ทองปอนด์ คุณาวุฒิ - ผู้หญิงนักสู้ ผู้สร้างหนังไทย

“คุณวิจิตรทำหนังไม่ค่อยได้เงิน ตลอดเวลาไม่ค่อยได้เงิน แล้วโรงหนังก็ไม่ค่อยชอบเรา แม้แต่บริการต่าง ๆ ก็ไม่ชื่นชมเรา จะบีบคั้นเรา ทุกวิถีทาง เพราะหนังนี่ไม่ทำชื่อให้เขา ไม่ทำเงินให้เขา เขากินเปอร์เซ็นต์น้อย เขาก็ไม่พอใจเรา คนไหนมีหนังที่ทำเงินได้ เขาจะเออออห่อหมก ยกย่อง แต่เห็นเราเหมือนตัวอะไร 


“เราน่ะเจ็บช้ำน้ำใจมากนะ พูดจริง ๆ ทำหนังมานี่ คุณวิจิตรไม่ได้สู้เรื่องนี้เลย คุณวิจิตรทำงานเสร็จ นอนพัก ป้าตัวคนเดียว ต่อสู้ ไฟต์อยู่คนเดียว ไฟต์กับพวกนี้ 


“เราเจ็บในใจตลอดเวลา”  


- ทองปอนด์ คุณาวุฒิ ให้สัมภาษณ์แก่หอภาพยนตร์ไว้เมื่อ พ.ศ. 2555 

----------------------------------------------------------


ในยุคเฟื่องฟูของหนัง 16 มม. ราวทศวรรษ 2490 - 2510 รูปแบบการสร้างภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่นั้นเป็นระบบอุตสาหกรรมในครัวเรือน กล่าวคือแต่ละครอบครัวมีบริษัทภาพยนตร์ของตนเอง โดยสามีเป็นผู้กำกับ และภรรยารับหน้าที่ผู้อำนวยการสร้าง คู่หนึ่งที่โดดเด่นอย่างมากคือคู่ของ วิจิตร และ ทองปอนด์ คุณาวุฒิ แห่งแหลมทองภาพยนตร์ 


วิจิตร คุณาวุฒิ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เขาเป็นเศรษฐีตุ๊กตาทอง และเป็นคนทำหนังคนแรกที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ แต่ไม่เกินเลยนักที่จะกล่าวว่า ความสำเร็จทั้งหมดนั้น ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่มีคู่ชีวิตที่แกร่งกล้าแบบทองปอนด์ ที่คอยต่อสู้และอยู่เคียงข้าง อย่างที่คนในวงการหนังไทยร่วมยุคเดียวกันรับรู้เป็นอย่างดี 



ภาพ: วิจิตร - ทองปอนด์ คุณาวุฒิ ที่บ้านซอยสวนพลู ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ขณะถ่ายทำเรื่อง ดาวรุ่ง (2512) 


ทองปอนด์ เดิมมีนามสกุลว่า โกมลภิส เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2467 เป็นลูกสาวของกำนันแห่งตำบลบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา บ้านเดียวกันกับ วิจิตร คุณาวุฒิ ซึ่งเป็นลูกชายผู้ใหญ่บ้าน ทั้งคู่อายุไล่เลี่ยกันและเป็นเพื่อนเล่นกลุ่มเดียวกันมาตั้งแต่เด็ก ทั้งยังเริ่มต้นเรียนที่เดียวกัน ก่อนจะแยกย้ายไปเรียนต่างสถาบัน และกลับมาพบกันเฉพาะช่วงปิดเทอม


เมื่อจบชั้นมัธยม วิจิตรและทองปอนด์ ได้กลับมายังบ้านเกิด เพื่อมาทำงานในเทศบาลตำบลซึ่งขาดคนมีการศึกษามาช่วยงาน จากเพื่อนเล่นในวัยเด็ก จึงกลายมาเป็นเพื่อนร่วมงาน กระทั่งวันหนึ่ง เมื่อมีข้าราชการซึ่งเป็นหนุ่มต่างถิ่นจะมาสู่ขอทองปอนด์ วิจิตรจึงตัดสินใจสารภาพความรู้สึกว่าไม่อยากให้เธอไปแต่งงานกับคนอื่น เป็นจุดเริ่มต้นให้ทั้งคู่คบหากัน และตัดสินใจแต่งงานกันในอีกราว 2 ปีต่อมา เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2488 ช่วงที่สงครามโลก ครั้งที่ 2 ยังคงคุกรุ่น


