 วัน นอกจากนี้ยังมีเรื่อง ถ่ายนักร้องกำลังดังปี 2527 บันทึกภาพระหว่างวันที่ 12-15 กรกฎาคม ซึ่งเป็นการไปเยือนญี่ปุ่นครั้งต่อมาในปีเดียวกัน ซึ่งได้ไปเยือนฮาโกเนะ, เกาะมิยาจิมะ และตึกที่หลงเหลือจากระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาด้วย


ส่วนหนังบ้านของสุรพงษ์ที่ถ่ายในประเทศไทยนั้น ได้บันทึกภาพกิจกรรมร่วมกันของคนในครอบครัวลาภผาติกุล เช่น สถานที่ทั่วไปของวันสารทจีน, ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ (ต้อนรับปีเสือ 2529) ช่วงท้ายของ ถ่ายบนเครื่องบินกำลังจะไปไต้หวัน, น้ำท่วม 2 และ [น้ำท่วม] ซึ่งจะปรากฏภาพสมาชิกครอบครัวอยู่ร่วมกันในบ้านซอยอารีย์ ทำกิจกรรมร่วมกันในวาระต่าง ๆ เช่น คุณพ่อของคุณสุรพงษ์ร่วมเตรียมอาหารวันสารทจีน, ทุกคนล้อมวงกันในงานเลี้ยงฉลองปีใหม่, พี่สะใภ้ตัดผมให้พี่ชาย, คุณสุรพงษ์และน้องชายลุยน้ำท่วมซอยอารีย์ และไปดูน้ำท่วมบนถนนพหลโยธิน ในบางเรื่องจะปรากฏคุณสุรพงษ์หรือพี่ชายถือกล้องถ่ายภาพยนตร์ผ่านเข้ามาด้วย เนื่องจากทั้งสองท่านได้รับการปลูกฝังให้สนใจการถ่ายภาพและภาพยนตร์จากคุณพ่อ 




“เริ่มต้นพ่อก็สอนง่าย ๆ ว่าต้องถ่ายอย่างไร กดตรงไหน ส่องอย่างไร ก็เริ่มมาจากพ่อนี่แหละที่ถ่ายหนัง เพราะฟิล์มพวกนี้ ตั้งแต่ผมยังไม่เกิดก็ยังมี มันยังถอยไปกว่านั้นอีก แต่ผมไม่รู้ว่าอยู่ไหน ตั้งแต่สมัยพี่ชายผมยังเล็ก ๆ ผมเริ่มหัดถ่ายภาพนิ่งก่อน ส่วนกล้องถ่ายหนังได้ลองถ่ายตอนที่โตขึ้นมาแล้วหลายปี ส่วนพี่ชายก็ถ่ายหนังนะ แต่ผมจำไม่ได้ว่าเขาเริ่มตอนไหน หยุดตอนไหนเหมือนกัน”


นอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีหนังซึ่งน้องชายของคุณสุรพงษ์ยืมกล้องไปถ่ายที่โรงเรียนเซนต์จอห์นด้วย คือ เรื่อง [ในห้องเรียน] ซึ่งมีภาพการหยอกล้อกันของเพื่อนร่วมชั้น, อาจารย์กำลังบรรยาย และนักเรียนจำนวนมากในสนามโรงเรียนหนังบ้านที่ถ่ายทำในประเทศไทยอีกส่วนหนึ่งที่มีความน่าสนใจ คือหนังบ้านที่บันทึกการเดินทางท่องเที่ยวของคุณสุรพงษ์ กับคุณหน่อง ภรรยา ทั้งก่อนและหลังการแต่งงาน เช่น ไปเที่ยวมวกเหล็กกับหน่อง, [เที่ยวฟาร์มจระเข้ สมุทรปราการ], พาหน่องเที่ยวสวนสามพราน ในช่วงท้ายของหนัง ถ่ายบนเครื่องบินกำลังจะไปไต้หวัน มีบันทึกภาพการไปเที่ยวแดนเนรมิตกับคุณหน่อง ในวันที่ 19 เมษายน 2527 ซึ่งถึงแม้จะไม่มีภาพที่บันทึกในขณะคุณสุรพงษ์กับภรรยาเล่นเครื่องเล่นต่าง ๆ แต่ก็ได้เห็นผู้คนจำนวนมากกับเครื่องเล่นของสวนสนุกชื่อดังซึ่งปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว และ นั่งรถไฟไปเชียงใหม่, [วัดพระธาตุดอยสุเทพ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์], [น้ำตกแม่สา สามเหลี่ยมทองคำ แม่สาย], [ศูนย์อุตสาหกรรมทำร่ม สวนสัตว์เชียงใหม่] ซึ่งเป็นบันทึกประสบการณ์การเดินทางไปเชียงใหม่ครั้งแรกของคุณสุรพงษ์ด้วยการโดยสารรถไฟ และว่าจ้างรถตุ๊กตุ๊กในพื้นที่ ซึ่งได้เห็นทั้งภาพทัศนียภาพสองข้างทางรถไฟและสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ด้วยภาพยนตร์บ้านของคุณสุรพงษ์ ลาภผาติกุล ดังรายชื่อที่นำเสนอในบทความคลังอนุรักษ์นี้ คุณสุรพงษ์ได้นำมาให้หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) แปลงสัญญาณในปี 2553 และได้รับเลือกมานำเสนอในกิจกรรมวันหนังบ้านปีล่าสุด (2564) โดยคุณสุรพงษ์ได้พูดถึงความรู้สึกเมื่อได้รับชมหนังบ้านของตนอีกครั้ง และความคิดเรื่องการบันทึกเรื่องราวในปัจจุบันไว้ดังนี้




“ผมตื่นเต้นนะ รู้สึกแปลกด้วย เพราะว่าผมเองหลังจากถ่ายก็ไม่ได้ดูเลย แค่เก็บเอาไว้ กะว่าจะเอามาดูทีหลัง บางทีก็นึกไม่ออกว่าถ่ายอะไรมา ผมชอบดูชีวิตคน ยิ่งเก่า ๆ ยิ่งชอบ ดูว่าสมัยนั้นเขาทำอะไรกัน แต่งตัวอย่างไร หรือชีวิตประจำวันเขาทำอะไรบ้าง ขอบคุณที่ยังมีหน่วยงานนี้อยู่ เพราะไม่อย่างนั้นอดีตผมก็อาจจะหายไปกับฟิล์มแล้วก็ได้ สมัยนั้นการเก็บบันทึกความทรงจำมันยาก เพราะว่าฟิล์ม 8 มม. มันก็แพง แล้วมันก็ 3 นาที พลาดก็ไม่ได้ พลาดก็เสียของ ถ่ายเสร็จกว่าจะส่งไปล้าง ก็ลืมไปแล้วว่าถ่ายอะไรมา ต้องคอยจดเอาไว้ตลอด ไม่สะดวกเหมือนตอนนี้ สมัยนี้เองผมก็ยังถ่ายอยู่ มันสะดวกขึ้นเยอะ ก็เลยเดี๋ยวถ่าย ๆ ถ่ายเป็นคลิปสั้น ๆ ผมก็สะสมไว้ในเครื่องน่ะ (ชี้ไปที่โทรศัพท์มือถือ) เก็บไว้เอง แทบไม่ได้ส่งให้ใคร เพราะผมว่าเดี๋ยวนี้ทุกคนก็มีกล้อง เขาก็ถ่ายของเขา ยกเว้นว่าเราอยากให้เขาเห็น เราก็ส่ง แต่ไม่ได้ส่งทุกอัน มันสะดวกขึ้นเยอะเลย สะดวกจนผมคิดว่าเสียดาย ไม่รู้จะมีใครคิดทำแบบนี้อยู่หรือเปล่า”  


------------------------------------------

รับชมคุณสุรพงษ์ ลาภผาติกุล ได้เล่าถึงหนังบ้านของตัวเอง พร้อมรับชมหนังบ้านอื่น ๆ ในกิจกรรมวันหนังบ้าน ครั้งที่ 13 ฉบับออนไลน์ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา