Archival Time on Our Retina มรดกความทรงจำที่ถูกทับซ้อนผ่านมุมมองศิลปินร่วมสมัย

Archival Time on Our Retina นิทรรศการหมุนเวียนที่หอภาพยนตร์จัดทำขึ้น เพื่อให้ผู้ชมได้เดินทางสำรวจคลังประวัติศาสตร์ที่หลอมรวมกาลเวลาและความจริงที่เคลื่อนไหวในภาพยนตร์ อันเผยให้เห็นถึงทัศนมิติอันหลากหลายในสังคม วัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่ไม่เพียงย้อนกลับไปหาความทรงจำ แต่เป็นการเชื่อมโยงเวลาและเผยให้เห็นถึงความซับซ้อนของบริบทเชิงสังคมรอบตัว


หอภาพยนตร์สัมภาษณ์ศิลปินที่ได้นำผลงานมาจัดแสดงถึงมุมมองความสำคัญในการอนุรักษ์ภาพยนตร์ และการนำฟุตเทจในคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์มาตีความทับซ้อนและจัดทำเป็นผลงานร่วมสมัยขึ้นมาใหม่


ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์




ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ เป็นศิลปิน คนทำหนัง และอาจารย์พิเศษทางด้านภาพยนตร์ ในนิทรรศการนี้ไทกินำผลงานเมื่อปี 2556 มีชื่อว่า The Age of Anxiety ผลงานที่สร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจหลังจากได้อ่านบทความเบื้องหลังเพลง Helter Skelter ของวง The Beatles ว่า 



“เพลง Helter Skelter เวอร์ชันแรกที่ The Beatles อัดเสียงกันมีความยาวถึง 27 นาที และมีนักวิจารณ์บรรยายว่าเป็น 27 นาทีของความล่มสลายทางโสตประสาท ตอนอ่านบทความนี้ผมเลยได้รับแรงบันดาลใจอยากทำหนังให้สะท้อนความล่มสลายของทั้งโสตประสาท ก็เลยเกิดเป็นงานชิ้นนี้ครับ”




“จุดประสงค์ของงานมันเหมือนการที่ผมทดลองกับสิ่งที่เรียกว่า Psychedelic Experience หรือประสบการณ์ความเป็นไซคีเดลิก เราจะพบมากในเพลงดนตรียุคหนึ่ง โดยเฉพาะในยุค 1960 ที่นักดนตรีใช้ความเป็นไซคีเดลิกสะท้อนออกมาทางดนตรี แต่ว่าผมอยากจะแปลงมันออกมาเป็นภาพ”


ไทกิยังพูดถึงการนำภาพยนตร์ของเนรมิต (อำนวย กลัสนิมิ) มาใส่ในผลงานของเขาว่า “ผมดูหนังยุค 80 หนังจักร ๆ วงศ์ ๆ พวกหนังไทยในยุค 1980 เยอะมาก โดยเฉพาะสตูดิโอที่อาจารย์เนรมิตเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ผมก็หยิบเอาผลงานของครู เช่นเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอน ปราบจระเข้เถนขวาด, พระเจ้าเสือ พันท้ายนรสิงห์ และ พระรถเมรี เอามารื้อถอนถอดโครงสร้างใหม่เพื่อให้เข้ากับตัวประสบการณ์ทางไซคีเดลิกที่ผมพยายามจะพูดถึง ทำให้ภาพเคลื่อนไหวเร็วมากซะจนเหมือนกับมีสิ่งมีชีวิตหรือว่ามีเข็มอะไรบางอย่างมาทิ่มแทงสายตาของคนดู ก็เลยเอามาเป็นโครงสร้างตอนช่วงที่สองของตัวงานชิ้นนี้”


อุกฤษณ์ สงวนให้ 




อุกฤษณ์ สงวนให้ เจ้าของผลงาน Trip After ศิลปินนักสร้างสรรค์วิดีโอและผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีความสนใจประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ในยุคสงครามเย็น กล่าวถึงผลงานที่ได้หยิบยกภาพยนตร์เรื่อง พัฒนากร ของ USIS หรือสำนักข่าวสารอเมริกัน มาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการสร้างงานชิ้นนี้


