ปี 2568 สวนลุมพินี สวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย จะมีอายุครบ 100 ปี
จากจุดเริ่มต้นซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) พระราชทานที่ดินกว่า 360 ไร่ด้วยพระราชประสงค์สำหรับสร้าง “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” เพื่อจัดแสดงสินค้าไทยเป็นครั้งแรกดังเช่น ประเทศตะวันตกจัดงาน Expo และเมื่อเลิกจัดงานแล้วจะจัดให้เป็น “สวนพฤกษชาติ” เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาและใช้พักผ่อน พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า “สวนลุมพินี” แต่เนื่องจากพระองค์เสด็จสวรรคต ก่อนกำหนดเปิดจึงต้องล้มเลิกงานไป ที่ดินแปลงนี้จึงถูกปล่อยให้รกร้าง แม้ว่าจะก่อสร้างในส่วนของสวนและองค์ประกอบต่าง ๆ ไปมากแล้ว
ภาพ: ผู้ควบคุมช้างโบกมือลาผู้ชมหลังจบโชว์
จนปี 2472 นายพลตำารวจตรีพระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์) ขอเช่าพื้นที่ 90 ไร่จากกรมโยธาเทศบาลเป็นเวลา 10 ปี จัดทำเป็นสวนสนุกชื่อ วนาเริงรมย์ และได้มีการกราบทูลเชิญรัชกาลที่ 7 เสด็จเปิดสวนสนุกในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน โดยประกอบไปด้วย โรงละครขนาดใหญ่จุคนดูได้กว่าพันคน สถานกีฬากลางแจ้ง ที่แสดงมโหรสพ ส่วนกลาง พื้นที่ขายของ พื้นที่เล่นกิจกรรมทางน้ำ เวทีมวย มีการฉายหนัง และมีการจัดประกวดต่าง ๆ เช่น ชายงาม หญิงงาม แต่ต้องมีอันเลิกกิจการ ไปในเวลาต่อมา
ในปี 2481 รัฐบาลได้โอนย้ายสวนลุมพินีมาให้เทศบาลนครกรุงเทพดูแล และในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ได้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งแรกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นในปี 2485
ภาพ: ลิงจูงรถลากที่มีนักเรียนเป็นผู้โดยสาร
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ส่วนใหญ่ของสวนลุมพินีอยู่ในสภาพทรุดโทรม รกร้าง กลายเป็นที่ทิ้งขยะมูลฝอย เน่าเหม็น ส่วนสระน้ำก็มีผู้มาลักลอบ เลี้ยงปลา ถือสิทธิ์เป็นบ่อส่วนตัว จนระหว่างปี 2494-2595 เกิดกระแสขึ้นในหมู่ประชาชนและวงการนักหนังสือพิมพ์เรียกร้องให้ฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ของสวนลุมพินี รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ขอพระบรมราชานุญาตเพื่อขยายและปรับปรุงสวนลุมพินีอีกครั้ง โดยครั้งนี้มีผู้เสนอให้ปรับปรุงเป็นสวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์ แต่หลังจากได้มีการตั้งคณะกรรมการ พิจารณาทั้งพื้นที่สวนลุมพินีและเขาดินวนาได้สรุปผลออกมาว่าควรแยกสวนพฤกษศาสตร์และสวนสัตว์ออกจากกัน และให้ใช้สวนลุมพินีเป็นสวนพฤกษศาสตร์และพักผ่อนหย่อนใจเช่นเดิม แต่เสนอให้พัฒนาเขาดินวนาขยายเป็นสวนสัตว์สำหรับประชาชน หลังการปรับปรุงครั้งนี้สวนลุมพินีถูกใช้เป็นที่จัดงานระดับชาติ เช่น งานฉลองรัฐธรรมนูญ ประกวด นางสาวไทย รวมทั้งเป็นที่จัดงานลอยกระทง งานวันเด็ก และจัดรายการ โชว์ต่าง ๆ จากต่างประเทศ
ในช่วงเวลานี้เอง ได้มีคณะละครสัตว์จากญี่ปุ่นชื่อ กิโนชิตา (Kinoshita Circus) ได้เข้ามาเปิดรอบการแสดงในพื้นที่สวนลุมพินี การแสดงละครสัตว์จากญี่ปุ่นนี้ได้มีผู้บันทึกภาพยนตร์ไว้ โดยสันนิษฐานจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของคณะละครสัตว์ และอายุของสต็อกฟิล์มว่าการแสดงที่บันทึกไว้นี้ถูกจัดขึ้นในปี 2495 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ภาพยนตร์ฮอลลีวูดเกี่ยวกับคณะละครสัตว์เรื่อง The Greatest Show on Earth ออกฉาย ในสหรัฐอเมริกาสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้ชม และเป็นปีเดียวกับทูตสันถวไมตรีญี่ปุ่นมาเยือนไทย รวมถึงมีการเปิดสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และแต่งตั้งนาย อิจิโร โอตะ เอกอัครราชทูตวิสามัญ ผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศไทย ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามยกระดับความสัมพันธ์ทั้งทางการทูตและการค้าของทั้งสองประเทศอย่างเป็นรูปธรรมหลังการจบลงของสงครามโลกครั้งที่ 2
ภาพ: นักแสดงหญิงกับการแสดงโยนรับสิ่งของ
การแสดงละครสัตว์ในญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน โดยการแสดงบนหลังม้าที่ถูกเรียกว่า เคียวคุบาดัน เฟื่องฟูอย่างมากในยุคเอโดะ จนกระทั่งญี่ปุ่นถูกบังคับให้เปิดประเทศและนักแสดงกายกรรมชาว อเมริกันได้ทำให้ญี่ปุ่นรู้จักการแสดงละครสัตว์สมัยใหม่ จนราวปี 2440 ก็มีคณะละครสัตว์ต่าง ๆ เดินทางเปิดการแสดงไปทั่วประเทศ ส่วนคนไทยเองนั้นก็รู้จักคุ้นเคยกับละครสัตว์จากต่างประเทศซึ่งเร่เข้ามาตั้งแต่ต้น ร.5 เช่นกัน โดยเราเรียกการแสดงในลักษณะนี้ว่า ละครม้า ซึ่งมักมาตั้งกระโจมแสดงที่สนามหลวง
คณะละครสัตว์กิโนชิตาเริ่มก่อตั้งขึ้นโดย กิโนชิตา ยูสุเกะ ในปี 2445 ในเมืองต้าเหลียน ประเทศจีน และย้ายกลับมายังประเทศญี่ปุ่น หลังจากการปะทุของสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ละครสัตว์ที่มีนักกายกรรม นักขี่ม้า หมี และช้าง ยังคงทำการแสดงต่อเนื่องในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้นักแสดงผู้หญิงเท่านั้น เนื่องจากผู้ชายทั้งหมดถูกเรียกให้เข้าร่วมสงคราม หลังสงครามสิ้นสุดลงในปี 2488 กิโนชิตา มิซึโซ ถูกวางตัวให้เป็นผู้สืบทอด เขาพยายามหาช่องทางให้คณะละครสัตว์ภายใต้การนำของเขามีช่องทางการออกแสดงในต่างประเทศ โดยคณะละครสัตว์กิโนชิตาได้ออก ไปทำการแสดงในแถบเอเชียและแปซิฟิก เช่น ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ฮาวาย อย่างต่อเนื่อง จนถือได้ว่าคณะละครสัตว์กิโนชิตาได้เปิดเส้นทางใหม่ในการออกไปแสดงต่างประเทศได้อย่างมั่นคง กิโนชิตา มิซึโซ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะรุ่นที่ 2 อย่างเป็นทางการในปี 2502
