ศิลปส่องทางให้แก่กันวรรณกรรมส่องทางกันกับภาพยนตรกรรม

การเขียนหนังสืออย่างใหม่ที่เรียกว่า นวนิยาย (Novel) ของไทย กล่าวหยาบ ๆ ได้ว่า เริ่มขึ้นพร้อม ๆ กับการมีภาพยนตร์เกิดขึ้นในโลกและเข้ามาในสยาม คือในปี 2440 ขณะที่นวนิยายเกิดขึ้นในประเทศตะวันตกมากว่าสองร้อยปีก่อนหน้าแล้ว


กล่าวคือในปี 2440 พระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ 5 พระองค์เจ้าทองแถมถวัลย์วงศ์ (2400-2463) ซึ่งตามเสด็จ ร.5 ประพาสยุโรปครั้งแรก ได้ซื้ออุปกรณ์ภาพยนตร์เข้ามา และต่อมาในปี 2443 ทรงถ่ายภาพยนตร์เป็นรายแรกในสยาม และปีเดียวกันนั้นเอง พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) (2418-2485) ใช้นามปากกา “แม่วัน” แปลนิยายฝรั่งเรื่องVendetta ของ มารี คอเรลลี นักประพันธ์ชาวอังกฤษ เป็นนิยายแปลภาษาไทยเรื่องแรกในชื่อ ความพยาบาท ลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารรายเดือน ลักวิทยา แล้วต่อมา หลวงวิลาศปริวัตร (เหลี่ยม วินทุพราหมณกุล) (2422-2506) นักเรียนนอกเพื่อนร่วมรุ่นของพระยาสุรินทราชา ใช้นามปากกา “นายสำราญ” แต่งนวนิยายไทยเรื่องแรก ความไม่พยาบาท ลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารรายเดือน ถลกวิทยา ซึ่งออกเผยแพร่ระหว่างปี 2443-2448






ในขณะที่การเขียนนวนิยายของไทยเริ่มขึ้นพร้อมกับภาพยนตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในโลก ภาพยนตร์ได้เติบโตพัฒนาอย่างรวดเร็วจากการถ่ายภาพเคลื่อนไหวบันทึกเหตุการณ์สิ่งละอันพันละน้อย มาเป็นสื่อภาษาอย่างใหม่ที่สามารถเล่าเรื่องได้อย่างเดียวกับละครและนวนิยาย มีการนำบทละครและนวนิยายหรือแต่งเรื่องขึ้นใหม่มาถ่ายทำเป็นภาษาภาพยนตร์ และได้รับความนิยมไปทั่วโลกในระหว่างปี 2450-2470 ซึ่งเป็นยุคที่ภาพยนตร์ยังไม่มีการบันทึกเสียง คำบรรยายและคำเจรจาของตัวละครจะใช้ข้อความตัวอักษรแทรกให้ผู้ชมอ่าน และด้วยเหตุที่ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่เข้ามาฉายในสยามเป็นภาพยนตร์ต่างประเทศ ใช้ข้อความภาษาต่างชาติ ทำให้ผู้ชมภาพยนตร์ในสยามส่วนใหญ่ซึ่งอ่านภาษาต่างชาติไม่ได้ ไม่สามารถเข้าถึงอรรถรสได้เต็มที่ จึงมีผู้คิดแปลและเรียบเรียงเรื่องจากภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาฉายเป็นภาษาไทย ออกจำหน่ายเป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ ใช้เป็นคู่มือในการดูภาพยนตร์


กิจการแปลและเรียบเรียงคู่มือดูภาพยนตร์เหล่านี้นับว่ารุ่งเรืองมากพอ ๆ กับความรุ่งเรืองของภาพยนตร์ และกลายเป็นที่บ่มเพาะฝีมือการแต่งหนังสือของนักเขียนนักประพันธ์ไทยที่กำลังเกิดขึ้นในยุคนั้นพอดี




กุหลาบ สายประดิษฐ์ (2449-2517) เริ่มก้าวเข้าไปเป็นนักเขียน และใช้นามปากกา “ศรีบูรพา” ในทศวรรษของปี 2460 พอดี ก็ได้รับงานเขียนเรื่องภาพยนตร์กับเขาด้วยคนหนึ่ง บางทีก็รับเขียนในนามปากกาของคนอื่นเช่น “แก้วกาญจนา” กุหลาบ สายประดิษฐ์ เคยเขียนถึงความเฟื่องฟูของหนังสือเรื่องภาพยนตร์นี้ว่า…ในเวลานั้นหนังสือเกี่ยวกับเรื่องภาพยนตร์เป็นหนังสือที่อ่านกันแพร่หลายและครองความเป็นใหญ่ของโลกวรรณกรรมไทย...