เมื่อสงครามสิ้นสุด วิจิตร คุณาวุฒิ ได้เริ่มยึดอาชีพเป็นนักประพันธ์-นักหนังสือพิมพ์ จนกระทั่งปี 2490 เมื่อทองปอนด์คลอดลูกสาวคนแรกและกลับไปอยู่บางคล้า ประกอบกับเกิดรัฐประหาร 2490 เขาจึงกลับบ้านเกิดและเลี้ยงชีพด้วยการเขียนเรื่องสั้นส่งนิตยสารต่าง ๆ ก่อนจะกลับมาทำงานหนังสือพิมพ์ที่กรุงเทพฯ อีกครั้งในปี 2493 


ระหว่างที่สามีประกอบอาชีพตามความปรารถนาที่มีมาตั้งแต่วัยรุ่น ทองปอนด์ได้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องต่าง ๆ ภายในบ้าน เตรียมค่าใช้จ่ายให้สามี และคอยซักเสื้อเชิ้ตขาวที่เขามีอยู่ตัวเดียวเพื่อให้ได้ใส่ไปทำงานในแต่ละวัน เธอต้องคอยประหยัดอดออม ดัดแปลงเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ อย่างมัธยัสถ์ และเลี้ยงลูกที่มีเพิ่มมาเป็นสองคน เพื่อให้เขาได้มีกำลังสร้างสรรค์งานที่ใฝ่ฝันได้อย่างเต็มความสามารถ 



ภาพ: ทองปอนด์ในชุดชาวเขา ขณะติดตามสามีไปกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก ผารีซอ (2498) 


ปี 2498 เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญของครอบครัว เมื่อ วิจิตร คุณาวุฒิ ซึ่งก่อนหน้านั้นเริ่มชิมลางบทบาทในวงการหนังไทยทั้งเป็นนักแสดงและผู้เขียนบท ได้ก้าวจากกองกระดาษมาสู่จอเงินอย่างเต็มตัว ด้วยการรับเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกคือ ผารีซอ โดยใช้นามกำกับตามนามปากกาว่า “คุณาวุฒิ” แม้จะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ แต่ก็สร้างความประทับใจให้ผู้คนในวงการภาพยนตร์ไทย จนได้รับจ้างกำกับอีกหลายเรื่อง ก่อนจะตัดสินใจร่วมกับภรรยา ลงทุนสร้างภาพยนตร์เอง เรื่องแรกคือ มือโจร ออกฉายในปี 2504 


จากภรรยา ทองปอนด์จึงก้าวขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการสร้าง เธอต้องเอาที่ดินที่มีอยู่ไปจำนองญาติ เพื่อนำเงินมาสร้างหนัง และคอยหาทางแก้ปัญหาให้แก่สามีเมื่อทุนรอนหมดลงระหว่างถ่ายทำ ตลอดจนดูแลนักแสดงและทีมงาน จัดเตรียมสิ่งของใช้เข้าฉาก และเรียนรู้ระบบธุรกิจหนังไทยในตอนนั้น



ภาพ: ทองปอนด์ (นั่งขวาสุด) ในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง คู่ชีวิต (2500)


ด้วยอุดมคติและความเป็นนักมนุษยนิยมที่มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นนักเขียน ทำให้คุณาวุฒิเลือกที่จะไม่ทำหนังในแนวทางตลาด ดังนั้น แม้ มือโจร จะทำให้เขาได้รางวัลตุ๊กตาทองตัวแรก จากสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม อันเป็นจุดเริ่มต้นของรางวัลอีกมากมายในภายภาคหน้าที่ไหลบ่ามาประดับจนเต็มตู้ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับล้มเหลวทางรายได้ มิหนำซ้ำ ในเรื่องที่สองคือ สายเลือดสายรัก (2505) ซึ่งเขาเลือกนำเสนอเรื่องราวสะท้อนปัญหาชีวิตครอบครัวอย่างเข้มข้น แม้จะชนะตุ๊กตาทองถึงสี่สาขา แต่กลับขาดทุนอย่างยับเยินยิ่งกว่าเรื่องแรก จนเขาต้องกลับไปรับจ้างกำกับเช่นเดิม


ความรู้สึกอันบอบช้ำของทองปอนด์เป็นเช่นไร อาจจะอธิบายได้ด้วยคำพูดที่ปรากฏอยู่ในสูจิบัตร นางสาวโพระดก ปี 2508 อันเป็นเรื่องแรกที่ทั้งคู่กลับมาสร้างเองในนาม “แหลมทองภาพยนตร์” และคุณาวุฒิยอมเปลี่ยนแนวทางมาสร้างงานที่เขากล่าวว่าเป็น “หนังรักกระจุ๋มกระจิ๋ม” แต่กระนั้น ในสูจิบัตรยังปรากฏบทสัมภาษณ์ของคุณาวุฒิ ที่รำพึงว่า เขายังคงอยากจะได้สร้างหนังซึ่งถึงพร้อมด้วยศิลปะ ถ่ายทอดชีวิตคนธรรมดาสามัญ โดยไม่ต้องเอาใจตลาดอย่างที่เป็นอยู่ เขากล่าวว่า “วันหนึ่ง เราจะหัวเราะให้แก่วันนี้... วันที่ต้องทนต้องสร้างตามใจคนอื่นเขา” 