ภาพ: ผู้ชมการแสดงละครสัตว์
ภาพยนตร์บันทึกการแสดงของคณะละครสัตว์กิโนชิตาจาก ประเทศญี่ปุ่นที่มาเปิดการแสดง ณ สวนลุมพินีนี้ มีความยาว 13.30 นาที หอภาพยนตร์ฯ ได้รับมอบเป็นฟิล์มขาวดำ 16 มม. 1 ม้วนจาก จ.ส.อ. ธีระ นุตาคม และ คุณฟ้าฟื้น รอดผ่องผุด ในปี 2530 โดยไม่ปรากฏข้อมูลว่าผู้ใดเป็นผู้ถ่ายทำภาพยนตร์
ภาพ: เด็กหญิงในชุดนักเรียนไทยเต้นโยกหัว
ภาพแรกของภาพยนตร์บันทึกภาพไปที่สิ่งปลูกสร้างคล้ายเต็นท์ ขนาดใหญ่ซึ่งติดป้ายมีข้อความว่า คณะละครสัตว์กิโนชิตา 団馬曲大下木 (เรียงอักษรตามปรากฏในภาพยนตร์) เหนือจากป้ายเป็นวัตถุทรงกลมลาย และสีธงชาติไทย บริเวณหน้าอาคารมีรถยนต์ รถสามล้อถีบ และผู้คนขวักไขว่ ต่อมาจึงเป็นภาพเริ่มการแสดงที่การเต้นเตะสลับขาเรียงแถวในสไตล์อเมริกันของนักแสดงหญิงจำนวน 10 ท่าน ต่อจากนั้นจึงเป็นการเต้น รวมหญิงชายหน้ายกพื้นที่มีนักดนตรีบรรเลงดนตรีอยู่ ถัดมาเป็นเด็กหญิงในชุดนักเรียนซึ่งน่าจะเป็นเด็กไทยเต้นโยกตัวไปตามจังหวะดนตรี ต่อมาเป็นการแสดงกายกรรมของนักแสดงชายโหนเชือก ซึ่งโล้ไปมาบนที่สูง, การแสดงขี่จักรยานผาดโผน, การแสดงโยนและรับมีด, การแสดงการทรงตัว บนเส้นลวด, การขี่จักรยานบนเส้นลวด จากนั้นเป็นการแสดงของแมวน้ำแสนรู้ที่ถูกฝึกมาให้แสดงการหมุนจานด้วยปลายไม้โยนและรับสิ่งของ, การแสดงการขี่จักรยานล้อเดียวเป็นกลุ่ม, การแสดงการใช้เท้ายกสิ่งของ และนักแสดงด้วยกันที่ทรงตัวอย่างน่าทึ่ง, การแสดงของลิงที่ขี่จักรยานและลากรถที่มีเด็กนักเรียนโดยสารอยู่อย่างคล่องแคล่ว, การแสดงการทรงตัวบนเก้าอี้, การแสดงการทรงตัวบนเส้นลวดโดยใช้ร่มประกอบการแสดง ซึ่งเป็นการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของคณะที่ดัดแปลงมาจากการแสดงสมัยเก่า, การแสดงกายกรรมหมู่ และจบการบันทึกที่การแสดงของช้าง ซึ่งถูกควบคุมโดยเหล่าผู้ควบคุมหญิงจำนวนหลายท่าน ตลอดการแสดงจะได้เห็นบรรยากาศของผู้ชมที่ชมการแสดงอย่างสนใจ รวมไปถึงลานการแสดง และโครงสร้างภายในของสิ่งปลูกสร้างที่จัดการแสดง ซึ่งต้องมีความสูงของเพดานเป็นพิเศษเพื่อให้เหมาะสมกับการแสดงหลายชุด นอกจากนั้นในฉากหลังของการแสดงยังปรากฏชื่อของ Morinaga Confectionery Co. .ltd ซึ่งเป็นบริษัทขายขนมและลูกอมซึ่งเข้ามาทำการค้าในไทยที่เป็นผู้ว่าจ้างและสนับสนุนการแสดงด้วย
ภาพ: การแสดงปั่นจักรยานทรงตัวบนเส้นลวด
จากบันทึกของชาวญี่ปุ่นที่มาทำงานในไทยช่วงเวลานั้นได้ให้รายละเอียดเป็นเกร็ดไว้ด้วยว่า สมาชิกของคณะละครสัตว์ที่มาแสดงในครั้งนั้น พักอยู่ในเต็นท์บริเวณสวนลุมพินีนั้นเอง โดยการอาศัยในเต็นท์เมืองไทยมีอากาศร้อนอบอ้าวอย่างเหลือเชื่อ สำหรับการอาบน้ำของสมาชิกคณะ พวกเขานำกลองมาใช้ในเต็นท์แทนถังอาบน้ำ และดูเหมือนชายไทยจะอยากดูหญิงสาวญี่ปุ่นอาบน้ำจึงพากันมาเมียงมองแถวเต็นท์ทุกคืน
