“สะพาน” คือ โครงสร้างที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่สองฝั่งเพื่อให้สิ่งมีชีวิตหรือยานพาหนะสามารถข้ามผ่านได้ สะพานบางแห่งเมื่อเวลาผ่านไปได้กลายเป็นแลนด์มาร์กของเมือง เพราะยังคงอยู่แม้สิ่งต่าง ๆ รอบข้างมีการเปลี่ยนแปลง อาจกล่าวได้ว่า สะพานสามารถใช้เป็นเส้นทางย้อนกลับสู่อดีต การเห็นสะพานในช่วงเวลาต่าง ๆ ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนผ่านของพื้นที่และสังคมในแต่ละยุคสมัย คอลัมน์คลังอนุรักษ์ของจดหมายข่าวฉบับนี้จึงนำเสนอภาพยนตร์ที่ถ่ายภาพของสะพานบางส่วนที่มีความน่าสนใจจากคอลเลกชันของหอภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ข่าวจากสถานีโทรทัศน์ ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ และภาพยนตร์สารคดีที่บันทึกภาพเหตุการณ์ของบ้านเมือง เป็นต้น
สะพานพระพุทธยอดฟ้า
ภาพ พิธีเปิดพระปฐมบรมราชานุสรณ์ และเปิดใช้สะพานพระพุทธยอดฟ้า
สะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ มีความยาว 229 เมตร เป็นสะพานถนนสำหรับยานพาหนะและสัญจรเท้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่เก่าที่สุดของประเทศไทย สร้างขึ้นในปี 2472 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสสถาปนากรุงเทพมหานครครบ 150 ปี เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกแบบพระบรมราชานุสาวรีย์และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นประกอบกันเป็นปฐมบรมราชานุสรณ์ เริ่มเปิดใช้งานในวันที่ 6 เมษายน 2475
ภาพ ภาพมุมสูงระหว่างการก่อสร้างสะพานพุทธยอดฟ้า
ภาพยนตร์ ก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ โดยกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าวได้เริ่มบันทึกเหตุการณ์ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ในวันที่ 9 มกราคม 2472 และการตรวจการก่อสร้างที่มีภาพมุมสูงจากกระเช้าเครนก่อสร้างอันน่าตื่นตาโดย หลวงกลการเจนจิต หรือ เภา วสุวัต นอกจากนั้นยังมีภาพยนตร์ พระราชพิธีเฉลิมกรุงเทพมหานครอันประดิษฐานมาครบ 150 ปี (2475) ได้ถ่ายบันทึกพิธีเปิดพระปฐมบรมราชานุสรณ์ สร้างขึ้นในนามคณะ “ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง” ของพี่น้องตระกูลวสุวัต นับเป็นหนังเสียงของไทยที่เก่าแก่ที่สุดที่หลงเหลืออยู่ ในเวลาต่อมายังมีภาพยนตร์ข่าวอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ ข่าวช่อง 9 สะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ ชำรุดห้ามรถน้ำหนักมากขึ้นสะพาน ในช่วงระหว่างวันที่ 12-15 มกราคม 2511 ก่อนที่จะปิดซ่อมสะพานครั้งใหญ่ในเดือนเมษายน 2511 ซึ่งมาถึงเวลานี้เป็นเวลานานกว่า 50 ปี ที่การปิดซ่อมใหญ่สะพานพุทธยอดฟ้ากำลังจะเวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในไม่กี่เดือนข้างหน้า
สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
ภาพ จอมพลถนอม กิตติขจร ตรวจความคืบหน้าในการก่อสร้างสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า หรือสะพานปิ่นเกล้า มีความยาว 662 เมตร เริ่มสร้างในปี 2514 และเปิดใช้งานในวันที่ 24 กันยายน 2516 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมระหว่างเขตพระนครและเขตบางกอกน้อย เพื่อผ่อนคลายความคับคั่งของการจราจร โดยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น