เมื่อทองปอนด์ได้ยินเข้าจึงพูดขึ้นมาบ้างว่า “อยากจะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ขอแค่วันหนึ่ง อย่ามาต้องร้องไห้ให้แก่วันนี้ ก็แล้วกัน” 



ภาพ: ภาพวาดลายเส้น ทองปอนด์ โดย จักรพันธุ์ โปษยกฤต เมื่อ พ.ศ. 2503


นางสาวโพระดก กลายเป็นผลงานเรื่องแรกของครอบครัว ที่ได้ทั้งเงินล้านและรางวัล อย่างไรก็ตาม เรื่องถัดมา เสน่ห์บางกอก (2509) คุณาวุฒิได้กลับไปทดลองทำสิ่งที่แตกต่างออกจากผู้สร้างคนอื่นอีกครั้ง  แม้จะปลูกฝันภรรยาว่า หนังเพลงลูกทุ่งเรื่องนี้จะเป็นหนังตลกที่ทำเงินแน่นอน แต่เนื่องจากต้องการความสมจริงและแปลกใหม่ เขาจึงนำนักร้องลูกทุ่งจริง ๆ คือ พร ภิรมย์ มาเป็นพระเอก ซึ่งสุดท้ายไม่ได้รับการต้อนรับจากผู้ชม 


ทองปอนด์ได้กล่าวถึงหนังเรื่องนี้ในภายหลังด้วยความขมขื่นว่า “เจ๊งอย่างที่สุด” และเมื่อฉายแล้วไม่ได้เงิน ก็พอกันที เธอขนฟิล์มหนังกลับบ้านมาเก็บเข้าไว้ที่หัวนอน นัยว่าเพื่อยังคงแสดงความเคารพต่อหนัง “เพราะหนังเลี้ยงเรา เราก็ต้องเคารพหนัง ไม่ดูถูกหนัง"


นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ กว่าคุณาวุฒิจะได้กลับมาสร้างภาพยนตร์ในแนวทางที่เขาตั้งปณิธานอีกครั้ง ต้องรออีกหลายปี จนถึงช่วงท้ายของการเป็นผู้กำกับในเรื่อง คนภูเขา (2522) และ ลูกอีสาน (2525) ซึ่งเป็นช่วงที่เขาและครอบครัวเข้าไปร่วมงานบริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น แล้ว 


ภาพ: ทองปอนด์ ขณะตัดผมให้ มนตรี เจนอักษร ในเรื่อง คนภูเขา (2522) 


ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง ทองปอนด์เป็นผู้รับผิดชอบงานทุกอย่าง ที่นอกเหนือจากเรื่องเทคนิคภาพยนตร์ซึ่งสามีเป็นผู้ควบคุม เธอดูแลทั้งการเงิน เสื้อผ้าเครื่องประดับนักแสดง อาหารการกินในกองถ่าย คอยช่วยเขาคิดแก้ปัญหา ให้คำปรึกษา แม้กระทั่งช่วยพิมพ์บท ไปจนถึงติดต่อนำหนังเข้าโรง โฆษณาประชาสัมพันธ์ และเป็นผู้เผชิญหน้ากับความผันผวนของธุรกิจหนังไทยมาตั้งแต่ยุคหนัง 16 มม. พากย์สด จนเปลี่ยนผ่านมายุคฟิล์ม 35 มม. กระทั่งช่วงที่เข้าระบบสตูดิโอกับไฟว์สตาร์ เธอก็ยังคงทำหน้าที่ร่วมกับสามีในกองถ่ายไปจนถึงเรื่องสุดท้ายคือ เรือนแพ (2532) 


คุณาวุฒิเรียกภรรยาว่า “โต” ตามชื่อล้อเขาตั้งให้ตั้งแต่เด็กว่า “หัวโต” เพราะดูผิดแผกจากรูปร่างที่เล็กและบอบบาง แต่ไม่ใช่แค่ศีรษะ ขนาดของหัวจิตหัวใจทองปอนด์นั้นก็ยังใหญ่โตเกินกว่ารูปลักษณ์ของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง เพราะเธอใช้มันสู้รบปรบมือกับบรรดาผู้คนในวงการที่คอยมาเอาเปรียบหรือสบประมาทอย่างไม่ยี่หระ ชนิดที่ว่า เพื่อนร่วมวงการต่างคุ้นเคยกับแววตาอันเด็ดเดี่ยว คำพูดที่หนักแน่น น้ำเสียงที่ดุดัน เฉียบขาด และหยิ่งในศักดิ์ศรี แต่เต็มไปด้วยความจริงใจของทองปอนด์เป็นอย่างดี