เมื่อคนไทยเริ่มทำหนังประเภทเรื่องแสดง (feature film) มีนักเขียนหลายคนเข้าไปร่วมงานสร้างภาพยนตร์ ไปเป็นผู้แต่งเรื่อง ผู้แต่งบท ผู้กำกับ รวมทั้งไปเป็นผู้แสดง



กุหลาบ สายประดิษฐ์ เคยเข้าไปเหยียบดินแดนภาพยนตร์ โดยได้รับว่าจ้างงานให้เป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นเป็นกระทรวงเมื่อปี 2485 (แต่เดิมเป็นแค่กรมสาธารณสุข สังกัดกระทรวงมหาดไทย) เข้าใจว่ากระทรวงใหม่ต้องการใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อเผยแพร่ให้การอบรมประชาชนในเรื่องสุขภาพอนามัย โดยเฉพาะเรื่องการแต่งงานของชายหญิงไทย ควรจะมีหลักคิดอย่างไร และปฏิบัติตนเพื่อให้ครอบครัวดำรงอยู่อย่างราบรื่นได้อย่างไร จึงตั้งโครงการสร้างภาพยนตร์นี้ขึ้นในปี 2486


บทภาพยนตร์นี้ซึ่งน่าจะใช้ชื่อลำลองไว้ก่อนว่า เรื่องสุขศึกษา โดยใช้นามปากกา ก.ส. จากเอกสารที่เหลืออยู่ของบทภาพยนตร์นี้จะพบว่าท่านให้ความใส่ใจในการเขียนบทภาพยนตร์นี้มาก และคำนึงถึงจุดประสงค์ของผู้ว่าจ้าง ทั้งยังให้ความเคารพคณะทำงานด้านภาพยนตร์ของกระทรวงสาธารณสุขในฐานะที่ชำนาญการกว่าท่าน แม้ยังตรวจไม่พบว่าสุดท้ายได้สร้างภาพยนตร์จากบทภาพยนตร์นี้หรือไม่ แต่นี่ย่อมเป็นหลักฐานที่เห็นได้ชัดเจนว่าศิลปะส่องทางแก่กัน


ไม่มีใครสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาจากความว่างเปล่าหรือลอย ๆ ด้วยตนเองคนเดียว แต่ล้วนต้องได้รับผลจากการสร้างสรรค์ที่สั่งสมกันมาของคนอื่น ๆ งานศิลปก็เป็นการสร้างสรรค์อย่างหนึ่งของมนุษย์ จึงมีคำพูดว่า ศิลปส่องทางกัน



กุหลาบ สายประดิษฐ์ กลายเป็นนักคิดนักเขียนที่ดีเด่นที่สุดคนหนึ่งในโลกวรรณกรรมไทย ใช้นามปากกา “ศรีบูรพา” แต่งนิยาย “สงครามชีวิต” พิมพ์ครั้งแรกในปี 2475 ก่อนการปฏิวัติการปกครอง โดยได้สร้างตัวละคร ระพินทร์ ยุทธศิลป์ เป็นชายหนุ่มผู้ยากจนและยากไร้ รักกับ เพลิน โรหิตบวร หญิงสาวลูกผู้ดีตกยาก เป็นรักแห่งการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า เป็นรักในสงครามชีวิตของทั้งสอง ศรีบูรพาสร้างให้หนุ่มระพินทร์ใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียน เมื่อได้อ่านนิยายเรื่อง Poor People ของ ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (2364-2424) นักประพันธ์เรืองนามของรัสเซีย ตัวละครระพินทร์ของศรีบูรพาก็ชื่นชมบูชาและฝันทะเยอทะยานที่จะเป็นนักประพันธ์มีชื่อเสียงเช่นนั้นบ้าง เขาเริ่มหัดแต่งนิยายขึ้นจากชีวิตรักของเขากับเพลิน แต่ระพินทร์พ่ายแพ้ในสงครามชีวิต นิยายในฝันของระพินทร์ที่ซ้อนอยู่ในนิยายสงครามชีวิตของศรีบูรพาก็จบลงพร้อมกันอย่างโศกนาฏกรรม