ภาพยนตร์บันทึกภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อสร้างสะพานปิ่นเกล้ามีตัวอย่างเช่น การตรวจความคืบหน้าในการก่อสร้างสะพานของ จอมพล ถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติ ในวันที่ 21 มิถุนายน 2515 ซึ่งมีทั้งที่เป็นข่าวของช่อง 3 และช่อง 9 รวมถึงข่าว จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ทำพิธีเปิดสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า นอกจากนั้นยังมีข่าว การจราจรบนสะพานเฉลิมสวรรค์ 58 ในเดือนมิถุนายน 2510 ซึ่งสะพานเฉลิมสวรรค์ 58 เป็นสะพานชุดเฉลิมสุดท้ายที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเป็นสาธารณประโยชน์เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา และถูกรื้อออกไปในอีกไม่กี่ปีต่อมา เนื่องจากอยู่ในบริเวณก่อสร้างสะพานปิ่นเกล้า
สะพานพระราม 6
ภาพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเสด็จเปิดสะพานพระราม 6 ปี 2469
สะพานพระราม 6 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสะพานแรกของประเทศไทย เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี 2465 เพื่อเชื่อมทางรถไฟฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำ เสร็จในปี 2469 และได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดและได้รับการซ่อมแซมระหว่างปี 2493-2496 โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จเปิดสะพานในวันที่ 12 ธันวาคม 2496 ต่อมามีการปรับพื้นที่สะพานที่ยังเว้นไว้อีกช่องเป็นถนนรองรับการเกิดขึ้นของถนนจรัญสนิทวงศ์ จนเมื่อมีการสร้างสะพานพระราม 7 เสร็จ สะพานพระราม 6 ได้ปิดการจราจรส่วนที่เป็นถนน ปรับเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟทางคู่แทน และยังคงเป็นส่วนสำคัญของเส้นทางรถไฟสายใต้ และเป็นสัญลักษณ์ประวัติศาสตร์การคมนาคมทางรถไฟในไทย
ภาพยนตร์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จทอดพระเนตรการก่อสร้างสะพานพระราม 6 ของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายภาพสะพานพระราม 6 ไว้ก่อนโดนระเบิดเสียหายช่วงสงครามโลกที่สมบูรณ์ที่สุด เนื่องจากได้ถ่ายทั้งเหตุการณ์ระหว่างตรวจการก่อสร้างและพระราชพิธีเปิดสะพานโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในปี 2469 ส่วนภาพยนตร์ที่ถ่ายภาพสะพานพระราม 6 หลังการบูรณะคือ ภาพยนตร์ รัฐพิธีเปิดสะพานพระราม 6 ปี 2496 สร้างโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย มีภาพตั้งแต่พิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งที่ใช้รถจักรดีเซลไฟฟ้า ซุลเซอร์ ทำขบวนเสด็จฯ มายังปะรำพิธี ท่ามกลางประชาชนที่มาร่วมรับเสด็จฯ อย่างเนืองแน่น
ภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเปิดสะพานพระราม 6 วันที่ 12 ธันวาคม 2496
สะพานจุฬาลงกรณ์
สะพานจุฬาลงกรณ์ หรือสะพานรถไฟ ราชบุรี สร้างขึ้นในปี 2444 ข้ามแม่น้ำแม่กลอง โดยมีทั้งทางรถไฟและถนน รวมความยาวประมาณ 150 เมตร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานถูกโจมตีทิ้งระเบิดโดยฝ่ายสัมพันธมิตรจนเสียหายหนัก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2488 ญี่ปุ่นพยายามสร้างสะพานไม้เพื่อใช้งานทดแทนแต่กลับพังลงจนหัวรถจักรตกจมแม่น้ำ หลังสงครามประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบันทึกว่า ทหารอินเดียที่เข้ามาปลดอาวุธญี่ปุ่นซ่อมแซมสะพานจุฬาลงกรณ์จนกลับใช้งานได้โดยใช้เชลยศึกญี่ปุ่นเป็นแรงงาน ต่อมาปี 2503 เกิดไฟไหม้ใหญ่ที่ราชบุรี ขณะเกิดเหตุไฟไหม้ สะพานจุฬาลงกรณ์ที่มีทั้งทางรถไฟและถนน โดยเฉพาะถนนคับแคบ ไม่สะดวกต่อการเข้าพื้นที่ของรถดับเพลิง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงสั่งให้สร้างสะพานธนะรัชต์ขึ้นมาขนานกันเพื่อใช้สัญจรรถยนต์ ส่วนสะพานจุฬาลงกรณ์ถูกปรับให้เหลือเพียงรางรถไฟ
