เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 หอภาพยนตร์จัดงานเสวนาถึง “บนทางรถไฟสายพม่า: รวมเรื่องสั้นของคุณาวุฒิ” หนังสือเล่มใหม่ที่เพิ่งจัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม
งานเสวนาดังกล่าวมี สุชาติ สวัสดิ์ศรี และ เวียง-วชิระ บัวสนธ์ ที่ปรึกษาในการจัดพิมพ์ โดยสุชาติเป็นผู้เริ่มต้นกล่าวถึงผลงานเล่มนี้ว่า มีความสำคัญมากในฐานะที่ช่วยต่อยอดประวัติวรรณกรรมไทยในช่วงทศวรรษ 2490 ที่ วิจิตร คุณาวุฒิ เจ้าของนามแฝง “คุณาวุฒิ” เป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ เพราะในฐานะนักวรรณกรรม เขารู้จักนักเขียนคนสำคัญจำนวนมากในช่วงเวลานั้น แต่ไม่เคยรู้เลยว่า คุณาวุฒิ คนทำหนังไทยฉายา “เศรษฐีตุ๊กตาทอง” จะมีงานเขียนเรื่องสั้นในยุคนั้นมากกว่าร้อยเรื่อง หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของการจัดทำงานวรรณมาลัย หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า anthology นั่นคือการรวบรวมงานเขียนที่กระจัดกระจายมาจัดพิมพ์เป็นเล่มอย่างเป็นระบบ
“งานวรรณมาลัย ความสำคัญของมันจะทำให้วัฒนธรรมการอ่านเข้มแข็ง เนื่องจากเป็นหนังสือสานต่อความคิดสำหรับคนรุ่นต่อไป ทำให้เห็นประวัติศาสตร์สังคม ประวัติศาสตร์การเมือง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่มันผ่านมาจากงานเขียนเรื่องสั้น
“ถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่ได้นำเอกสารชั้นต้นจากครอบครัวของคุณาวุฒิมาชำระ ซึ่งถ้าใครที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ขอให้อ่านข้อชี้แจงของการทำหนังสือเล่มนี้ว่าได้ชำระต้นฉบับมาอย่างไร เพราะลักษณะของมันเป็นงานศึกษาที่เป็นระบบอย่างมากเลย แล้วผมก็พอใจและภูมิใจอย่างมากที่ว่าคนนอกวงการแวดวงวรรณกรรมนั้นสามารถที่จะทำงานสิ่งนี้ได้”
สุชาติยังกล่าวเสริมว่า งานวรรณมาลัยที่ดีควรจะทำให้นักเขียนที่ล่วงสมัยไปแล้วกลับมาร่วมสมัย เป็นที่รู้จักของผู้อ่านยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยปรากฏในวงการหนังสือไทย และเรื่องสั้นของคุณาวุฒิก็ยังแสดงให้เห็นถึงคีย์เวิร์ดของสังคมไทยในยุค 2490 ทั้งเสรีไทย คอมมิวนิสต์ อาชญากรรม รวมถึงสิทธิสตรี
“คือมันไม่น่าเชื่อว่าในทศวรรษ 2490 มีนักเขียนคนหนึ่งซึ่งถูกลืมไปแล้วทำสิ่งนี้เอาไว้ มันคงจะลืมถ้าไม่มีเอกสารชั้นต้นมาให้นักวรรณมาลัยรวบรวม แล้วหอภาพยนตร์พิมพ์ออกมาอย่างเช่นที่เป็นผลงานอยู่ตรงหน้านี้ เพราะฉะนั้นงานวรรณมาลัยจึงมีความสำคัญอย่างมาก”
ทางด้าน เวียง-วชิระ บัวสนธ์ ผู้เป็นบรรณาธิการรวมเรื่องสั้นของคุณาวุฒิ ในลักษณะงานคัดสรรหรือ selected จำนวน 12 เรื่อง เมื่อปี 2536 กล่าววิเคราะห์ถึงการนำเรื่องสั้นทั้งหมด 108 เรื่องของคุณาวุฒิเท่าที่ค้นพบ มารวมเล่มในรูปแบบ collected ซึ่งเขาเปรียบเป็นอนุสาวรีย์แห่งชีวิตในฐานะนักเขียนว่า
“ผมเห็นลักษณะร่วมอย่างหนึ่งว่าในตัวภาพยนตร์ของ วิจิตร คุณาวุฒิ สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือเขาเป็นนักเล่าเรื่อง ซึ่งเทคนิคแบบนี้มันได้ปรากฏในงานเรื่องสั้นของคุณาวุฒิมาแล้ว คุณจะพบว่าเรื่องเล่าของคุณาวุฒิจะมีสิ่งที่เรียกว่าบรรยากาศ ที่เรียกว่าแสง สี เสียง ทั้งหมดนี้ไม่ได้เอ่ยขึ้นลอย ๆ มันทำงานอยู่จริงในฐานะของการขับเคลื่อนตัวเรื่อง หรือว่าทำหน้าที่ส่งอิทธิพลทำให้ตัวละครที่อยู่ในสถานการณ์หรือในบรรยากาศนั้น ๆ ทำหน้าที่กำหนดสภาพจิตหรือส่งผลทำให้เจตนารมณ์ของตัวละครมันพลิกผัน มันเปลี่ยนแปลงไปได้”
นอกจากนี้เขายังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม เช่น ไม่เคยเห็นนักเขียนไทยที่เขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 มากมายขนาดนี้มาก่อนในขณะเดียวกันหลายเรื่องก็สะท้อนรสนิยมด้านศิลปะของคุณาวุฒิ ทั้งงานจิตรกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ หนังสือ ที่แทรกเอาไว้ และงานประพันธ์เหล่านี้แสดงให้เห็นตัวตนของเขา ทั้งความเป็นนักเลงชีวิตและนักมนุษยนิยม
“เรื่องของลุงวิจิตร พอคุณอ่านแล้วคุณจะเพลิดเพลิน แต่ละเรื่องมันมีอะไรของมันอยู่แล้ว แต่แน่นอนว่าต่อให้คุณพยายามจะสู้กับมัน ว่าจะไม่เสียน้ำตาหรอก ต่อให้เราตั้งมั่นขนาดนั้นแต่ก็อดไม่ได้ พอคุณได้ไปพบกับชะตากรรมมนุษย์ ผมอ่านตอนหนุ่ม ๆ ประมาณ 30 ปีที่แล้ว ผมก็สะเทือนใจนะผมชะงัก ผ่านมาอีก 30 ปี ผมกลับมาอ่านบางเรื่อง ผมรู้สึกว่าต้องหยุด ต้องตั้งสติกับมัน เวลามนุษย์เราเข้าตาจนเราทำกันได้ขนาดนี้จริง ๆ”
ผู้สนใจสามารถซื้อ “บนทางรถไฟสายพม่า: รวมเรื่องสั้นของคุณาวุฒิ” ได้ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) หรือสั่งซื้อทางไปรษณีย์ที่ www.facebook.com/mayapanich และ LINE: mayapanichshop หรือ โทร. 06 3465 7227 ในราคา 960 บาท ไม่รวมค่าจัดส่ง (พิมพ์ปกแข็ง 992 หน้า)
เขียนโดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู
ที่มา จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ฉบับที่ 85 ประจำเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2568