ปีที่หนังสือนิยายสงครามชีวิตของศรีบูรพาได้รับการตีพิมพ์ออกจำหน่ายครั้งแรก เป็นปีที่เด็กชาย ประเทศ พิชัยสงคราม (2475-2549) ลืมตาขึ้นดูโลก และเมื่อเป็นหนุ่ม ประเทศใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนหนังสือเมื่อเริ่มเป็นนักเขียนและได้รับเงินค่าเรื่องเป็นครั้งแรกในชีวิตในปี 2495 เขานำเงินนั้นไปซื้อหนังสือสี่เล่มของนักเขียนสองคนที่เขาบูชาเป็นเทพเจ้าแห่งการประพันธ์ คือ ปักกิ่งนครแห่งความหลัง กับ คนดีที่โลกไม่ต้องการ ของ สด กูรมะโรหิต (2451-2521) และ สงครามชีวิต กับ ข้างหลังภาพ ของ ศรีบูรพา และต่อมาประเทศก็ประสบความสำเร็จเป็นนักประพันธ์ผู้ใช้นามปากกาว่า “ธม ธาตรี” มีชื่อเสียงคนหนึ่งในท้องฟ้าวรรณกรรมไทย แต่ประเทศผู้ตั้งชื่อตนเองใหม่ว่า เชิด ทรงศรี ยังได้ก้าวต่อจากโลกวรรณกรรมไปสู่โลกภาพยนตร์ด้วย เป็นผู้สร้าง ผู้เขียนบท และผู้กำกับภาพยนตร์ มีชื่อเสียงในนาม เชิด ทรงศรี มีผลงานภาพยนตร์ที่โดดเด่นหลายเรื่องในโลกภาพยนตร์ไทย




เชิด ทรงศรี ไม่เคยลืมเทพเจ้าผู้สร้างแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือของเขา และปรารถนาที่จะนำผลงานที่เขาบูชามาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ เชิด ทรงศรี ใช้นามปากกา ธม ธาตรี เขียนบทภาพยนตร์สงครามชีวิตขึ้นในปี 2541 โดยใช้เวลาทำบทราวสองเดือน แต่เพราะเป็นนิยายที่ถูกมองกันว่าไม่น่าจะสร้างเป็นภาพยนตร์ได้ เพราะทั้งเรื่องเป็นจดหมายของคู่รักเขียนตอบโต้กันเท่านั้น รวม 33 ฉบับ เชิดได้ใช้เหตุการณ์ที่คู่รักเล่าแก่กันในจดหมายมาดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ (screen play) แต่เนื่องจากการสร้างภาพยนตร์เรื่องหนึ่งต้องใช้เงินลงทุนมาก แม้ไม่ใช้เงินของตนเอง การเสนอขอทุนจากผู้อื่นก็ต้องมีเหตุผลให้ผู้ลงทุนเห็นว่าภาพยนตร์จะขายได้ เชิดจึงส่งบทไปให้ผู้ที่เชี่ยวชาญการตลาดหนังไทยคนหนึ่งช่วยพิจารณาว่าควรจะสร้างไหม คำตอบที่ได้รับคือไม่ควรสร้างด้วยเหตุผลหลายประการ เชิดจึงระงับโครงการเรื่องนี้ไว้ก่อน แต่ได้ตัดสินใจนำนิยายของศรีบูรพาอีกเรื่องที่เขาบูชาคือ ข้างหลังภาพ ซึ่งเขาเคยถือสิทธิ์และยินยอมให้ เปี๊ยกโปสเตอร์ (2475 - ปัจจุบัน) นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วเมื่อปี 2528 มาสร้างเองใหม่ ออกฉายเมื่อปี 2544 เป็นงานศิลปภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดวรรณศิลป์ได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของภาพยนตร์ไทย แต่ภาพยนตร์ไม่ได้รับความสำเร็จด้านตลาด และกลายเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในชีวิต เมื่อ เชิด ทรงศรี เสียชีวิตในปี 2549 ปีที่ประเทศไทยจัดงานเฉลิมฉลองวาระชาตกาลครบ 100 ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์


หลังจาก เชิด ทรงศรี เสียชีวิต ครอบครัวได้บริจาควัตถุสิ่งของเกี่ยวกับการทำงานของเขาทั้งหมดให้หอภาพยนตร์ หนึ่งในบรรดาสิ่งของเหล่านี้คือบทภาพยนตร์เรื่องสงครามชีวิต