ภาพยนตร์ในคอลเลกชันหอภาพยนตร์ที่บันทึกสะพานจุฬาลงกรณ์ ยกตัวอย่างเช่น หนังบ้านของ เปล่ง เพ็งศรีทอง (ราวปี 2500) ที่ผู้รับชมจะได้เห็นการสัญจรของชาวราชบุรีทั้งรถยนต์ จักรยาน และการเดินเท้า และสารคดีโทรทัศน์ สองข้างทางรถไฟ ตอน ศิลปวัตถุสมัยทวาราวดี ที่ถ่ายภาพสะพานจุฬาลงกรณ์ขณะซ่อมแซมจากขบวนรถไฟที่วิ่งบนทางเบี่ยง (ราวปี 2503)
ภาพ รถไฟวิ่งบนทางเบี่ยงระหว่างซ่อมแซมสะพานจุฬาลงกรณ์
สะพานปรมินทร์
ภาพ บันทึกพิธีเปิดสะพานปรมินทร์ที่บูรณะใหม่ ปี 2496
สะพานปรมินทร์ หรือสะพานบ้านดารา เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำน่านก่อนถึงสถานีรถไฟชุมทางบ้านดารา ยาว 262.40 เมตร และเป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำที่ยาวที่สุดของเส้นทางรถไฟสายเหนือ เดิมเป็นสะพานแบบคานยื่น ดูคล้ายสะพานแขวน เปิดใช้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2452 ได้รับการยกย่องว่าเป็นสะพานที่มีความสวยงาม มั่นคง แข็งแรงที่สุดแห่งหนึ่ง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีหลายครั้งโดยเฉพาะเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2488 ทำให้สะพานพังลงแม่น้ำและใช้การไม่ได้ ภายหลังสงครามกรมรถไฟได้บูรณะซ่อมสร้างสะพานปรมินทร์ในปี 2493 จนแล้วเสร็จในปี 2496 และ พลอากาศเอก ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไปประกอบพิธีเปิดสะพานเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2496
ภาพยนตร์ เปิดสะพานปรมินทร์และสถานีอุตรดิตถ์ 2496 สร้างโดยการรถไฟฯ บันทึกพิธีเปิดสะพานปรมินทร์ที่บูรณะใหม่ โดย พลเอก จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ กล่าวรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อนตัดริบบิ้นเปิดการเดินรถไฟผ่านสะพาน จากนั้นเดินทางไปเปิดสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ ซึ่งถูกทำลายในสงครามเช่นกัน
สะพานข้ามแยกประตูน้ำ
ภาพ สะพานข้ามสี่แยกประตูน้ำ ราวปี 2509
สะพานข้ามสี่แยกประตูน้ำสร้างขึ้นในปี 2508-2509 เพื่อลดปัญหาจราจรบริเวณจุดตัดถนนราชดำริและถนนเพชรบุรี ประตูน้ำ ซึ่งเป็นย่านการค้าและธุรกิจที่มีการสัญจรหนาแน่นที่สุดจุดหนึ่งของกรุงเทพฯ อีกทั้งกรุงเทพฯ กำลังจะเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 5 และงานแสดงสินค้านานาชาติแห่งเอเชียครั้งที่ 1 ซึ่งรัฐบาลสร้างถนนเพชรบุรีตัดใหม่ต่อไปย่านหัวหมาก มีการสร้างสนามกีฬาในร่มและหมู่บ้านนักกีฬา รวมถึงพื้นที่แสดงสินค้า (ซึ่งต่อมาคือมหาวิทยาลัยรามคำแหง) เป็นการขยายเมืองครั้งใหญ่ นอกเหนือจากปรับปรุงและสร้างสนามกีฬาใจกลางกรุงเทพฯ มีการสร้างสะพานยกระดับข้ามสี่แยกประตูน้ำ ถือเป็นสะพานข้ามแยกสำหรับรถยนต์แห่งแรกของไทย ซึ่งเวลานั้นเรียกกันว่าสะพานลอย