ภาพ: (ซ้าย) ภาพบันทึกก่อนการเดินทางมาทำการแสดงในไทย (จากเว็บไซต์คณะละครสัตว์กิโนชิตา) (ขวา) คณะละครสัตว์กิโนชิตาในสมัยปัจจุบัน (จากเพจ 団馬曲大下木 Kinoshita Circus)
คณะละครสัตว์กิโนชิตา ยืนหยัดผ่านกาลเวลากว่า 120 ปี ถือเป็นคณะละครสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นที่ยังเปิดทำการแสดงมาถึงในปัจจุบัน ในแต่ละรอบการแสดงมีผู้ชมประมาณ 2,000 คน และจากข้อมูลของบริษัท พวกเขามีลูกค้ามากกว่า 1 ล้านคนต่อปี มีนักแสดงราว 50-60 คน ประมาณ 20 คนมาจากต่างประเทศ มีชุดการแสดง ม้าลาย สิงโต และช้าง ในโชว์ของพวกเขา แม้ว่าจะมีอนุสัญญาวอชิงตันห้ามการซื้อขายช้าง ซึ่งญี่ปุ่นลงนามเข้าร่วมในปี 2518 แต่ทางคณะมีข้อตกลงกับรัฐบาลไทย ซึ่งอนุญาตให้พวกเขาเช่า/ยืมช้างในเวลาสั้น ๆ โดยคณะละครสัตว์บริจาค กำไรส่วนหนึ่งให้กับการอนุรักษ์ช้างและสนับสนุนการสร้างโรงพยาบาลช้าง ในประเทศไทย ด้วยข้อจำกัดเช่นนี้ทำให้กิโนชิตาเป็นหนึ่งในคณะละครสัตว์ จำนวนน้อยที่ยังมีการแสดงซึ่งประกอบด้วยทั้งสิงโตและช้างในปัจจุบัน
ภาพ: การแสดงบนเส้นลวด ประยุกต์จากการแสดงสมัยก่อน
แนวความคิดเรื่องการใช้สัตว์ในการแสดงเป็นที่ถกเถียงกันในปัจจุบัน เช่นเดียวกับค่านิยมต่าง ๆ เกี่ยวกับการแสดงของคณะละครสัตว์ ซึ่งรวมถึงการแสดงประเภทกายกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดระยะ เวลาเป็นศตวรรษ คณะละครสัตว์กิโนชิตาก็เช่นกันที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย เช่นเดียวกับพื้นที่สวนลุมพินีที่ยังเป็นพื้นที่ให้บริการประชาชน แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งานไปจากเมื่อครั้งในอดีต
นอกจากเป็นบันทึกการแสดงของคณะละครสัตว์ที่ดำเนินกิจการมาอย่างยาวนานของญี่ปุ่น และบันทึกกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะที่มีความเป็นมายาวนานของไทยอย่างสวนลุมพินีแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีความสำคัญในฐานะของการบันทึกบริบทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย และญี่ปุ่นในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งยุติลงไม่นานอีกด้วย
ภาพ: โชว์การแสดงของแมวน้ำ
ภาพยนตร์บันทึกการแสดงของคณะละครสัตว์ญี่ปุ่นในสวนลุมพินี ที่นำเสนอในบทความนี้ และภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ที่บันทึกกิจกรรมต่าง ๆ ในสวนลุมพินีในอดีต อยู่ในการอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์ ผู้สนใจสามารถเข้ามาสืบค้นและรับชมได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.30-17.30 น. (หยุดวันจันทร์) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรับชม
---------------------------