100 ปี ส. อาสนจินดา ราชสีห์แห่งวงการบันเทิงไทย

โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ฉบับที่ 66 ประจำเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม พ.ศ. 2564

ภาพปก: ภาพนิ่งจากเรื่อง 2482 นักโทษประหาร (ภาพยนตร์ถูกระงับสร้าง)


ในชั่วเวลาไม่กี่ปี อาจจะมีนักเขียนที่โดดเด่นเกิดขึ้นมาสักคนหนึ่ง เช่นเดียวกับนักแสดงเจ้าบทบาท หรือนักสร้างภาพยนตร์ผู้มีศักยภาพ แต่หากจะให้สถานะทั้งหมดนี้มีอยู่ในคนเพียงคนเดียว และมีผลงานอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับนั้น คงต้องใช้เวลานานนับศตวรรษ


ส. อาสนจินดา คือหนึ่งในบุคคลพิเศษประเภทดังกล่าว เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ เขาได้รับสมญานามอย่างหลากหลาย เช่น “พระเอกนักประพันธ์” “ราชาแห่งละครเวทีไทย” “ศิลปินผู้มีความสามารถรอบตัว” “ศิลปินกระดูกเหล็ก” “ศิลปินชั้นครู” ฯลฯ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงฝีมืออันรอบด้าน และการผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน จนเป็นที่ยอมรับนับถือและเคารพยำเกรงของประชาชนและผู้คนร่วมวงการ ดังที่ เชิด ทรงศรี ผู้กำกับภาพยนตร์ซึ่งเคยร่วมงานกันบ่อยครั้ง ได้เคยเปรียบเปรย ส. อาสนจินดา ว่าเป็น “ราชสีห์แห่งวงการบันเทิงไทย” 


และนี่คือเรื่องราวบางส่วนในแต่ละด้านของ ส. อาสนจินดา เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีแห่งชาตกาลของบุรุษผู้ที่ร้อยปีจะมีสักคน

 

นักประพันธ์ผู้จองหอง


ส. อาสนจินดา มีชื่อจริงว่า สมชาย อาสนจินดา เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2464 ที่กรุงเทพมหานคร และเติบโตท่ามกลางโลกแห่งการอ่านการเขียน รวมทั้งได้สืบทอดความรักและทักษะในงานประพันธ์มาทางสายเลือด จนเกิดความใฝ่ฝันอยากเป็นนักประพันธ์มาแต่วัยเยาว์ 


บิดาของเขาคือ หลวงสหการสันทัด หรือ แฉ่ง อาสนจินดา เป็นข้าราชการกรมสหกรณ์ผู้มีใจรักในทางหนังสือ ทั้งเป็นนักอ่านตัวยง นักประพันธ์ และนักแปลหนังสือเรื่องย่อภาพยนตร์เงียบต่างประเทศ ในนามปากกาว่า “ฉ. อาสนจินดา” ในขณะที่มารดา สมาน อาสนจินดา เคยเป็นนักเขียนบทละครขายคณะละครปราโมทัยในนามปากกาว่า “แม่สมร” แววการประพันธ์ของสมชายฉายออกมาตั้งแต่อายุแค่ 14 ปี เมื่อได้ร่วมกับเพื่อนเขียนนวนิยายบู๊ในนามปากกาว่า “จิรฤทธิ์-จิรเดช” ส่งไปลงที่หนังสือพิมพ์ “สยามราษฎร์” รวมทั้งร่วมกันทำหนังสือเขียนมือ เพื่อนผู้นี้คือ ประมูล อุณหธูป ผู้ซึ่งต่อมากลายเป็นนักประพันธ์ที่มีนามปากกาอันโด่งดังว่า “อุษณา เพลิงธรรม”


เมื่อจบ ม. 8 สมชายได้เป็นครูที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ใน พ.ศ. 2482 และออกมารับราชการกรมสหกรณ์ในปีถัดมา ซึ่งทำให้ต้องตระเวนไปหลายจังหวัด พ.ศ. 2486 ขณะประจำอยู่เชียงราย ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่ามกลางความเงียบเหงาและหนาวเหน็บ เขาได้ใช้เวลายามค่ำคืนเขียนหนังสือคลายเหงาในนามปากกา “ส. อาสนจินดา” ส่งไปยังหนังสือพิมพ์รายปักษ์ “ประชามิตร-สุภาพบุรุษ” เรื่องสั้นเรื่องแรก “ชีวิตในภาพวาดอันเลอะเลือนของพระเจ้า” ได้รับการตีพิมพ์ลงปกหน้าเฉกเช่นนักประพันธ์ชื่อดัง ทำให้มีกำลังใจเขียนเรื่องสั้นส่งไปได้ลงอีกถึงสามเรื่อง 