ในช่วงเดียวกัน กองการศึกษาผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษา สร้างภาพยนตร์สารคดี กรุงเทพพระมหานคร นำเสนอเรื่องราวของแม่ที่พาลูกเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ที่กำลังพัฒนา โดยสะพานข้ามสี่แยกประตูน้ำซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จไม่นานถูกนำเสนออยู่ในภาพยนตร์ด้วย
สะพานข้ามแม่น้ำแม่สาย
ภาพ สะพานข้ามแดนที่พรมแดนแม่น้ำแม่สาย และข้อความ เหนือสุดยอดในสยาม ปี 2515
ณ จุดเหนือสุดของประเทศไทย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ติดต่อกับ อ.ท่าขี้เหล็ก จ.ท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มีแม่น้ำแม่สายเป็นพรมแดนประเทศ สะพานที่เชื่อมเมืองทั้งสองเข้าด้วยกันนั้น บนคอสะพานในส่วนที่แม่น้ำแคบราว 15 เมตรนี้มีป้ายข้อความว่า เหนือสุดยอดในสยาม ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์ข่าวของช่อง 4 เจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบพื้นที่ริมชายแดนไทย-เมียนมา บริเวณริมแม่น้ำแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในเดือนสิงหาคม 2515 ปัจจุบันสะพานข้ามแม่น้ำแม่สายสะพานนี้ยังมีลักษณะใกล้เคียงกับที่ปรากฏในภาพยนตร์ ส่วนป้ายข้อความถูกย้ายออกจากคอสะพานไปเล็กน้อย และจัดสร้างใหม่โดยเปลี่ยนแปลงข้อความเป็น เหนือสุดยอดแดนสยาม ส่วนบริเวณด่านข้ามแดนและแหล่งการค้าก็เจริญเติบโตและเป็นทางผ่านสำคัญของผู้คนทั้งสองประเทศมาเป็นเวลานานหลายสิบปี
สะพานห้าหอและสะพานคอมโพสิต
ภาพ สะพานห้าหอจากด้านหน้าของหัวรถจักรจากภาพยนตร์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ 2469
สะพานห้าหอ เป็นสะพานรถไฟแนวทางโค้งข้ามหุบเขาปางแงะ จังหวัดลำปาง ระหว่างสถานีแม่ตานน้อยกับสถานีขุนตาน มีระยะทางประมาณ 300 เมตร ตั้งอยู่บนเสาหอเหล็กห้าหอ และเสาตัวริมทั้งสองฝั่งมีตอม่อคอนกรีตรองรับไว้ ก่อนปี 2510 การรถไฟฯ พบว่าเหล็กสะพานมีอาการล้าและโครงสร้างไม่ปลอดภัย จึงตัดสินใจสร้างสะพานใหม่เป็นคอนกรีตในแนวเส้นทางใกล้เคียงเดิม ซึ่งเป็นสะพานแบบคานคอมโพสิตแห่งแรกของการรถไฟฯ
ภาพ สะพานคอมโพสิตขณะก่อสร้าง ด้านหลังคือสะพานห้าหอ
สะพานห้าหอถูกบันทึกในภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ ปี 2469 ทั้งในส่วนที่เป็นภาพยนตร์ทรงถ่าย และภาพยนตร์ การเสด็จเลียบเมืองเหนือ จากช่างถ่ายภาพยนตร์ของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง และ ขุนตาล สารคดีชุดสองข้างทางรถไฟ ในช่วงปีท้าย ๆ ก่อนที่สะพานห้าหอจะถูกรื้อถอน ส่วนสะพานคอมโพสิตมีภาพยนตร์สารคดีของการรถไฟฯ เรื่อง รถไฟไทย การช่างโยธา บันทึกเหตุการณ์ราวปี 2510 ในช่วงเวลาที่ พันเอก แสง จุละจาริตต์ ผู้ว่าการการรถไฟฯ ในขณะนั้น ตรวจงานการปรับภูมิทัศน์สำหรับแนวสะพานใหม่และการก่อสร้าง
ภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ ที่นำเสนอในบทความนี้ บางส่วนสามารถรับชมได้ทาง YouTube: Film Archive Thailand (หอภาพยนตร์) แต่บางส่วนให้บริการเฉพาะในห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ผู้อ่านที่สนใจสามารถเข้ามารับชม ได้ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 9.30-17.30 น. (หยุดวันจันทร์) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรับชม
___________________________
เขียนโดย ธิติพงษ์ ก่อสกุล
ที่มา จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ฉบับที่ 86 ประจำเดือนมีนาคม - เมษายน 2568