เมื่อหอภาพยนตร์จะจัดทำนิทรรศการถาวรในชื่อ โรงถ่าย 3 และในหัวเรื่อง “From Dreams to Reels” จึงเกิดความคิดดลใจให้นำบทภาพยนตร์นี้มาสร้างสรรค์เป็นภาพยนตร์ “สงครามชีวิต” ในฝันของ เชิด ทรงศรี และเพราะศิลปส่องทางกัน หอภาพยนตร์จึงส่องไปเห็น สมเกียรติ วิทุรานิช (2502 - ปัจจุบัน) ผู้กำกับภาพยนตร์ร่วมสมัย ซึ่งศรัทธา “ศรีบูรพา” และรัก “สงครามชีวิต” มากถึงขนาดเป็นแรงดลใจให้เขานำตัวละครระพินทร์และเพลินไปโลดแล่นซ้อนทับอยู่เบื้องหลังตัวละครในภาพยนตร์เรื่อง รักที่รอคอย (2552) ซึ่งเขาเขียนเรื่อง เขียนบท และกำกับเอง สมเกียรติเล่าว่า สงครามชีวิตเป็นหนังสือนิยายที่เขาอ่านจนจบเป็นเล่มแรกในวัยเด็กด้วยความเพลิดเพลินและกินใจ จึงประทับอยู่ในใจของเขามาตลอด รักที่รอคอย เป็นภาพยนตร์ที่เขานำเหตุการณ์และความทรงจำที่มีผลสำคัญต่อชีวิตในแต่ละช่วงวัยคือ นิยายสงครามชีวิต การเสียชีวิตของ มิตร ชัยบัญชา เหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา มาประกอบสร้างสรรค์เป็นบทภาพยนตร์แล้วกำกับเป็นภาพยนตร์ รักที่รอคอย หอภาพยนตร์จึงเชิญสมเกียรติมาเป็นผู้สานต่อลงมือทำให้ความฝันของเชิด ทรงศรี จากบทภาพยนตร์สงครามชีวิตให้มีชีวิตโลดแล่นเป็นภาพยนตร์จริงขึ้นในนิทรรศการนี้


สมเกียรติยังเล่าว่าในปี 2538 ซึ่งเขาเพิ่งเข้ามาในวงการภาพยนตร์ เชิด ทรงศรี ซึ่งกำลังทำ อำแดงเหมือนกับนายริด ติดต่อชวนให้ไปช่วยงาน แต่สมเกียรติติดงานโครงการอื่นจึงไม่มีโอกาสได้ร่วมทำงานกับเชิด


วรรณกรรมส่องทางกันกับคีตกรรม


อาลัยรัก เป็นเพลงที่มีอยู่แล้วก่อนที่ เชิด ทรงศรี จะเขียนบทภาพยนตร์สงครามชีวิต และเป็นเพลงที่เกี่ยวข้องโดยตรงจากนิยายสงครามชีวิตของศรีบูรพา


มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งในปี 2505 สุวัฒน์ วรดิลก หรือ รพีพร (2466-2550) นักประพันธ์และนักเขียนบทละคร ได้แนะนำหนังสือสงครามชีวิตของศรีบูรพา ให้ ชาลี อินทรวิจิตร (2466-2564) นักแต่งเพลงที่โดดเด่นท่านหนึ่งซึ่งเป็นสหายกันมาแต่วัยเด็กได้ลองอ่าน ชาลีอ่านแล้วประทับใจข้อความตอนจบของนิยาย แต่บ้างก็ว่าสุวัฒน์ท่องวรรคทองในบทสุดท้ายของนวนิยายสงครามชีวิตให้ชาลีฟังโดยตรงเพื่อลองนำไปแต่งเป็นเพลง วรรคทองนั้นอยู่ในจดหมายฉบับสุดท้ายที่ระพินทร์เขียนถึงเพลินซึ่งตัดรักจากเขาไปแต่งงานกับชายอื่นที่ร่ำรวย ระพินทร์คร่ำรำพันว่า




ถ้าฉันเป็นนก ฉันคงจะบินติดตามเธอไปทุกหนทุกแห่ง แม้ว่าเมื่อบินไปในระหว่างทาง ตัวฉันจะต้องถูกธนู ฉันก็จะอุตส่าห์พยุงกายบินไปตกตรงหน้าตักเธอ และเมื่อยอดรักได้เช็ดเลือดและน้ำตาให้ฉันสักครั้งหนึ่ง ฉันก็จะหลับตาตายด้วยความเป็นสุข


ปรากฏว่าไม่ว่าจะอ่านเองหรือสุวัฒน์ท่องให้ฟัง ชาลีประทับใจวรรคทองอันกินใจนี้ และนำคำถ้อยความรำพันนั้นมาปรับแต่งเป็นเนื้อร้องสำหรับทำเป็นเพลง ให้ชื่อว่า อาลัยรัก โดยให้ สมาน กาญจนะผลิน (2464-2538) ครูเพลงคู่ใจแต่งทำนองให้ แล้วมอบให้ ชรินทร์ งามเมือง (นันทนาคร) (2476-2567) ร้องบันทึกแผ่นเสียงออกจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 2505 เป็นเพลงที่ประทับใจผู้ฟังทั่วประเทศ 