ต่อมา ประมูล อุณหธูป ได้พาเขาไปพบกับบรรณาธิการ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ “ประชามิตร-สุภาพบุรุษ” กุหลาบได้กล่าวชื่นชมในฝีมือและนำเงินค่าเรื่องมาให้นักเขียนหนุ่มผู้ไม่เคยทราบว่ามีการจ่ายค่าเรื่อง ทำให้เขาปลาบปลื้มใจและเป็นแรงขับให้ลาออกจากงานราชการที่เต็มไปด้วยเรื่องทุจริต เพื่อมายึดอาชีพนักประพันธ์ตามความฝันภายหลังสงคราม


ปี 2489 ส. อาสนจินดา ได้ร่วมกับกลุ่มนักเขียน เช่น ประหยัด ศ. นาคะนาท (นายรำคาญ), ศักดิ์เกษม หุตาคม (อิงอร), ประมูล อุณหธูป และ อิศรา อมันตกุล ทำหนังสือพิมพ์บางกอก รายปักษ์ และบางกอก รายวัน โดยเขาเขียนทั้งข่าวสารคดี ข่าวบันเทิง และข่าวอาชญากรรม นอกจากนี้เขายังแต่งนิยายเรื่อง “ความรักของคนจองหอง” จัดพิมพ์เป็นพ็อกเกตบุ๊ก จนทำให้เพื่อน ๆ ต่างเรียกขานว่า “นักประพันธ์ผู้จองหอง”



ภาพ: พิมพ์ดีดคู่กายที่ ส. อาสนจินดา ใช้เขียนหนังสือและบทภาพยนตร์หาเลี้ยงชีวิต จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย


ความจองหองอันหมายถึงหยิ่งในศักดิ์ศรีนั้น ไม่ได้ปรากฏอยู่เพียงแค่ชื่อนิยาย หากแต่ ส. ยังทำให้เห็นประจักษ์ โดยเฉพาะเมื่อได้เข้าไปเป็นบรรณาธิการให้หนังสือพิมพ์ “8 พฤศจิ.” ของคณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งนำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม และหลวงกาจสงคราม ผ่านไปไม่ถึงเดือน คณะรัฐประหารชุดนี้ได้ทำการจับกุมนักหนังสือพิมพ์จำนวนมาก รวมถึง อิศรา อมันตกุล วันรุ่งขึ้น ส. จึงได้เขียนบทความ “จอมพล ป. กำลังถอยหลังกลับไปลำลูกกา” โจมตีเจ้าของหนังสือพิมพ์ของตัวเอง และล้อมกรอบประกาศลาออกทางหน้าบรรณาธิการในเวลาต่อมา 


ไม่นานหลังจากตัดสินใจทุบหม้อข้าวตนเองอย่างเด็ดเดี่ยว และอาศัยวัดเป็นที่พักพิง เขาตัดสินใจจะออกบวชไม่สึก และเขียนหนังสือเรื่อง “สุขอื่นยิ่งกว่าสงบไม่มี” จึงไปขอกระดาษกับ อิศรา อมันตกุล ที่โรงพิมพ์ แต่ที่นั่น เขากลับพบกับอิงอรที่ชวนเขามาแสดงบทพระเอกในละครเวทีเรื่อง “ดรรชนีนาง” อันเป็นจุดเปลี่ยนให้เขาเบนเข็มจากโลกหนังสือพิมพ์ การประพันธ์ และโลกกาสาวพัสตร์ ไปสู่โลกใหม่ คือโลกมายาตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต


อย่างไรก็ตาม ช่วงโลดแล่นในวงการบันเทิง ส. อาสนจินดา ยังได้แสดงความสามารถด้านการเขียนอยู่เสมอ ทั้งคิดประพันธ์เรื่องเพื่อสร้างภาพยนตร์ หนึ่งในนั้นคือนิยายเรื่อง “ดอกแก้ว” อันโด่งดัง ที่เขาเขียนขณะพักรักษาตัวหลังแสดงเรื่อง เรือนแพ (2504) ในขณะเดียวกัน เขายังเขียนบทภาพยนตร์อีกมากกว่า 100 เรื่อง รวมถึงเขียนบทความลงนิตยสารต่าง ๆ จำนวนมาก ด้วยสำนวนและความคิดที่กล้าแกร่ง ตราบจนบั้นปลายชีวิต ซึ่งต่อมาบางส่วนได้มีการนำมารวมเล่ม เช่น “เขาทำหนังกันอย่างไร?” “ชีวิตพิสดาร (อันแสนจะบัดซบ) ของข้าพเจ้า” และ “พรุ่งนี้...จะรดน้ำศพ” 


นักแสดงกระดูกเหล็ก


ปี 2490 ขณะที่ ส. อาสนจินดา ได้รับการขอร้องจาก อิงอร เพื่อนหนังสือพิมพ์รุ่นพี่ ให้มารับบทเป็น “หม่อมเจ้านิรันดร์ฤทธิ์ธำรง” พระเอกละครเวทีเรื่อง “ดรรชนีนาง” ที่สร้างจากนิยายของอิงอร ยุคนั้นเป็นยุคที่ละครเวทีกำลังเฟื่องฟูต่อเนื่องมาจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในตอนแรก ส. คิดว่าเขาจะแสดงเพียงเรื่องเดียว แล้วกลับไปบวชตามที่ตั้งใจ แต่ละครเรื่องดังกล่าวกลับโด่งดัง จนเขาถูกจองตัวให้เป็นพระเอกละครเวทีอีกหลายเรื่อง และไม่กล้าปฏิเสธด้วยความเกรงใจผู้ที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันมา 


ปี 2491 จากที่ไม่เคยคิดจะเป็นนักแสดงมาก่อน ละครเวที “ความพยาบาท” เป็นผลงานเรื่องแรกที่มอบวิญญาณนักแสดงให้แก่เขา และฝังเขาลงในโลกศิลปินอย่างเต็มตัว ตลอดระยะเวลาที่รับบทเป็น ฟาบิโอ โรมานี ผู้ถูกฝังทั้งเป็นในโลงศพ เขาทุ่มเทจนถูกวิญญาณของตัวละครสิงสถิต ไม่พูดจากับครอบครัว และเกลียดนักแสดงคนอื่นจริง ๆ ตามบทบาทในเรื่อง ซึ่งแลกมาด้วยการที่เขาสามารถกุมหัวใจผู้ชมได้อยู่หมัด กับเสียงที่แหบแห้งมาตลอดชีวิต เพราะหลอดเสียงมีปัญหา จากการต้องตะเบ็งพลังเสียงทุกรอบการแสดง 



ภาพ: ส. อาสนจินดา ในสมัยเป็นพระเอกละครเวที


ส. อาสนจินดา กลายเป็นพระเอกละครเวทีที่มีชื่อเสียงเกรียวกราว จนบางครั้งต้องวิ่งรอกแสดงสองที่ในคืนเดียว เขาเล่นละครเดือนละ 2 เรื่อง นานถึง 7-8 ปี รวมแล้วประมาณ 200 เรื่อง แต่ในช่วงระหว่างนั้น วงการภาพยนตร์ค่อย ๆ กลับมาเฟื่องฟู หลังจากซบเซาไปในช่วงสงคราม ทำให้ ส. และเพื่อนร่วมอาชีพละคร ได้หันมามีบทบาทในภาพยนตร์ควบคู่กันไป โดยภาพยนตร์เรื่องแรกที่ ส. แสดงคือ สุภาพบุรุษจากอเวจี ซึ่งเขาเป็นผู้เขียนบท ออกฉายใน พ.ศ. 2494 


ปลายทศวรรษ 2490 เมื่อละครเวทีหมดความนิยม ส. อาสนจินดา ได้กลายมาเป็นดาราจอเงินอย่างเต็มตัว โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะบทพระเอกเท่านั้น ในโลกภาพยนตร์ ส. ได้ปล่อยพลังความสามารถทางการแสดงออกมาให้เห็นอย่างเข้มข้นและหลากหลาย ทั้งบทชีวิต บทบู๊ บทตลก ฯลฯ และสวมวิญญาณเป็นผู้คนได้ทุกวัย ทุกระดับ ตั้งแต่กษัตริย์โบราณ ผู้ดีสูงศักดิ์ ไปจนถึงคนสิ้นไร้ไม้ตอก 