“วิธีการใช้ดนตรีหมอลำประกอบในหนัง พัฒนากร นั้น ถ้าเราดูในเอกสารของสำนักข่าวสารอเมริกันก็พบว่าเขาจะพยายามเลือกใช้ดนตรีหมอลำประกอบ เพราะว่าเขาเชื่อว่ามันมีประสิทธิภาพมากกว่าพูดเป็นภาษา หมอลำก็จะถูกแยกออกมาเป็นการแสดงที่ร่วมกับการใช้หนังแทน แต่ว่าในเรื่องไม่ได้เป็นหนังที่มีภาพหลักเป็นหมอลำ เราก็เลยสนใจ มันก็เลยเป็นการตามรอยทั้งในแง่ของหนัง พัฒนากร ด้วย แล้วก็เอกสารที่เราได้อ่านที่มันเกี่ยวกับว่าหนังเดินทางไปฉายที่ไหน และหนัง พัฒนากร ถ่ายทำที่ไหน รวมทั้งการเดินทางของเรา ทั้งหนัง พัฒนากร ทั้งเอกสาร ผมว่ามันซ้อนทับกัน มันมีความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ”




อุกฤษณ์พูดถึงการทำงานกับฟุตเทจหนังเก่าว่า “ปัจจุบันศิลปินร่วมสมัยค่อนข้างให้ความสำคัญกับงานอาร์ไคฟ์มาก ๆ หมายถึงว่ามีงานที่ผลิตจากอาร์ไคฟ์เยอะ ซึ่งผมว่ามันก็เป็นเรื่องดี งานที่เคยถูกผลิตในยุคสมัยหนึ่งถูกผลิตผ่านอีกความคิดหนึ่ง ถูกทำโดยคนที่มีประสบการณ์หรือมีบริบทที่ไม่เหมือนกัน ต่อให้เราพยายามจะไปเข้าใจภาพเก่าก็อาจไม่สามารถเข้าใจได้ มันก็เลยน่าสนใจ ทำให้งานพวกนี้ถูกเอาออกมา และอาจจะสัมฤทธิ์ผลได้มากกว่าที่เขาคิดซะอีก อย่างในแง่ที่ว่าหนัง Propaganda (โฆษณาชวนเชื่อ) ยังถูกเอามาใช้อยู่เรื่อย ๆ”


นักรบ มูลมานัส 



นักรบ มูลมานัส ศิลปินที่ขึ้นชื่อเรื่องการนำงานอาร์ไคฟ์มาต่อยอดในงานศิลปะ ในนิทรรศการนี้นักรบจัดแสดงผลงาน All the poetry and the pity of the scene “สำหรับงานชิ้นที่จัดในนิทรรศการ ผมเอาบทสนทนาของผู้หญิงสองคนที่ระยะเวลาห่างกัน 150 ปี ผ่านวรรณคดี 2 เล่ม คือหนังสือของ แอนนา ลีโอนอเวนส์ (Anna Leonowens) และหนังสือของ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง มาสร้างบทสนทนาเชิงสมมติร่วมกับน้ำเสียงของภรณ์ทิพย์ ซึ่งบทสนทนาดังกล่าวก็จะเป็นบทสนทนาที่ทำให้เราคิดถึงเรื่องประวัติศาสตร์รวมถึงเรื่องมุมมองของผู้หญิงที่ถูกกำกับขอบเขตหรือว่ามุมมองเกี่ยวกับความรับรู้เกี่ยวกับความจริงไม่จริงของสังคมไทย"




นักรบกล่าวถึงการนำเอาฟุตเทจที่หอภาพยนตร์ได้อนุรักษ์ไว้มาต่อยอดว่า “ตัวงานส่วนใหญ่ของเราเป็นการเอาอาร์ไคฟ์มาทำอยู่เสมอ ซึ่งปกติก็จะเป็นรูปภาพที่เป็นรูปสองมิติ แต่คราวนี้จะเป็นงานที่เริ่มเป็นภาพเคลื่อนไหว ก็ได้รับความกรุณาจากหอภาพยนตร์ที่อนุญาตให้นำงานที่เป็นอาร์ไคฟ์มาใช้ ซึ่งอาร์ไคฟ์หอภาพยนตร์เก็บเอาไว้จะเป็นงานที่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 เราเห็นฟุตเทจต่าง ๆ เราก็รู้สึกว่าเป็นแรงบันดาลใจมาก ๆ ที่จะเอาไปทำต่อยอดทำงานต่อไป แล้วก็การทำงานกับอาร์ไคฟ์สำหรับเรามันอาจจะเป็นเรื่องที่เราทำอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากมากนัก แต่ว่าก็อยากให้ทุกคนได้เข้ามาดูอาร์ไคฟ์ของที่นี่ครับ น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่ต่อยอดหลายอย่าง”



จุฬญาณนนท์ ศิริผล และ กษมาพร แสงสุระธรรม



ภาพ: ซ้าย กษมาพร แสงสุระธรรม ขวา  จุฬญาณนนท์ ศิริผล 


อินทรีแดง แสงมรกต: บทเรียนจากคลังข้อมูล เป็นหนึ่งในซีรีส์ของชุดผลงาน Red Eagle Sangmorakot: No More Hero in His Story ของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล จากโครงการวิจัยทางมานุษยวิทยาศิลปะระหว่างศิลปิน

ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านมวยไทย ยีน ศิษย์อาจารย์โจ้ และ กษมาพร แสงสุระธรรม ในฐานะภัณฑารักษ์ โดยล่าสุดผลงานอีกชิ้นจากซีรีส์นี้เพิ่งได้รับรางวัล 2025 Taoyuan International Art Award ที่ประเทศไต้หวัน


จุฬญาณนนท์เล่าถึงผลงานชิ้นนี้ที่เขาได้นำตัวเองไปศึกษาศิลปะมวยไทยที่ค่ายมวยเป็นเวลา 3 เดือน และนำความรู้ทางด้านมวยไทยมารวมกับฟุตเทจการสอนมวยไทยยุคก่อนมาใช้สร้างงานวิดีโออาร์ตชิ้นนี้ “ส่วนหนึ่งก็คือเป็นการเอามาวิเคราะห์ว่ามีท่าทางในการใช้อาวุธมวยไทยอย่างไรบ้าง รวมไปถึงชื่อนักมวยที่เป็นตัวละครที่สร้างขึ้นชื่อว่า อินทรีแดง แสงมรกต คือแสงมรกตเป็นชื่อค่ายมวยที่ไปซ้อม ส่วนอินทรีแดงก็เป็นเหมือนกับซูเปอร์ฮีโร่ของไทยในช่วงสงครามเย็น เลยหยิบเอาความรู้ด้านมวยไทยที่มักถูกผูกโยงอยู่กับความเป็นชาตินิยม กับตัวละครที่เป็นซูเปอร์ฮีโร่มารวมกัน เพื่อที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามถึงความเป็นชาตินิยมโดยใช้ร่างกายของตัวเอง”


กษมาพรเสริมว่า “ในส่วนของงานนิทรรศการจะเป็นส่วนที่ทำขึ้นมาใหม่ เราเลยเรียกว่าเป็นตอน Lessons from the Archive* หรือว่าบทเรียนจากคลังข้อมูล แต่ก็จะเหมือนกับโฟกัสไปที่ตัวละครในงานชุดนี้ เราจะเห็นศิลปิน จุฬญาณนนท์ ศิริผล เขาได้เป็นตัวละครอินทรีแดง ซึ่งเป็นตัวละครที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง จ้าวอินทรี* ที่แสดงโดย คุณมิตร ชัยบัญชา และในบทเรียนจากอาร์ไคฟ์จะเป็นตอนที่เราทำขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับนิทรรศการนี้โดยเฉพาะ โดยเน้นให้เหมือนกับการตัดสลับข้ามเวลาไปมา”




นอกจากนี้จุฬญาณนนท์ยังพูดถึงความสำคัญในการเก็บอนุรักษ์ภาพยนตร์เพื่อให้ศิลปินรุ่นใหม่ ๆ ได้ใช้ในการต่อยอด “เราคิดว่าบทบาทหน้าที่ของหอภาพยนตร์ไม่ใช่แค่การเก็บรักษาอย่างเดียว ถึงชื่ออาจจะดูเหมือนกับว่าเป็นการเก็บรักษาสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ว่าจริง ๆ แล้ว อย่างนิทรรศการนี้มีความพยายามที่จะมองกลับไปที่อาร์ไคฟ์หรือสิ่งที่หอภาพยนตร์พยายามที่จะเก็บรักษาไว้ตลอด ว่าจะมีมุมมองใหม่ ๆ ผ่านคนทำงานศิลปะภาพเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง ซึ่งเราคิดว่าศิลปิน 4 คนนี้ก็พยายามที่จะมองกลับไปสู่อดีตแล้วก็นำ narrative ใหม่ ๆ ที่มันเกิดขึ้นในอดีต กลับมามองเห็นอนาคต”  


ข่าวดี! นิทรรศการ Archival Time on Our Retina จะขยายระยะเวลาจัดแสดงถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2568 สามารถมาชมได้ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.30-17.30 น. ที่ห้องนิทรรศการชั้น 2 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ โดยไม่เสียค่าเข้าชม 


______________________________

โดย ภาคภูมิ ธรรมศรี
ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 87 ประจำเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2568

*หมายเหตุ แก้ไขข้อมูลจากบทความใน จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 87 ประจำเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2568 โดยมีการปรับแก้ไขข้อมูลชื่องานจาก Lesson from the Archive เป็น Lessons from the Archive และภาพยนตร์เรื่อง จ้าวนักเลง เป็น จ้าวอินทรี