ฉันรักเธอ รักเธอด้วยความไหวหวั่น

ว่าสักวันฉันคงถูกทอดทิ้ง

มินานเท่าไร แล้วเธอก็ไปจากฉันจริง ๆ

เธอทอดทิ้งให้อาลัยอยู่กับความรัก

แม้นมีปีกโผบินได้เหมือนนก

อกจะต้องธนูเจ็บปวดนัก

ฉันจะบินมาตายตรงหน้าตัก

ให้ยอดรักเช็ดเลือดและน้ำตา


เพลงนี้เกิดจากนิยายสงครามชีวิต และโด่งดังในสังคมไทยมากว่าหกสิบปี เมื่อ เชิด ทรงศรี ถอดนวนิยายสงครามชีวิตเป็นบทภาพยนตร์ เขาจึงนำเพลงอาลัยรักมาใส่ไว้ในฉากจบของหนัง ให้ระพินทร์อ่านจดหมายฉบับสุดท้ายจากเพลิน จบฉากด้วยภาพทุ่งนาหลังบ้านระพินทร์ เวลาเย็น ดวงตะวันกำลังจะลับขอบฟ้า นกตัวเดียวบินกลับรัง…


เมื่อโรงถ่าย 3 นำบทภาพยนตร์ของ เชิด ทรงศรี มาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ จึงยังคงใช้เพลงนี้ และให้มีบทบาทเป็นเพลงนำของภาพยนตร์ (theme song) ใช้ครอบบรรยากาศของภาพยนตร์ เป็นการบูชาครูเพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจดุจแสงส่องทางกันมาจากศิลปะต่อศิลปะ วรรณกรรมสู่ดนตรีกรรมสู่ภาพยนตรกรรม




แต่โรงถ่าย 3 ผู้สร้างภาพยนตร์สงครามชีวิต ได้ตีความบทเพลงนี้เป็นเสียงร้องคร่ำครวญทุกขเวทนาของหญิง มิใช่ชาย ซึ่งอาจแทนทั้งชายและหญิงได้ ในมิติของเวลาที่พลวัตไปในจินตนาการ ดังที่ศรีบูรพาให้ระพินทร์เขียนในจดหมายสุดท้ายถึงเพลินว่า


ฉันคงเป็นอย่างแม่พันธุรัตที่เฝ้าชะแง้แลหา และร้องร่ำคร่ำครวญถึงพระสังข์ทอง จนสิ้นใจตายอยู่แทบเชิงเขา ฉันต้องเหมือนแม่พันธุรัตไม่ต้องสงสัย!


โรงถ่าย 3 ได้เลือก ศรีไศล สุชาตวุฒิ (2487 - ปัจจุบัน) เป็นผู้ขับร้องเพื่อใส่ในฉากจบของภาพยนตร์ ส่วนการบรรเลงเป็นเพลงแกนของหนังใช้บรรเลงด้วยออร์แกน เนื่องจากตามนิยาย เพลินเรียนและเล่นออร์แกนเป็นมาจากโรงเรียน และเล่นเพลงคลาสสิกให้ครอบครัวฟังเมื่อครั้งชีวิตยังสุขสมบูรณ์ แต่เมื่อบ้านแตกสาแหรกขาด ชีวิตตกต่ำลง เธอเล่นเฉพาะแต่เพลงเศร้า




นิทรรศการนี้นอกจากทำขึ้นเพื่อให้คนในปัจจุบันได้เรียนรู้และสัมผัสใกล้ชิดกระบวนการทำภาพยนตร์ ยังเพื่อให้ผู้ชมได้เรียนรู้ถึงอุดมการณ์ของมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งฝันที่จะเห็นสังคมของมนุษย์ปราศจากการกดขี่เอารัดเอาเปรียบกัน ฝันที่จะเห็นสังคมที่มนุษย์เท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีและมีปัญญา หวังว่านิทรรศการนี้จะส่องทางให้ผู้มาชมเห็นคุณค่าของการที่ศิลปินเพียรพยายามสร้างสรรค์งานศิลปจากวรรณกรรมสู่ภาพยนตร์ และจากภาพยนตร์กลับสู่วรรณกรรม เพราะศิลปย่อมส่องทางกันและกัน


เขียนโดย โดม สุขวงศ์

ที่มา จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ฉบับที่ 85 ประจำเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2568