ตัวละครที่โดดเด่นมากมายต่างซ้อนทับอยู่ในร่างของ ส. อาสนจินดา ตั้งแต่หนุ่มจนชรา เช่น บทตำรวจผู้รักเพื่อนใน เรือนแพ (2504) ที่ทำให้เขาได้รางวัลตุ๊กตาทอง สาขาการแสดง ตัวแรกมาครอง บทเฒ่าหลัก ชาวประมงผู้พิทักษ์ทะเลใน อุกาฟ้าเหลือง (2522) ซึ่งได้รับรางวัลดาราประกอบชายยอดเยี่ยม ในมหกรรมภาพยนตร์เอเชียแปซิฟิกที่อินโดนีเซีย บทปู่ผู้ปากกัดตีนถีบในเรื่อง บ้าน (2530) ซึ่งเขากล่าวว่าทุ่มเทแสดงด้วยชีวิต จนได้รางวัลตุ๊กตาทองตัวที่สอง และบทภิกษุชราใน อำแดงเหมือนกับนายริด (2537) ที่แสดงทั้งที่ตามองไม่เห็น และเพิ่งออกจากโรงพยาบาลหลังป่วยหนัก ก่อนจะเสียชีวิตหลังทำหน้าที่เสร็จสิ้นในฉากสุดท้ายได้เพียงไม่กี่วัน 



ภาพ: อำแดงเหมือนกับนายริด (2537)


การสวมหัวใจสิงห์ในการเข้าถึงทุกบทบาทอย่างกัดไม่ปล่อยของ ส. อาสนจินดา รวมทั้งวินัยที่เคร่งครัดและความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ของตนอย่างสุดความสามารถ ทำให้เขาเป็นนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย รวมทั้งยังเป็นแบบอย่างอันสง่างามและเป็นครูของนักแสดงคนสำคัญรุ่นหลังหลายคน


คนทำหนังผู้ทระนง


บทบาทเด่นอีกด้านของ ส. อาสนจินดา คือการเป็นนักสร้างภาพยนตร์ โดยผู้ที่ประสาทวิชาให้เขา คือ “เนรมิต” หรือ “อำนวย กลัสนิมิ” ครูในโลกละครเวทีซึ่งเคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน และเป็นคนแรก ๆ ที่เห็นแววว่าละครเวทีกำลังจะพ่ายแพ้ต่อภาพยนตร์ 


ส. อาสนจินดา เริ่มมีชื่อเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2496 เรื่องแรกที่พบข้อมูลคือ ยอดนักเบ่ง จากนั้นจึงมีผลงานเรื่อยมา โดยหลายเรื่องลงทุนสร้างด้วยตนเอง ซึ่งแม้จะทำให้ชีวิตต้องล้มลุกคลุกคลาน แต่เขาก็ต่อสู้มาอย่างทรหดและฝากชื่อไว้ในหัวใจผู้ชมได้อย่างสมศักดิ์ศรี



ภาพ: ส. อาสนจินดา ขณะกำกับเรื่อง สาวน้อย (2501)


บริษัทภาพยนตร์แรกของ ส. ชื่อ “โรงถ่ายภาพยนตร์ ส. อาสนจินดา”  โดยมี สมใจ อาสนจินดา คู่ชีวิตเป็นผู้อำนวยการสร้าง ต่อมาปี พ.ศ. 2500 เขาได้เริ่มสร้างภาพยนตร์ในนามบริษัท “บางกอกการภาพยนตร์” เรื่องแรกคือ มงกุฎเดี่ยว ซึ่งเขาได้รางวัลสำเภาทอง สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม 