เธอเล่าว่า บางครั้งมีคนมาถาม เวลาที่เธอเอาหนังเข้าโรงชนกับผู้สร้างรายอื่นที่มักทำหนังได้เงินมากกว่า ว่าจะสู้เขาหรือ คุณแพ้เขานะ ทองปอนด์กล่าวว่า “แพ้ก็แพ้ ฉันยอมแพ้ ทำมาหากินถ้าแพ้ ก็ต้องยอมแพ้ เรายอมรับความจริง แต่จะให้ฉันไปอยู่ป่าหรือ ถ้าฉันไม่สู้คนฉันไปอยู่แล้วป่านนี้ ไปหากินในป่า แต่นี่ฉันต้องสู้”



ภาพ: ทองปอนด์ ขณะรับรางวัลภาพยนตร์จาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร


ประสบการณ์ในวงการหนังไทย แม้จะทำให้เธอต้องกลืนเลือดและน้ำตา ทั้งไม่ได้ดอกผลเป็นความสำเร็จด้านเงินทองอย่างที่คาดหวัง แต่สุดท้าย งานกำกับของ วิจิตร คุณาวุฒิ ต่างได้รับการยกย่องในด้านคุณภาพ ทำให้เขาได้รับเกียรติยศด้านภาพยนตร์อย่างมากมายเหนือกว่าผู้กำกับภาพยนตร์ไทยจำนวนมาก และผลงานหลายเรื่องยังยืนหยัดข้ามกาลเวลามาจนปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนั้นต่างมีเบื้องหลังที่เกิดจากการต่อสู้อันทรหดของทองปอนด์เป็นส่วนสำคัญ


ปี 2534 เมื่อคุณาวุฒิล้มป่วยเป็นอัมพฤกษ์ ทองปอนด์ยังได้ทำหน้าที่พยาบาลสามีอยู่นานหลายปี จวบจนเขาจากไปในปี 2540 เป็นบทสุดท้ายของตำนานคู่รักนักสร้างหนังไทย ผู้กลายเป็นสัญลักษณ์ของกันและกัน และผูกพันกันมาตั้งเด็กจนถึงวัยชรา 


อย่างไรก็ตาม ทองปอนด์ยังมีชีวิตยืนยาวต่อมา และค่อย ๆ ทยอยมอบข้าวของเครื่องใช้ อุปกรณ์ เอกสารต่าง ๆ ของสามี ซึ่งล้วนมีความหมายต่อเธอ ให้หอภาพยนตร์นำมาอนุรักษ์เป็นสมบัติของชาติ จนเธอได้ผ่านหลักหมายศตวรรษแห่งชีวิตไปเมื่อปี 2567 


คืนวันที่ 5 พฤษภาคม 2568 ทองปอนด์ คุณาวุฒิ ผู้กำลังมีอายุย่างเข้า 101 ปี ในอีกไม่กี่วัน ได้เข้านอนและจากไปอย่างสงบ ภายในบ้านที่ครั้งหนึ่งเธอเคยได้ต้อนรับผู้คนมากหน้าหลายตาในยุคทองของวงการหนังไทย บ้านที่สามีเธอเคยใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ของครอบครัวหลายเรื่อง บ้านที่เธอกับเขาได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ และปลูกสร้างกันขึ้นมาด้วยความรักพร้อมทั้งน้ำพักน้ำแรงแห่งคู่ชีวิต


หอภาพยนตร์ขออุทิศบทความและพื้นที่ตรงนี้ เพื่อไว้อาลัยและระลึกถึง ทองปอนด์ คุณาวุฒิ ผู้อำนวยการสร้างและผู้หญิงนักสู้คนสำคัญของวงการภาพยนตร์ไทย ผู้มีส่วนให้ผลงานทุกเรื่องของครอบครัวคุณาวุฒิเกิดขึ้นได้จริง




_________________________________________

เขียนโดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

ข้อมูลประกอบการเขียน

- สัมภาษณ์ ทองปอนด์ คุณาวุฒิ 4 พฤษภาคม 2555

- หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ วิจิตร คุณาวุฒิ พ.ศ. 2540 

- บทสัมภาษณ์ วิจิตร-ทองปอนด์ คุณาวุฒิ คอลัมน์ ชีวิตรักคนดัง จากนิตยสารข่าวบันเทิง รายสัปดาห์ ประจำวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม 2527