ในปีนั้น ส. ได้กู้เงินมาสร้างภาพยนตร์แนวชีวิตเรื่อง พ่อจ๋า ที่เขาตั้งใจทำสุดฝีมือ แต่กลับถูกบีบให้ออกจากโรงก่อนปีใหม่ ทำให้รายได้น้อยกว่าที่คาดไว้มาก แต่ก็เป็นจุดเปลี่ยนให้เขาได้รับโอกาสจากเจ้าของโรงหนังอีกรายหนึ่ง ซึ่งต้องการให้สร้างหนังบู๊ต้อนรับช่วงตรุษจีน โดยให้เดินทางไปรับเงินสร้างที่โรงหนังในหาดใหญ่ ด้วยเวลาที่กระชั้น ส. จึงได้พาทีมงานกับดาราขึ้นรถไฟ และค่อย ๆ สร้างเรื่องราวจากสิ่งที่พบเห็นระหว่างทาง จนทันได้ถ่ายทำเมื่อถึงหาดใหญ่ ภาพยนตร์เรื่องนั้นคือ หนึ่งต่อเจ็ด (2501) ผลงานเรื่องแรกในชุด “7 ประจัญบาน” ที่ประสบความสำเร็จและกลายเป็นตำนานมาถึงคนรุ่นหลัง โดยเขารับบทเป็น จ่าดับ จำเปาะ คนแรกในโลกภาพยนตร์ 


ส. อาสนจินดา ไม่เพียงแต่จะเป็นคนทำหนังที่มีจินตนาการอันล้ำเลิศ รวดเร็ว หากยังเต็มไปด้วยความทะเยอทะยานสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ เช่นเรื่อง ดรุณีสีเลือด (2509) ที่สร้างในนาม ส. อาสนจินดาภาพยนตร์ และหมดทุนไปเกือบสามล้านบาท ด้วยการพาดาราคู่ขวัญอันดับหนึ่ง มิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราษฎร์ ไปถ่ายทำที่ญี่ปุ่น และสร้างเป็นภาพยนตร์ 35 มม. มาตรฐานสากล แตกต่างจากหนังไทยในยุคนั้นที่นิยมถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม. ซึ่งประหยัดกว่า แต่ผลตอบแทนที่ได้กลับทำให้เขาบาดเจ็บ จนต้องยุติการสร้างภาพยนตร์ด้วยตนเองในเวลาต่อมา และหันมารับกำกับ เขียนบท และแสดงให้ผู้สร้างรายอื่นเพียงอย่างเดียว 


ส. อาสนจินดา กำกับภาพยนตร์ได้ทุกประเภท โดยมีผลงานมากกว่า 100 เรื่อง ว่ากันว่าในขณะที่เป็นนักแสดงที่เชื่อฟังผู้กำกับโดยแทบไม่ปริปาก แต่เขาจะเป็นคนละคนเมื่อต้องสวมบทบาทผู้กำกับ ที่ทั้งเข้มงวด ดุดัน และแผดเสียงคำรามเป็นประจำ นอกจากนี้เขายังคอยเป็นปากเสียงให้แก่วงการ ด้วยการโจมตีระบบนายทุนที่ทำลายหนังไทยและรัฐบาลที่ไม่เคยเห็นค่า ซึ่งเสียงที่ดังและศักดิ์สิทธิ์ของ ส. ได้ก่อคุณูปการหลายอย่าง อย่างเช่น โครงการจัดตั้งหอภาพยนตร์ ที่เขารับเป็นกรรมการและช่วยส่งเสียงเรียกร้องต่อสื่อสาธารณะ จนกระทั่งได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลใน พ.ศ. 2527 



ภาพ: ส. อาสนจินดาในการประชุมคณะกรรมการโครงการจัดตั้งหอภาพยนตร์ครั้งสุดท้าย เมื่อ พ.ศ. 2530


ส. อาสนจินดา จึงเป็นราชสีห์ที่เย่อหยิ่งไม่ยอมก้มหัวต่อผู้มีอำนาจที่ไม่มีธรรม แต่เปี่ยมไปด้วยความเมตตาต่อผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือขาดการสนับสนุน พ.ศ. 2533 เขาได้รับรางวัลศิลปินอาเซียนและยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ และในช่วงท้ายของชีวิต เขาได้อุทิศตนเพื่อศิลปะและสังคมตราบจนสิ้นลมหายใจ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2536


-------------------------------------

เนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบรอบศตวรรษของ ส. อาสนจินดา 16 พฤศจิกายน 2564 หอภาพยนตร์ขอเชิญท่านร่วมกิจกรรมภาพยนตร์สนทนา “ส. อาสนจินดา ในความทรงจำ” และพร้อมร่วมชมนิทรรศการ “100 ปี ส. อาสนจินดา ราชสีห์แห่งวงการบันเทิงไทย” ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 – 16 มกราคม 2565 ที่โถงชั้น 5 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ รายละเอียดเพิ่มเติม www.fapot.or.th/main/news/832